วันจันทร์, สิงหาคม 02, 2564

ตำรวจปราบคาร์ม็อบเกินกว่ากฎหมายให้อำนาจ 'ราษฎร' ประกาศ 'เอาคืน' และฟ้องกลับ

จากโพสต์ของ ไผ่ และจากคำปราศรัย อานนท์น่าจะปักใจได้ว่า ต่อนี้ไปคณะราษฎรจะไม่ยอมผ่อนเบาให้กับข้ออ้างของตำรวจ-ทหาร ในการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ อย่างเกินขอบข่ายแห่งความหมายในการป้องกันระบาดโควิด

โพสต์ของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ว่าถึงการที่ตำรวจยึดรถเครื่องเสียงของกลุ่ม ทะลุฟ้า ไป และยึดโทรศัพท์ไปจากผู้ชุมนุมแกนนำ “ไม่มีการให้สิทธิตามกฎหมาย...ไม่ให้สิทธิติดต่อทนาย...ต่อจากนี้จะไม่ใช่ (เรียกร้อง) แค่ปล่อยเพื่อนเรา

แต่มันจะคือ การตอบโต้ เพราะ (ตำรวจ) รับใช้รัฐฆาตกร” ส่วนคำปราศรัยของ อานนท์ นำภา ระหว่างการชุมนุม #ไล่ประยุทธ์ เมื่อ ๑ สิงหา พูดถึงการไร้ความสามารถในการจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-๑๙ ระบาด จนมีผู้ติดเชื้อรายวันจะสองหมื่น ตายจะสองร้อย

ตัวเลขจากแถลงของศูนย์ข้อมูลฯ วันนี้ ๒ ส.ค.๖๔ “พุ่งต่อเนื่อง...สูงสุดนับตั้งแต่มีการระบาด...ไทยป่วยโควิดเพิ่ม ๑๗,๙๗๐ ราย สะสม ๖๓๓,๒๘๔ ตายอีก ๑๗๘ ราย รักษาหาย ๑๓,๙๑๙ เหลือรักษาตัวใน รพ. ๒๐๘,๘๗๕ ราย” ข่าวไอเอ็นเอ็น รายงาน

เวลานี้จะเห็นคนมากหน้า (และหลากสี) ออกมาประจานความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์ พร้อมเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวนายกฯ กัน บ้างต้องการให้ยกออกไปทั้งทีม ส่วนหนึ่งเพียงแค่ขอให้เปลี่ยนหัว เปิดช่องให้มีการตั้ง นายกฯ พระราชทาน มาแทน

อานนท์ นำภา ยืนกรานข้อเรียกร้องของคณะราษฎรว่า “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากประชาชนเท่านั้น...ไม่อย่างนั้นก็เป็นเพียงการเปลี่ยนหน้ากาก แต่คนชักใยยังเป็นคนเดิม...ขอร้องประชาชนว่าอย่าไปไขว้เขวตามคำพูดของชนชั้นนำ”

เขาประกาศให้ประชาชนจัดการ เช็คบิลกับประยุทธ์และพวก ถ้าลงจากอำนาจเมื่อไร” แล้วเลยต่อไปถึง ลูกพี่มึง ด้วย แต่ก็ “ขอให้ประชาชนยึดมั่นในหลักการ และ...หลักสันติวิธี อย่าไปหลงในแผนยั่วยุของฝ่ายรัฐบาล และอย่าไปหลงกลมาตรฐานสันติวิธีแบบไทยๆ”

มาตรฐานดังว่าสะท้อนอยู่ในบทวิเคราะห์ของ ไอลอว์ ที่ว่า “โควิด-๑๙ ไม่ใช่ความสำคัญลำดับแรกในการ (ใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ) ดูแลเรื่องการชุมนุม...ตำรวจก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการป้องกันโรค มีเพียงการดำเนินคดี” และตั้งหน้าสกัดกั้นด้วยความรุนแรง

ตำรวจนำเอามาตรการของ พรบ.ชุมนุมฯ มาใช้โดยมิได้มีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำได้ การปราบชุมนุมของตำรวจเมื่อ ๑๘ กรกฎา อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ ๒๕ “ไม่ได้ให้อำนาจตำรวจในการกำหนดสถานที่ห้ามชุมนุม”

