วันเสาร์, มีนาคม 20, 2564
ผู้พิพากษาที่ดีและผู้พิพากษาอันไม่พึงประสงค์
ผู้พิพากษาที่ดีและผู้พิพากษาอันไม่พึงประสงค์
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
19 Mar 2021
1O1
บทความชิ้นนี้เป็นผลมาจากการอ่านหนังสือ ‘ผู้พิพากษาที่ดี’ ซึ่งจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของนายสกล เหมือนพะวงศ์[1] โดยหนังสือประกอบด้วยเนื้อหาที่สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกเป็นความเห็นหรือทัศนะของบุคคลที่อยู่ในแวดวงผู้พิพากษาทั้งที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันหรือเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน ส่วนที่สองเป็นความเห็นจากคนที่อยู่นอกแวดวงผู้พิพากษาซึ่งมีทั้งปัญญาชนสาธารณะ และผู้ที่ทำงานอยู่กับภาคประชาสังคม ทั้งทนายความสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชนนอกกระแส นักกิจกรรมทางสังคม เป็นต้น
เนื้อหาที่ผู้เขียนให้ความสนใจและอยากจะมีบทสนทนาแลกเปลี่ยนด้วยเป็นอย่างมากจะเป็นเนื้อหาในส่วนแรก อันเป็นส่วนที่สามารถสะท้อนถึงแนวความคิดเกี่ยวกับบทบาทและการตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของผู้พิพากษาในห้วงเวลาปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ และที่สำคัญก็คือการให้ความหมายถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ผู้พิพากษาที่ดี’ ว่าจะต้องมีลักษณะและการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะเช่นไร
ความเข้าใจถึงความหมายของผู้พิพากษาที่ดีที่แพร่กระจายในหมู่ผู้พิพากษาจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องหรือแตกต่างไปจากความหวังและมุมมองของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร
ผู้พิพากษาที่ดี
จากเนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือจะพบว่า การให้ความสำคัญต่อผู้พิพากษาที่ดีก็คือต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในทางกฎหมาย ซึ่งไม่ได้จำกัดไว้เพียงในด้านของบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมายที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนี้การทำหน้าที่ในการวินิจฉัยคดีก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดมีข้อครหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ว่ามิได้ดำเนินไปตามข้อกำหนด เช่น การนั่งพิจารณาต้องครบองค์คณะ สิทธิของคู่ความในคดีต้องได้รับการเคารพ การใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมและเที่ยงธรรม เป็นต้น
ในส่วนที่สองเป็นเรื่องของคุณธรรม เป็นการกล่าวถึงการทำหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษาที่จะต้องใช้อำนาจหน้าที่ไปอย่างเที่ยงธรรม แม้การทำหน้าที่ผู้พิพากษาจะต้องใช้กฎหมายเป็นสำคัญซึ่งก็อาจมีการใช้ดุลพินิจควบคู่ไปในหลายโอกาส แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าดุลพินิจจะเป็นการตัดสินข้อพิพาทต่างๆ ไปตามอำเภอใจ หากมีกรอบของกฎหมายและความยุติธรรมกำกับไว้
หลักการข้อหนึ่งที่จะถูกเน้นย้ำเสมอในการพิจารณาการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาก็คือ ต้องมีความเป็นอิสระ อันจะมีการเชื่อมโยงไปถึงหลักอินทภาษ หรือการตัดสินคดีโดยปราศจากอคติทั้ง 4 อันหมายถึงฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะความรัก) โทษาคติ (ลำเอียงเพราะความโกรธ) โมหาคติ (ลำเอียงเพราะความเขลา) และภยาคติ (ลำเอียงเพราะความกลัว) พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างที่อาจนำมาสู่การทำหน้าที่ในการตัดสินคดีที่ขัดกับหลักการดังกล่าว เช่น หากผู้พิพากษารู้จักหรือมีข้อขัดแย้งกับบุคคลที่เป็นคู่ความในคดี กรณีเช่นนี้ก็ควรต้องถอนตัวออกจากการทำหน้าที่
