วันศุกร์, มีนาคม 19, 2564

ทำไม the establishment ไม่ยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐? ตอบสั้น ๆ คือ: เพราะภารกิจเปลี่ยนผ่านทางการเมืองการปกครองครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยยังไม่สำเร็จ แล้วภารกิจเปลี่ยนผ่านที่สำคัญคืออะไร?


Kasian Tejapira
11h ·

ทำไมระเบียบอำนาจสถาปนา (the establishment) ไม่อนุญาตไม่อาจปล่อยให้แก้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ได้?
%%%%%%
คำตอบสั้น ๆ คือ: เพราะภารกิจเปลี่ยนผ่านทางการเมืองการปกครองครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยยังไม่สำเร็จ
บิ๊กตู่@คสช.ซึ่งขึ้นมาแบกรับภารกิจดูแลการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์นี้อาศัยความนิ่งแช่แข็งของอำนาจบนฐานรธน. ๖๐ เป็นเงื่อนไขให้ผลักดันกำกับการเปลี่ยนผ่านนี้ไปในทิศทางที่ตัวเองมุ่งหวัง
ภารกิจเปลี่ยนผ่านนี้ที่สำคัญคืออะไร?
-ในสภาพปราศจากอำนาจนำดังที่เคยมีแต่ก่อน ภารกิจเปลี่ยนผ่านนี้คือการเปลี่ยนเอารัฐพันลึก (deep/parallel state) ขึ้นมาเป็นรัฐบนดินทางการอย่างถูกกฎหมายหรืออย่างน้อยถูกธรรมเนียมปฏิบัติปกติ เพราะมิอาจอาศัยความยินยอมพร้อมใจแบบพันลึกภายใต้อำนาจนำดังเดิมได้
แต่การดันรัฐพันลึกและความผิดเพี้ยนจากหลักนิติรัฐและหลักเสรีประชาธิปไตยทั้งปวงของรัฐดังกล่าวขึ้นมาบนดินอย่างเป็นทางการ (ขนาดต้องถ่ายทอดออกทีวี และทำเป็นเอกสารราชการ ฯลฯ) ก็ย่อมทำให้มันใหญ่โตเป็น "ช้าง" ในห้องโถง ตกเป็นเป้าสายตา ถูกมองเห็น ถูกจับตามอง และเกิดหลักฐานประจักษ์คาหนังคาเขามากขึ้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบมากขึ้น
-ผลพวงที่ไม่คาดหมายของการดันรัฐพันลึกให้เปลี่ยนผ่านเป็นรัฐบนดินก็คือพลังต่อต้านรัฐพันลึกที่มองเห็นได้กระพือฮือโหมหนักแผ่กว้างอย่างคิดไม่ถึงมาก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยรธน.ไม่น่ารัก ๖๐ ต่อไป เพราะภารกิจเปลี่ยนผ่านยังไม่เสร็จสิ้น
-ที่ตลกคือ ภารกิจนี้ (ดันรัฐพันลึกขึ้นมาบนดินให้เป็นรัฐทางการ) สร้างพลังต่อต้านขึ้นมาในตัวมันเองอย่างไม่สิ้นสุด ดังนั้นแนวโน้มก็คือการเปลี่ยนผ่านนี้จะขลุกขลัก ไม่สุดสิ้น ไม่มั่นคง ไม่ยุติอย่างถึงที่สุดได้ กลายเป็นการเปลี่ยนผ่านถาวร ที่ไม่มั่นคงตลอดไป ในท่ามกลางภาวะสถานการณ์โลก (โควิด-๑๙ เศรษฐกิจช็อกตกต่ำ) และภาวะสถานการณ์ภูมิภาค (กระแสลุกฮือต้านเผด็จการในพม่า ฮ่องกงและประเทศแถบนี้อื่น ๆ) ที่พลิกผันไม่นิ่งตลอดเวลา
https://www.bbc.com/thai/thailand-56441126?at_campaign=64...

(https://www.facebook.com/kasian.tejapira/posts/10225259938428398)
.....


Kasian Tejapira
12h ·

วิจารณ์ละครแก้รัฐธรรมนูญ
%%%%
อย่างหนึ่งที่ผมเคยเตือนนักศึกษารัฐศาสตร์ที่ผมสอนเสมอคือ ขอทีเถอะ เลิกเสียที ไอ้การเม้นการเมืองประเภทว่า:
"นักการเมืองขาดความจริงใจ", "หากรัฐบาลมีความจริงใจ...." อายเค้าว่ะ
คืองี้นะครับ
อย่ามองหา "ความจริงใจ" ในวงการเมือง เสียเวลาเปล่า วงการเมืองไม่ใช่ที่ทางของมัน ถ้าอยากหา ไปหาที่อื่น เช่น ในวัด, ในห้องเรียน, ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ ผลประโยชน์ การต่อรอง กดดันบังคับหรือเล่นเล่ห์เพทุบายให้อีกฝ่ายทำสิ่งที่ตัวเองอยากให้ทำแต่เขาเองยังไม่อยากทำ ไม่ต้องจริงใจหรอก แค่ทำอย่างที่กูอยากให้ทำก็พอแล้ว ส่วนจะแถม "ความจริงใจ" โดยการแสดงลิเก "ความจริงใจ" ออกมา เช่น บีบน้ำตา กล่าวภาษาซึ้งโลกสวย ก็โอเคนะครับ ทำไปเลย ไม่ว่ากัน แต่เวลาคุณ operate อย่าเริ่มมอง เริ่มคิด เริ่มหา "ความจริงใจ" ของตัวเอง คู่ต่อสู้หรือใครเป็นฐานคติ ไม่มีหรอกโรบิ้น เชื่อมานุดค้างคาวเถอะ
ดังนั้น ผมไม่แปลกใจหรอกนะครับที่การแก้ไขรธน.อีหรอบนี้ของสภาฯกลายเป็นลิเก โดยมีบางคนเป็นพระเอก (หน้าเก่า) กูว่าแล้วว่าจะลงเอยแบบนี้
สรุป (อีกที) นะครับ การเมืองไทยตึงเครียดขัดแย้งมาก เพราะตกอยู่ในสภาพอิหลักอิเหลื่อที่:
-การเมืองในระบบสถาบัน เป็นแบบปฏิกิริยา (ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง)
-การเมืองบนท้องถนน เป็นแบบปฏิรูป (เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป)
-ส่วนการเมืองวัฒนธรรม เป็นแบบปฏิวัติ (ปักธงทะลุเพดาน)
การเมืองในระบบสถาบันของไทยฝึกวิชา ตระเตรียมมาตรการและอุปกรณ์ทนม็อบชุมนุมยืดเยื้อ (เสื้อเหลือง, เสื้อแดง, นกหวีด หลายต่อหลายรอบ) มาสิบปี ดังนั้นต่อให้ยึดทำเนียบได้ ปลูกข้าว เลี้ยงอาหารอร่อยดี ดนตรีไพเราะเป็นครึ่งปี ก็ล้มรัฐบาลไม่ได้ ครม.ก็ไปประชุมในค่ายทหารก็ได้ สภาไปเปิดประชุมที่กระทรวงต่างประเทศก็ได้ ใครคิดว่าอาศัยวิธีการชุมนุมอย่างเดียวก็จะล้มรัฐบาลได้ แสดงว่าไม่ได้มองการเมืองไทยอย่างสมจริงในรอบสิบปีที่ผ่านมา
แต่การเมืองบนท้องถนนครึ่งปีหลังที่แล้วมีพลังมหาศาล ไม่ใช่เพราะมันมีโอกาสผลักดันการปฏิรูปให้สำเร็จ (๓ ข้อ ยุบสภา-นายกฯลาออก แก้ไขรธน. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์) ลำพังการเมืองบนท้องถนน ถ้าไม่ +ตุลาการภิวัตน์ และไม่ +ทหารภิวัตน์ ล้มรัฐบาลไม่ได้หรอกครับ และฝ่ายประชาชนเยาวชนแฟลชม็อบไม่มีทั้งตุลาการภิวัตน์และทหารภิวัตน์ในกระเป๋า
ทว่าการเมืองบนท้องถนนในครึ่งปีที่แล้ว กลายเป็น anti-state theatre คือโรงละครต่อต้านรัฐสาธารณะ ทางการเมืองวัฒนธรรม มันทำให้พูดได้ (รวมหมู่) ในสิ่งที่คนเดียวพูดไม่ได้ มันทำให้เขียนได้ (รวมหมู่) ในสิ่งที่คนเดียวเขียนไม่ได้ เพราะเงื่อนไขจำกัดทางกฎหมาย และทำให้ปักธงการเมืองวัฒนธรรมแบบทะลุเพดานได้สำเร็จ ("ปักธง" ในความหมายที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยพูดตอนเลือกตั้งปี ๖๒ นั่นแหละ) ความสำเร็จข้อนี้ไม่หาย ไม่ถูกลบล้าง เป็นนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองวัฒนธรรมที่น่าทึ่ง น่าอัศจรรย์และน่าศึกษาวิเคราะห์วิจัยทำความเข้าใจต่อไป
แต่การเมืองบนท้องถนนโดยลำพังไม่ใช่และไม่อาจเป็นวิธีบรรลุข้อเรียกร้องทางการเมืองเหล่านั้น มันมีข้อจำกัดเพราะรัฐไทยสั่งสมความจัดเจนและปรับตัวไปแล้วในรอบสิบปีที่ผ่านมาในการรับมือการเมืองบนท้องถนน
https://www.bbc.com/thai/thailand-56441126?at_campaign=64...
.....


