วันพฤหัสบดี, มีนาคม 18, 2564

"ได้โปรดช่วยชีวิตพวกเราด้วย" เนื้อหาบางส่วนจากคำร้องของอานนท์ นำภา ซึ่งได้ยื่นต่อศาลอาญา ศาลได้ไต่สวนคำร้อง บรรยากาศเป็นไปด้วยดี



นรเศรษฐ์ นาหนองตูม
6h ·

"ได้โปรดช่วยชีวิตพวกเราด้วย"
เนื้อหาบางส่วนจากคำร้องของอานนท์ นำภา
ซึ่งได้ยื่นต่อศาลอาญา
ศาลได้ไต่สวนคำร้อง บรรยากาศเป็นไปด้วยดี
เจอผู้พิพากษาที่ดีมาก ๆ ผมเคยเจอผู้พิพากษาท่านนี้
มาก่อนในการพิจารณาคดีหลายคดี
ผมสามารถเคารพนับถือ
และเลื่อมใสศรัทธาได้จากใจจริง
กระบวนการไต่สวนดำเนินการไปอย่างราบรื่น
อานนท์ นำภา ในฐานะผู้ร้องขึ้นเบิกความเป็นคนแรก
ผมไม่สามารถจดและจำถ้อยคำเบิกความมาได้ทั้งหมด
ขอกล่าวถึงถ้อยคำบางส่วนที่ติดตาตรึงใจ
“ช่วงนั้นผมรู้สึกกลัวมาก ทำอะไรไม่ถูก จนต้องเดินไปหมุนเข็มนาฬิกา จากช่วง 03.00 น. ให้กลายเป็น 07.00 น.
เพื่อแก้เคล็ดและทำให้รู้สึกว่ามันเช้าแล้วจะได้สบายใจขึ้น”
“ผมขอเรียนกับท่านอย่างตรงไปตรงมาครับ
เรื่องนี้ ญาติผม ทนายความของผมก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรผมได้ เพราะผมอยู่ข้างในไม่สามารถจะติดต่อใครได้เลย ผมจึงเขียนคำร้องมายื่นต่อศาล เพราะท่านเป็นคนเดียวที่จะช่วยชีวิตผมได้ ตอนนี้ท่านกำลังนั่งอยู่ต่อหน้าคนที่กำลังจะตายนะครับ” อานนท์แถลง สิ้นเสียงถ้อยแถลง บรรยากาศทุกอย่างในห้องก็เงียบงัน ได้ยินเพียงเสียงแป้นพิมพ์ของเจ้าหน้าที่เสมียนศาล
“ศาลจะให้ความเป็นธรรมกับทุก ๆ คน
ไม่ใช่ของทนายอานนท์เท่านั้น เพราะทุกคนทุกคดีที่ถูกขังตามหมายของศาล ศาลย่อมให้เป็นความธรรมอย่างเต็มที่”
ผู้พิพากษาท่านนั้นกล่าวด้วยท่าทีที่สุขุม
บันทึกความทรงจำขนาดสั้น
จากห้องพิจารณาของศาลอาญา
ทนายไทบ้าน
ขอบคุณภาพจากคุณ Thanomsak Suwannasi
.....