(ข้อสังเกตบางประการต่อการกล่าวถึงอคติทั้ง 4 ก็คือ การเน้นย้ำให้แต่ละคนต้องพยายามหลุดพ้นด้วยตนเองเป็นสำคัญ โดยไม่ได้มีการวางมาตรการหรือบรรทัดฐานใดที่จะช่วยทำหน้าที่ในการกำกับให้หลักการดังกล่าวสามารถปรากฏขึ้นเป็นจริงได้)
พร้อมกันกับการกล่าวถึงคุณธรรมของผู้พิพากษาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ได้มีการเน้นย้ำก็คือเป้าหมายของการชี้ขาดข้อพิพาทคือการอ้างอิงถึง ‘ความยุติธรรม’ ซึ่งได้ปรากฏให้เห็นอย่างกว้างขวางในการพรรณนาถึงผู้พิพากษาที่ดี ด้วยความเห็นว่าการตัดสินคดีต้องไม่ใช่เพียงการชี้แพ้ชี้ชนะแต่อย่างเดียว หากต้องเป็นการระงับข้อขัดแย้งด้วยสันติวิธีที่ทำให้เกิดความยอมรับเกิดขึ้น อันหมายถึงเป็นการทำหน้าที่ที่นำมาซึ่งความยุติธรรมให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ส่วนที่สามเป็นกล่าวถึงการปฏิบัติตัวในยามอยู่นอกบัลลังก์หรือการวางตัวในสังคมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกริยามารยาทที่ควรอ่อนน้อมถ่อมตน การคบมิตร การแต่งกาย ก็ได้มีการให้ความสำคัญว่าในฐานะของผู้ที่ทำหน้าที่ผู้พิพากษาต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะมิฉะนั้น ก็อาจจะทำให้ถูกมองว่าวางตัวไม่เหมาะสมรวมไปถึงอาจถูกพิจารณาว่าไม่มีความเป็นกลางเมื่อไปทำหน้าที่ในการตัดสินคดีต่างๆ
นอกจากนี้ก็ยังมีการตักเตือนให้ระมัดระวังถึงการแสดงความเห็นผ่านสื่อสมัยใหม่ เพราะเกรงว่าการแสดงความเห็นหรือการสื่อสารผ่านสื่อสมัยใหม่อาจกลายเป็นหลักฐานที่กลับมาเป็นโทษต่อตัวบุคคลนั้นในวันข้างหน้าก็ได้
หากกล่าวโดยสรุป ผู้พิพากษาที่ดีในมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงตุลาการได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยของความรู้ คุณธรรม และการวางตัวเป็นอย่างมาก
ผู้พิพากษาอันไม่พึงประสงค์
นอกจากความพยายามในการอธิบายถึงผู้พิพากษาที่ดีแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรที่จะอธิบายถึงด้านตรงกันข้ามกับภาพอุดมคติ อีกนัยหนึ่งก็คือ ‘ผู้พิพากษาที่เลว’ หรือผู้พิพากษาอันไม่พึงประสงค์ไปพร้อมกัน
(พึงตระหนักว่าการอธิบายถึงผู้พิพากษาที่ดีหรือเลว ก็เป็นภาวะอันปกติที่ในทุกสาขาอาชีพก็ล้วนแล้วแต่ต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีและผู้ที่ทำหน้าที่ได้อย่างเลวทราม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย การกล่าวถึงผู้พิพากษาที่เลวก็ย่อมเป็นเรื่องปกติที่สามารถจะบังเกิดขึ้นได้ ตราบเท่าที่ผู้ทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวนี้ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดามิใช่เทวดาเหาะลงมาจากสรวงสวรรค์)
อะไรคือลักษณะของผู้พิพากษาอันไม่พึงประสงค์ ผู้เขียนใคร่ขอเสนอถึงลักษณะบางประการซึ่งเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
ประการแรก ปัญหาสำคัญในเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การเป็นผู้พิพากษาอันไม่พึงประสงค์ก็คือ การวินิจฉัยคดีที่ไม่ได้วางอยู่บนหลักวิชาทางกฎหมาย หรือมีการบิดเบือนการใช้กฎหมายที่ทำให้เกิดคำถามและข้อสงสัยเกิดขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวาง
แน่นอนว่าในการตัดสินข้อพิพาทต่างๆ ผู้ตัดสินก็ย่อมอาจมีอำนาจดุลพินิจในการชี้ขาดปะปนอยู่ เช่น การตัดสินว่าการกระทำบางอย่างเป็นเจตนาหรือประมาทอาจเป็นเรื่องที่แยกขาดได้ยากลำบาก ผู้พิพากษาจึงย่อมใช้พยานหลักฐานมาประกอบเพื่อตัดสินในประเด็นนั้นๆ อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างสองเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกันแต่กลับมีคำตัดสินที่แตกต่างกัน ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงการตัดสินที่ไม่สู้จะตรงไปตรงมา หรือกล่าวได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายแบบ ‘สองมาตรฐาน’ การกระทำที่มิได้วางอยู่บนหลักวิชาอย่างเห็นได้ประจักษ์ถือได้ว่าเป็นความชั่วร้ายที่ไม่ควรจะบังเกิดขึ้น
ประการที่สอง การไม่ตระหนักว่าฝ่ายตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยที่ถือว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชน
ผู้พิพากษาเป็นตำแหน่งหนึ่งในการใช้อำนาจตัดสินข้อพิพาทต่างๆ ในสังคม แต่อำนาจนี้ไม่ได้ลอยมาจากเบื้องบนแล้วร่วงหล่นลงมากลายเป็นสถาบันตุลาการอันทรงความยุติธรรม ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจตุลาการคือส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้หลักการแบ่งแยกอำนาจโดยมีอำนาจหน้าที่และบทบาทอันเป็นเฉพาะของตนที่อาจมีลักษณะต่างไปจากข้าราชการฝ่ายอื่น แต่ก็พึงตระหนักว่าการดำรงอยู่ของฝ่ายตุลาการไม่อาจหลุดลอยไปจากประชาชน
ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงในด้านของความชอบธรรมในทางการเมืองการปกครองของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ ไม่ว่าจะเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่ารถประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุม บำนาญในแง่เกษียณอายุราชการ ทั้งหมดนี้ก็ล้วนมาจากภาษีของประชาชน หากปราศจากซึ่งภาษีของประชาชนแล้วผู้พิพากษาก็ย่อมไม่อาจดำรงอยู่ได้
ดังนั้น จึงต้องพึงตระหนักอยู่เสมอว่าผู้พิพากษาคือผู้ดำรงอยู่ด้วยภาษีของประชาชน
ประการที่สาม มักมีการกล่าวอ้างอยู่เสมอว่าในการทำหน้าที่ตัดสินปัญหาต่างๆ ผู้พิพากษาจะต้องมีความเป็นอิสระ ซึ่งสำหรับสังคมไทยนั้น ความเป็นอิสระก็ได้กลายมาเป็นการที่จะต้องไม่ตกอยู่ภายใต้อคติทั้งสี่
คำสอนดังกล่าวดูจะเป็นอิทธิพลจากแง่มุมทางศาสนาและตกทอดมาสู่ผู้พิพากษาในปัจจุบันอย่างเหนียวแน่น พร้อมกับความพยายามวางกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาที่ไม่สอดคล้องกับข้อห้ามดังกล่าว เช่น ถ้าได้เคยแสดงความเห็นไปในทิศทางที่เป็นปฏิปักษ์กับคู่ความในคดี ผู้พิพากษาคนนั้นก็ไม่ควรที่จะมีส่วนในการตัดสินชี้ขาด
อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลของผู้เขียนก็คือการตระหนักถึงอคติดังกล่าวมักถูกพิจารณาในระดับที่ผิวเผินดังตัวอย่างที่ยกขึ้นมาประกอบ แต่ปัญหาที่สำคัญคืออคติที่ดำรงอยู่อย่างไม่ทันรู้ตัว หรืออาจกล่าวได้ว่า ความเข้าใจเช่นว่าได้กลายเป็น ‘สามัญสำนึก’ ของผู้พิพากษาโดยไม่ได้ตระหนักรู้ ที่กล่าวนี้ไม่ใช่เพียงความเข้าใจต่อสถาบันจารีตของสังคมเท่านั้น หากยังหมายรวมไปถึงในแง่มุมอื่นๆ อีกมาก เช่น ความเข้าใจที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หญิง คนจน อาชญากร เป็นต้น อันนำมาสู่การตัดสินปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ที่วางอยู่บนฐานความเข้าใจเช่นนั้น
อคติที่ไม่ได้ถูกตระหนักว่าเป็นอคติ หากถูกพิจารณาว่าเป็นคุณลักษณะอันดีงามของผู้พิพากษานับว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างมาก
ความเลวเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม
การกล่าวถึงผู้พิพากษาที่ไม่พึงประสงค์ในบทความนี้จะมุ่งเน้นไปยังคุณลักษณะซึ่งมิใช่เป็นปัญหาที่ขึ้นกับปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ แต่มุ่งไปในลักษณะที่เห็นได้อย่างเด่นชัดว่าสัมพันธ์ในระดับโครงสร้างหรือวัฒนธรรมในฝ่ายตุลาการ ด้วยความเห็นว่าเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของผู้พิพากษาข้างต้นจะมีความสัมพันธ์กับปัจจัยบางประการ
โดยทั่วไป การพิจารณาถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดผู้พิพากษาที่ไม่พึงประสงค์ก็มักจะโยนความผิดไปที่ระบบการศึกษาและการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง ในส่วนของระบบการศึกษาก็มักจะเป็นข้อวิจารณ์ที่มีต่อการศึกษากฎหมายแบบเน้นลายลักษณ์อักษรที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจต่อความหมายของกฎหมายอย่างละเอียดทั้งในด้านการใช้และการตีความกฎหมายที่เกิดขึ้น ขณะที่การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาก็มักมีการติติงถึงระบบการคัดเลือกที่เป็นอยู่ว่าอาจทำให้ได้บุคคลที่มีความรู้ทางกฎหมายแต่ปราศจากความรอบรู้ความเข้าใจและวุฒิภาวะที่มากเพียงพอในการวินิจฉัยข้อขัดแย้งต่างๆ
แม้ทั้งระบบการศึกษาและกระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษาจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่าปมประเด็นสำคัญก็คือ การดำรงอยู่ของผู้พิพากษาที่ปราศจากการเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน
การออกแบบโครงสร้างของฝ่ายตุลาการในหลายประเทศก็ล้วนแล้วแต่กำหนดให้มีความเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน รวมทั้งมีการตรวจสอบที่เกิดขึ้นจากภายนอกต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา การถูกตรวจสอบจะเป็นเงื่อนสำคัญอันนำมาซึ่งความโปร่งใสและความไว้วางใจของสาธารณชนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาในเชิงภาพรวม
ตรงกันข้าม หากปราศจากความเชื่อมโยงใดๆ กับอำนาจของประชาชนหรือการตรวจสอบจากสาธารณชนในการปฏิบัติหน้าที่ก็อาจทำให้เกิดสภาวะที่ผู้พิพากษาหลุดลอยไปจากสังคม อันทำให้ไร้ซึ่งการตรวจสอบต่อการปฏิบัติหน้าที่แม้ว่าจะมีข้อวิจารณ์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมากเพียงใดก็ตาม ยิ่งในสภาวะที่ผู้พิพากษายึดติดกับสถาบันการเมืองที่ไม่สัมพันธ์กับประชาชนมากเป็นพิเศษก็ยิ่งมีโอกาสจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาที่รุนแรงมากขึ้น ความเลวที่กล่าวถึงในที่นี้จึงไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนชั่วโดยสันดานหากขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดผู้พิพากษาที่ไม่พึงประสงค์อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม บางปัจจัยอาจมีความสำคัญมากในสังคมบางแห่ง บางปัจจัยอาจมีความสำคัญน้อย การทำความเข้าใจต่อเงื่อนไขและปัจจัยดังกล่าวจะช่วยทำให้สามารถมองเห็นแรงผลักดันที่กำกับอยู่เบื้องหลัง และอาจนำมาสู่การปรับแก้ในเชิงโครงสร้างที่จะทำให้ผู้พิพากษาเลวมีจำนวนลดน้อยลงพร้อมกับการเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาที่ดีให้มากยิ่งขึ้น
[1] สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ (บรรณาธิการ), ผู้พิพากษาที่ดี : A good judge. พิมพ์ครั้งที่ 1 (นนทบุรี: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2563)