วันอาทิตย์, สิงหาคม 22, 2564

ประเทศในยุโรป ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับประชาธิปไตย มีการจัดสรรงบกษัตริย์กันอย่างไรกันบ้าง ใครเป็นผู้อนุมัติจำนวนเงิน ใครเป็นผู้ตรวจสอบความโปร่งใส ?


สรุปข้อมูลจาก Robert Hazell and Bob Morris (Editors), The Role of Monarchy in Modern Democracy : European Monarchies Compared, Hart Publishing, 2020, p.181-189

ประชาชนจาก 7 ประเทศในยุโรป ต้องเสียเงินให้สถาบันกษัตริย์เท่าไหร่กันบ้าง?

ที่มา เวปก้าวหน้า

สัปดาห์นี้มีการอภิปรายและพิจารณาวาระ 2-3 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดยสภาผู้แทนราษฎร พบว่ามีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่อยู่ในส่วนราชการในพระองค์และส่วนที่แทรกอยู่กับหน่วยงานราชการส่วนอื่นๆ อย่างน้อยกว่า 33,000 ล้านบาท เท่ากับว่าในปีงบประมาณ 2565 ประชาชนคนไทยต้องเสียเงินให้สถาบันพระมหากษัตริย์เฉลี่ยคนละประมาณ 478 บาท (คำนวณจากประชากร 69,000,000 คน)

การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรไทยมีข้อจำกัดมากมายที่ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ แต่เป็นเพราะความหวาดกลัวหรือความไม่สบายใจของผู้ปฏิบัติงานที่กังวลเรื่องการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ การชี้แจงงบประมาณที่ถูกจัดสรรจากภาษีประชาชนไปให้สถาบันกษัตริย์ก็ไม่ชัดเจน และมักถูกปล่อยผ่านไปโดยไร้การตรวจสอบ

แล้วประเทศอื่นๆ ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับประชาธิปไตยมีการจัดสรรงบประมาณอย่างไรกันบ้าง?

มาดูกันว่าสถาบันกษัตริย์ใน 7 ประเทศในยุโรป ได้แก่ สหราชอาณาจักร เบลเยียม เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน และสวีเดน ได้รับเงินจากภาษีเท่าไหร่ มีเงินเก็บหรือไม่ เป็นเจ้าของทรัพย์สินมากแค่ไหน ต้องจ่ายภาษี ถูกตรวจสอบบัญชี และมีความโปร่งใสตรวจสอบได้แค่ไหน?

สถาบันกษัตริย์ถือเป็นสถาบันทางการเมืองที่เก่าแก่ แต่ล้าสมัยไปแล้วในยุคปัจจุบัน มีเพียง 40 กว่าประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่สถาบันกษัตริย์สามารถปรับตัวและอยู่รอดมาได้อย่างสง่างาม โดยส่วนมากเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรืออีกประเภทก็เป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเลย


ความแตกต่างที่สำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ กับ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐไม่ทรงใช้อำนาจโดยแท้ในทางการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ต้องรับผิด

ในขณะที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจปกครองแผ่นดิน ทรงใช้พระราชอำนาจโดยแท้ บริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง แต่ก็ไม่ต้องรับผิด

ระบอบการปกครองส่งผลต่อการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ที่ต้องเป็นกลางทางการเมือง เป็นประมุขของรัฐ อำนาจของฝ่ายบริหารอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เมื่อกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว สถาบันกษัตริย์ก็ไม่สามารถใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจได้ตามอำเภอใจ การจัดสรรงบประมาณทั้งหมดของสถาบันกษัตริย์ที่มาจากเงินภาษีประชาชนต้องถูกกำหนดและตรวจสอบภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ

ส่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์จาก 7 ประเทศในยุโรป

สถาบันกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในประเทศเหล่านี้ได้รับการจัดสรรเงินภาษีจากประชาชนเท่าไหร่กันบ้าง?

สรุปข้อมูลจาก Robert Hazell and Bob Morris (Editors), The Role of Monarchy in Modern Democracy : European Monarchies Compared, Hart Publishing, 2020, p.181-189

สหราชอาณาจักร

สถาบันกษัตริย์ได้รับเงินอุดหนุน (Sovereign Grant) จากภาษีประชาชน 84.6 ล้านยูโร ในปี 2017-2018 เงินจำนวนนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่นๆ อาทิ การรักษาความปลอดภัย ส่งผลให้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ประชาชน 1 คนเสียเงินให้สถาบันกษัตริย์คนละประมาณ 1.27 ยูโร

เบลเยียม

สถาบันกษัตริย์ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาษีประชาชน 11.8 ล้านยูโร บวกกับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมที่ต้องจัดสรรให้จากส่วนราชการอีก 22.8 ล้านยูโร เท่ากับว่าประชาชน 1 คนเสียเงินให้สถาบันกษัตริย์คนละประมาณ 1.04 ยูโร ในปี 2017

เดนมาร์ก

สถาบันกษัตริย์ได้เงิน 11 ล้านยูโรต่อปี ในปี 2018 ดังนั้นคนเดนมาร์ก 1 คนเสียเงินให้สถาบันกษัตริย์ประมาณ 1.92 ยูโรต่อคน

เนเธอร์แลนด์

งบประมาณของกษัตริย์มีจำนวน 40.1 ล้านยูโร ทำให้ประชาชนเนเธอร์แลนด์ 1 คนเสียเงินให้สถาบันกษัตริย์คนละประมาณ 2.14 ยูโร ในปี 2015 โดยจำนวนนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของสมาชิกราชวงศ์ การเยือนอย่างเป็นทางการ การบำรุงรักษา และซ่อมแซมพระราชวังที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงต่างๆ ด้วย

นอร์เวย์

ปี 2017 สถาบันกษัตริย์ได้รับเงินอุดหนุน 26.4 ล้านยูโร เพื่อนำไปแบ่งให้กับสมาชิกราชวงศ์ทั้งหมด พระมหากษัตริย์และพระราชินี ได้รับเงินเพิ่มอีก 1.2 ล้านยูโร สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ มกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารี ได้เงินเพิ่มอีกประมาณ 1 ล้านยูโร ทั้งหมดจึงรวมเป็น 28.7 ล้านยูโร

ส่งผลให้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ประชาชน 1 คนเสียเงินให้สถาบันกษัตริย์คนละประมาณ 5.46 ยูโร

สเปน

สถาบันกษัตริย์สเปนได้รับการจัดสรรเงินปีละ 7.8 ล้านยูโร เท่ากับว่าประชาชน 1 คนเสียเงินให้สถาบันกษัตริย์คนละประมาณ 0.17ยูโรเท่านั้น ในปี 2018

สวีเดน

ในปี 2015 สถาบันกษัตริย์สวีเดนได้รับเงินสำหรับการบริหารราชสำนัก (The Court Administration) 6.3 ล้านยูโร และอีกส่วนสำหรับการบริหารงานสำนักพระราชวัง (The Palace Administration) จำนวน 6.1 ล้านยูโร รวมเป็น 12.4 ล้านยูโร ดังนั้นคนสวีเดน 1 คนเสียเงินให้สถาบันกษัตริย์ประมาณ 1.27ยูโรต่อคน

ใครอนุมัติเงินที่สถาบันกษัตริย์ในยุโรปจะได้รับในแต่ละปี? เงินทั้งหมดต้องนำไปใช้จ่ายในเรื่องใด? ทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์มีอะไรบ้าง?


สรุปข้อมูลจาก Robert Hazell and Bob Morris (Editors), The Role of Monarchy in Modern Democracy : European Monarchies Compared, Hart Publishing, 2020, p.181-189

สหราชอาณาจักร

ใครอนุมัติจำนวนเงิน : เดิมรัฐสภามีอำนาจอนุมัติเงินรายปี หรือ Civil List ให้สถาบันกษัตริย์ ต่อมายกเลิกไป ให้ใช้เงินอุดหนุดส่วนกษัตริย์ หรือ Sovereign Grant แทน โดยตั้งแต่ 2017-2018 เงินอุดหนุนส่วนกษัตริย์มาจากกำไร 25% ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ในสองปีก่อนหน้า และเพิ่มอีก 10% สำหรับการซ่อมบำรุงพระราชวังบังกิงแฮมซึ่งจะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า

ต้องนำเงินไปใช้ในเรื่องใด : การเดินทางปฏิบัติงานราชการทั้งในประเทศและต่างประเทศ การบำรุงรักษาพระตำหนักและสถานที่สำหรับงานสังสรรค์ของทางการ สถานที่จัดพิธีการ และเงินเดือนของลูกจ้างที่ทำงานสนับสนุนพระราชินี

ทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ : ราชบัลลังก์ถือครองอสังหาริมทรัพย์ 10 แห่ง ได้แก่ พระราชวังบักกิงแฮม และที่ประทับที่เป็นของส่วนพระองค์อีก 7 แห่ง ในจำนวนนี้ 3 แห่งที่เป็นของสำนักทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ ส่วนอีก 3 แห่งเป็นของ Duchy of Cornwall นับตั้งแต่ปี 1997 ราชวงศ์ไม่ได้ถือครองเรือยอร์ชอีกต่อไปแล้ว

รายได้ส่วนพระองค์และเงินออม : รายได้จาก the Duchy of Lancaster เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ส่วนตัวของพระราชินี รายได้จาก Duchy of Cornwall สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์และค่าใช้จ่ายทางการของดยุกแห่งเวลส์และดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ถูกนำมาคำนวนภาษีเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ และยังนำไปจ่ายค่าใช้จ่ายของดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ รวมถึงดยุกและดัชเชสแห่งซัซเซกด้วย มีการคาดการณ์มากมายถึงทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระราชินิ แต่ไม่มีหลักฐานอย่างเป็นทางการเปิดเผยต่อสาธารณะ

เบลเยียม

ใครอนุมัติจำนวนเงิน : รัฐสภาอนุมติเงินรายปี ในมาตรา 2 ของกฎหมายปี 2013 กำหนดจำนวนเงินรายปีที่ให้กับสถาบันกษัตริย์ไว้ที่ 11.5 ล้านยูโร

ต้องนำไปใช้ในเรื่องใด : ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นของสถาบันกษัตริย์และการทำงานของสำนักพระราชวัง รวมถึง เงินเดือนเจ้าหน้าที่, อุปกรณ์ต่างๆ, ค่าใช้จ่ายประจำวันสำหรับการดำเนินงาน, การต้อนรับ, การซ่อมแซมและบำรุงรักษาตกแต่งภายในของพระราชวังในบรัสเซล-พระราชวังในลาเกน, ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด, ยานพาหนะ ,น้ำมัน, ค่าประกัน และอื่นๆ

ทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ : มีอสังหาริมทรัพย์ 2 แห่งเท่านั้นที่เป็นของส่วนพระองค์ ที่เหลือรัฐเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 6 แห่งผ่านรอยัลทรัสต์ รวมถึง ปราสาท Belvédère ที่ประทับหลัก

รายได้ส่วนพระองค์และเงินออม : นอกจากรายได้ที่มาจากรัฐแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์และความมั่งคั่งของราชวงศ์ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

เดนมาร์ก

ใครอนุมัติจำนวนเงิน : เงินอุดหนุนประจำปีที่สภาจัดสรรให้แก่พระราชินีเดนมาร์กถูกระบุไว้ใน พ.ร.บ.เงินรายปีที่ให้กับสถาบันกษัตริย์ (Civil List Act) ซึ่งถูกปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2001 โดยแก้ไขให้เข้ากับดัชนีค่าจ้างของพนักงานของรัฐ นอกจากนี้ยังกำหนดเงินสนับสนุนอีก 226,616.53 ยูโร ต่อเดือนให้มกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารี

ต้องนำไปใช้ในเรื่องใด : เงินสมทบจากรัฐบาลครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนตัวของพระราชินี ค่าใช้จ่ายของพระราชินีในการดำเนินงานของราชการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยราชการในพระองค์

ทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ : อสังหาริมทรัพย์ 7 แห่งเป็นของราชอาณาจักรเดนมาร์ก และอีก 3 แห่งเป็นของส่วนพระองค์

รายได้ส่วนพระองค์และเงินออม : ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความมั่งคั่งส่วนพระองค์

