วันอาทิตย์, สิงหาคม 22, 2564

ไม่ชนะโหวต แต่ชนะใจ เผลอๆ ไอ้พวก ส.ส.รัฐบาลก็มาตบหลังตบไหล่ กระซิบในห้องน้ำ พูดถูกใจแต่ชาตินี้พี่ไม่กล้า



Atukkit Sawangsuk
10h ·

ไม่ชนะโหวต แต่ชนะใจ
เผลอๆ ไอ้พวก ส.ส.รัฐบาลก็มาตบหลังตบไหล่
กระซิบในห้องน้ำ พูดถูกใจแต่ชาตินี้พี่ไม่กล้า

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ เหตุใด #ก้าวไกล ปฏิรูป #งบสถาบันกษัตริย์
...
[ ทำไมงบสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงต้องปฏิรูป? ]
.
อย่างที่พรรคก้าวไกลได้อภิปรายไปแล้วในการพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 65 วาระที่ 1 ว่ามีงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกระจัดกระจายอยู่รวมๆ อย่างน้อย 33,712 ล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด 3.1 ล้านล้านบาท
.
------
.
***งบส่วนราชการในพระองค์เพิ่มขึ้น หลังออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560***
.
ในเงินทั้งหมดก้อนนี้ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมดคือ งบประมาณของ “ส่วนราชการในพระองค์” 8,761 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากปี 2560 ที่รัฐบาล คสช. ออก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ เพื่อรวมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าไว้ด้วยกัน
.
โดยปี 60 ที่งบสถาบันกษัตริย์ทั้ง 5 ส่วน ยังคงรับงบประมาณแยกกัน เรามีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้รวม 5,674 ล้านบาท แต่หลังกฎหมายฉบับใหม่ออกมาแล้ว ภายในปีเดียว สถาบันพระมหากษัตริย์กลับได้รับงบประมาณรวมเพิ่มขึ้นเป็น 6,391 ล้านบาท แถมยังมีงบคาอยู่ที่หน่วยงานถวายความปลอดภัยเดิมอีก ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีก 3,055 ล้านบาท ทำให้รวมเบ็ดเสร็จแล้วกว่า 9,446 ล้านบาท และงบประมาณส่วนนี้เพิ่มขึ้นทุกปี จนในปีนี้ สภากำลังจะผ่านงบประมาณส่วนนี้รวมกันถึง 12,176 ล้านบาท
.
------
.
***งบประมาณที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ สูงเกินไปหรือไม่?***
.
ทำให้เราเห็นได้ว่า 6 ปีที่ผ่านมา งบประมาณของส่วนราชการในพระองค์และงบถวายความปลอดภัย เพิ่มขึ้นกว่า 114% เร็วกว่างบประมาณแผ่นดิน เพิ่มขึ้นเพียง 13% เท่านั้น
.
นี่ทำให้เราตั้งคำถามว่า งบประมาณแผ่นดินที่เราจัดสรรให้สถาบันพระมหากษัตริย์ สูงเกินไปหรือไม่?
.
ยกตัวอย่างประเทศที่มีกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่ง เราจะเห็นว่ากษัตริย์ไทยได้รับงบประมาณมากที่สุด มากกว่ากษัตริย์อังกฤษ ที่ได้งบประมาณ 3,565 ล้านบาท 1 เท่าตัว และมากกว่าสวีเดน ที่สถาบันกษัตริย์ได้งบประมาณ 266 ล้านบาท เกือบ 33 เท่า
.
นอกจากนี้ ถ้าเราเปรียบเทียบกับส่วนราชการอื่นๆ ที่มีสถานะเทียบเท่ากัน ส่วนราชการในพระองค์ได้รับงบประมาณมากกว่ากระทรวงถึง 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงอุตสาหกรรม, และกระทรวงพลังงาน
.
อาจมีบางท่านแย้งว่าที่ส่วนราชการในพระองค์ต้องได้รับจัดสรรงบประมาณมากขนาดนี้ นั่นเพราะต้องดูแลข้าราชบริพาร ซึ่งจากการชี้แจงชั้นกรรมาธิการเราได้รับทราบตัวเลขว่ามีข้าราชบริพารประมาณ 14,275 คน
.
ซึ่งถ้าเทียบจำนวนบุคลากรจำนวนนี้ มากกว่ากระทรวงอื่นถึง 14 กระทรวง และมากกว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีหน้าที่ดูแลเด็ก คนชรา ผู้พิการ และคนเปราะบางกลุ่มต่างๆ ทั้งประเทศไทยถึงเกือบ 5 เท่า
.
เราไม่ได้กำลังบอกให้เพิ่มจำนวนบุคลากรให้กับหน่วยงานรัฐอื่น เพราะปัจจุบันค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐก็เป็นจำนวนที่กดดันภาระงบประมาณในทุกๆปีอยู่แล้ว แต่เรากำลังตั้งคำถามถึงจำนวนบุคลากรที่มากเกินความจำเป็น
.
------
.
***งบสถาบันที่ไม่มีรายละเอียดเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังปี 2560***
.
