ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
7h ·
+++บันทึกเยี่ยม “ต๋ง ทะลุฟ้า” ในวันที่การเข้าถึงนักจิตวิทยาในเรือนจำไม่ใช่การเยียวยาจิตใจ+++
.
.
17 สิงหาคม 2564 นับเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ที่ “ต๋ง ทะลุฟ้า” ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว พร้อมกับกิจกรรมอีก 8 คน จากการเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า หน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 (บก.ตชด. ภาค 1) ซ้ำศาลอุทธรณ์ยังคงยืนคำสั่งตามศาลชั้นต้น จนปัจจุบันเธอยังคงถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดหญิงกลาง เช่นเดียวกับนักกิจกรรมอีก 7 รายที่ยังคงถูกขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต
.
“เขามีความหวังนะ” ทนายความผู้เข้าเยี่ยมต๋งเล่า หลังเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ทนายเข้าไปให้เธอเซ็นใบแต่งตั้งทนาย เพื่อนำไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยทางทัณฑสถานบำบัดหญิงกลางได้จัดเตรียมห้องประชุมให้ทนายความและต๋งพูดคุยผ่านวิดีโอคอลในแอปพลิเคชันไลน์อย่างเป็นส่วนตัว
.
“หลังจากไปยื่นอุทธรณ์คำสั่ง เราก็กลับมาเยี่ยมต๋ง เล่าว่ากำลังรอผลอยู่นะ อาจจะเย็นนี้หรือพรุ่งนี้
.
“ต๋งเล่าว่า เขามีจดหมายที่อยากส่งไปให้เพื่อนๆ ถ้าเป็นอย่างนั้น ยังไม่ฝากเราไปดีกว่า รอผลประกันออก เพราะยังมีความหวังที่จะได้มาส่งจดหมายให้เพื่อนด้วยตัวเอง”
.
อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงไม่ให้ประกัน ด้วยเหตุผลว่าการกระทำของเธอนั้น “ไม่ยำเกรงต่อบ้านเมือง ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคม” ทำให้ต๋งยังต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเพียงลำพังในทัณฑสถานบำบัดหญิงกลางต่อไป
.
เธอเล่าว่าในห้องนั้น มีหนังสือไม่กี่เล่มให้อ่าน มีห้องน้ำที่ไม่มีประตูแต่มีเพียงม่านกั้นอยู่รวมกับพื้นที่ที่ต้องใช้นอน เนื่องจากเธอต้องกักตัวตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 เป็นเวลา 21 วัน
.
“พอเราไปเยี่ยมวันนี้ (วันอังคารที่ 17 ส.ค. 64) สีหน้าของต๋งต่างจากที่เราเจอวันศุกร์ วันนั้นเขายังบอกว่า โอเคอยู่ ถึงถูกขังไว้คนเดียว แต่ยังพอมีเพื่อนข้างห้องที่ตะโกนคุยกันได้ถูกคอ มีเพื่อนผู้ต้องขังที่ให้กำลังใจกัน เพราะเขาเคยไปชุมนุมครั้งสองครั้ง ก่อนเข้ามาเรือนจำ
.
“แต่เมื่อวานมีทนายอีกคนมาเยี่ยม เขาเริ่มเล่าให้ทนายฟังแล้วว่า เครียด และอยากคุยกับนักจิตวิทยา จากนั้นทนายก็ยื่นคำร้องขอให้ต๋งได้คุยกับนักจิตวิทยา
.
“ต๋งได้คุยกับนักจิตวิทยาหลังจากทนายกลับไปเมื่อวันจันทร์ ต๋งเผยความรู้สึกที่ไม่ได้ประกัน ความรู้สึกไม่ยุติธรรมที่ต้องมาถูกขังแบบนี้ ต๋งย้ำกับนักจิตวิทยาว่า นี่เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่ต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยซ้ำ
.