เนเธอร์แลนด์

ใครอนุมัติจำนวนเงิน : รัฐสภาอนุมัติ โดยจำนวนงบประมาณของกษัตริย์ถูกคาดการณ์และกำหนดจากประสิทธิภาพการทำงานในหน้าที่ราชการ พระราชบัญญัติการเงินราชวงศ์ ปี 1972 ถูกแก้ไขในปี 2008 กำหนดเงินอุดหนุนสำหรับกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ โดยมีสององค์ประกอบ คือ รายได้ A และ รายได้ B

รายได้ A มีการปรับขึ้นและปรับลงรายปี พิจารณาจากการปรับขึ้นของเงินเดือนรายปีของรองประธานสภาแห่งรัฐ (Council of State)

ส่วนรายได้ B พิจารณาโดยคำนึงถึงอัตรารายได้ของเจ้าหน้าที่รัฐและค่าครองชีพ

ต้องนำไปใช้ในเรื่องใด : ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่, ค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับการบริหารจัดการพระราชวัง โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2014 งบประมาณของกษัตริย์ไม่ครอบคลุมการเดินทางโดยเครื่องบินส่วนตัวอีกต่อไป ทำให้ประหยัดเงินไปได้ถึง 300,000 ยูโร

ทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ : รัฐเป็นเจ้าของพระราชวัง 3 แห่ง ซึ่งรวมถึงพระราชวัง Huis ten Bosch กรุงเฮก ซี่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์ตั้งแต่ปี 2019 ส่วนพระราชวัง Het Loo ซึ่งเป็นที่ประทับเก่า ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะ ส่วนพระราชวัง Soestdijk เป็นของเอกชนรายอื่น ไม่ได้ถือครองโดยสมาชิกราชวงศ์

รายได้ส่วนพระองค์และเงินออม : มีการคาดการณ์เกี่ยวกับความมั่งคั่งของอดีตสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งสละราชสมบัติไปเมื่อปี 2013 แต่ไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระองค์

นอร์เวย์

ใครอนุมัติจำนวนเงิน : รัฐสภาเป็นผู้กำหนด และต้องปรากฏในปีงบประมาณของรัฐ รวมทั้งต้องระบุไว้ในรายงานประจำปีของราชวงศ์

ต้องนำไปใช้ในเรื่องใด : ค่าใช้จ่ายของกษัตริย์และพระราชวงศ์ในการปฏิบัติหน้าที่ทางการ ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ การเดินทาง และอื่นๆ ในช่วงหลังมีการให้เงินเพิ่มเติมเพื่อจ่ายค่าซ่อมแซมของที่ประทับอย่างเป็นทางการ

ทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ : ที่ประทับทั้ง 5 แห่งเป็นของรัฐ ได้แก่ พระราชวังในออสโล และอีก 4 แห่งในประเทศนอร์เวย์ ด้านกษัตริย์และมกุฎราชกุมารมีอสังหาริมทรัพย์ส่วนพระองค์รวม 6 แห่ง รวมถึงพระตำหนักอย่างเป็นทางการนอกกรุงออสโล, เรือยอร์ชและยานพาหนะขนาดเล็กอื่นๆ แต่เรือยอร์ชซึ่งเป็นของกษัตริย์มีทหารเรือเป็นผู้ดูแลและประจำการ

รายได้ส่วนพระองค์และเงินออม : พระมหากษัตริย์นอร์เวย์มีทรัพย์สินส่วนพระองค์ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ การลงทุน และหุ้นในบริษัทน้ำมันเชลล์ ความมั่งคั่งของพระองค์เป็นประเด็นที่ถูกโต้เถียงกันอย่างมากในสื่อมวลชนนอร์เวย์และมีรายงานว่ากษัตริย์มีทรัพย์สินส่วนพระองค์มากกว่าที่เคยมีข้อมูลออกมา ซึ่งสำนักพระราชวังปฏิเสธรายงานนี้

อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่มีจำนวนมากนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากการรับมรดกของสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ จากม็อดแห่งเวลส์ ซึ่งเคยเป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ

สเปน

ใครอนุมัติจำนวนเงิน : มาตรา 65 และ 134 ในรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ว่าให้มีการจัดสรรเงินให้สถาบันกษัตริย์ โดยรัฐสภา (Cortes Generales) จะอนุมัติงบประมาณเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทั่วไปของรัฐทั้งหมด ซึ่งในนั้นจะกำหนดจำนวนเงินในแต่ละปีที่ให้กับสถาบันฯ ทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่าประมุขของรัฐมีงบประมาณเพียงพอในการทำหน้าที่ภายใต้รัฐธรรมนูญด้วยความเป็นอิสระ

