Nithiwat Wannasiri
August 25, 2016 ·
เรื่องเล่า"ผักตบชวา"อีกเรื่องหนึ่ง เพิ่มเติมให้จารย์ Somsak Jeamteerasakul
-------------------------------------
(บทความคัดลอกจากเพจหนึ่งที่ถูกแบนในประเทศไทย)
เกร็ดประวัติศาสตร์
คุณูปการอันใหญ่หลวงของสถาบันกษัตริย์ไทย ต่อวงการอาหาร วงการเลี้ยงสัตว์ วงการทำปุ๋ย วงการสมุนไพร และวงการจักรสานไทย
ด้วยน้ำพระทัยแห่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา(เจ้าจอมมารดาเปี่ยม)เป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก โดยรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปนั้น พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระองค์แรกของไทย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์สภานายิกา สภากาชาดไทยพระองค์แรกอีกด้วย)
โดยพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ในการนำ"ผักตบชวา"เข้ามาสู่ประเทศไทย
ผักตบชวา (ชืออังกฤษ:Water Hyacinth/ชื่อวิทยาศาสตร์ Eichhornia crassipes) เป็นพืชน้ำล้มลุกอายุหลายฤดู สามารถอยู่ได้ทุกสภาพน้ำ มีถิ่นกำเนิดในแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล ในทวีปอเมริกาใต้ มีดอก สีม่วงอ่อน คล้ายช่อดอกกล้วยไม้ และแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืชที่ร้ายแรงในแหล่งน้ำทั่วไป มีชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่นดังนี้: ผักปอด, สวะ, ผักโรค, ผักตบชวา, ผักยะวา, ผักอีโยก, ผักป่อง, "ผักตามเสด็จ" ก็ว่า
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พืชน้ำชนิดนี้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย เพราะมีดอกสวยงาม ต่อมาได้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในแม่น้ำลำคลอง สร้างความเสียหายมหาศาล แต่ก็มีประโยชน์มหาศาลต่อวงการจักรสานเช่นกัน จึงมีการตราพระราชบัญญัติ"ผักตบชวา"ขึ้นในปี ๒๔๕๖
คนไทยทั้งประเทศจึงได้รู้จักพืชน้ำชนิดนี้กกันโดยทั่วไปในนาม "ผักตบชวา"
ผักตบชวาจัดเป็น "เอเลี่ยน สปีชี่ส์" หรือ "ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น" ที่เข้ามาแพร่ระบาดคุกคามแหล่งน้ำธรรมชาติจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ในประเทศไทย เหตุเพราะมีการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
ใน ๑ เดือนผักตบชวาเพียง ๑ ต้นอาจขยายพันธุ์ได้มากถึง ๑,๐๐๐ ต้น จากเพียงแค่ ๑๐ ต้นจะกลายเป็น ๑,๐๐๐,๐๐๐ ต้น ได้ใน ๑ ปี ถึงแม้น้ำจะแห้งจนต้นตายแต่เมล็ดของมันก็ยังมีชีวิตต่อไปได้นานถึง ๑๕ ปีและทันทีที่เมล็ดได้รับน้ำที่เพียงพอมันก็จะแตกหน่อเป็นต้นใหม่ต่อไป (ใช่แล้ว ด้วยคุณสมบัติของมัน ย่อมเป็นประโยชน์มหาศาลต่อวงการจักรสานไทย)
ในถิ่นกำเนิดที่ทวีปอเมริกาใต้ ผักตบชวาไม่ได้ก่อปัญหาใด ๆ เพราะมีศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลง โรค และศัตรูอื่น ๆ คอยควบคุมการระบาด แต่เมื่อถูกนำไปสู่ถิ่นใหม่ ซึ่งปราศจากศัตรูธรรมชาติ จึงแพร่ระบาดสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง(แต่ก็เป็นประโยชน์มหาศาลต่อวงการจักรสานไทย)
