วันพุธ, มิถุนายน 02, 2564

การกลืนและกลายพุทธศาสนาของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เครดิตภาพปก แฟนเพจ พระมหาสมปอง

การกลืนและกลายพุทธศาสนาของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พิธีกรรมทางศาสนาพุทธ ภาพจาก แฟนเพจ พระมหาสมปอง

พฤษภาคม 28, 2021
Witayakara Sowattara
Isaan Record

วิวาทะ “เป็นพระควรยุ่งการเมืองหรือไม่” เป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง หลังจากที่ประชุมมหาเถรสมาคมลงมติว่า การกระทำของพระมหาสมปอง เข้าข่ายการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิทยากร โสวัตร ชวนมองปรากฎการณ์นี้แล้วสำรวจอำนาจสงฆ์ในอีสานว่า ถูกกลืนจากระบบโครงสร้างทางการเมืองได้อย่างไร

วิทยากร โสวัตร เรื่อง

บทความนี้ต้องขอบคุณพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามกับโครงสร้างของพุทธไทย ยิ่งเมื่อมีคนเอากรณีของท่านไปเปรียบเทียบกับ ว. วชิรเมธี ยิ่งเห็นความชัดเจนได้ดีว่า พระที่ออกมาติติง วิพากษ์วิจารณ์ (ถ้ามองอย่างมีเมตตาธรรมตามหลักพุทธศาสนาจริงๆ ก็ควรบอกว่า ท่านออกมาให้สติรัฐบาลหรือชนชั้นนำที่กุมอำนาจของประเทศ) นั้นมักจะโดนกระทำ แต่ถ้าโอนอ่อนหรือล้อตามผู้กุมอำนาจ (แม้จะปกครองและบริหารอย่างไม่เป็นธรรม) ก็จะได้รับการสรรเสริญ ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์

และประเด็นสำคัญ คือ กรณีพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ซึ่งบังเอิญจริงๆ ว่าท่านเป็นคนอีสาน เป็นชาวขอนแจ่น หรือขอนแจน (ตามสำเนียงบ้านผม) ทำให้ผมได้กลับไปค้นข้อมูลบางอย่าง ซึ่งจะเป็นคำอธิบายในกรณีนี้ได้และเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์อีสานด้วย ประเด็นหลังนี้เข้าใจว่า ยังไม่มีใครเคยศึกษาไว้ (อันนี้ไม่รับรองนะครับ เพราะผมยังไม่ได้อ่านงานอีสานศึกษาทุกชิ้น)

ในความเห็นของผมอีสานสมัยใหม่นั้นหลักๆ มี 3 ช่วงตอน ช่วงแรกในรัชกาลที่ 5 ช่วงปฏิรูปการปกครองของพระองค์ ช่วงที่สอง ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรต่อเนื่องมาถึงสมัยจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และช่วงที่สาม คือ ตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ‘40 จนคนอีสานขยับฐานะเป็นชนชั้นกลางใหม่จากประชาธิปไตยที่กินได้นี้

พูดง่ายๆ คือ การได้มีสิทธิและโอกาสในการแชร์ผลประโยชน์ชาติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน (ตรงนี้แหละที่ผมงงเอ็นจีโอและนักวิชาการที่เคยทำงานด้วยอุดมการณ์เพื่อการกินดีอยู่ดีของประชาชนรากหญ้า แต่สุดท้ายพอประชาชนลืมตาอ้าปากได้ กลับไปทำลายหลักการประชาธิปไตยจากรัฐธรรมนูญ ‘40 ทำให้ชาวบ้านตกลงไปสู่ความยากลำบากแบบเก่าอีกและไม่รู้ว่า วันไหนจะกลับมาดีขึ้น เอ็นจีโอและนักวิชาการ ปัญญาชน ศิลปิน นักเขียนเหล่านี้ก็ไปร่วมเป็นนั่งร้านให้ คสช. ยึดอำนาจรัฐประหาร)

ในส่วนของบทความนี้ผมจะชี้แค่ช่วงประวัติศาสตร์อีสานใหม่ช่วงแรก โดยเจาะลงไปที่เรื่องของธรรมนูญสงฆ์ที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลืนกลายไปจนทำให้เกิดกรณีอย่างพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต โดน