ต้องนำไปใช้ในเรื่องใด : เงินรายปีถูกนำไปจ่ายให้กับข้าราชการส่วนพระองค์ โดยต้องถูกนำมาเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐในส่วนราชการอื่น แม้ข้าราชการส่วนพระองค์จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลและฝ่ายบริหาร นอกจากนี้งบประมาณรายปียังถูกนำไปจ่ายค่าบำรุงรักษาพระราชวังและค่าใช้จ่ายของสมาชิกราชวงศ์ระดับสูงที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วย

ทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์: พระราชวังหลวงกรุงมาดริด และอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ อีก 7 แห่ง วัดวาอาราม และคอนแวนต์ที่สร้างภายใต้การอุปถัมภ์ของราชวงศ์สเปน และเรือยอชต์

รายได้ส่วนพระองค์และเงินออม : พระตำหนักและสถานที่พักพิงทั้งหมดของราชวงศ์เป็นของรัฐ ดังนั้นนอกจากรายได้ที่มาจากรัฐแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์และความมั่งคั่งของราชวงศ์ก็ไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าทรัพย์สินส่วนพระองค์ของอดีตกษัตริย์ฮวนคาร์ลอสแห่งสเปนที่ลี้ภัยไปเพราะเรื่องอื้อฉาวมีจำนวนมากและยังไม่สามารถคำนวนเป็นมูลค่าได้

สวีเดน

ใครอนุมัติจำนวนเงิน : การบริหารราชสำนักและบริหารงานสำนักพระราชวังได้รับงบประมาณจากรัฐบาล โดยจัดสรรพร้อมกับงบประมาณของรัฐในแต่ละปี

ต้องนำไปใช้ในเรื่องใด : การบริหารราชสำนัก (The Court Administration) ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง-การปฏิบัติหน้าที่ทางการของกษัตริย์ ค่าใช้จ่ายของกองกำลังแห่งราชอาณาจักร (the Marshal of the Realm) ค่าใช้จ่ายส่วนตัว การเงิน ข้อมูล การสื่อสารประชาสัมพันธ์ สำนักงานของจอมพลราชสำนัก (Office the marshal of the court) สำนักพระราชวังของพระราชินีและมกุฎราชกุมารี และราชรถ

ทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ : พระราชวัง Solliden เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดอีก 13 แห่งเป็นของรัฐ

รายได้ส่วนพระองค์และเงินออม : รายได้และทรัพย์สินส่วนพระองคที่มาจากการลงทุน มีหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของราชสำนัก (The chief financial officer at the court) รับผิดชอบดูแลการลงทุนเหล่านี้แทน ในปี 2016 เจ้าหญิงมาเดอลีนแห่งสวีเดน ได้รับเงินกว่า 230,000 ยูโรจากการลงทุน และทรงจ่ายภาษีจำนวน 70,865 ยูโร

ค่าใช้จ่ายของสถาบันกษัตริย์ในยุโรปถูกตรวจสอบหรือไม่? หากมีรายได้ต้องเสียภาษีหรือเปล่า?


สรุปข้อมูลจาก Robert Hazell and Bob Morris (Editors), The Role of Monarchy in Modern Democracy : European Monarchies Compared, Hart Publishing, 2020, p.181-189

สหราชอาณาจักร

การตรวจสอบและความโปร่งใส : บัญชีและทรัพย์สินทั้งหมดต้องถูกตรวจสอบจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของสภาและจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (National Audit Office) โดยบัญชีและทรัพย์สินของดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์และคอร์นวอลล์ถูกนำเสนอในรัฐสภาทุกปี

การเก็บภาษี : ในปี 1992 พระราชินีอาสาจะจ่ายภาษีเงินได้และภาษีปันผลและตั้งแต่ปี 1993 รายได้ส่วนตัวของพระองค์ถูกเก็บภาษีเหมือนกันประชาชนผู้จ่ายภาษีทั่วไป

พระราชินีทรงอาสาจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและจ่ายภาษีตามอัตราปกติมาโดยตลอด สมาชิกคนอื่นๆ ของราชวงศ์ก็ถูกเก็บภาษีตามปกติเช่นกัน

