Fair Finance Thailand
April 12 at 7:55 AM ·
"ลมหายใจลูกหนี้"
วิกฤติโรคระบาด COVID-19 ไม่เพียงคุกคามสุขภาพและความเจ็บป่วยทางร่างกาย แต่ยังสั่นสะเทือนไปถึงสุขภาพการเงินและปัญหาปากท้องของผู้คนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ตั้งแต่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ไปจนถึงคนตัวเล็กตัวน้อย
เมื่อเศรษฐกิจหยุดชะงัก หลายคนถูกลดชั่วโมงทำงาน ถูกเลิกจ้าง หางานทำไม่ได้ รายรับหดหาย รายจ่ายเท่าเดิม เพิ่มเติมคือหนี้สินและดอกเบี้ยที่เบ่งบาน ทั้งหนี้เก่า-หนี้ใหม่ หนี้ในระบบ-นอกระบบ
เหล่านี้คือเสียงสะท้อนของชีวิตลูกจ้าง มนุษย์เงินเดือน เกษตรกร ครู บัณฑิตจบใหม่ ไปจนถึงแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ ที่ต้องดิ้นรนอย่างสุดชีวิตด้วยกำลังเฮือกสุดท้าย ในวันที่วิกฤติโรคระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ และมีแนวโน้มว่าสถานการณ์เช่นนี้จะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน
สิ่งที่พวกเขาอยากได้ยินคือ รัฐบาลหรือสถาบันการเงินจะมีมาตรการใดที่ช่วยต่อลมหายใจให้คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างพวกเขาได้บ้าง ในแง่ที่ว่ามาตรการนั้นจะต้องเยียวยาอย่างได้ผลและตรงจุด
และที่ผ่านมาได้ช่วยเหลืออย่างจริงจังและจริงใจมากแค่ไหน
Fair Finance Thailand
April 12 at 7:55 AM ·
• เกิดเป็นครูบ่กู้แต่ระเบิด ปัญหาหนี้ทบหนี้ของครูอัตราจ้าง
วรรณวิสาข์ สังข์หมื่นนา
อายุ 28 ปี
ครูอัตราจ้าง
ว่ากันว่าช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาระลอกแล้วระลอกเล่านั้น กลุ่มข้าราชการและลูกจ้างรัฐอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะยังคงได้รับเงินเดือนในอัตราเท่าเดิม แม้ไม่ต้องไปทำงานก็ยังมีรายได้ แต่ใครจะรู้ว่าความจริงแล้วเศรษฐกิจที่หยุดชะงักเพราะการแพร่ระบาดนั้นส่งผลกระทบต่อครูตัวเล็กตัวน้อยอย่างไรบ้าง จนถึงขนาดต้องกู้หนี้ยืมสินเป็นวังวนไม่รู้จบเพื่อหาทางรอดในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้
“ถ้าจะถามว่ามีครูคนไหนเป็นหนี้บ้าง ถามว่ามีครูคนไหนยังไม่เป็นหนี้บ้างดีกว่า”
ครูวรรณ หรือ วรรณวิสาข์ สังข์หมื่นนา อายุ 28 ปี กล่าวขึ้นอย่างหนักใจเมื่อถูกถามถึงสภาวะหนี้สินและปัญหาปากท้องของเหล่าครูในโรงเรียน ปัจจุบันเธอสอนอยู่ ณ โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู จังหวัดขอนแก่น โดยมีหนี้เงินกู้ในชื่อของสามีที่เป็นข้าราชการตำรวจ รวมๆ แล้วเกือบ 4 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายจ่ายสำหรับการใช้หนี้ตกเดือนละ 30,000 กว่าบาท
“เราวางแผนการเงินนะคะ แต่โควิดไม่ได้อยู่ในแผนเรามาก่อนเลย”
ครูวรรณเล่าถึงการใช้จ่ายที่ผ่านมาของครอบครัวว่า การตัดสินใจกู้เงินสร้างบ้านและการผ่อนรถนั้นเธอยังสามารถจ่ายไหวในช่วงที่สถานการณ์ยังคงปกติอยู่ เนื่องจากการที่ต้องทำงานต่างอำเภอและอยู่คนละที่กับสามี ทำให้เธอจำเป็นต้องมีรถและที่อยู่อาศัย ซึ่งการสร้างหนี้ก้อนใหญ่ทั้งสองก้อนนี้ยังได้เล็งไปถึงผลลัพธ์ระยะยาวว่า จะเป็นที่พักพิงสุดท้ายในวัยเกษียณและใช้รถยนต์ในการพาตัวเองไปทำมาค้าขายเป็นรายได้เสริมอีกด้วย
ทว่าการระบาดของไวรัสโควิดก็ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ไป ทั้งการค้าขายที่ตลาดและการสอนพิเศษนอกเวลา สิ่งที่ทำให้สามารถรักษาบ้านและรถเอาไว้ได้มีเพียงทางเดียวคือ การกู้ยืมเพิ่มจากทั้งในระบบและนอกระบบ เนื่องจากรายได้ตามปกติของครูทั้งอัตราจ้างหรือข้าราชการครูนั้นไม่มีทางเพียงพอต่อการใช้ชีวิต เหมือนสำนวนในภาษาถิ่นว่า ‘เกิดเป็นครูบ่กู้แต่ระเบิด’ หมายความว่า อาชีพครูต้องกู้ทุกอย่างเพื่อให้มีชีวิตรอด คงขาดแค่ระเบิดเท่านั้นที่ยังไม่ต้องไปกู้ และดูเหมือนว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยิ่งทำให้คำกล่าวนี้เริ่มจะเป็นจริงกับอาชีพครูมากขึ้นไปกว่าครั้งไหนๆ
“ช่วงโควิด รายจ่ายยิ่งมาก ค่าไฟจากเดือนละ 500 บาท กลายเป็น 2,000 บาท ไหนจะค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ไปจนถึงค่ารักษาพยาบาลกับคลินิกที่แพงแสนแพง จะให้เราไปโรงพยาบาล เราก็ไม่มั่นใจเรื่องมาตรการควบคุมโรค ทางเดียวที่ทำได้คือ การกู้หนี้เพิ่มเพื่อเอามาโปะหนี้เก่า”
กลายเป็นว่าจากเงินเดือนที่มีเพียงแค่ 8,000 บาทเท่าเดิม แต่รายจ่ายทั้งหลายกลับเพิ่มขึ้น ทำให้ชีวิตครูตัวเล็กตัวน้อยอย่างครูวรรณยากลำบากเป็นอย่างมาก เนื่องจากรายได้ทั้งจากการสอนพิเศษหลักหมื่นและจากการค้าขายหลายพันได้หายไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของครูวรรณดูจะเลวร้ายหนักขึ้น เมื่อถูกถามถึงมาตรการเยียวยาลูกหนี้ที่เธอได้รับ
“หนี้สหกรณ์ชุมชนไม่มีมาตรการเยียวยาเรายังเข้าใจได้ เพราะชุมชนจะไม่มีเงินหมุน แต่บางธนาคารออกมาทีละมาตรการ เราเห็นมาตรการแรกๆ ปรากฏว่าเราไม่เข้าข่าย ก็เลยไม่ได้ตามต่อ กลายเป็นว่ามาตรการหลังๆ เราเข้าข่ายได้รับสิทธิ แต่ก็หมดเขตไปแล้ว ไหนจะมาตรการให้กู้ของอีกธนาคารที่ระบุว่าเราต้องมีบัญชีกับเขา และมีเงินหมุนเวียนในบัญชีมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งข้อจำกัดพวกนี้เขามักจะใส่ไว้เป็นดอกจันเล็กๆ ที่เราไม่เห็น ทำให้เราต้องเสียเวลาทำมาหากิน เตรียมเอกสารกันเป็นวันๆ เพื่อจะพบว่าเรากู้ไม่ได้ ไม่เข้าข่าย หรือไม่ผ่านเกณฑ์”