THE STANDARD
7h ·

เสวนาที่หมู่บ้านทะลุฟ้า ประจักษ์-พวงทอง ชี้การต่อสู้เดินมาไกล แต่ยังต้องสู่ต่อ อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ
.
วันนี้ (18 มีนาคม) ที่กิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า มีการจัดเสวนา ‘ม็อบที่หลากหลาย ดังดอกไม้นานาพันธ์’ โดยมีผู้ร่วมเสวนาทั้งนักวิชาการ นักเรียน และสื่อมวลชน เช่น รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporter และตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว
.
ตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการจัดกิจกรรมและเคลื่อนไหวของตน ซึ่งมาจากกลุ่มมาจากนักเรียนเพียง 4 คน ทำกิจกรรมที่สยาม นำกรรไกรมาวางบนตัก เขียนป้ายว่านักเรียนคนนี้ทำผิดระเบียบโรงเรียน เชิญลงโทษ นั่นคือแคมเปญแรก ต่อมาคิดว่าอยากผลักดันประเด็นความหลากหลายทางเพศ พาเดินขบวนไปหน้ากระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่งได้จัดม็อบ ‘เลิกเรียนไปกระทรวงฯ’ ซึ่งตนเองก็ได้ร่วมปราศรัยอีกด้วย
.
ขณะที่ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของการทำงานในฐานะสื่อมวลชน ซึ่งยึดหลักสื่อเพื่อสันติภาพและให้พื้นที่ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายได้สื่อสาร ก้าวข้ามการแบ่งแยกหรือเลือกข้าง
.
“เรามองเห็นผู้คนที่หลากหลาย เรามองเห็นประเด็นข้อเรียกร้องที่มันเกิดขึ้น เรามีหน้าที่ในการที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับฟัง ได้รู้ได้ทราบว่าคนเหล่านี้ต้องการอะไร เพื่อรัฐจะได้เข้ามาแก้ไขปัญหาหรือเดินไปสู่ทางออกร่วมกัน นี่เป็นโมเดลง่ายๆ สำหรับพี่ในการทำสื่อ พี่ไม่ได้ทำงานซับซ้อนอะไร หรือต้องเชียร์ใครหรือสนับสนุนใคร เราไม่เคย” ฐปณีย์กล่าว
.
ด้าน ผศ.ดร.ประจักษ์ ได้เริ่มต้นการเสวนาด้วยการอ่านรายชื่อผู้ที่ถูกคุมขังโดยยังไม่ได้รับการประกันตัว จำนวน 19 คน ซึ่ง ผศ.ดร.ประจักษ์ ขอทุกคนต้องเป็นกำลังใจเนื่องจากคนเหล่านี้ศาลยังไม่ได้พิพากษาให้มีความผิด แต่ก็ไม่ได้รับการประกันตัว
.
“ถ้าเรามองย้อนกลับปีตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปีนี้ เราเดินทางมาไกลมากจนไม่น่าเชื่อ อย่างน้อยตอนนี้คนได้ตื่นตัวและเข้าใจปัญหาสังคมและปัญหาบ้านเมือง คนไม่นิ่งเฉย อย่างน้อยคนก็รู้ว่ามันมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นจริงๆ ระบบกฎหมายมันบิดเบี้ยวจริงๆ มันมีกระแสที่เรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา ซึ่งต่างจาก 14 คนที่ถูกจับ หลังการรัฐประหารที่ไม่มีกระแสใดๆ เพราะทุกคนไม่กล้าออกมา กลัวตัวเองจะเป็นอีกคนที่โดน” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว
.
รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า ในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ตนมองด้วยความเคารพยกย่อง นับถือจริงๆ รู้ว่าอาจเหนื่อย และก็รู้ด้วยว่าไม่ย่อท้อ ยังสู้ต่อ ในขณะที่มีคนถูกจับจำนวนมาก หลายคนบาดเจ็บ ถูกคุกคาม แม้บรรยากาศจะซบเซาลงมา แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนี้ตลอดไป นี่คือเรื่องปกติของการต่อสู้ที่ยาวไกล
.
“เราสู้กับสิ่งที่ใหญ่มาก ไม่ใช่แค่กลไกอำนาจรัฐ แต่คือวัฒนธรรมศักดินา นั่นคือ ระบบพรรคพวก ต้องจำนนให้คนมีอำนาจ ระบบอาวุโส ทำตามคำสั่ง ที่ชัดมากคือโรงเรียน การทำกับเด็กนั้นง่ายที่สุด สังคมไทยไม่เคยมองเด็กในฐานะคนมีสิทธิมีเสียง แต่ต้องเชื่อฟังตลอดเวลา เมื่อเด็กกล้ายืนขึ้นจึงต้องถูกลงโทษ มีคนถามว่า ทำไมตำรวจไทยเป็นหุ่นยนต์ ไม่มีใครกบฏเลยหรือ เขาเป็นกลไกในระบบราชการที่สร้างคนเป็นหุ่นยนต์ แต่ดิฉันอยากเสนอว่ามันมีสิ่งที่อุ้มให้ราชการไร้จิตใจ นั่นคือวัฒนธรรมศักดินา” รศ.ดร.พวงทองกล่าว
.
ทั้งนี้กิจกรรมเสวนาสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 20.30 น. โดยมีมวลชนบางส่วนที่ปักหลักพักค้างอยู่บริเวณหมู่บ้านทะลุฟ้าหน้าทำเนียบรัฐบาลและบางส่วนก็เดินทางกลับเมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้น
.
เรื่อง: ไพศาล ฮาแว
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
.
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://thestandard.co/
#TheStandardPhoto #TheStandardNews #ศวิตาพูลเสถียร
.....
Thanapol Eawsakul
19h ·

การแก้ไข รัฐธรรมนูญ ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ การเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
........
ถ้าไม่มี การชุมนุมเพื่อเรียกร้อง ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในปี 2563 รัฐบาลพลังประชารัฐก็ไม่ มีความคิดที่จะแก้ไข รัฐธรรมนูญ เพื่อลดกระแส การชุมนุม
เมื่อพวกเขาคิดว่า การชุมนุมเพื่อ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่มีพลังแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะแกนนำถูกจับไปหมดแล้ว พวกเขาก็ไม่คิดที่จะแก้ไข รัฐธรรมนูญ อีกต่อไป