วันอาทิตย์, มิถุนายน 06, 2564

iLaw เปิดเรื่องเล่าผู้ลี้ภัย ม.112



iLaw
18h ·

++ เปิดเรื่องเล่าผู้ลี้ภัย ม.112 ++
.
ความโหดร้ายของการดำเนินคดีกับการลงโทษด้วยมาตรา 112 และความจริงที่คนถูกตั้งข้อหาจำนวนไม่น้อยต้องเข้าเรือนจำ นำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่คนที่ถูกดำเนินคดีเอาการ “หนีไปอยู่ต่างประเทศ” มาเป็นทางเลือก หรือที่เรียกว่าการ “ลี้ภัย”
.
ในทางสากล การลี้ภัยจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่พลเมืองของประเทศหนึ่งๆ ไม่สามารถอยู่ในประเทศต้นกำเนิดของตัวเองได้ เพราะอาจได้รับอันตราย อาจถูกฆ่า หรือถูกจำคุก เพราะความคิดเห็นทางการเมือง เพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือเหตุอื่นๆ ประเทศอื่นจึงอาจรับคนที่ตกอยู่ในอันตรายเหล่านั้นให้เข้ามาอยู่ในประเทศใหม่เพื่อรักษาชีวิตและความปลอดภัยตามหลักมนุษยธรรม
.
คดีมาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายในประเทศที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ และอัตรชาโทษที่สูงกับการบังคับใช้อย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่อาจยอมรับได้ในสายตาของหลายประเทศ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จึงนับได้ว่า เป็นผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายภายใต้อำนาจของรัฐบาลไทยเพราะความคิดเห็นทางการเมือง และเข้าข่ายมีสิทธิได้ลี้ภัยไปประเทศอื่น
.
หลังการรัฐประหารในปี 2549 เมื่อมาตรา 112 ถูกนำมาใช้ทางการเมือง เริ่มปรากฏมีผู้ที่ลี้ภัยทางการเมืองด้วยมาตรา 112 เช่น จักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้กล่าวถึงระบบอุปถัมภ์ (Feudalism), ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ A Coup for the Rich ทั้งคู่ออกจากประเทศไทยเมื่อปี 2552 ซึ่งทั้งสองคนพอมีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยใจล์เป็นคนถือสองสัญชาติ และมีบ้านที่ประเทศอังกฤษด้วย
.
ผู้ที่เป็นพลเมืองประเทศอื่นและโดนคดี อย่าง โจ กอร์ดอน ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน, วันชัย ตัน ชาวไทยสัญชาติสิงคโปร์, แฮรี่ นิโคไล ชาวออสเตรเลีย เมื่อได้รับการปล่อยตัวก็กลับประเทศทันที ขณะที่ผู้มีชื่อเสียงหลายคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็อาศัยอยู่ในประเทศอื่น เช่น ปวิน ชัชวาลพงษ์พันธุ์, จรรยา ยิ้มประเสริฐ หรือแอนดรู แมกเกรเกอร์​ มาแชล ข้อเท็จจริงเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้ภาพลักษณ์ของมาตรา 112 มาควบคู่กับการ “ลี้ภัย”
.
แต่การจะได้สิทธิเป็นผู้ลี้ภัยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการ “ย้ายชีวิต” ไปอยู่ต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องสบายกายสบายใจสำหรับทุกคน
.
.
สำหรับผู้ที่ต้องการขอสิทธิเป็น “ผู้ลี้ภัย” และได้สถานะเป็นพลเมืองของประเทศอื่น อาจต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น
.
1. ในวันที่ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย ต้องอยู่ในประเทศที่มีที่ทำการของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่ไม่ใช่ประเทศไทย แม้กรุงเทพจะมีที่ทำการตั้งอยู่ แต่คนไทยจะยื่นขอลี้ภัยที่ที่ทำการในกรุงเทพไม่ได้ ต้องยื่นจากประเทศอื่น ซึ่งหากผู้ต้องหาถูกจับกุมแล้ว หรือถูกออกหมายจับแล้ว ก็ไม่สามารถเดินทางออกไปยื่นเรื่องได้