นอกจากจำนวนเงินที่สูงเกินไปแล้ว ปัญหาใหญ่ที่สำคัญที่สุดของการพิจารณางบสถาบันกษัตริย์ คือความโปร่งใส
.
การพิจารณางบประมาณแผ่นดินของสภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานต่างๆ จะต้องชี้แจงรายละเอียดการใช้งบประมาณและตัวชี้วัด ว่าเงินทุกบาท ที่ได้จากภาษีประชาชน จะถูกนำไปใช้อย่างไร ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้
.
ที่น่าแปลกใจ คือการพิจารณางบส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งมีงบประมาณมากกว่ากระทรวงดิจิทัล, กระทรวงพาณิชย์, และกระทรวงอุตสาหกรรม กลับมีเอกสารมาให้สภาพิจารณาเพียง 7 หน้า ไม่บอกรายละเอียดการใช้งบประมาณ และไม่มีผู้แทนหน่วยงานมาชี้แจงต่อสภาเหมือนหน่วยงานอื่น
.
การไม่มีรายละเอียดทำให้เกิดข้อสงสัย หน่วยรับงบประมาณปกติ เมื่อใช้จ่ายงบประมาณไม่เต็มวงเงิน ต้องส่งเงินคืนคลัง แต่ส่วนราชการในพระองค์ กลับเบิกจ่ายงบเต็มจำนวน 100% และบางปีก็มีการเบิกจ่ายเกินด้วย เช่น ในปี 61 เบิกจ่ายเกินมา 52% เป็นเงิน 2,195 ล้านบาท และ ในปี 63 เบิกจ่ายเกินมา 28% คิดเป็นเงิน 2,129 ล้านบาท โดยที่เราไม่ทราบรายละเอียด เพราะไม่มีการชี้แจงใดๆ ถึงเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว
.
อาจมีข้อโต้แย้งว่าการเบิกจ่ายงบเต็มจำนวน ส่วนที่ใช้ไม่หมดก็เก็บเป็นเงินสะสม เป็นลักษณะเดียวกับองค์การมหาชน แต่อย่าลืมว่าองค์การมหามีรายงานงบการเงินอย่างโปร่งใสทุกปี ว่างบใช้อย่างไร มีเงินสะสมเหลือเท่าไหร่ แต่ส่วนราชการในพระองค์เราไม่เห็นเอกสารเหล่านั้น
.
เราต้องขอย้ำว่าการไม่มีรายละเอียดงบส่วนราชการในพระองค์ ไม่ใช่เรื่องปกติ! แต่เป็นผลจาก พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 โดยก่อนปี 2560 ในเอกสารงบประมาณ ถึงแม้จะไม่ละเอียด แต่เรายังพอสามารถเห็นได้ว่างบประมาณส่วนราชการในพระองค์ถูกใช้ไปที่หน่วยงานใดเป็นเงินเท่าไหร่ และมีรายการใช้จ่ายอะไรบ้าง
.
------
.
***บทสรุป: ความไม่โปร่งใสไม่ได้มีแค่นี้ เราต้องปฏิรูปงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกมิติ***
.
นอกจากความไม่โปร่งใสในงบประมาณที่เราได้กล่าวไปแล้ว ในความเป็นจริงยังมีงบโดยตรงของสถาบันกษัตริย์ที่ซุกซ่อน และกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยราชการอื่นอีก เช่น
* งบซื้อเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง วงเงินรวม 12,000 ล้านบาท (ตั้งแต่ปี 61-65) และค่าซ่อมบำรุงและเชื้อเพลิงอีกปีละ 1,500 ล้านบาท ที่ตั้งในสำนักนายกรัฐมนตรี
* งบที่เขียนว่า “โครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง 1,500 ล้านบาท” จริงๆ ซึ่งใช้ในการปรับปรุงวังที่ประทับต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในกระทรวงมหาดไทย
.
ยังไม่นับงบประมาณของโครงการที่มีนามสกุลห้อยท้าย "ในพระราชดำริ" "เฉลิมพระเกียรติ" อื่นๆ ที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่ในหลายกระทรวง โดยไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการตั้งคำถาม และไม่มีการปรับงบประมาณ ทั้งที่บางโครงการตั้งขึ้นมาติดต่อกันกว่า 30 ปี
.
ทั้งหมดที่พูดมา ทำให้เราเห็นความจำเป็นของการปฏิรูปงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ เราเรียกร้องการลดงบประมาณให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่ประชาชนกำลังยากลำบากจากวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในชั่วชีวิตของพวกเรา
.
และในการปฏิรูปเราเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ที่เกิดในยุค คสช. ที่ทำให้งบสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ และไม่ถูกต้องตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย ที่องค์พระมหากษัตริย์ อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง...
.
#ก้าวไกล #ประชุมสภา #งบประมาณปี65 #งบสถาบันกษัตริย์