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจสภาพของอีสานในยุคนั้นก่อน

ครั้งหนึ่งในงานสัมมนาวิชาการที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยให้นิยามของอีสานไว้อย่างน่าสนใจว่า อีสานเป็นคล้ายๆ Save Land เพราะอยู่ห่างจากศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งผมเห็นด้วยมาก นั่นเพราะว่า อีสานมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง เดินทางจากศูนย์กลางอำนาจลุ่มน้ำเจ้าพระยาลำบากมาก ถ้ามองว่า คนอีสานส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อลาว เวลามีปัญหากับทางราชสำนักเวียงจันทน์ก็ข้ามโขงมาจับจองหาพื้นที่สร้างเมืองกันที่นี่ (ดูประวัติศาสตร์เมืองต่างๆ ในอีสานได้) หรือกลุ่มชนเขมรแถบสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษก็อยู่สูงจากราชสำนักกัมพูชา

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ดังกล่าวจึงทำให้อีสานไม่มีศูนย์กลางหลัก ดูได้จากพุทธศิลป์ก็รู้ได้ว่า ไม่มีช่างหลวง ซึ่งทำให้เกิดรูปลักษณะใบหน้าของพระพุทธรูปที่อิสระและหลากหลายมากและก็มีจุดยึดเหนี่ยวร่วม คือ พุทธศาสนา (ส่วนผีนั้นค่อนข้างเป็นเอกเทศและหลากหลายตามแต่เผ่าพงษ์)

ตรงนี้ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า เอาเข้าจริงแล้ว แม้แต่ในราชอาณาจักรลาวก่อนรัชกาลที่ 4 – 5 พระสงฆ์มีอำนาจต่อรองหรือคานอำนาจของกษัตริย์ค่อนข้างชัดเจน (แม้แต่ในราชสำนักสยามเองก็ตาม จะดูได้จากประวัติขรัวโต แต่ภาพรวมอาจไม่เด่นชัดมากนัก) ดูกรณีเจ้าราชคูหลวงโพนสะเม็ก (ยาคูขี้หอม) ได้ ถึงขนาดพาครัวจากเวียงจันทน์หลายพันและหน่อเนื้อกษัตริย์ที่ถูกยึดอำนาจออกไปตั้งเมืองจำปาสัก ทางราชสำนักเวียงจันทน์ก็ยังไม่รุกไล่ตามมาตี


หนังสือประวัติและของดีหลวงปุ่สำเร็จลุน เขียนโดย อาจารย์สวิง บุญเจิม

ที่บอกว่าพระสงฆ์มีอำนาจต่อรองหรือคานอำนาจของกษัตริย์ค่อนข้างชัดเจนดูได้จากอะไร ?

คำตอบ คือ ให้ดูที่ยศหรือฐานันดรพระของทางอีสานและลาวก่อนรัชกาลที่ 5 จะปฏิรูปประเทศเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์เปรียบเทียบกับฐานันดรพระของไทยหลังรัชกาลที่ 5 ปฏิรูปประเทศ เช่น เจ้าราชคูหลวงโพนสะเม็ก (สูงสุดในราชอาณาจักรลาวตอนนั้น) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (สูงสุดในสมัย ร.5 – สมัยของพระองค์ไม่ทรงตั้งตำแหน่งสังฆราช อำนาจเด็ดขาดสูงสุดอยู่ที่พระองค์ ต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้รับมหาสมณุตตมาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2453 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

จะเห็นว่า ธรรมเนียมของลาว ซึ่งอีสานก็รับมานั้น แม้แต่ตำแหน่งพระสงฆ์ในราชสำนัก กษัตริย์ยังทรงให้เกียรติสูงสุด โดยให้ชื่อพระนำหน้าหรือขึ้นต้น เอาชื่อกษัตริย์สถาปนาตามหลัง เจ้าราชคูหลวงโพนสะเม็ก – เจ้า = พระเจ้า (นี่คือชื่อพระ) ราชคูหลวง (นี่คือชื่อที่กษัตริย์สถาปนา) ทีนี้มาเปรียบเทียบกับฐานันดรศักดิ์พระของสยามประเทศไทย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส – สมเด็จ (ชื่อที่กษัตริย์สถาปนา) มาก่อน พระมหา (ชื่อพระ)

และนี่คือรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ !

ทีนี้มาถึงลาวอีสาน ยกตัวอย่างยศพระฝ่ายปริยัติมี 4 ขั้น คือ สำเร็จ, ซา, คู, ราชคู

– สำเร็จ สถาปนาให้แก่พระภิกษุ/สามเณร ผู้ที่เรียนจบสวดมนต์น้อยสวดมนต์กลางและสวดมนต์ปลาย ซึ่งผ่านการทดสอบว่าจำได้แม่นไม่ผิดพลาดแล้ว จึงพระสงฆ์ญาติโยมก็มีมติสรงน้ำ (ฮดสง) ให้เป็น สำเร็จ เอาชื่อพระออกก่อน – เอาชื่อสถาปนาไว้กลาง – เอาชื่อตัวไว้สุดท้าย เช่นชื่อ เคน ก็ว่า เจ้าหัวสำเร็จเคน (เจ้าหัว – ชื่อพระ, สำเร็จ – ชื่อสถาปนา, เคน – ชื่อคน)

– ซา สถาปนาให้พระภิกษุสามเณรที่เรียนจบมูลกัจจายนสูตร (บาลีใหญ่) และแปลบาลีอรรถกถาคัมภีร์ทั้งห้า ผ่านการทดสอบแล้วก็สถาปนาให้เป็น ซา ก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ ชื่อพระออกก่อน ชื่อสถาปนาไว้ตรงกลาง ชื่อตัวไว้หลังสุด เจ้าหัวซาเคน – คู ก็เหมือนกัน เจ้าหัวคูเคน – ราชคู ก็แบบเดียวกัน เจ้าหัวราชคูเคน

จากหลักฐานและข้อมูลตรงนี้จะเห็นเลยว่า หลักการหรือธรรมนูญโครงสร้างของพระสงฆ์สามเณรอีสานตอบสนองต่อหลักการประชาธิปไตยมาก คือ การกระจายอำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจกระจายไปอยู่กับประชาชน (รวมพระสงฆ์สามเณรด้วย) ตามชุมชนต่างๆ อย่างค่อนข้างเป็นอิสระและเป็นฉันทามติของประชาชนในชุมชนนั้นๆ

แต่เมื่อมีการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง โดยการปฏิรูปประเทศให้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วก็เป็นการกลืนอำนาจนำของสังคม คือ ทั้งในทางบ้านเมือง เช่น ยกเลิกระบบอาญาสี่ และในทางธรรมนำโดยพระสงฆ์ให้ไปอยู่ภายใต้อำนาจของราชสำนักหรือกษัตริย์หรือพูดให้กว้างที่สุดให้กินความมาถึงปัจจุบันก็คือให้อยู่ใต้อำนาจนำของชนชั้นนำ

จากนั้นก็กลายไปรับใช้โดยผลิตคำสอนที่ตอบสนองกลุ่มอำนาจหรือชนชั้นนำเหล่านี้ เริ่มจาก พุทธประวัติ ที่เน้นความเป็นราชาชาตินิยม(ผู้ที่เขียนขึ้นเป็นตำราเรียนก็คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งอิงรูปแบบการเขียนชีวประวัติมาจากฝรั่ง) ทั้งที่แต่ก่อนเรียนรู้ความเป็นพระพุทธเจ้าจากธรรมประวัติ ในอีสาน/ลาวก็เรียนรู้เรื่องพระพุทธเจ้าโดยการใช้พระเจ้าห้าร้อยชาติ (ปรัชญาในพระเจ้าห้าร้อยชาติก็คือทุกคนหรือสัตว์ทุกชนิดสามารถหรือมีสิทธิที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ได้เหมือนกัน)

นั่นจึงไม่แปลกที่ในสังคมไทยตอนนี้ ว.วชิรเมธี ถูกยกย่องเพราะสอนอวยรัฐหรือชนชั้นนำ (ซึ่งพระไทยส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้) แต่พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต กลับถูกกล่าวหาว่าร้ายโดยไม่มอง (ตามหลักพุทธ) ว่าท่านติเตียนเพื่อให้สติ

และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม พ.ร.บ.สงฆ์ ปี 2484 จึงเป็น พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับคลาสสิก -ในฝัน เหมือนรัฐธรรมนูญ ‘40 นั่นเพราะมันกระจายความสัมพันธ์เชิงอำนาจและตอบสนองประโยชน์สุขของประชาชนอย่างเต็มที่บนหลักการประชาธิปไตย

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

‘โกนผม’เพื่อเคียงข้างนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์
ความในใจของคนอีสานคนหนึ่งต่อวาทกรรม โง่-จน-เจ็บ และเดวิด
ผู้หญิงอีสานและลาว กับการถูกรัฐสยามบังคับให้แสดงความเศร้า
นคร พงษ์ภาพ (2) เพชรพิณทอง คือ บ่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ?
นคร พงษ์ภาพ : ขุนพลเพลงอีสานเร้นกาย (1)