.
2. ต้องมีหลักฐานแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า จะมีโอกาสถูกจับกุม หรือคุมขังด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และต้องมีประเทศใหม่ที่ยอมรับให้ย้ายเข้าไปอยู่ในฐานะพลเมือง
.
3. การตรวจสอบสถานะผู้ลี้ภัย อาจใช้เวลานานเป็นปี ระหว่างนั้นต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความเสี่ยง บางคนอาจอยู่ในฐานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย และต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่เอง ทำมาหากินในต่างประเทศ โดยไม่มีองค์กรใดช่วยเหลือ
.
หลังรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 เมื่อเข้ายึดอำนาจแล้ว ภายในระยะเวลาสั้นๆ คสช.​ เรียกคนไปรายงานตัวอย่างน้อย 666 คน มีผู้ที่ถูกจับกุมด้วยกฎอัยการศึกอย่างน้อย 362 คน คนที่ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตัวเอง จึงเลือกที่จะ “ลี้ภัย” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พบจำนวนผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 86 คนส่วนใหญ่ลี้ภัยออกทางเส้นทางธรรมชาติไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ ลาวและกัมพูชา
.
คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ตัดสินใจออกนอกประเทศแล้วได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัย และเป็นพลเมืองของประเทศใหม่ บางส่วนตัดสินใจเดินทางกลับบ้านในเมืองไทยแล้วโดยปลอดภัย บางส่วนถูกจับที่ต่างประเทศหรือถูกจับในเมืองไทย บางส่วนยังคงใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในต่างประเทศ โดยไม่มีกำหนดได้กลับ
.
สองคนถูกพบเป็นศพในแม่น้ำโขง ถูกคว้านท้องและยัดเสาปูน และอย่างน้อย 7 คนยังคงสูญหาย
.
ในช่วงปี 2557 นั้น หลังนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งที่มีคดี 112 และไม่มี เลือกไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ก็ปรากฏข่าวลือถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของพวกเขาเป็นระยะ โดยการไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ หากไม่เข้าองค์ประกอบทุกข้อก็ยังไม่ได้สิทธิเป็น “ผู้ลี้ภัย”​ และยังไม่มีสถานะอย่างเป็นทางการที่จะได้รับการปกป้องจากรัฐบาลของประเทศอื่น
.
แม้ว่า เมื่ออยู่ต่างประเทศแล้วเขตอำนาจของรัฐไทยจะไปไม่ถึง ตำรวจหรือทหารไทยไม่อาจบุกไปจับกุมคนที่อยู่ในต่างประเทศได้ แต่เมื่อ 15 ธันวาคม 2561 ก็มีข่าวการจับกุม กฤษดา ไชยแค ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เขาเป็นคนเดียวที่ถูกจับตามกระบวนการ โดยข้อหาของเขาเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด ไม่ใช่มาตรา 112 ส่วนคนที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ยังไม่ปรากฏข่าวว่า ถูกจับกุมเพื่อดำเนินคดี
.
แต่หลายคนสูญหาย ไม่ทราบชะตากรรมหรือแม้บางรายสามารถย้ายไปประเทศใหม่ได้แล้ว แต่ชีวิตของคน “ไกลบ้าน” ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างแน่นอน