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (การตกแต่งปรับปรุงพระราชวัง) : พระราชวังบักกิงแฮมซึ่งจะถูกปรับปรุงตลอด 10 ปีข้างหน้าไปจนถึงปี 2026-2027 ได้รับเงินสนับสนุนอีกจำนวน 418 ล้านยูโรรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีเงินอุดหนุนส่วนกษัตริย์ (Sovereign Grant) ที่ถูกจัดสรรให้กับการตกแต่งพระราชวังในปี 2017-2018 อีก 34.5 ล้านยูโร

ประเด็นถกเถียง : ราชวงศ์อังกฤษได้รับเงินสนับสนุนรายปีมากกว่าราชวงศ์ของประเทศอื่นๆ จึงทำให้ราชวงศ์อังกฤษมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสื่ออังกฤษเกี่ยวกับจำนวนเงินภาษีที่ได้รับเป็นจำนวนมาก

เบลเยียม

การตรวจสอบและความโปร่งใส : งบประมาณค่าใช้จ่ายส่วนกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐ จึงถูกตรวจสอบตามระบบปกติเช่นเดียวกับงบประมาณของส่วนราชการอื่นๆ

การเก็บภาษี : ตั้งแต่การปฏิรูปทางการเงินในปี 2013 สถาบันกษัตริย์เบลเยียมต้องถูกเก็บภาษีอากร เพื่อเพิ่มความโปร่งใสทางการเงิน

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (การตกแต่งปรับปรุงพระราชวัง) : ไม่มีการตกแต่งพระราชวังใหม่ที่เป็นที่ประจักษ์หรือมีขนาดใหญ่

เดนมาร์ก

การตรวจสอบและความโปร่งใส : งบการเงินของค่าใช้จ่ายส่วนกษัตริย์และงบประมาณจากรัฐสภาที่จ่ายให้กับมกุฎราชกุมารต้องถูกนำเสนอตามกรอบ class A ภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี

การเก็บภาษี : ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราชินี มกถฎราชกุมาร มกุฏราชกุมารี เจ้าชาย Joachim เจ้าหญิงมารี และเจ้าหญิง Benedikte ต้องจ่ายภาษีมรดกและภาษีที่ดิน

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (การตกแต่งปรับปรุงพระราชวัง) : ในปี 2010 พระราชวัง Amalienborg ถูกตกแต่งใหม่ โดยใช้งบประมาณภาษี 29.4 ล้านยูโร ปัจจุบันไม่มีการตกแต่งปรับปรุงใหม่เกิดขึ้น

เนเธอร์แลนด์

การตรวจสอบและความโปร่งใส : ในปี 2009 รัฐบาลตัดสินใจว่า ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐจะต้องแสดงค่าใช้จ่ายของราชวงศ์ทั้งหมดด้วย ซึ่งงบเหล่านี้เคยถูกรับผิดชอบโดยกระทรวงต่างๆ ขณะนี้งบประมาณถูกจัดสรรเป็น 3 ก้อนในงบประมาณรายปีสำหรับราชวงศ์ อยู่ในงบประมาณที่ 1 ของงบประมาณรายปีของรัฐ

การเก็บภาษี : สมาชิกของราชวงศ์ที่ได้รับเงินเดือนจะได้รับการยกเว้นภาษีจากเงินเดือนนั้น สถาบันกษัตริย์และรัชทายาทได้รับการยกเว้นภาษีมรดกจากมรดกที่ได้รับจากสมาชิกในราชวงศ์

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (การตกแต่งปรับปรุงพระราชวัง) : การตกแต่งใหม่ชองพระราชวัง Huis ten Bosch ซึ่งเสร็จสิ้นในปี 2019 มีค่าใช้จ่ายประมาณ 63.1 ล้านยูโร

นอร์เวย์

การตรวจสอบและความโปร่งใส : งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ถูกบันทึกไว้ในงบประมาณของรัฐนอร์เวย์ และปรากฎในรายงานประจำปีของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งตรวจสอบได้ตามระบบปกติ