ดูเหมือนว่ามาตรการของสถาบันการเงินในการเยียวยาลูกหนี้ทั้งหลายจะมีปัญหาด้านการสื่อสารข้อมูลที่ส่งมาถึงคนตัวเล็กๆ อย่างครูวรรณ ประกอบกับการใช้ชื่อสามีที่เป็นข้าราชการตำรวจในการกู้ ก็ยิ่งทำให้ครอบครัวครูวรรณไม่เข้าข่ายผู้ได้รับสิทธิเยียวยา ซึ่งดูเหมือนว่าในสายตาของผู้ออกนโยบายก็ดูจะไม่ได้นับว่าข้าราชการหรือลูกจ้างรัฐคือผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะโรคระบาดเท่าไรนัก
“อยากให้รัฐมองว่าเราเป็นคนมากกว่าเราเป็นใคร เพราะข้าราชการเองก็มีครอบครัว มีลูก มีญาติ ต้องดูแลเหมือนกัน ไม่งั้นข้าราชการหรือลูกจ้างรัฐก็พากันลาออกมาเป็นคนธรรมดาให้หมดเพื่อให้รัฐดูแล จะไม่ดีกว่าหรือ”
ครูวรรณยังเล่าถึงความไม่เป็นธรรมที่เธอและครอบครัวต้องเผชิญในสภาวะเศรษฐกิจชะงักงันครั้งนี้อีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยและการบริการลูกหนี้ของเหล่าสถาบันการเงิน
“ตอนนี้ผ่อนบ้านเดือนละ 13,000 แต่เป็นเงินต้นแค่ 4,000 ที่เหลือเป็นดอกเบี้ย เราจ่ายเขาแพงขนาดนี้ แต่เขากลับไม่มีฝ่ายไหนเลยที่โทรมาแจ้งมาตรการที่เป็นประโยชน์กับเรา เหมือนทำงานหน้าเดียวคือโทรทวงหนี้ แล้วเวลาโทรมาก็ยังจะมาหักเงินค่าโทรทวงหนี้อีกหลายร้อยบาท ไอ้ที่บอกว่ามีกิจกรรมคืนกำไรให้สังคมนั้นเราว่ามันยังไม่พอ คุณได้ 10 แต่คืนสังคมแค่ 1 เราว่ามันไม่ใช่ สถาบันการเงินต้องมีความยุติธรรม ชัดเจน เท่าเทียม และเสมอภาคมากกว่านี้”
เสียงสะท้อนของครูวรรณคงทำให้เห็นได้แล้วว่า แม้แต่ลูกจ้างรัฐหรือข้าราชการเองก็ประสบปัญหาภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่เช่นนี้ และยังผลักพวกเขาให้ออกไปสร้างหนี้เพิ่มเพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้เก่า นำมาสู่การตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า สุดท้ายแล้วมาตรการเยียวยาหรือนโยบายของสถาบันการเงินการธนาคารนั้น มีความเป็นธรรมและจริงใจมากน้อยแค่ไหน และทำไมบางคนจึงถูกตัดสินว่าไม่ควรได้รับการช่วยเหลือ
ดูเหมือนว่าความเป็นธรรม เสมอภาค เท่าเทียม ที่สถาบันการเงินทั้งหลายพยายามบอกว่า ‘แฟร์’ กับคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างครูวรรณ จะยังไม่เกิดขึ้นจริง
Fair Finance Thailand
April 12 at 7:55 AM ·
• อย่าปล่อยให้เราจมกองหนี้ ในยามที่นายจ้างลอยแพ
วาสนา คงหินตั้ง
รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล
สถานะปัจจุบัน - ผู้ว่างงาน
ตัวอักษรบนกระดาษที่ติดอยู่หน้าโรงงานของบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด มีใจความสำคัญในบรรทัดท้ายๆ ว่า “กรรมการผู้มีอำนาจลงนามได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีความจำเป็นต้องปิดกิจการของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป”
ด้วยกระดาษแผ่นเดียวที่ติดอยู่หน้าโรงงานนี้ ส่งผลให้พนักงานกว่า 1,300 คน ต้องตกงานในทันที โดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า
“บริษัทประกาศปิดกิจการผ่านกรุ๊ปไลน์ แต่สุดท้ายเราก็ไปดูที่หน้าโรงงานอีกครั้ง เพื่อจะไปดูกับตาตัวเองว่า เฮ้ย จริงเท็จแค่ไหน พอไปถึงก็...อึ้งนะ ไปต่อไม่ถูก”
คำบอกเล่าจาก วาสนา คงหินตั้ง ผู้ควบบทบาททั้งรองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลูกจ้างผู้ทำงานมา 30 ปี และคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว
จากวันที่เธอและแรงงานคนอื่นๆ ถูกลอยแพ วาสนายังคงไม่มีงานใหม่ และยังไม่มีรายได้เป็นหลักแหล่ง จากเดิมที่มีรายได้เฉลี่ย 13,000 บาทต่อเดือน ก็เปลี่ยนเป็นรายรับจากเงินประกันสังคมสำหรับผู้ว่างงาน
“ทุกวันนี้ยังไม่ได้หางาน เพราะต้องเป็นตัวแทนแรงงานที่จะต้องไปติดต่อหน่วยงานต่างๆ ในวันที่เข้าไปพบเจ้าหน้าที่รัฐ เขามีคำสั่งออกมาพอดีว่า ในเมื่อมันชัดเจนแบบนี้ก็ให้ขึ้นทะเบียนการว่างงาน เพื่อที่จะได้เอาเงินประกันสังคมผู้ว่างงานมาเยียวยา ก็อาศัยเงินตรงนี้มาช่วยเหลือ ถามว่ามันเพียงพอไหม ก็ไม่นะ เพราะได้แค่ 6,000 กว่าบาท สำหรับใช้ทั้งเดือน”
หากเงินประกันสังคมเป็นเงินที่แรงงานต้องจ่ายให้รัฐ เพื่อเป็นหลักประกันในยามยากของชีวิตแล้ว ต้องหันไปมองทางฝ่ายนายจ้างบ้าง
“ล่าสุดทางนายจ้างตั้งตัวแทนที่จะมาพูดคุย แต่ก็มาพูดคุยแบบไม่ประนีประนอมกับคนงานนัก เขาทำหนังสือประนอมหนี้กับลูกจ้างพันกว่าคน โดยเขาจะใช้หนี้ลูกจ้างทุกคนเท่ากัน ในระดับเดียวกัน ก็คือ 120 งวด ทั้งที่จริงแล้วลูกจ้างแต่ละคนต้องได้รับการชดเชยต่างกัน
“เราทำงานที่นี่มา 30 ปี ต้องได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคือ 400 วัน ถ้าเอาค่าแรงคูณ 400 วัน เงินรวมๆ ที่จะต้องได้รับคือ 202,000 บาท แล้วคิดดูว่าถ้าเอา 120 งวดไปหาร ก็ตกแค่เดือนละ 1,000 กว่าบาท
“มันเศร้ามากเลยนะ (เน้นเสียง) มันโหดจนแบบ...เรียกว่าน้ำตาตกใน แล้วคนอย่างเราจะเป็นยังไงต่อ”
