กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG
10h ·
วันนี้ (8 มิถุนายน 2564) ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ชินวัตร จันทร์กระจ่าง (ไบรท์) 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในคดีละเมิดอำนาจศาลจากการเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของผู้ชุมนุมราษฎร บริเวณหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 (ต่อมาศาลได้ให้ประกันตัวด้วยเงินสด 10,000 บาท)
.
โดยศาลอ้างว่าการปราศรัยของชินวัตรเป็นถ้อยคำที่ใส่ความอย่างไม่เป็นความจริง เพื่อให้ผู้พิพากษาปฏิบัติตามความต้องการของตนเอง ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย และก้าวร้าวอย่างรุนแรง
.
https://www.matichon.co.th/local/crime/news_2765471
https://twitter.com/TLHR2014/status/1402185455559344128
https://twitter.com/TLHR2014/status/1402202933010206735
.
การดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษดังกล่าวทำให้เป็นที่น่าคิดว่าในขณะที่สังคมได้เห็นกันมาหลายต่อหลายครั้งแล้วว่าบรรดาผู้ใช้อำนาจรัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดองค์กรใดก็ตาม ย่อมมีโอกาสที่จะใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อำนาจอย่างบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนหรือสนองอคติในทางการเมืองของตัวเองได้
.
องค์กรตุลาการก็เช่นกัน หลายครั้งที่เราเห็นว่าเมื่อเป็นผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ก็มักถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว ถูกเอาไปขังคุกนับสิบนับร้อยวันราวกับต้องการจะกลั่นแกล้งกัน แม้พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้จะหลบหนี จะไปก่อกวนการพิจารณาคดี หรือจะไปประทุษร้ายต่อใคร ก็ยังถูกขังอยู่อย่างนั้น ต้องรอให้สังคมกดดันหนักๆ จึงจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวได้
.
หลายคนที่เห็นการประพฤติปฏิบัติแบบนี้ของศาลจึงต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้ศาลกลับไปอยู่ในร่องในรอย กระบวนการยุติธรรมจะได้ไม่เละเทะกันไปหมด
.
แต่ปรากฏว่าศาลกลับแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้น ด้วยข้อหา "ละเมิดอำนาจศาล" โดยที่ผู้มีอำนาจพิพากษาก็คือศาลเอง กลายเป็นว่าศาลมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจรที่จะเล่นงานกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองได้
.
หากยังคงมีระบบกฎหมายที่เปิดให้ศาลกระทำการเช่นนี้ได้แล้ว แล้วจะให้ประชาชนเชื่อถือในความสุจริตเที่ยงธรรมของศาลได้อย่างไร?
iLaw
13h ·
8 มิถุนายน 2564 ศาลอาญานัดไบรท์-ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมทางการเมืองไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลจากกรณีชุมนุมที่หน้ามุขศาลอาญา เพื่อเรียกร้องให้ศาลอาญาพิจารณาคืนสิทธิประกันตัวให้แก่เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำราษฎร เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 คดีนี้มีจำเลยรายอื่นๆเช่น เบนจา อะปัญและณัฐชนน ไพโรจน์ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกระเดื่อง-พิสิฏฐ์กุล ควรแถลง สมาชิกกลุ่มศิลปะปลดแอก
.
กระบวนการไต่สวนจะเบิกความพยานสองปากคือ ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการศาลอาญา ในฐานะผู้ทำรายงานสถานการณ์เสนอต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และชินวัตรในฐานะผู้ถูกกล่าวหา
.
๐ พยานปากที่หนึ่ง ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการศาลอาญา
.
ชวัลนาถเบิกความโดยสรุปได้ว่า ในวันที่ 29 เมษายน 2564 มีการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลกับพวกที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการชุมนุมและการแสดงออก วันดังกล่าวมีเฟซบุ๊กเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายชุมนุมให้กำลังใจผู้ถุกคุมขังที่หน้าศาลอาญา ตั้งแต่เวลาประมาณ 12.00 น. ผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน รวมตัวกันที่บริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญาซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ติดกับอาคารศาลอาญา ในการชุมนุมดังกล่าวผู้ชุมนุมมีการใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งมีเสียงดังมาก
.
เวลาเดียวกันมีตำรวจจากสน.พหลโยธินซึ่งเป็นเจ้าของท้องที่เข้ามาอ่านประกาศเกี่ยวกับโรคระบาด และอ่านข้อกำหนดศาลอาญาเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลและแจ้งว่าผู้ชุมนุมอาจกำลังฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญาและขอให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ฟัง ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้มีพฤติการณ์กล่าวปราศรัยด้วยเครื่องขยายเสียงและมีการใช้ถ้อยคำหยาบคายและกล่าวหาว่า “ศาลเป็นฆาตกร”
.