iLaw
18h ·

++วงดนตรีไฟเย็น++
.
‘อยู่ที่นี่ไม่ปลอดภัยแม้แต่วันเดียว’
.
.
กลุ่มไฟเย็น คือ กลุ่มนักดนตรีที่ก่อตั้งขึ้นปลายปี 2553 เป็นที่รู้จักในแวดวงคนเสื้อแดง และมีผลงานเพลงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกเขาทั้งหมด 5 คนเลือกลี้ภัยไปลาว สมาชิกในปัจจุบันทั้งหมด 5 คน คือ ขุนทอง หรือ นายไตรรงค์ สินสืบผล, จอม หรือ นิธิวัต วรรณศิริ, แยม รมย์ชลี สมบูรณ์รัตนกูล, โยนก ชฤต โยนกนาคพันธุ์ และ พอร์ท ปริญญา ชีวินกุลปฐม
.
ระหว่างที่อยู่ในลาวพวกเขายังแต่งเพลงเผยแพร่ และจัดรายการทางยูทูป
.
หลังจากข่าวการหายตัวไปของลุงสนามหลวง, สยาม ธีรวุฒิ และกฤษณะ ทัพไทย ในเดือนมิถุนายน 2562 ข่าวลือเรื่องการกวาดล้างผู้ลี้ภัยทางการเมืองแพร่สะพัด สมาชิกวงไฟเย็นถูกข่มขู่ฆ่าไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ไม่นับรวมข้อความที่ส่งมาสาปแช่ง มีการระบุว่ารู้ที่พักและสามารถเข้าถึงตัวพวกเขาได้ทันที หรือหากคิดหนีจะส่งทหารรบพิเศษไปฆ่าทิ้ง ทำให้พวกเขาต้องหลบซ่อนด้วยความหวาดกลัว
.
22 สิงหาคม 2562 กลุ่มไฟเย็นได้รับการช่วยเหลือให้ออกมาจากลาว เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศฝรั่งเศส
.
5 มีนาคม 2564 พอร์ทถูกจับกุมที่บ้านพักในกรุงเทพ ข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังจากเดินทางกลับเข้ามาจากนครหลวงเวียงจันทร์ สมาชิกที่เหลือเปิดเผยว่า พอร์ทไม่ได้ลี้ภัยไปฝรั่งเศสตามวงไฟเย็นเนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพ พอร์ทถูกฝากขังและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว



iLaw
18h ·

++สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล++
.
“มีความลำบากกว่าอยู่บ้านเยอะ”
.
.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อหามาตรา 112 ที่เคยถูกมือปืนยิงเข้าไปในบ้านในช่วงที่พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
.
หลังการรัฐประหารเขาถูก คสช. เรียกรายงานตัว แต่เขาไม่ได้เข้ารายงานตัวและเงียบหายไปเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งทราบภายหลังว่า เขาไปถึงที่ประเทศฝรั่งเศสได้แล้ว หลังจากนั้นเขาเปิดเผยเรื่องราวที่หลบหนีออกนอกประเทศทางเส้นทางธรรมชาติโดยการเดินผ่านป่าเป็นเวลา 6 ชั่วโมง
.
"ในปีหลังๆ โดยเฉพาะใน 2 ปีที่ผ่านมา ที่ต้องมาอยู่ไกลบ้านขนาดนี้ มีความลำบากกว่าอยู่บ้านเยอะ และมีความเป็นไปได้ว่าชีวิตนี้อาจจะไม่ได้กลับไปอีกเลยก็ได้ บางครั้ง ก็นึกแวบๆ ขึ้นมาในใจเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้คิดมากหรือนานอะไร เป็นเพียงมู้ดชั่วคราวที่ผ่านมาแล้วผ่านไป" สมศักดิ์ โพสเฟซบุ๊กเมื่อปี 2559
.
18 กุมภาพันธ์ 2560 สมศักดิ์โพสเฟซบุ๊กระบุว่า มารดาของเขาเสียชีวิตแล้ว และในโพสระบุว่า
.
“นอกจากความคิดถึงชีวิตเมืองไทย คิดถึงงาน คิดถึงบ้าน คิดถึงผู้คนหลายคน ซึ่งก็เป็นความลำบากใจที่ผมต้องดีลกับมันเป็นปกติ บางครั้งรุนแรง บางครั้งไม่รุนแรงมาก .. สิ่งเดียวที่ผมรู้สึกแย่มากๆ รู้สึกผิด และความรู้สึกอีกหลายอย่าง (ดังที่ผมเคยเขียนไปบางครั้ง) คือเรื่องแม่ ตอนผมลี้ภัยมา แม่ก็อายุเกิน 90 แล้ว ถ้าผมต้องอยู่นอกประเทศหลายปี อย่างต่ำเป็นสิบปี โอกาสที่จะได้เจอแม่ ก่อนที่แม่เองจะหมดอายุขัยตัวเอง แทบเป็นไปไม่ได้”