การเก็บภาษี : กษัตริย์ พระราชินี และมกุฏราชกุมารได้รับการยกเว้นภาษี ข้อยกเว้นนี้ไม่รวมถึงสมาชิกในราชวงศ์คนอื่นๆ เช่น เจ้าหญิง Märtha Louise และพี่สาวของมกถฎราชกุมารด้วย

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (การตกแต่งปรับปรุงพระราชวัง) : ในปี 1990 เงิน 51 ล้านยูโรถูกจัดสรรไปตกแต่งพระราชวังออสโลและที่ประทับอื่นๆ ซึ่งถือว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และการปรับปรุงนี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่ การบูรณะพระราชวังในออสโลเกินงบประมาณที่ตั้งไว้เป็นจำนวนมาก แต่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากแนวทางการบูรณะอย่างค่อยเป็นค่อยไปของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมากกว่าแผนที่วางไว้ในขั้นต้น

ประเด็นถกเถียง : เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์และข้อมูลที่ขัดแย้งกันระหว่างงบประมาณที่ให้กับสถาบันกษัตริย์ที่ถูกระบุในงบประมาณของรัฐกับจำนวนเงินที่อาจจะได้รับจริง ทำให้คณะกรรมาธิการในสภาที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีบทบาทในการทำให้สาธารณะเข้าใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ซึ่งถูกขยายออกไปจากจำนวนเงินที่ระบุไว้ในงบประมาณจากหลากหลายกระทรวง เช่น ตำรวจและความมั่งคง

สเปน

การตรวจสอบและความโปร่งใส : การแก้ไขกฎหมายในปี 2013 ว่าด้วยความโปร่งใสของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการและธรรมาภิบาล กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในพิจารณาการเข้าถึงข้อมูลของสำนักพระราชวังของกษัตริย์

การเก็บภาษี : สมาชิกราชวงศ์ทั้งหมดต้องถูกเก็บภาษี

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (การตกแต่งปรับปรุงพระราชวัง) : ค่าบำรุงรักษาสถานที่ของราชวงศ์ไม่รวมอยู่ในงบประมาณรายปีของสถาบันฯ ซึ่งสถานที่ทั้งหมดเป็นของรัฐและให้กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐเข้าใช้ได้ แต่ถูกบริหารงานโดย Patrimonio Nacional พระราชวังมาดริดรวมทั้งที่ประทับอื่นๆ เริ่มปรับปรุงในปี 2014 เพื่อให้รองรับเข้าถึงของผู้พิการ

ประเด็นถกเถียง : อดีตกษัตริย์ฆวน คาร์ลอสถูกกล่าวหาว่าฟอกเงินและหนีภาษีจำนวนกว่า 80 ล้านยูโรจากสัญญารถไฟฟ้าความเร็วสูงกับประเทศซาอุดิอาราเบีย และในปี 2018 เจ้าหญิง Corinna zu Sayn- Wittgenstein เปิดเผยบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่เกี่ยวพันกับการประพฤติผิดทางการเงินของอดีตกษัตริย์ ฆวน คาร์ลอส

สวีเดน

การตรวจสอบและความโปร่งใส : บัญชีและทรัพย์สินของการบริหารราชสำนักต้องถูกตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีภายนอก

กิจการต่างๆ ของสำนักพระราชวังจะต้องถูกตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีของสภา

การเก็บภาษี : สมาชิกราชวงศ์ทั้งหมดต้องปฏิบัติตามข้อบังคับด้านภาษีเหมือนประชาชนสวีเดนทุกคน อย่างไรก็ตาม บางส่วนของรายได้ของกษัตริย์และพระโอรส-พระธิดาถูกจัดให้เป็น appanage หรือทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกทอดกันมาในสมัยศักดินาระบอบเก่า ซึ่งกฎหมายยกเว้นไม่เก็บภาษี

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (การตกแต่งปรับปรุงพระราชวัง) : พระราชวังสต็อกโฮล์มและที่ประทับอย่างเป็นทางการของสถาบันกษัตริย์กำลังถูกปรับปรุงขนานใหญ่ในอีก 22 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดคือ 19.4 ล้านยูโร

ข้อมูลอ้างอิง :

“Robert Hazell and Bob Morris (Editors), The Role of Monarchy in Modern Democracy : European Monarchies Compared, Hart Publishing, 2020, p.181-189”