ต่อมาชวัลนาถในฐานะผู้อำนวยการจึงได้จัดทำรายงานสถานการณ์เสนออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งอธิบดีฯได้มีคำสั่งให้ทำการไต่สวนละเมิดอำนาจศาล สำหรับหลักฐานในคดีนี้มีคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์สองชุด ชุดหนึ่งจัดทำโดยศาลอาญาเอง และอีกชุดหนึ่งจัดทำโดยตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.พหลโยธิน
ชวัลนาถเบิกความด้วยว่า ขณะที่เกิดเหตุเธอไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เนื่องจากอยู่ระหว่างการทำงานที่บ้านตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 หลังเกิดเหตุเวลา 16.00 น. เธอจึงเดินทางมาถึง เวลานั้นสถานการณ์โดยทั่วไปสงบแล้ว เธอรับว่า ไม่ทราบหรือเห็นด้วยตนเองว่า ชินวัตรจะอยู่บริเวณใดบ้าง แต่ตามคลิปวิดีโอหลักฐานเขาจะอยู่ด้านนอกแนวรั้วเหล็ก ซึ่งกันระหว่างบันไดทางขึ้นศาลอาญากับถนนหน้ามุขศาลอญา ทั้งตามคลิปวิดีโอชินวัตรไม่ได้มีพฤติการณ์ฝ่าแนวเจ้าหน้าที่เข้ามา แต่แนวรั้วที่เขายืนอยู่นั้นถือว่า ติดอาคารศาลอาญา
.
๐ พยานปากที่สอง ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ผู้ถูกกล่าวหา
.
ชินวัตรเบิกความโดยสรุปได้ว่า ตัวเขาเป็นบุคคลที่ปรากฎอยู่ในคลิปวิดีโอที่เป็นหลักฐานในคดีนี้จริง และเป็นผู้กล่าวข้อความตามคลิปวิดีโอจริง แต่เหตุการณ์ในคลิปวิดีโอเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สมบูรณ์และมีเหตุการณ์อื่นๆเกิดขึ้นมากกว่านั้นในวันเกิดเหตุในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเพียงหวังจะนำจดหมายและรายชื่อประชาชนที่ลงชื่อแนบท้ายกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อมายื่นต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา วัตถุประสงค์คือ ขอให้ศาลปล่อยตัวพริษฐ์และจำเลยคดีการเมืองคนอื่นๆ ซึ่งยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ให้ออกมาสู้คดี แต่ในวันนั้นไม่มีตัวแทนศาลมารับหนังสือ เขาเชื่อว่า หากวันเกิดเหตุมีคนออกมารับหนังสือเหตุการณ์ก็น่าจะไม่วุ่นวาย
ชินวัตรเบิกความต่อว่า จริงอยู่ที่เขากล่าวถ้อยคำที่เป็นปัญหา แต่หากฟังการปราศรัยของเขาตั้งแต่ต้นจนจบจะพบว่าเขาปราศรัยด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเขาหวังจะให้ศาลไม่ตกเป็นเครื่องมือของใครและสถิตย์อยู่อย่างสง่างาม เขาไม่หวังให้ศาลเข้าข้างเขาหรือพวกของเขา แต่เพียงมุ่งหวังให้ศาลธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมเท่านั้น เขาเองไม่ทราบว่า การปราศรัยในบริเวณดังกล่าวจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล เขาเข้าใจว่าเฉพาะการกระทำที่เกิดขึ้นในอาคารศาลเท่านั้นที่เป็นความผิด สำหรับเครื่องขยายเสียงที่เขาใช้ก็เป็นเครื่องเสียงขนาดเล็กเท่านั้น
ชินวัตรเบิกความด้วยว่า หนึ่งในปัจจัยที่น่าจะทำให้เกิดความตึงเครียดในวันนั้นน่าจะเป็นกรณีทีมีผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์ มาดูเหตุการณ์ที่หน้าศาลและมีการโต้เถียงกับผู้ชุมนุมบางส่วนโดยผู้พิพากษาชนาธิปเป็นผู้สั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวพริษฐ์กับพวก ซึ่งตัวเขาเองเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการยั่วยุผู้ชุมนุม
.
เวลา 14.20 น. ศาลกลับขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำเบิกความให้ชวัลนาถและชินวัตรฟังก่อน จากนั้นจึงอ่านคำสั่งศาลโดยสรุปได้ว่า ในวันเกิดเหตุแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายชุมนุมที่ศาลอาญาเพื่อให้กำลังใจพริษฐ์ ชิวารักษ์กับพวก ซึ่งถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ที่ศาลอาญาและไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ในวันเกิดเหตุวันที่ 29 เมษายน 2564 มีประชาชนประมาณ 300 คน เดินทางมาชุมนุมที่บริเวณศาลและมีการใช้เครื่องเสียงปราศรัย เบนจา อะปัญและณัฐชนนท์ ไพโรจน์ ผลัดกันปราศรัย ขณะที่ชินวัตรผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ก็ปราศรัยต่อว่าศาลว่า ศาลเป็นฆาตกรและมีข้อความอื่นๆที่เป็นถ้อยคำหยาบคาย ก้าวร้าว และเป็นการดูหมิ่นศาลอาญาและผู้พิพากษาศาลอาญาอย่างรุนแรง เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย
.
ช่วงต้นของการชุมนุมเจ้าพนักงานจากสน.พหลโยธินได้อ่านข้อกำหนดเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลให้ผู้ชุมนุมฟังและขอให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อยแต่ผู้ชุมนุมหาฟังไม่ จึงถือว่าผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อมูลเรื่องข้อกำหนดศาลแล้วแต่มีเจตนาฝ่าฝืน ทั้งผู้ถูกกล่าวหาก็มีพฤติการณ์ปราศรัยให้ผู้ชุมนุมเกิดความฮึกเหิม ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหา พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล พิพากษาจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา
.
ดูสถานการณ์คดีละเมิดอำนาจศาล สืบเนื่องจากการชุมนุมในปี 2564 ได้ที่
https://freedom.ilaw.or.th/node/909