เคยมีความพยายามนำแมลงศัตรูพืชเฉพาะของผักตบชวาในถิ่นกำเนิดเดิมมาเพาะพันธุ์และปล่อยตามไปกินผักตบชวาในประเทศไทยแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
หลักฐานชิ้นแรก ๆ เท่าที่มีผู้บันทึกไว้คือ เมื่อปี ๒๔๒๗ นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นนำผักตบชวา ที่เก็บจากแม่น้ำโอริโนโก ประเทศเวเนซุเอลา ไปแสดงในงานนิทรรศการฝ้ายที่เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา และแจกเป็นที่ระลึกให้แก่บุคคลสำคัญที่มาเที่ยวชมคนละต้น หลังจากนั้น ๑๑ ปี แม่น้ำเซนต์จอห์นในรัฐฟลอริดา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองนิวออร์ลีนส์ไปทางใต้ถึง ๖๐๐ ไมล์ เกิดมีแพผักตบชวายาวถึง ๑๐๐ ไมล์ คลุมผิวน้ำห่างไปจากฝั่งถึง ๒๐๐ ฟุต(เป็นโชคร้ายของฝรั่งมังค่าที่ไม่รู้จักการนำมาทำเครื่องจักรสานเหมือนคนไทย)
ผักตบชวาถูกนำเข้ามาสู่ประเทศไทยครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสเกาะชวา (อินโดนีเซียปัจจุบัน) ทอดพระเนตรเห็นเจ้านายฝ่ายหญิงของชวา ประดับดอกผักตบชวาที่มุ่นมวยผม ทรงเห็นว่างามนัก ก็ทรงพอพระทัย จึงโปรดให้นำพันธุ์จากชวากลับมาปลูกที่วังสระปทุม เพื่อเป็นไม้ประดับในสระน้ำ เจ้าหน้าที่ก็นำผักตบชวาทั้งรากทั้งโคนมาให้ ๓ เข่ง แถมน้ำในบ่อผักตบชวาอีก ๑๐ ปี๊บ เป็นน้ำเชื้อ กลัวว่ากลับมาเมืองไทยอาจผิดน้ำทำให้ตายได้
โดยได้ทรงเรียกนายทหารคนหนึ่ง ชื่อ ร.ท.โดด หม่องมณี มาเป็นผู้รับผิดชอบในผักตบชวาเหล่านั้น โดยมีพระราชกระแสรับสั่งว่า ถ้าผักตบชวารอดตายได้ จะปูนบำเหน็จให้อย่างหนัก
ร.ท.โดด หม่องมณี จึงนำผักตบชวานั้น ทะนุถนอมกลับเมืองไทย พอเรือพระที่นั่งเทียบท่าราชวรดิฐ ก็รีบนำผักตบชวาขึ้นรถม้ามาปลูกที่พระราชวังพญาไท ใส่กระถางลายครามปลูกไว้ดิบดี แต่แรกนั้น ร.ท.โดด หม่องมณี ใช้น้ำที่ใส่ปี๊บมาจากชวาล้วนๆ เดือนเดียวเท่านั้นผักตบชวาก็แน่นกระถาง เดือนต่อมาลองเปลี่ยนน้ำ ใช้น้ำในเมืองไทยแทน ผักตบชวาก็ยิ่งถูกกับน้ำไทย ขยายพืชพันธุ์ใหญ่โต
ในระยะแรกๆ นั้น เจ้านายฝ่ายในทั้งหลายตื่นเต้นมาก เข้ามาทูลขอผักตบชวาไปปลูกกันองค์ละหน่อ สองหน่อ ก็โปรดพระราชทานให้ หลังจากใส่กระถางจนเต็มกระถาง ร.ท.โดด ก็นำลงปลูกในบ่อพระราชวังพญาไท ผักตบชวาก็ออกดอกงอกงาม เจ้านายที่เคยมาทูลขอก็ชักเบื่อ เพราะนำไปปลูกเองก็ขยายพืชพันธุ์แจกได้มากมายดังนั้นจึงทรงโปรดให้ ร.ท.โดด หม่องมณี นำผักตบชวาลงปล่อยในแม่น้ำลำคลองเสีย(ด้วยทรงมุ่งหวังให้ไพร่ฟ้าได้ร่วมชื่นชมความงดงามของดอกผักตบชวานี้โดยทั่วกัน)
ครั้งแรกปล่อยลงคลองสามเสนหลังพระราชวังพญาไท
ครั้งต่อไปโปรดให้ปล่อยลงคลองเปรมประชากร
ครั้งที่สามโปรดให้ปล่อยลงคลองผดุงกรุงเกษม
โดย ร.ท.โดด หม่องมณี ได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือเอก รับพระราชทานเงินถึง ๓ ชั่ง เป็นบำเหน็จรางวัล
และผักตบชวาก็เลยหลุดลอยออกมาภายนอกวัง จึงทำให้ผักตบชวาแพร่หลายเต็มท้องน้ำไทยทุกวันนี้ และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งระบาดสู่แม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ทุกภาคของประเทศไทย(นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันไพศาลยิ่งต่อวงการจักรสารไทย)