เมื่อค่าชดเชยที่นายจ้างจะต้องจ่ายในระดับเพียงแค่พันกว่าบาทยังไม่ได้รับ และเงินเพียง 6,000 ต่อเดือน ก็ไม่พอสำหรับดำรงชีวิต หากตัวเธอเพียงลำพังก็อาจพออยู่ได้ แต่ด้วยภาระหน้าที่ของผู้เป็นแม่ วาสนายังต้องส่งเงินให้ลูกที่เพิ่งเข้ามหา’ลัยหมาดๆ อีกด้วย
“มีหนี้บัตรเครดิตของธนาคารกรุงเทพ ต้องส่งเดือนละ 3,000 บาท แล้วก็ส่งค่าหอพักลูก เพราะว่าเพิ่งเข้าเรียนปี 1 ส่วนค่าเล่าเรียนก็อีกเรื่อง”
ครั้นเมื่อสอบถามถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาในช่วงโควิด-19 ของธนาคารเจ้าหนี้ ก็ได้คำตอบว่า “ไม่เลย! โอ้ย ช่วงโควิดนี่ บัตรเครดิตไม่ได้ช่วยผ่อนปรนอะไรเลย ทางธนาคารก็ไม่ได้ทำอะไรให้เลยนะ”
คงไม่ต้องรอให้นักคณิตศาสตร์หรือนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลมาบอก ก็รู้ได้ว่าการมีหนี้สินล้นพ้นตัวเช่นนี้ ย่อมแปรผันกับความรู้สึกแย่ๆ ทั้งหลายอยู่ไม่น้อย
“ส่วนหนึ่งที่เราอยู่ได้ มันคือกำลังใจมากกว่า เพราะมันต้องเดินต่อ ถ้าเราเครียดกับตัวเองมากไปมันก็แย่ ถามว่าเราเคยคิดถึงขั้นคิดสั้นไหม มันก็ไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็มีบางช่วงแวบๆ แบบว่า เฮ้ย...ฉันไม่อยากอยู่แล้วว่ะ อะไรแบบนี้ มันก็มีบ้างนะ แต่มันแค่แวบเข้ามาในบางช่วงที่หาทางไม่เจอ”
สำหรับนายจ้าง วาสนาอยากฝากบอกว่า “เงิน 200,000 กว่าบาท สำหรับค่าชดเชย มันก็เป็นไปตามกฎหมาย จ่ายเรามาเถอะ เราจะได้เก็บไว้ให้ลูก แล้วตัวเราจะได้ไปหาอะไรทำ กว่าจะตั้งหลักได้ต้องใช้เวลาเป็นปี แต่อย่างน้อยถ้าเรามีเงินก้อนนี้กองไว้ให้ลูก เขาจะได้เดินต่อไปอีกปีหรือสองปีในการเรียนของเขา”
สำหรับภาครัฐ วาสนาฝากไว้ว่า “พวกเราก็ไม่ได้ต่างอะไรจากคนที่บ้านไฟไหม้ ไม่ได้ต่างอะไรจากคนที่ถูกน้ำท่วม วิบากกรรมของชีวิตไม่ได้ต่างอะไรจากตรงนั้นเลย เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้นอนข้างถนน เงินส่วนกลางที่ภาครัฐมีงบประมาณอยู่ รัฐน่าจะอนุมัติมาช่วย เพราะพวกเราก็เป็นคนหนึ่งที่ร่วมเสียภาษีให้ประเทศนี้”
และสุดท้ายวาสนาฝากไปถึงสถาบันการเงินทั้งหลายด้วยคำพูดแกมหยอกว่า “ยกหนี้ให้ได้ไหมอะ (หัวเราะ) ไม่รู้จะพูดประโยคไหนแล้ว เรารู้อยู่ว่าเราไปกู้เขา แล้วเราก็ส่งดอกตามเงื่อนไข ถ้าเขาพักหนี้ให้ สุดท้ายเราก็ต้องกลับไปใช้เหมือนเดิม จริงๆ เราไม่ต้องการให้ยกหนี้หรอก แต่อย่างเราที่ต้องผ่อนบ้าน 30 ปี แล้วผ่อนมาได้ถึงเกือบ 20 ปีแล้ว มันน่าจะมีเปอร์เซ็นต์ลดหย่อนให้ หรือช่วยเหลือเรื่องการลดราคาลง หลังจากที่ผ่อนมาแล้ว 20 ปี เราเป็นลูกหนี้ที่ดีมาโดยตลอด ดอกไม่เคยขาด มันก็น่าจะมีเปอร์เซ็นต์ลดหย่อนตรงนี้ให้ แล้วมันจะช่วย...ช่วยให้ชีวิตเราไปต่อได้”
Fair Finance Thailand
April 12 at 7:55 AM ·
• เมื่อ Sex Worker ไม่ได้เป็นอาชีพ จึงเข้าไม่ถึงการเงิน
ชัชลาวัลย์ เมืองจันทร์
มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (Empower Foundation)
แม้ว่าคนในสังคมมักจะให้คุณค่าของอาชีพตามรายได้ แต่อาชีพ sex worker กลับไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งที่มีรายได้สูงกว่าบางอาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคมด้วยซ้ำ การเงินที่สะพัดอยู่ในวงการนี้จึงดูราวกับว่าเป็นเงินที่ไม่มีใครมองเห็น และยังทำให้คนที่อยู่ในอาชีพนี้เข้าไม่ถึงระบบธุรกรรมการเงินเหมือนอาชีพอื่นๆ
ชัชลาวัลย์ เมืองจันทร์ เผยว่า sex worker จะมีรายได้เป็นรายวันหรือรายครั้ง มีทั้งได้รับเป็นเงินสดและรับผ่านช่องทางออนไลน์ หากเป็นการทำงานในร้าน เช่น อาบอบนวด ก็จะได้ค่าตอบแทนเป็นรายครั้งเหมือนพาร์ทไทม์ ซึ่งบางร้านอาจมีประกันสังคมให้ แต่ร้านส่วนใหญ่ไม่มีสวัสดิการอะไรรองรับทั้งสิ้น จึงทำให้อาชีพนี้ไม่มีตัวตนในสายตาของธนาคาร เพราะไม่มีสลิปเงินเดือนเพื่อไปยื่นทำธุรกรรมเงินกู้ใดๆ ยิ่งในภาวะวิกฤติโควิด-19 ยิ่งทำให้รายได้ลดลงและเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงมากยิ่งขึ้น
“คนทำงานอาบอบนวดถูกร้านลดราคาค่ารอบลง สมมุติเมื่อก่อนได้ค่ารอบ 800-1,500 เขาก็จะลดค่ารอบโดยไม่ได้ลดในส่วนของทางร้าน แต่มาลดในส่วนของคนทำงาน งานก็น้อยอยู่แล้ว ค่าตอบแทนก็มาลดลงอีก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เพราะโควิดมันนาน เงินเก็บก็หมดแล้ว ก็ต้องทำใจ ต้องหาช่องทางอื่นเพิ่ม เช่น งานออนไลน์ นวดออนไลน์ หรือโฆษณาผ่านช่องทางเฉพาะอย่างในเฟซบุ๊ค
“ส่วนใหญ่ผู้หญิงเราไม่มี statement ไม่มีเครดิตทางธนาคารเลย เพราะไม่มีตัวตนในระบบ ไม่มีสลิปเงินเดือน เรื่องที่ว่าจะไปยื่นภาษีเงินได้หรือจะไปกู้เงินธนาคารแทบไม่ต้องพูดถึงเลย คืออยู่นอกระบบล้วนๆ”
ชัชลาวัลย์อธิบายว่า วิธีที่จะทำให้พวกเธอเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินได้มี 2 ทาง คือ การทำให้ตัวเองมีตัวตนทางการเงินด้วยการแปะป้ายอาชีพอื่น หรือการใช้ชื่อคนอื่นที่มีตัวตนทางการเงินมาดำเนินการแทน
“บางคนก็จะเมคขึ้นมาว่าฉันเปิดร้านเสริมสวยร้านนั้นร้านนี้กับเพื่อน อันนี้คือการทำให้ตัวเองมีตัวตนทางการเงินด้วยการไปสมอ้างอาชีพอื่น เพราะถ้าไปแจ้งว่าเราทำงานกลางคืน ธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ เขาจะมองว่างานไม่มั่นคง หรือถ้าจะซื้อบ้านซื้อรถก็ต้องใช้ชื่อคนอื่น ชื่อแฟน อะไรแบบนี้”