ภาพจากทวิตเตอร์ ARM SAMYAN @armupdate
มาถึงการจัด คาร์ม็อบ ไล่ประยุทธ์ ตามแนวคิดของ สมบัติ บุญงามอนงค์ เมื่อ ๑ สิงหาคม มีการตั้งแนวสกัดฝูงชนโดยตำรวจชุดปราบจลาจล แล้วเคลื่อนกำลังรุกเข้าสู่บริเวณชุมนุม “กลุ่มผู้ชุมนุมมีการขว้างปาสิ่งของและประทัดใส่” ตำรวจระดมสวนด้วยการยิงแก๊สน้ำตา

แม้เป็นเวลาที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ยังมีกลุ่มมอเตอร์ไซค์ตกค้างอยู่ในบริเวณ “แม้ผู้ชุมนุมล่าถอยตำรวจยังยิงแก๊สน้ำตาข้ามมาอีกระลอก” ที่สามเหลี่ยมดินแดง “ตำรวจเดินแนวเข้าหาผู้ชุมนุมและยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมต่อเนื่อง”

บนทางด่วนโทลเวย์ มีวิดีโอเผยแพร่ให้เห็นว่า ตำรวจใช้ อุปกรณ์พิเศษ ยิงลงมาใส่ผู้ชุมนุม ทำให้ระลึกกันถึงการปราบปรามเมื่อปี ๕๓ ซึ่งทหารยิงกระสุนจริงลงมาจากรางยกระดับรถไฟฟ้า ทำให้อาสาสมัครพยาบาลในเขตอภัยทานวัดสระปทุมตายไป ๖ คน

และภาพกำลังทหารอาวุธครบ ตั้งแถวดาหน้าเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุมในบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง มีรถกระบะทหารแล่นตาม เมื่อปี ๕๓ ทหารยิงผู้ชุมนุมล้มตายตลอดแนว แล้วจับร่างศพโยนขึ้นรถกระบะ ยังติดตาฝังใจผุ้ชุมนุมส่วนครั้งนั้นที่รอดชีวิตมาได้

ในครั้งนี้อาจไม่โหดเหี้ย มเท่าครั้งนั้น แต่ก็มีการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบในบางจุด ในลักษณะใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และบังคับใช้กฎหมายเกินกว่าอำนาจที่ให้ไว้ การรุกเข้าจับกุมผู้ไปรอร่วมชุมนุมที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นตัวอย่าง

ตำรวจราว ๑๕ คนเข้าจับกุมนักกิจกรรมและประชาชน ๙ คน ระหว่างเดินทางอยู่บนรถเครื่องขยายเสียง แล้วนำตัวไปยัง สภ.รัตนาธิเบศร์ “ไม่ได้แจ้งแน่ชัดว่ามีการดำเนินคดีในข้อหาใด และไม่ยอมปล่อยตัว โดยอ้างว่ารอคำสั่งจาก นาย หรือผู้บังคับบัญชา”

จากนั้นมีการนำตัวส่งต่อไปยังกองบังคับการ ตชด.ภาค ๑ ปทุมธานี ทำให้สมาชิกคณะราษฎรจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง นำโดย พริษฐ์ ชีวารักษ์ พากันติดตามไปเรียกร้องตำรวจปล่อยตัวเพื่อนๆ ของพวกเขา ตั้งแต่ ๕ โมงครึ่ง

ทั้งเจรจาและกดดันด้วยการประกาศว่าจะบุกเข้าไป ฝูงชนราวพันคนใช้เวลาราว ๑ ชั่วโมง สุดท้ายตำรวจยอมปล่อยตัว สมาชิกเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ๗ คนออกมา ก่อนหน้านี้ได้มีการปล่อยตัวสมาชิกในกลุ่มที่ถูกจับแล้ว ๒ คน

กลเม็ดในการทำเกินกฎหมายให้อำนาจไว้จริง เช่นนี้ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายสิทธิมนุษยชนบอกว่าเป็นการ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ“ผู้เสียหายแทบจะไม่เคยฟ้องกลับเลย...จนเกิดเป็นวัฒนธรรมความเชื่ออย่างผิดๆ” ฝ่ายประชาชนจักต้องยุติวงจรอุบาทว์นี้

เขาแนะว่าควรต้องฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ทุกคนทุกครั้งที่ ควบคุมฝูงชน เกินกว่าขอบข่ายอำนาจตามกฎหมาย “หากผู้เสียหายดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงและโดยสุจริต ย่อมไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ หรือฟ้องเท็จครับ”

(https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10165719277005551, https://www.innnews.co.th/news/news-general/news_158115/, https://www.matichon.co.th/politics/news_2861845 และ https://www.facebook.com/Prachatai/posts/10158525489341699)