iLaw
18h ·

++ชนกนันท์++
.
“มันถอยไม่ได้แล้ว"
.
.
ชนกนันท์ หรือการ์ตูน นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 จากการแชร์ข่าวบีบีซีไทยเกี่ยวกับพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ในเดือนธันวาคม 2559
.
เธอตัดสินใจลี้ภัยไปยังเกาหลีใต้
.
28 มกราคม 2561 ชนกนันท์ โพสเฟซบุ๊กเป็นภาพหมายเรียกตามมาตรา 112 และเล่าเหตุการณ์ช่วงที่เธอตัดสินใจลี้ภัย โดยตอนหนึ่งเล่าว่า
.
“มาถึงที่นี่วันแรก เราเอาแต่ร้องไห้ เพราะหนทางมันมืดแปดด้าน ทุกอย่างดูสับสน กระชั้นชิด งง ไม่รู้จะจัดการยังไง เอาแต่ตั้งคำถามว่าเราคิดถูกแล้วใช่มั้ยที่เลือกจะลี้ภัย หรือเรากลับไปติดคุกแล้วออกมาเจอบ้าน เจอครอบครัว เจอเพื่อนเหมือนเดิม แต่ได้คำตอบว่ามันถอยไม่ได้แล้ว”
.
เธอเล่าภายหลังว่า สาเหตุที่เลือกไปเกาหลีใต้เพราะให้คนไทยเข้าประเทศโดยไม่ต้องทำวีซ่าได้ 90 วัน
.
“เราคุยกับคนเกาหลีใต้ไม่ได้เพราะฟังไม่รู้เรื่องเลย เราไม่สามารถเรียนในมหาวิทยาลัยได้ แม้กระทั่งออกเงินตัวเอง เพราะมหาวิทยาลัยที่นี่ต้องใช้วีซ่านักเรียน ก็ต้องเรียนที่อื่นที่เป็นเอกชน โรงเรียนสอนภาษาของเอกชนก็ต้องใช้เงินเยอะกว่า แล้วได้เรียนแค่อาทิตย์ละครั้ง ก็ไม่คิดว่าจะพูดได้”
.
เรื่องภาษาเป็นอีกเรื่องที่เธอต้องเจอเมื่อไปถึงเกาหลีใต้ใหม่ๆ หกเดือนแรกที่สมัครรับสถานะผู้ลี้ภัยตามกฎหมายของเกาหลีใต้ห้ามทำงาน ที่อยู่ได้เพราะที่บ้านยังส่งเงินมาให้
.
ชนกนันท์ ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยช่วงปลายปี 2561 หลังออกจากประเทศไม่ถึงหนึ่งปี โดยเธอเคยเล่าว่า เรื่องของเธอเดินหน้าเร็วเพราะมีสื่อมาสัมภาษณ์ ทำให้เธอมีชื่อเสียง
.
หลังจากนั้นเธอเข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรในเกาหลีใต้ที่รณรงค์เรื่องสิทธิของผู้ลี้ภัย และได้เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานในองค์กรแห่งนั้นเรื่อยมาเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ



iLaw
18h ·

++จอม เพชรประดับ++
.
“จุดที่เราอยู่มันทำได้มากกว่าในประเทศไทย”
.
.
จอม เพชรประดับ อดีตผู้สื่อข่าว พิธีกรช่อง NBT, VoiceTV ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศเมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2557 ตามคำชักชวนของ “ผู้ใหญ่”
.
เขาเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาทันที ภายหลังจึงทราบว่า เขาเองก็มีชื่อเป็นผู้ถูก คสช. เรียกให้ไปรายงานตัว เขาร่วมจัดตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารร่วมกับอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และสร้างสื่อแห่งใหม่จากยูทูปชื่อ "Thai Voice Media” จัดรายการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ รอบโลก โดยติดต่อประสานงานเอง สัมภาษณ์เอง ตัดต่อเอง เผยแพร่เองด้วยตัวคนเดียวทั้งหมด ในประเด็นที่บางครั้งอาจจะ “เพดานสูง" เกินไปสำหรับสื่อในเมืองไทย
.
จอมอยู่ในลอส แองเจลลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย และต้องหาเลี้ยงตัวเองไปด้วย พร้อมกับทำงานเคลื่อนไหวไปด้วย โดยได้รับความช่วยเหลือจากคนไทย “เสื้อแดง” ที่อยู่มาก่อน
.
เขาต้องดิ้นรนค้าขายเล็กๆ น้อยๆ และเป็นคนขับรถอูเบอร์ จอมให้สัมภาษณ์กับ VOAThai ว่า
.
“เป็นเรื่องที่ยาก เพราะว่าหนึ่งคือเรามาเริ่มต้นที่นี่ในลักษณะที่ติดลบ เพราะว่าโดนคดีมา... คดีของผมก็คือไม่ไปรายงานตัวต่อคณะ คสช. ... การที่เราจะอยู่กับสังคมไทยในสหรัฐอเมริกาเอง มันก็อยู่ด้วยความลำบาก สำหรับคนไทยที่ยังเชื่อว่ายังฟังแต่รัฐบาลเผด็จการ ก็มองว่าเราเป็นคนร้ายในมุมมองของเขาเหมือนกัน”
.
เดือนมีนาคม 2559 จอมโพสเฟซบุ๊กเล่าว่า เขาต้องสูญเสียพี่ชายโดยไม่มีโอกาสได้ขอขมาลาโทษ และวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 โพสเฟซบุ๊กว่า เขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาแล้ว
.
"ผมใช้เสียงในพื้นที่นี้สะท้อนไปยังประเทศไทยว่า เรื่องนี้เป็นไง เรื่องนี้ประชาชนไม่ชอบ คิดยังไง เป็นช่องทางที่เสียงที่ไม่ได้ถูกพูดในไทย ผมก็ตัดสินใจทำด้วยเหตุผลนั้น ว่ามันมีความสำคัญ และจุดที่เราอยู่มันทำได้มากกว่าในประเทศไทย” จอมให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย



iLaw
18h ·

++ตั้ง อาชีวะ++
.
“จบหน้าที่ของผมแล้ว”
.
.
เอกภพ หรือ ตั้งอาชีวะ ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีเล็ก ในการชุมนุมของ นปช. ที่ราชมังคลากีฬาสถาน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556
.
คลิปการปราศรัยถูกแชร์ต่อกัน ทำให้เขาถูกออกหมายจับ ถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหยิบมาเป็นประเด็นโจมตี และถูกปาระเบิดใส่บ้านพักด้วย ทำให้เขาตัดสินใจข้ามพรมแดนไปกบดานอยู่ที่กัมพูชา
.
จนกระทั่งหลังรัฐประหารก็ถูกติดตาม และถูกขอให้เข้ามอบตัว เขาจึงทำเรื่องขอลี้ภัยกับ UNHCR ที่พนมเปญ และได้ไปอยู่นิวซีแลนด์พร้อมกับแฟนของเขา เมื่อได้ไปอยู่นิวซีแลนด์แล้ว เขาทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง นำเข้าอะไหล่รถยนต์ และประมูลซากรถยนต์มาตกแต่ง
.
“ยูเอ็นเรียกไปสัมภาษณ์มากกว่า 20 ครั้ง เพื่อหาจุดจับผิดว่า เราจะโกหกเพื่อให้ได้ไปอยู่ประเทศอื่นหรือไม่ เขาส่งคนเข้าไปในประเทศไทย เพื่อหาข้อมูลว่าเรื่องที่เราเล่ามันจริงหรือไม่
.
“ถ้าคิดจะลี้ภัยนะครับ และมีเงินมีความสามารถพอ อยู่ด้วยตัวเอง และหาทางไปประเทศอื่น ใครจะมาอุ้มมาฆ่าก็เข้าถึงตัวยาก เพราะเราไม่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนไทยที่ลี้ภัยด้วยกัน
.
“จบหน้าที่ของผมแล้ว เพราะลำพังตัวผมคนเดียว ไม่สามารถที่จะไปสู้รบปรบมือกับใครได้ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ เราจะต้องสร้างตัวเอง เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน แน่นอนประสบการณ์ชีวิตที่หนีตายมาจากประเทศไทย จะเรียกว่าเป็นวิกฤติของชีวิตก็ว่าได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างโอกาสให้กับผมด้วย...” เอกภพ เล่าเรื่องของตัวเองผ่านรายการ Hello, I’m from prison.
.
เรื่องราวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้ลี้ภัยชาวไทยต้องเจอ แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่โอกาสได้กลับมาเล่าถึงการใช้ชีวิตในต่างแดน ทำได้เพียงแค่ส่งเสียงจากครอบครัวหรือญาติมิตรเพราะพวกเขาถูกบังคับให้สูญหาย
 
https://www.facebook.com/iLawClub/photos/pcb.10165499899570551/10165499899495551