เพราะเข้าไม่ถึงการเงินในระบบ sex worker จึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมาย ทั้งเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยสูง และการถูกโกงจากการต้องใช้ชื่อคนอื่นเพื่อให้ตนเองเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ
“หนี้นอกระบบมันก็ต้องแล้วแต่เจ้าอีกนะ ความโหดไม่เท่ากัน ดอกเบี้ยก็โหดไม่เท่ากัน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ร้อยละ 20 แล้วต้องทยอยจ่ายทุกวัน ถ้าวันนี้ขาดส่ง ดอกเบี้ยอีกวันก็มาเลย ที่เขาเรียกกันว่าแก๊งหมวกกันน็อคก็จะมาตามตลอด
“จริงๆ แล้วก่อนจะไปกู้เงินนอกระบบ เราจะหาวิธีเปลี่ยนทรัพย์สินเป็นเงินก่อน เช่น มีทอง มีมอเตอร์ไซค์ ก็ต้องเอาไปจำนำ คือต้องหาเงินมาหมุนในช่วงที่ลำบาก ปล่อยให้รถปลิวไปก่อน แล้วทองก็ต้องจำ พอของหมดเราถึงจะไปกู้หนี้นอกระบบ
“สิ่งที่พวกเราเข้าไม่ถึงคือ เครดิตซื้อบ้าน กู้รถ เพราะถ้าเราไปซื้อผ่านเต็นท์ เราจะโดนดอกเบี้ยโหดกว่า ส่วนความเสี่ยงเรื่องบ้านก็คือ พอเราไม่มีเครดิต เราต้องไปยืมชื่อคนอื่น ก็อาจจะถูกโกงได้ เพราะไม่ใช่ชื่อเรา แล้วเขาอาจเอาบ้านไปจำนอง อีกอย่างเราต้องจ่ายค่าจ้างที่ยืมชื่อ เหมือนเราต้องเสียสองต่อ แทนที่เราจะเข้าถึงได้เอง”
โดยส่วนใหญ่แล้วหนี้ของ sex worker คือภาระทางบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลูกเปิดเทอมหรือส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่ รองลงมาคือค่าเช่าบ้านและค่าผ่อนรถ ถึงแม้ในช่วงโควิดจะได้รับเงินเยียวยาบ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าถึงได้ทุกคน
“มันมีคนเข้าไม่ถึงสมาร์ทโฟน กรอกข้อมูลผิดพลาด บางทีคนในร้านอาบอบนวดต้องมาช่วยกันนั่งกรอก บางคนไม่กล้าลงชื่อร้านก็เขียนไปว่านวดอิสระ บางคนอยู่ร้านอะโกโก้ เขาก็ลงว่าเป็นเด็กเสิร์ฟ เป็นพีอาร์ เพราะมันไม่มีช่องให้ใส่ว่าเป็นนักเต้น
“พอมารอบสอง เราไม่ทิ้งกัน เรารักกัน ทุกคนก็พยายามเข้าให้ถึงสิทธิ แต่ก็ยังติดปัญหาว่าบางคนไม่เก่งเรื่องสมาร์ทโฟน บางคนทำงานบาร์อายุเยอะแล้วก็ต้องพึ่งคนอื่นให้ช่วย แล้วคนที่ไม่ได้เป็นคนไทย เช่น แรงงานต่างชาติ อันนี้โคตรของโคตรลำบาก เข้าไม่ถึงสิทธิอะไรสักอย่าง เป็นอุปสรรคที่เราต้องช่วยกันเอง”
สิ่งที่ทำให้ sex worker เข้าไม่ถึงระบบการเงินเป็นปัญหาสืบเนื่องจากกฎหมายที่ไม่รับรองอาชีพนี้ ทั้งที่สถานบริการต่างๆ สามารถเปิดได้อย่างถูกกฎหมาย จึงเหมือนกับการปิดตาข้างเดียวที่ทำให้คนทำงานต้องเผชิญกับความเสี่ยงตามลำพัง ทั้งที่พวกเธอก็ต้องการความมั่นคงในชีวิตไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ ทั้งบ้าน รถ และความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว
“ถ้าเราเข้าถึงการเงินได้ ก็เหมือนกับเรามีความมั่นคง มีบ้านเองได้ ไม่ต้องไปเช่าเขาอยู่ ครอบครัวก็จะได้มีชีวิตดีขึ้น พอเรามีความมั่นคง วางแผนชีวิตได้ ก็จะทำให้เราขยับขยายอาชีพการงานได้”
ชัชลาวัลย์เชื่อเหลือเกินว่า หากวันหนึ่ง sex worker สามารถเข้าถึงระบบการเงินได้เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ทุกคนก็ยินดีที่จะเป็นลูกค้าธนาคาร และพร้อมจะจับจ่ายในระดับที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เลยทีเดียว
“บางคนเขามีเงินเก็บเป็นก้อนเลยนะ ด้วยความที่เขาผ่อนไม่ได้ เขาเลยต้องเก็บเงินก้อนเพื่อซื้อเป็นเงินสด ถ้าเกิดวันหนึ่งคุณให้เครดิตเรานะ เรามั่นอกมั่นใจมากเลยว่าพวกเราจะพากันขนเงินมาซื้อเลย เพราะทุกคนก็อยากมีความมั่นคง และน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย”
ท้ายที่สุดชัชลาวัลย์คิดว่า คงต้องพยายามปรับทัศนคติของธนาคารให้ได้เสียก่อนว่าคนอาชีพนี้ก็มีเครดิตดี เธอหัวเราะเล็กน้อยให้กับความย้อนแย้งของระบบ และทิ้งท้ายว่าเธอเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีกลไกแบบใดบ้างที่เปลี่ยนระบบนี้ได้
Fair Finance Thailand
April 12 at 7:55 AM ·
• เด็กเจ็บใหม่ อนาคตที่มาพร้อมกับหนี้
อาร์ม - ธนาวุฒิ ยะหม่อม
อายุ 22 ปี
ฟรีแลนซ์
“ในใจก็อยากจะสมัครงานประจำ แต่ว่าเราอยู่เชียงราย สายงานที่เราเรียนมามันหางานยาก เลยทำงานฟรีแลนซ์ไปก่อน”
อาร์ม บัณฑิตหมาดๆ จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เล่าถึงชีวิตของการหางานประจำในยุคสมัยนี้ที่นอกจากจะต้องไปแย่งชิงพื้นที่ในตลาดแรงงานกับเพื่อนที่จบใหม่กว่า 200,000 คน วิกฤติโควิด-19 ยังทำให้หลายธุรกิจปิดตัวลง คนตกงานและบัณฑิตจบใหม่เลยกองรวมกันมหาศาล
นอกจากอาร์มจะต้องหาเงินเลี้ยงชีพแล้ว เขายังต้องแบกรับภาระจากการเป็นลูกหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่เขากู้ยืมมาตั้งแต่มัธยม
“เรากู้ตั้งแต่ ม.6 แต่หยุดชะงักไปตอนปี 1 เพราะเหตุผลว่าสาขาที่เราเรียนมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ เราก็เลยไม่ได้กู้ แล้วมายื่นเรื่องกู้อีกทีตอนปี 2-4 ตอนนี้ยอดรวมหนี้ทั้งหมดประมาณ 210,000 บาท เราก็พยายามทยอยจ่าย”