“นักจิตวิทยาตอบว่า เพราะที่นี้เป็นประเทศไทย ไม่ใช่ต่างประเทศ สิ่งที่ต๋งคิด พูด หรือทำ อาจจะได้รับการยอมรับหรือตอบสนองในต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ที่นี้ เราก็ต้องยอมรับสภาพไป
.
“แล้วเขาก็ถามต๋ง ว่าอยากหากิจกรรมอะไรทำไหม ต๋งเขาเป็นคนชอบร้องเพลง เลยบอกว่าอยากเล่นกีตาร์ นักจิตวิทยาก็ตอบว่า ที่นี้ไม่มีกีตาร์ให้ ต๋งบอกว่าอยากอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ เขาตอบว่า เป็นสิ่งต้องห้าม อ่านในเรือนจำไม่ได้ แล้วถามว่าต๋งอยากวาดรูปไหม แต่ต๋งก็ปฏิเสธไป เพราะไม่ชอบวาดรูป
.
“พอคุยได้ 15 นาที นักจิตวิทยาก็บอกว่า หมดเวลาแล้วนะ เดี๋ยวเขาต้องออกไปกินข้าวแล้ว”
.
“ไม่โอเคเลย คุยแล้วแย่กว่าเดิม” ทนายทวนคำพูดของต๋ง
.
หลังจากพูดคุยกับต๋ง ทนายความตัดสินใจยื่นคำร้องขอเปลี่ยนนักจิตวิทยา แต่เมื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เรือนจำพบว่า ที่นี้มีนักจิตวิทยาประจำเพียงคนเดียวเท่านั้น ถ้าต้องการเปลี่ยนนักจิตวิทยาต้องลองเขียนคำร้องเสนอกับผู้อำนวยการเรือนจำก่อน แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ต๋งจะสามารถเข้าถึงนักจิตวิทยาคนอื่นได้หรือไม่
.
การคุมขังต๋งไว้เพียงลำพัง กินเวลายาวนาน 1 สัปดาห์กัดกร่อนจิตใจของเธอทีละเล็กทีละน้อย แต่เมื่อเธอได้ทราบถึงสถานการณ์การชุมนุมข้างนอก เรื่องเล่าจากข้างนอกที่ส่งต่อผ่านทนาย กลายเป็นความหวังที่ยังคงหล่อเลี้ยงเธอได้
.
“ตอนเราไปเยี่ยมต๋ง ต๋งถามถึงไผ่ ถามถึงสถานการณ์ข้างนอก เราก็เล่าว่า ทุกวันนี้มีม็อบทุกวัน อย่างวันนี้ก็มีการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า
.
“ต๋งเลยบอกว่า การได้รับรู้ ว่าข้างนอกยังคงเคลื่อนไหวกันอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่เยียวยาจิตใจเธอในสถานการณ์นี้ได้ เขาฝากบอกเพื่อนๆ ว่า เมื่อวันก่อนเอาปากกาเมจิคมาเขียนกำแพงด้วยบทกวีท่อนหนึ่งของอานนท์ พอเจ้าหน้าที่เห็น เขาก็พยายามลบออก แต่ลบเท่าไหร่ก็ลบไม่ออก”
.
บทกวีท่อนนั้นคือ “ หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี ตุลาการ เช่นนี้ อย่ามีเลย !”
.
.
อ่านเนื้อหาฉบับเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/33658
ooo
"ตุลาการ จงคิด อย่างอิสระ
— prachatai (@prachatai) March 9, 2021
รับภาระ อันหนักหนา ทำหน้าที่
หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี
ตุลาการ เช่นนี้ อย่ามีเลย"
เบญจา อะปัญ อ่านบทกวี "มหาตุลาการ" เรียกร้องตุลาการทำหน้าที่อย่างยุติธรรม ไม่ทำตามใบสั่ง พร้อมตะโกนปล่อยเพื่อนเรา ในกิจกรรมวางพวงหรีดหน้าศาลอาญา #ม็อบ9มีนา pic.twitter.com/HpsXIoiOoP