กระทั่งก่อนช่วงปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ผักตบชวากลายเป็นวัชพืชที่ระบาดรุนแรง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตระหนักถึงโทษภัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตราพระราชบัญญัติผักตบชวาขึ้น ใจความตอนหนึ่งว่า
"เหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า พันธุ์ไม้อย่างหนึ่งซึ่งเรียกกันในประเทศนี้ว่า ผักตบชวา เพราะเหตุที่ได้พันธุ์มาจากเมืองชวา เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นพันธุ์ไม้ที่ประกอบด้วยโทษ เพราะเหตุที่เกิดแลงอกงามเร็วเหลือเกิน มีพันธุ์ในที่ใดไม่ช้าก็เกิดพืชพันธุ์งอกงาม เป็นแพแผ่เต็มไปในท้องที่นั้น จนเป็นเหตุให้เสื่อมเสียผลประโยชน์การทำนา เป็นอันตรายแก่ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ และเป็นความลำบากขัดข้องแก่การเดินเรือในแม่น้ำลำคลอง"
เนื้อหาพระราชบัญญัติระบุไว้ว่า เป็นหน้าที่ของทั้งประชาชน และฝ่ายปกครองต้องกำจัดผักตบชวาในท้องที่ของตน และห้ามเคลื่อนย้ายผักตบชวา หรือทิ้งผักตบชวาลงในแม่น้ำลำคลอง ผู้ฝ่าฝืนต้องโทษทั้งจำและปรับ
พระราชบัญญัติผักตบชวา เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖ เสมือนจุดเริ่มต้นของการประกาศสงครามกับผักตบชวา แต่จากวันนั้นจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม ๑๐๐ ปีแล้ว ทุกวันนี้ เรายังคงเห็นผักตบชวา ในแม่น้ำลำคลองทุกหนแห่งประดับประดาตามแม่น้ำลำคลอง และเป็นคุณูปการต่อวงการจักรสานผักตบชวาสืบมาจนปัจจุบัน
**ทั้งนี้ มีคนพยายามบิดเบือนว่าคุณูปการต่อวงการจักรสานไทยครั้งนี้มิได้มาจากน้ำพระทัยของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการอ้างว่าผักตบชวาหลุดมาจากวังสระปทุมเองในครั้งที่เกิดอุทกภัยใหญ่ หาได้เป็นพระราชประสงค์ให้ร.ท.โดด หม่องมณีนำมาปล่อยลงในลำคลองเพื่อประโยชน์ต่อพสกนิกรไม่ ...แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เหตุน้ำท่วมใหญ่วังสระปทุมตามบันทึกนั้นเกิดในปีมะเส็ง ๒๔๖๑ (ก่อนพระพันปีหลวงสิ้นพระชนม์เพียง ๑ ปี)ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ พรบ.ผักตบชวาจะถูกตราออกมาก่อนหน้าน้ำท่วมใหญ่นั้นถึง ๕ ปี
จึงเป็นอันแน่ชัดว่าการที่คนไทยเราได้ชื่นชมความสวยงามและได้ใช้ประโยชน์ผักตบชวาในวงการจักรสานไทยนั้น คือคุณูปการของสถาบันกษัตริย์ไทยโดยแท้จริง
Via มิตรสหายท่านหนึ่ง
---------------------
อ้างอิง
นิตยสารสารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๓ เดือน มกราคม ๒๕๔๕ (http://www.sarakadee.com/feature/2002/01/alien_species.htm)
บทความ เพราะเหตุใดผักตบชวาจึงได้มาอยู่เมืองไทย. ดาหลา
เทพชู ทับทอง. "ผักประวัติศาสตร์" หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๐
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1060058097413226&set=a.101154469970265