แม้หนี้ กยศ. จะให้ระยะเวลาชำระหนี้กว่า 15 ปี และในระยะ 2 ปีแรก เป็นระยะปลอดหนี้ โดยไม่มีการเก็บดอกเบี้ยแต่อย่างใด แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เด็กจบใหม่กว่า 200,000 คนตกงาน รวมถึงเด็กจบใหม่สะสมจากปีที่แล้วที่ยังไม่ได้งาน อาร์มจึงหนักใจในการหางาน เพราะคำนวณแล้วอาจต้องเสียเวลารองานไม่ต่ำกว่า 2 ปีแน่ๆ
“ส่วนตัวก็อยากจะใช้หนี้ 200,000 กว่าบาท ให้หมดภายใน 2 ปี เพราะอยู่ในช่วงระยะปลอดหนี้ ถ้าเขาเก็บดอกเบี้ยเมื่อไหร่ หนี้มันจะทวีคูณขึ้นไป กลายเป็นเราต้องจ่ายแค่ดอก แต่เงินต้นไม่ได้ลดลงเลย”
เงื่อนไขการชำระหนี้ของ กยศ. อาร์มเล่าว่า หลังจากพ้นระยะปลอดหนี้แล้ว ดอกเบี้ยที่ กยศ. จะเริ่มต้นเก็บคือ 0.5 เปอร์เซ็นต์ และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ปีละ 0.5 เปอร์เซ็นต์ จนครบกำหนด 15 ปี ซึ่งตอนนั้นดอกเบี้ยทั้งหมดจะเป็น 7.5 เปอร์เซ็นต์
“ในปีท้ายๆ เวลาดอกเบี้ยมันทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ มันโหดมากๆ ยิ่งดอกเบี้ยขึ้นสูง เรายิ่งไม่สามารถตัดเงินต้นได้เลย ในปีหนึ่งๆ เราจะจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย ถ้าไม่ได้ถูกหวยรางวัลที่ 1 ก็คงไม่มีวันใช้หนี้คืนได้หมด”
ถึงแม้ กยศ. จะมีระยะปลอดหนี้สำหรับเด็กจบใหม่ทุกคน แต่อาร์มมองว่า ระยะปลอดหนี้เพียงแค่ 2 ปีนั้น ไม่แฟร์สำหรับเด็กจบใหม่ในปัจจุบัน
“เรารู้สึกว่าระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี มันไม่พอ เพราะงานสมัยนี้มันหายาก แล้วอีกประเด็นคือ เด็กที่จบไปก่อนหน้าเราหลายคนก็ยังไม่มีงานทำ แล้วทุกคนก็มารุมหางานกัน แย่งงานกัน
“ยิ่งถ้าเป็นผู้ชายก็ต้องไปเกณฑ์ทหาร บางบริษัทก็ไม่รับคนที่ยังไม่เกณฑ์ทหาร ส่วนใครได้เป็นทหารก็ต้องไปอยู่ในค่ายทหารอาจจะ 6 เดือน ปี 1 ปี หรือ 2 ปี แล้วมันไม่มีเวลาหาเงิน เงินเดือนทหารก็ไม่ได้มากมายขนาดนั้น”
นอกจากหนี้ กยศ. ที่อาร์มต้องแบกรับแล้ว ครอบครัวของอาร์มยังมีหนี้กู้ยืมของเกษตรกรเพื่อนำมาประกอบอาชีพและส่งตัวเขาเรียนหนังสือ อาร์มจึงต้องหาทางช่วยพ่อแม่แบ่งเบาค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้าน
ในขณะที่โลกกำลังหมุนไป เมื่ออาร์มเรียนจบจึงตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านที่เชียงราย เพื่อหวังจะลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และรับงานตัดต่อวิดีโอจากเพื่อนๆ และรุ่นน้องบ้าง รวมถึงพยายามสมัครงานในสายงานที่อาจไม่ได้ตรงกับที่เรียนมาไปก่อน เพื่อที่จะหาเงินมาใช้หนี้ กยศ. กว่า 200,000 บาท ให้ได้มากที่สุด
สิ่งหนึ่งที่อาร์มฝากบอกคือ หากเป็นไปได้อาร์มอยากให้รัฐบาลหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายการเงิน ให้ช่วยขยายระยะเวลาปลอดหนี้ออกไปก่อน หรือลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น อาร์มจะได้รีบหางานประจำที่มั่นคงทำ เพื่อจะนำรายได้ใช้หนี้ต่อไป
Fair Finance Thailand
April 12 at 7:55 AM ·
• ‘ไม่มี ต้องหนี ไม่จ่าย’ ชะตาแรงงานข้ามชาติที่รัฐแสร้งมองไม่เห็น
สมพงค์ สระแก้ว
ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
“การเข้ามาทำงานในประเทศไทย 1-3 ปีแรก คือการทำงานใช้หนี้ ล่วงเข้าปีที่ 4 จึงจะเริ่มพออยู่พอกิน ถึงปีที่ 5 โน่นแหละ ถึงจะเริ่มมีเงินเหลือเก็บ…”
สมพงค์ สระแก้ว เล่าถึงสภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติโดยส่วนใหญ่ที่เพียงแค่เริ่มคิดฝันว่าอยากหางานหาเงินจุนเจือครอบครัวผ่านการทำงานในประเทศไทย นั่นก็หมายความว่า พวกเขาต้องเป็นหนี้ก้อนโตตั้งแต่แรกเริ่มเสียแล้ว
คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงแต่อย่างใด เมื่อสมพงค์คลี่ให้เห็นเส้นทางหนี้ก้อนแรกของแรงงานข้ามชาติ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายอุโมงค์
“ตั้งแต่ค่าทำพาสปอร์ต ค่านายหน้า ค่าตรวจโควิด ซึ่งราคาแพงมาก 2,000-3,000 บาท ค่าตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพราวๆ 8,000 กว่าบาท ถ้าผ่านโบรกเกอร์อีกก็ประมาณหมื่นกว่าบาท
“เรียกได้ว่าแรงงานต้องเสียเงินทุกครั้งที่มีการติดต่อกับราชการ มีแรงงานคนหนึ่งบอกเราว่า กว่าจะมาถึงประเทศไทยแล้วได้ทำงาน ไม่รู้ว่าโปรยเงินไปกี่ครั้ง บางคนเสียเงินไม่ต่ำกว่า 3-5 หมื่นบาท”
ในยามที่สถานการณ์ปกติ ชีวิตแรงงานข้ามชาติล้วนต้องกระเบียดกระเสียรทั้งหนี้จากการหยิบยืม รวมถึงรายจ่ายที่พวกเขาเรียกว่า ‘โปรยเงิน’ ไปกับกระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานที่มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน แล้วไหนจะค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพด้วยค่าแรงรายวันหรือรายเดือน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้เป็นไปตามค่าแรงขั้นต่ำอย่างที่กฎหมายกำหนด
ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 อาจเรียกได้ว่าผีซ้ำด้ำพลอย โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติในภาคบริการที่กิจการถูกปิดลงในช่วงการระบาด
“กลุ่มผู้ใช้แรงงานระดับล่างถูกจ้างด้วยเงื่อนไขรายวัน พอเจอโควิด พวกเขาต้องหยุดงาน จากแต่ละเดือนที่เคยทำงาน 20 กว่าวัน อาจเหลือแค่ 10-15 วัน บางคนก็ทำงานวันเว้นวัน แน่นอนว่าชีวิตความเป็นอยู่ลำบากแน่นอน”
