วันเสาร์, มิถุนายน 05, 2564

จากคดี "ทนายสมชาย" ถึงอุ้มหายวันเฉลิม จะเอาผิดคนร้ายในไทยได้ต้องแก้กฎหมายก่อน



iLaw
13h ·

จากคดี "ทนายสมชาย" ถึงอุ้มหายวันเฉลิม จะเอาผิดคนร้ายในไทยได้ต้องแก้กฎหมายก่อน
.
ปี 2547 ทนายสมชาย นีละไพจิตร นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนถูกอุ้มหายในประเทศไทย โดยมีพยานหลักฐานพบเห็นว่ามีคนพยายามเข้ามาจับกุมและควบคุมตัวทนายสมชายไป และผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ก็เป็นตำรวจ 5 นาย
.
หลังการหายตัวไปของทนายสมชาย ครอบครัวนีละไพจิตรได้พยายามติดตามทวงหาความยุติธรรมจนมีการต่อสู้คดีกันไปถึงชั้นศาลฎีกา แต่ท้ายที่สุด ศาลสั่งยกฟ้องจำเลยทั้งห้า โดยอ้างเหตุว่า ไม่มีผู้มีอำนาจฟ้องคดีมาเป็นโจทก์ ในขณะที่ครอบครัวของทนายสมชายเองก็ไม่สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนทนายสมชายได้ เพราะกฎหมายระบุว่า กรณีที่ครอบครัวจะฟ้องคดีแทนผู้เสียหายได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ผู้เสียหายตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถดำเนินการเองได้เท่านั้น แต่การดำเนินคดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และฐานข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ครอบครัวของทนายสมชายจึงไม่อาจเข้ามาเป็นโจทก์ได้
.
คดีของทนายสมชาย นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ของกฎหมายอาญา เพราะการอุ้มหายนั้นผู้กระทำจงใจจะทำให้ไม่ปรากฏหลักฐานหลงเหลือว่า ผู้เสียหายเป็นหรือตายอย่างไร การจะดำเนินคดีฐาน "ฆ่าคนตาย" ก็ยังปราศจากหลักฐาน การเอาผิดกับจำเลยจึงทำได้ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง
.
พอมาในปี 2563 ก็เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกครั้ง เมื่อ 'วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์' นักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทยที่ลี้ภัยไปยังประเทศกัมพูชา ได้หายตัวไป ทั้งนี้ แม้ทางการไทยและกัมพูชาจะเคยออกมาปฏิเสธว่าไม่รับรู้ถึงการพำนักอยู่ในกัมพูชาของวันเฉลิม แต่ทว่า จากการหลักฐานอาทิ พาสปอร์ต และบันทึกการสืบสวนสอบสวน กลับยืนยันว่าทางการของทั้งสองประเทศรับรู้เป็นอย่างดี
.
โดยความยากลำบากของคดีวันเฉลิม มีความคล้ายคลึงกับคดีของทนายสมชาย เมื่อมีคนสูญหายแต่ไม่พบศพ ข้อกล่าวหาที่ใช้ดำเนินคดีได้ก็มีเพียง ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และฐานข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ซึ่งครอบครัวของวันเฉลิมก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาเป็นโจทก์ในคดีได้อีก
.
จากบทเรียนการทวงถามความยุติธรรมของทั้งสองคดี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมืองไทยหลังจากนี้ต้องการกฎหมายเฉพาะที่ครอบคลุม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความพยายามผลักดันจากทั้งภาคประชาชนและฝ่ายการเมืองให้มีการตรา ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ "ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ" ขึ้นมา แต่ทว่า การผลักดันกฎหมายฉบับนี้ก็มีความคืบหน้าแค่เพียงเป็นร่างกฎหมาย และยังถูกแช่แข็งไว้ในวาระการพิจารณาของสภา
.
หากในวันข้างหน้า ประเทศไทยมีกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทวงคืนความยุติธรรม เพราะจะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการเฉพาะ อีกทั้ง ความผิดฐานอุ้มหายยังเป็นความผิดต่อเนื่องที่ต่อให้เหตุการณ์เกิดก่อนกฎหมายบังคับใช้แต่ถ้ายังไม่พบผู้สูญหายก็ถือว่า ความผิดยังดำเนินอยู่ และกฎหมายฉบับนี้จะเปิดทางให้ครอบครัว ญาติ หรือคู่ชีวิต สามารถเข้ามาเป็นผู้เสียหายในคดีแทนได้ เป็นต้น
อ่านบทวิเคราะห์บทเรียนจากคดีอุ้มหายจากทนายสมชายถึงวันเฉลิมได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5688
อ่านสรุปพ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ ฉบับประชาชนได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5549
...


iLaw
19h ·

++ชูชีพ ชีวสุทธิ์, กฤษณะ ทัพไทย และสยาม ธีรวุฒิ์ ผู้ลี้ภัยในลาว++
.
หายตัวไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562
.
.
ชูชีพ ชีวสุทธิ์ เคยประธานชมรมนิยมไทย ที่มีการแสดงออกต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีตและปัจจุบัน เช่น ร่วมติดโปสเตอร์และแจกใบปลิวเปิดโปงกรณีการจับผู้ต้องสงสัยว่าร่วมกับคอมมิวนิสต์มาฆ่าและเผาในถังน้ำมัน 200 ลิตร หรือ เหตุการณ์ ‘ถีบลงเขาเผาลงถังแดง’ ที่ภาคใต้ ช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
.
เขาเลือกที่จะเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตอีสานใต้ ภายหลังจากออกจากป่าชูชีพทำธุรกิจส่วนตัว และจัดรายการวิทยุวิเคราะห์การเมืองไทย ในวันที่ 20 สิงหาคม 2551 ศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุมัติหมายจับชูชีพ ในข้อหามาตรา 112 ชูชีพเลือกที่จะลี้ภัยออกนอกประเทศ
.
สยาม ธีรวุฒิ เด็กหนุ่มวัย 29 ปี อดีตนักกิจกรรมกลุ่มประกายไฟ เคยเกี่ยวข้องกับละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” หลังลี้ภัยไปในปี 2557 เข้าร่วมจัดรายการวิทยุกับผู้ลี้ภัยคนอื่นด้วย
.
กฤษณะ ทัพไทย เคยเข้าป่าอีสานใต้ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก่อนจะออกมาทำอาชีพทำป้ายโฆษณา โดยกฤษณะถูกทางการกล่าวหาในคดีความเกี่ยวกับความมั่นคง
.
9 พฤษภาคม 2562 'เพียงดิน รักไทย' หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองเปิดเผยผ่านช่องทางยูทูปว่า ทั้งสามคนถูกจับกุมที่เวียดนามเมื่อเดือนมกราคม 2562 ถูกส่งตัวกลับไทยแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า คาดว่าการจับกุมสืบเนื่องมาจากทั้งสามคนใช้พาสปอร์ตอินโดนีเซียปลอมเดินทางเข้าเวียดนาม เหตุที่ต้องข้ามจากลาวไปเวียดนามอาจเป็นเพราะมีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบฝ่ายพยายามที่จะติดตามและกวาดล้างกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองในลาว