Fair Finance Thailand
April 9 at 3:03 AM ·
แถลงการณ์
เรียกร้องให้บริษัทไทยและสถาบันการเงินไทยที่ประกาศนโยบายสิทธิมนุษยชน ระงับหรือถอนการลงทุนในเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยคณะรัฐประหารเมียนมา
เป็นที่ประจักษ์ว่านับตั้งแต่คณะเผด็จการทหารเมียนมาได้ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยข้ออ้างการทุจริตการเลือกตั้งของพรรครัฐบาลที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ตลอดมาหลังการรัฐประหาร คณะรัฐประหารเมียนมาได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนนานัปการของประชาชนชาวเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออก การปิดกั้นการนำเสนอข่าวสารของประชาชนและสื่อมวลชน การจับกุม กักขัง และทรมานนักการเมืองและประชาชนทั่วไปโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา การทำลายและขโมยทรัพย์สินของประชาชน และที่เลวร้ายที่สุดคือ การเข่นฆ่าประชาชนมือเปล่าที่ออกมาชุมนุมประท้วงอย่างสันติด้วยอาวุธสงครามอย่างเปิดเผย สังหารไม่เว้นแม้บุคลากรทางการแพทย์ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 ราย ในระยะเวลาสองเดือนนับตั้งแต่วันก่อการรัฐประหาร เหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะและกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง
การที่คณะรัฐประหารเมียนมาสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเนื่องเพราะมีรายได้จากบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา และรายได้ทางตรงจากธุรกิจของกองทัพ มาสนับสนุนปฏิบัติการก่อความรุนแรงต่อประชาชน โดยรายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาและผู้นำระดับสูงและเครือข่ายมีมากถึง 133 บริษัท โดยมีความโยงใยและสัมพันธ์กันผ่านกลุ่มบริษัท 2 กลุ่มบริษัทหลัก ได้แก่ Myanmar Economic Corporation (MEC) และ Union of Myanmar Economic Holding Ltd. ซึ่งลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย บริษัทเหล่านี้ล้วนไม่โปร่งใส เนื่องจากอยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพเมียนมาที่แม้แต่รัฐบาลพลเรือนก็ไม่อาจแทรกแซงได้
สำหรับความรับผิดชอบที่ธุรกิจพึงมีต่อเหตุการณ์ดังกล่าว คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Working Group) ได้ออกรายงานเรื่อง “Business, human rights and conflict-affected regions: towards heightened action”* ในเดือนตุลาคม 2020 ซึ่งนำเสนอต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ รายงานฉบับนี้เสนออย่างชัดเจนว่า ธุรกิจจะต้องลงมือปฏิบัติเชิงรุกและตัดสินใจอย่างเด็ดขาดมากขึ้น (more decisive action) ในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและยืดเยื้อ คณะทำงานเสนอว่า เมื่อบริษัทมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าจะระงับหรือยกเลิกกิจกรรมของตนในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง บริษัทควรหาทางออกจากพื้นที่นั้นๆ อย่างรับผิดชอบ (responsible exit) เริ่มจากการวางแผนกลยุทธ์การออกจากพื้นที่ ระบุและประเมินผลกระทบของการตัดสินใจนี้ที่จะมีต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งพันธมิตรทางธุรกิจและชุมชน และพัฒนากลยุทธ์การบรรเทาความเดือดร้อน เช่น แจ้งให้ชุมชน คู่ค้า ลูกจ้าง และพันธมิตรฝ่ายอื่นๆ ทราบล่วงหน้า การสร้างหลักประกันว่าลูกจ้างจะยังมีรายได้ตลอดช่วงที่เกิดความขัดแย้ง (หรือช่วงที่บริษัทระงับการลงทุน) มีมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับลูกจ้างที่ไม่อาจโยกย้ายออกจากพื้นที่ได้ และร่วมมือกับองค์กรภาคประชาชนที่สามารถเข้ามารับช่วงการช่วยเหลือ เป็นต้น
ในสถานการณ์ที่คณะรัฐประหารเมียนมาละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเข้าใกล้การก่อ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” (crimes against humanity) ยิ่งขึ้นทุกขณะ พวกเราดังรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ในนามขององค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามการทำงานของภาคธุรกิจในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ขอเรียกร้องให้บริษัทของท่าน ในฐานะที่ประกาศนโยบายสิทธิมนุษยชน (human rights policy) ประกาศระงับหรือถอนการลงทุนในเมียนมาจนกว่าประเทศจะกลับเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และวางกลยุทธ์การออกจากพื้นที่อย่างมีความรับผิดชอบ (responsible exit) ตามข้อเสนอของคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบของบริษัทว่าไม่ต้องการเป็นพันธมิตรหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารเมียนมาในฐานะผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ซึ่งระบุว่าการยกเลิกความสัมพันธ์ (disengagement) กับพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่บริษัทควรพิจารณา
การประกาศระงับหรือถอนการลงทุนในเมียนมานั้น นอกจากจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบตามนโยบายสิทธิมนุษยชนของบริษัทแล้ว ยังเป็นไปตามหลักการชี้แนะ UNGP ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเป็นการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าบริษัทจะอยู่เคียงข้างกับประชาชนชาวเมียนมา ในฐานะ “หุ้นส่วน” ของพวกเขาในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอันเป็นจุดยืนที่ย่อมยังประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาลต่อบริษัทเองในระยะยาว
ลงชื่อ
หน่วยงาน และบุคคล
(ดูรายชื่อได้ลิงค์นี้ https://www.facebook.com/FairFinanceThailand/posts/1420550038291140)
รายนามบริษัทไทยที่ลงทุนในเมียนมา และประกาศนโยบายสิทธิมนุษยชน
1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
3. ธนาคารกสิกรไทย (มหาชน)
4. บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
9. บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)
10. บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด
11. บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน)
12. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
—
* ดาวน์โหลดได้จาก https://undocs.org/en/A/75/212