แรงงานข้ามชาตินับเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม พวกเขาต้องกันเงินเดือน 5 เปอร์เซ็นต์ ส่งเข้าสมทบกองทุนประสังคมทุกเดือน ไม่ต่างจากแรงงานไทย แต่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา การเข้าถึงสิทธิว่างงานของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติกลับมีความยุ่งยากกว่าแรงงานไทย ทั้งที่เป็นสิทธิที่ผู้ประกันตนทุกคนพึงได้รับ
“รัฐบอกว่าแรงงานในระบบประกันสังคมจะได้รับการเยียวยา แต่เอาเข้าจริง เขาแทบไม่ได้รับอะไร เพราะเงื่อนไขการลงทะเบียนต้องให้นายจ้างลงให้ ซึ่งเป็นการลงทะเบียนออนไลน์ แรงงานไม่สามารถลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเองได้ ผู้ประกอบการบางคนก็ไม่รู้ว่าต้องลงทะเบียนยังไง ลงที่ไหน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเลยนะ”
จากสถิติเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ระบุว่า ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติทั้งคนสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักร 2,531,309 คน และจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมเมื่อเดือนเมษายน 2562 มีผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ 1,126,952 คน
“พอเกิดการระบาดระลอกสอง กระทรวงแรงงานก็ประกาศว่าจะเยียวยาให้แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่เป็นคนไทยเท่านั้น อ้าว…นี่คือการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติซึ่งมีตัวเลขอยู่ในระบบประกันสังคมล้านกว่าคน โดยรัฐอ้างว่าใช้เงินจากกองคลัง ไม่ใช่เงินจากกองทุนประกันสังคม”
ในทัศนะของสมพงค์ เขามองว่า รัฐทำราวกับแรงงานข้ามชาติไม่มีตัวตนอยู่จริง ด้วยการสร้างเงื่อนไขมากมายที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาและแหล่งเงินในภาวะวิกฤติได้
“แทนที่จะทำให้มันง่าย เขาก็ไม่ทำ ทั้งที่รัฐก็รู้อยู่แล้วว่าใครอยู่ในระบบประกันสังคมบ้าง เหมือนรัฐสร้างเงื่อนไขที่ซับซ้อนให้แรงงานเข้าถึงยาก เหมือนกับการจดทะเบียนแรงงานที่ต้องมีนู่นนี่มากมาย เปิดช่องให้นายหน้าหากิน ทั้งที่จริงๆ ก็สามารถทำระบบให้เข้าถึงได้ไม่ยาก”
เมื่อถามว่า สถาบันทางการเงินของไทยเปิดช่องทางให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงแหล่งเงินอย่างไรบ้าง สมพงค์บอกว่า “เลิกคิดไปได้เลย เขาทำได้แค่เปิดบัญชีธนาคารได้เท่านั้น แต่การไปขอสินเชื่อ ไปกู้ยืม เขาทำไม่ได้ ไม่มีช่องทางอะไรให้เขาเลย”
เมื่อเงื่อนไขชีวิตแทบจะถูกปิดตาย ทางเลือกที่เหลือจึงจำเป็นต้องหันไปพึ่งพา ‘หนี้นอกระบบ’ ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10-25 ต่อเดือน หรือการพึ่งพาร้านขายของชำด้วยการ ‘เซ็น’ แลกกับการยึดพาสปอร์ตและบัตร ATM จนกว่าจะมีเงินมาชำระคืน
แน่นอนว่าเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น พวกเขาจึงต้องจำยอมโดยปริยาย
หากมองบทเรียนจากโควิด-19 รัฐไทยก็ประหนึ่งนักเรียนหัวช้า กระทั่งมาถึงระลอกล่าสุด แรงงานที่คล้ายจะเริ่มลืมตาอ้าปากได้ ฝันนั้นก็กลับทลายลง สถานการณ์เช่นนี้สมพงค์เสนอว่า ระดับนโยบายของรัฐและสถาบันการเงิน ควรหันกลับมามองแรงงานข้ามชาติบ้าง เพื่อให้พวกเขาผ่านพ้นความลำเค็ญไปด้วยกัน
หนึ่ง - สร้างมาตรฐานและกำกับดูแลค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
สอง - เมื่อแรงงานข้ามชาติสามารถทำธุรกรรมผ่านทางธนาคารได้ ก็ควรเปิดช่องทางให้พวกเขาสามารถกู้เงินได้
สาม - ผู้ประกอบการควรมีกองทุนฉุกเฉินสำหรับแรงงาน ไม่ว่าจะในนามสภาอุตสาหกรรม หรือสภาหอการค้าไทย
สี่ - แรงงานข้ามชาติมักไม่มีช่องทางในการประกอบอาชีพอื่นนอกจากขายแรงงาน แม้จะมีความเชี่ยวชาญอื่นๆ ก็ตาม ดังนั้นรัฐควรเปิดช่องให้พวกเขาได้พัฒนานวัตกรรมหรือเข้าถึงการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้
“ปัญหาเร่งด่วนตอนนี้อาจไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการสร้างอาชีพให้ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ให้พวกเขามีรายได้ มีกำลังในการจ่ายหนี้ ที่สำคัญรัฐต้องลดมายาคติในการมองแรงงานข้ามชาติ อย่ามองว่าพวกเขามาแย่งงานคนไทย แต่พวกเขาเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาเศรษฐกิจไทย” สมพงค์ทิ้งท้าย
Fair Finance Thailand
April 12 at 7:55 AM ·
• เกษตรกรคือกระดูกสันหลังของประเทศ แต่ทำไมถูกรัฐไทยทิ้งไว้ข้างหลัง
จักรินทร์ สมแพง
อายุ 44 ปี
ตัวแทนจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร
ย้อนไปประมาณ 4-5 ปีก่อน จุดเริ่มต้นที่ทำให้ เจน-จักรินทร์ สมแพง ตัดสินใจเปิดร้านขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคือ ต้องการเดินตามความฝันของตัวเอง
หากนับเวลาจากจุดเริ่มต้น จักรินทร์ได้ทำตามเป้าหมายของตัวเองสมใจ ทว่าตลอดทางเดินสำหรับผู้ประกอบการอย่างเขาไม่ได้ง่ายหรือสวยงามเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ
ท้ายที่สุดความฝันที่เขาเคยวาดไว้ กลับพาเขามาอยู่ในจุดตกต่ำ ชีวิตติดลบ เขากลายเป็นคนที่มีหนี้สะสมจากการกู้ยืมมากถึงหลักล้าน...
ร้านขายสินค้าเกษตรของจักรินทร์ ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ลูกค้าประจำส่วนใหญ่คือ ชาวบ้านและเกษตกรละแวกนั้น บางคนปลูกผักคะน้า ทำสวนผักกาด ปลูกกวางตุ้ง หรือผักสวนครัว ก็สามารถหาซื้อสินค้าในร้านของเขาได้
โคราชเป็นจังหวัดหัวเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก และมีกำลังจับจ่ายใช้สอย นำมาสู่การมีพื้นที่ตลาดรองรับสินค้าทางการเกษตรจำนวนที่มากขึ้น ส่งผลให้มวลรวมของธุรกิจเกษตรครึกครื้น ทำให้กลุ่มอาชีพอย่างเขาอยู่ได้
ดูเหมือนเรื่องราวจะดำเนินไปด้วยดีที่ชีวิตชายคนหนึ่งได้ทำตามความฝันของตนเอง แต่เมื่อช่วงเวลาที่ผ่านมา ในยามที่โลกเจอวิกฤติ ความโหดร้ายของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าเล่นงานกลุ่มคนแทบทุกประเภท ทุกอาชีพ ทุกชนชั้นอย่างไม่เลือกหน้า
ชีวิตของจักรินทร์เปลี่ยนไปโดยชิ้นเชิง จากที่เคยค้าขายคล่อง กลับขายไม่ได้ รายรับที่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอกลับหยุดนิ่ง สวนทางกับภาระและค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกไว้บนบ่า
“เป็นธรรมดาที่สินค้าเกษตรจะขายดีเป็นช่วงๆ ตามฤดูกาลที่ชาวบ้านเขาปลูกพืชผัก หน้าหนาวจะขายไม่ค่อยได้ แต่จะกลับมาขายดีอีกครั้งในช่วงกุมภาพันธ์-สิงหาคม แต่ปีที่แล้วผมขายไม่ได้เลย โควิด-19 มันหนักสำหรับผมจริงๆ”
อันที่จริงโควิด-19 ไม่ได้มีผลโดยตรงกับเกษตรกร จักรินทร์บอกว่าชาวบ้านก็ยังออกไปทำไร่ทำนาได้ตามปกติ แต่จุดที่ทำให้มีปัญหาคือ เมื่อคนในเมืองไม่สามารถเดินทางออกมาจับจ่ายใช้สอย ตลาดที่รองรับพืชผักต่างๆ จึงซบเซา
“เมื่อประชาชนไม่บริโภค พ่อค้าคนกลางก็หยุดซื้อผักจากเกษตรกร เกษตรกรจึงไม่มีรายได้ พอเกษตรกรไม่มีรายได้ ไม่ปลูกแล้ว ก็กระทบกับธุรกิจเรา เพราะไม่รู้จะขายผลิตภัณฑ์ให้ใคร มันมีปัญหาเป็นทอดๆ”
ภาวะพลิกผันและการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะข้ามผ่าน
ช่วงที่ขายของไม่ได้ รายได้ลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับยังคงเท่าเดิม จักรินทร์บอกว่าแต่ละเดือนเขามี fixed cost ที่ต้องจ่ายเฉลี่ย 70,000-80,000 บาท ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่างวดรถ ค่าแรงงานต่างๆ
“รายรับที่เคยเข้ามาเป็นแสนๆ จนปีที่แล้วขายแทบไม่ได้ ถ้ามองเป็นกำไรต่อเดือน เฉลี่ยแล้วได้กำไรประมาณ 10,000 บาท บางเดือนที่เลวร้ายคือไม่มีกำไร แถมค่าใช้จ่ายติดลบด้วย”
ท่ามกลางวิกฤติ เขาไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามอย่างสุดตัวที่จะพาชีวิตและครอบครัวให้รอดพ้นจากสถานการณ์นี้
“ผมก็พยายามหาช่องทางและดิ้นรนเอาตัวรอดนะ หันไปขายปุ๋ยในช่องทางออนไลน์ ในเฟซบุ๊ค ลาซาด้า หรือช่องทางออนไลน์อื่นๆ ก็พอขายได้บ้าง แต่อย่าถามถึงความคุ้มค่า มันไม่คุ้มหรอก แค่พอจะให้เรามีอะไรทำไปวันๆ ไม่งั้นเราก็คงบั่นทอนชีวิตไปเรื่อยๆ”
หากใครบอกว่าชีวิตที่มีความสุข คือชีวิตที่เรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากมาย จักรินทร์เถียงขาดใจ
“ช่วงที่การเงินสะดุด เราก็เครียดนะ แต่ไม่รู้จะทำยังไง พยายามคิดบวก กินข้าวให้อิ่ม นอนให้อิ่ม พรุ่งนี้เช้าก็ทำงานต่อ มันคิดได้เท่านี้แหละ (หัวเราะ)”
ตลอดชีวิตการทำงาน จักรินทร์คือเสาหลักของครอบครัว เขาต้องดูแลพ่อแม่ ภรรยา และลูก 3 คน ซึ่งอยู่ในวัยเรียนและต้องกินต้องใช้ คนโตเรียนชั้น ม.2 คนกลางอนุบาล 2 ส่วนคนเล็กเพิ่งอายุ 2 ขวบ
เมื่อเสาหลักของบ้านเริ่มสั่นไหว วิกฤติโรคระบาดพาชีวิตเขาติดลบจากการกู้ยืมสถาบันการเงินต่างๆ
“ช่วงที่ขายของไม่ได้เลย ผมต้องเอารถยนต์ไปรีไฟแนนซ์ ไปกู้ ธ.ก.ส. 200,000-300,000 ติดหนี้กับทางบริษัทที่เราสั่งสินค้า แต่ขายสินค้าไม่ได้อีก นับไปนับมาก็ติดลบเป็นล้าน” เขาบอกด้วยน้ำเสียงปนเศร้า
ถามถึงความช่วยเหลือที่ได้รับ จักรินทร์ได้รับเงินจากนโยบายเยียวยาเกษตรกร 15,000 บาท กับได้ใช้สิทธิคนละครึ่ง ซึ่งจะมองว่าความช่วยเหลือครั้งนี้ช่างน้อยนิดก็ว่าได้ แต่ในจังหวะคับขัน เงินก้อนเล็กๆ ตรงนี้ก็พอช่วยประทังชีวิตได้
เมื่อถอยออกมามองความเจ็บปวดครั้งนี้ จักรินทร์บอกว่าไม่ใช่เพียงชีวิตเขาที่ต้องมีชะตากรรมที่แสนลำบาก ชีวิตของชาวบ้านและเกษตรกรโดยทั่วไปก็ไม่ได้ต่างจากสิ่งที่เขาเจอสักเท่าไร
“ชีวิตของเกษตรกรไทยต้องแบกภาระหนี้สินเยอะมาก ถ้ากวาดสายตาดู 100 คน ผมเชื่อว่าเกิน 60 คน ต้องเป็นหนี้”
จะเป็นไปได้ไหมหากหน่วยงานรัฐหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะมองเห็นชีวิตของคนในแวดวงเกษตรกรรม เพื่อนำไปสู่นโยบายและการแก้ไขเยียวยาที่ทั่วถึง
“ผมมองว่ามาตรการคนละครึ่งหรือบัตรคนจน มันไม่ได้เกิดประโยชน์ในระยะยาว ลองคิดกลับกัน ถ้านำเงินส่วนนี้ไปทำมาตรการพยุงราคาผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวเปลือก อ้อย หรือผลไม้ต่างๆ น่าจะสร้างแรงจูงใจและรับประกันว่าเกษตรกรจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้”
ความโชคดีอย่างหนึ่งในวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ จักรินทร์ได้รับการผ่อนผันด้วยการชะลอการชำระหนี้ตามมาตรการช่วยเหลือจากธนาคาร นี่คือเครื่องช่วยหายใจในวันที่ชีวิตโคม่า ทว่าชีวิตของเกษตรกรอีกหลายคนอาจไม่ได้รับโอกาสเช่นเดียวกับเขา
“อยากให้รัฐให้ความสำคัญกับอาชีพในแวดวงเกษตกรดีขึ้นกว่านี้ ประเทศไทยมีทรัพยากรที่ดีมากๆ ทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม หรือผลผลิตอื่นๆ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรเลย พอหน้าแล้ง ทุกคนก็บอกว่าแล้ง พอหน้าฝนทุกคนก็เจอปัญหาน้ำท่วม สิ่งนี้สะท้อนว่าระบบจัดการห่วย”
Fair Finance Thailand
April 12 at 7:55 AM ·
•หนี้ซ้ำ หนี้ซ้อน ของแม่บ้านออนไลน์
ฟ้า (นามสมมติ)
อายุ 35 ปี
อาชีพ แม่บ้านออนไลน์
เมื่อปัญหาหนี้สินหรือหนี้ครัวเรือน เป็นเหมือนเงาตามตัวที่ไม่อาจหนีพ้น และไม่อาจยกออกจากอกคนหาเช้ากินค่ำได้ หนำซ้ำการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งตอกย้ำให้คนที่เป็นหนี้ต้องปากกัดตีนถีบเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
“พี่รู้ว่าหนี้มันเยอะ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า ฉันเองก็ยังไม่มีจ่าย จะเยอะก็เยอะไป” (หัวเราะแบบจำใจ)
เสียงจาก ฟ้า (นามสมมุติ) แม่บ้านรับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่น วัย 35 ปี กล่าวถึงหนี้สินและดอกเบี้ยที่พอกพูนจนเธอไม่อาจรับไหว
จากเงินเดือน 30,000 บาท ด้วยอาชีพรับจ้างเป็นแม่บ้านผ่านแอพพลิเคชั่น ต้องพลิกผันเมื่อสถานการณ์โควิด-19 หั่นรายได้ของเธอจนหดหายเหลือเพียงเดือนละไม่ถึง 18,000 บาท
“หนึ่งอาทิตย์ในช่วงโควิดรอบแรก พี่ได้ทำงานแค่ 2-3 วัน รายได้ตอนนั้นลดฮวบเลยแหละ บางวันได้แค่ 400-500 บาทต่อ 4 ชั่วโมง ในหนึ่งวันได้ 600 บาท คือเยอะสุดแล้ว ยังไม่นับวันที่พี่ไม่มีงานอีกนะ ช่วงโควิดถ้ามีงานแม่บ้านเข้ามา งานก็ไปไวมาก เพราะทุกคนรองานกันหมด ไกลขนาดไหนก็จะไป เพราะว่ามันไม่มีงานทำ
“บางทีลูกค้าที่จ้างให้เราไปทำความสะอาด เขาก็ระแวงเรา ไม่รู้มาจากไหน ไปไหนมาหรือเปล่า แต่เราก็เข้าใจลูกค้าว่าเขาก็กลัว ทีนี้พอมีโควิดรอบสองอีก...โอ๊ย แล้วรอบสองนี่ยังไม่ถึงกับระบาดแบบวงกว้างเลยนะ แค่พบผู้ติดเชื้อ ลูกค้าก็ยกเลิกงานทันทีเลย”
เมื่อรายรับลดลงอย่างน่าใจหาย ทำให้ฟ้าต้องหารายได้หลายทาง และทำงานหนักเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่า
งานที่สองของฟ้าคือ ‘ดูแลผู้สูงอายุ’ และกลายมาเป็นอาชีพหลักแทนการเป็นแม่บ้านผ่านแอพพลิเคชั่นที่ตอนนี้กลายเป็นอาชีพเสริมไปแล้ว
“ถามว่ามันช่วยได้เยอะไหม ก็ช่วยให้มีรายได้ที่แน่นอนว่าสิ้นเดือนพี่ต้องได้ 18,000 บาท”
แม้งานดูแลผู้สูงอายุจะสร้างรายได้แน่นอน แต่ก็เป็นงานที่ทำเฉพาะช่วงเย็นเท่านั้น ส่วนช่วงเช้า-กลางวัน บวกกับสถานการณ์โรคระบาดที่เบาบางลง เธอจึงเริ่มรับงานแม่บ้านเพิ่มด้วย ทำให้มีรายได้ต่อสัปดาห์อีกราว 3,000 บาท
แม้รายได้จะเริ่มกลับมาเท่าเดิม ทว่าผู้ที่มีครอบครัว บุตร หรือภาระมากมายรออยู่ข้างหลัง ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่ารายได้จำนวนนี้จะเพียงพอต่อการดูแลทุกชีวิต
“รายได้ไม่พอรายจ่ายค่ะ แฟนพี่ก็มาตกงานอีก บริษัทลดค่าใช้จ่าย เพราะเขาเป็นลูกจ้างแบบต่อสัญญา รายจ่ายเลยเพิ่มมากขึ้น พี่เองก็มีลูก 3 คนที่ต้องดูแล ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีหมุนเงิน เลยขอนายจ้างเป็นรายอาทิตย์ เพราะถ้ารอรับเงินตอนสิ้นเดือนพี่ก็ไม่ไหว รายได้มาจากพี่คนเดียว ต้องเลี้ยงทั้งหมด 5 ชีวิต”
การขอนายจ้างให้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละประมาณ 4,000 บาท เป็นหนึ่งในวิธีการจัดสรรปันส่วนรายได้ของเธอ แต่ก็ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะนอกเหนือจากค่าเทอมลูกแล้ว ยังมีทั้งค่างวดรถ ค่าบัตรเครดิต ค่าเช่าห้อง และอื่นๆ อีกมากมายที่เธอต้องรับผิดชอบ
“มันก็ต้องจ่าย ถึงจ่ายช้าแต่ก็จ่าย อย่างบัตรเครดิตก็จ่ายขั้นต่ำเอา ซึ่งตอนนี้ดอกเบี้ยมันบานตะไทแล้วเนี่ย” ฟ้าพูดถึงค่างวดรถและค่าบัตรเครดิตที่ยังพอกพูน
เมื่อเงินไม่ลงตัว ทำให้อีกหนึ่งทางออกของการแก้ปัญหาคือ การกู้นอกระบบ ฟ้าเล่าว่าเธอเคยลองกู้มาแล้วหลายธนาคาร แต่ไม่ผ่าน จึงตัดสินใจกู้หนี้นอกระบบแทน แม้จะคิดดอกเบี้ยมากถึงร้อยละ 10 ก็ต้องยอม เพราะค่าใช้จ่ายมารออยู่ตรงหน้า
จากหนี้สินและค่าใช้จ่ายที่รุมเร้า เธอมองว่ามาตรการที่รัฐเยียวยาในช่วงสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ ช่วยได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น
“มาตรการรัฐก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เราต้องกินต้องใช้อยู่ตลอดเวลา พี่เองก็ได้สิทธิคนละครึ่ง ถามว่าคนละครึ่งนี้ถ้าเราไม่เติมเงิน หรือไม่มีเงินเติมเข้าไป ก็ทำอะไรไม่ได้”
แต่ถึงอย่างนั้นเธอมองว่า มาตรการที่จะช่วยให้เธอหายใจหายคอสะดวกมากขึ้นจากภาระหนี้สิน ก็คือการพักชำระหนี้จากเหล่าสถาบันการเงินภาคเอกชนมากกว่า
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไฟแนนซ์ที่แม้จะอนุญาตให้จ่ายล่าช้าได้ แต่ก็ไม่สามารถจ่ายเกินวันที่ 5 ของเดือน หรือสถาบันการเงินภาคเอกชนที่ควรมีมาตรการพักชำระหนี้ตามมาตรการของรัฐ แต่กลับมีเพียงมาตรการการจ่ายขั้นต่ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็คิดดอกเบี้ยอยู่ดี
เธอจึงมองว่ามาตรการเช่นนี้ไม่ยุติธรรม ไม่แฟร์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ณ เวลานี้เลยแม้แต่น้อย