รักษาความปลอดภัยคุมเข้ม
ศาลไต่สวนอานนท์ นำภา เรื่องความปลอดภัยในเรือนจำ
17 มีนาคม 2564. เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดพิจารณาคำร้องที่อานนท์ นำภา ยื่นต่อศาลในประด็นความปลอดภัยในเรือนจำ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะพาตัวนักโทษการเมืองออกจากห้องขังในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุจำเป็น ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ตำรวจในเครื่องแบบทั้งในชุดปกติและชุดควบคุมฝูงชน และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบวางกำลังโดยรอบศาลอาญา สามจุดคือ ประตู 8 บริเวณก่อนทางเข้าศาล, จุดคัดกรองตรวจบัตรประชาชน โดยตำรวจสอบถามประชาชนที่ประสงค์จะเข้าศาลอาญาว่า มาศาลในคดีใดและจดบันทึก ที่ชานบันไดหน้าศาลอาญามีแผงเหล็กล้อมและตำรวจชุดควบคุมฝูงชนวางกำลังหลวมๆ
เวลา 9.00 น. ที่ชั้น 8 บริเวณก่อนถึงห้องพิจารณาที่ 812 มีตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่ศาลยืนคัดกรองให้เฉพาะทนายความและผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าไปในห้อง ขณะที่พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือ ไผ่ ดาวดินต้องนั่งรอหน้าห้อง จนกระทั่งเวลา 9.20 น. จึงอนุญาตให้พริ้มเข้าไป หลังจากนั้นเมื่อแม่ของจำเลยรายอื่นๆ เช่น แม่ของพริษฐ์ และอานนท์มาถึงด้านหน้าห้อง เจ้าหน้าที่ก็ให้เข้าไปในทันที
ต่อมาเวลา 9.37 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาตัวอานนท์เข้าไปภายในห้องพิจารณา หลังจากนั้น 10 นาที เจ้าหน้าที่ให้แม่ของอานนท์, พริษฐ์และจตุภัทร์ปิดโทรศัพท์และฝากไว้กับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ทุกคนนำไปฝากกับเจ้าหน้าที่ ยกเว้นแม่ของอานนท์ที่นำมาฝากกับผู้ไว้ใจที่รออยู่ด้านหน้าห้องพิจารณาคดี
เวลา 9.59 น. เจ้าหน้าที่ศาลเดินเข้าไปในห้องพิจารณาขอให้แม่อานนท์, จตุภัทร์และพริษฐ์ออกมาจากห้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที เจ้าหน้าที่ศาลอีกคนหนึ่งเรียกแม่ของอานนท์และจตุภัทร์กลับห้อง พร้อมสอบถามว่าโทรศัพท์ฝากไว้กับหน้าบัลลังก์แล้วใช่หรือไม่ เมื่อทั้งสองบอกว่า ใช่ จึงสามารถเดินเข้าไปในห้องได้ ส่วนแม่ของพริษฐ์ เมื่อจะเดินเข้าเจ้าหน้าที่บอกว่า เข้าไม่ได้เพราะไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในคำร้องที่อานนท์ยื่นต่อศาลไม่ปรากฎชื่อของพริษฐ์ แม่ของพริษฐ์จึงขอโทรศัพท์คืนจากเจ้าหน้าที่และนั่งรออยู่ที่หน้าห้องพิจารณาคดี
10.00 น. ไบร์ท ชินวัตร จันทร์กระจ่างเริ่มทำกิจกรรมที่หน้าศาลอาญา โดยมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำไฟฉายส่องไปที่ป้ายศาลอาญา
10.30 น. ไบรท์อ่านข้อเขียนของพริษฐ์ที่อ่านต่อหน้าศาลในห้องพิจารณาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จากนั้นจุดเทียนที่หน้าป้ายศาลอาญา
11.45 น. ทนายอานนท์ซึ่งอยู่ในชุดผู้ต้องขังเดินออกจากห้องพิจารณาคดี ก่อนที่ทนายอานนท์จะเดินออกมาเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลประมาณ 5 ถึง 6 นาย ยืนเรียงแถวหลวมๆ กั้นระหว่างอานนท์กับคนที่มารอให้กำลังใจที่หน้าห้องพิจารณาคดี ขณะที่อานนท์ถูกนำตัวไปยังพื้นที่ควบคุมผู้ต้องขังใต้ทุนศาลอาญาโดยไม่ได้หยุดพูดคุยกับคนที่มารอให้กำลังใจที่หน้าห้องพิจารณาคดี
จากการสอบถามหนึ่งในทนายความที่อยู่ร่วมกระบวนการไต่สวนได้ข้อมูลว่า เนื้อหาที่อานนท์นำมากล่าวในศาลส่วนใหญ่ คือ ลำดับเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พยายามจะเข้ามาเอาตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองบางส่วนออกไปจากห้องขังในยามวิกาล โดยเบื้องต้นเป็นไมค์-ภาณุพงศ์, ไผ่-จตุภัทร์ และโตโต้-ปิยรัฐ ที่จะถูกแยกออกไป แต่ผู้ต้องขังทั้งหมดไม่ยินยอมออกจากห้องขัง อานนท์ระบุในการไต่สวนด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขารู้สึกกังวลในความปลอดภัย และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีเพียงศาลเท่านั้นที่เป็นที่พึ่ง ทนายความและญาติของเขาไม่สามารถที่จะให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้ อานนท์ระบุด้วยว่า พริษฐ์อยู่ในห้องคุมขังเดียวกันขณะเกิดเหตุที่เจ้าหน้าที่พยายามเข้ามาเอาตัวผู้ต้องขังอันเป็นที่มาของการยื่นคำร้องด้วย
อานนท์ ขอให้ศาลออกหมายเรียกภาพบันทึกกล้องวงจรปิดให้เข้ามาสู่สำนวนคดี เนื่องจากกังวลว่าหากปล่อยให้เวลาผ่านไปภาพบันทึกเหตุการณ์อาจถูกบันทึกทับไปได้
ในช่วงเวลาใกล้เที่ยง ผู้สังเกตการณ์พบว่า จุดคัดกรองที่เคยตั้งอยู่นอกอาคารศาลไม่ได้ตั้งหรือมีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่แล้ว แต่จากการสอบถามประชาชนสองคนที่ตั้งใจจะมาให้กำลังใจอานนท์ในช่วงเช้าที่ยืนอยู่บริเวณที่จอดรถศาลอาญาได้ข้อมูลว่าทั้งสองเดินทางมาถึงศาลตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. เมื่อเดินมาถึงจุดคัดกรองนอกอาคารศาลทั้งสองถูกตรวจบัตรประชาชนและถูกนำเลขบัตรประชาชนไปกรอกในสมุดของเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อแจ้งความประสงค์ว่าจะมาฟังการไต่สวนเจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้ทั้งสองเดินไปที่อาคารศาลโดยอ้างว่ามีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ทั้งสองจึงได้แต่รออยู่นอกอาคารศาล
ทั้งนี้ในช่วงบ่ายศาลจะไต่สวนรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กับผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในส่วนของการดำเนินการหลังการไต่สวน ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัสให้สัมภาณ์กับผู้สื่อข่าวว่า คำร้องนี้เป็นคนละส่วนกับการขอประกันตัว เป็นการยื่นคำร้องของอานนท์ในฐานะจำเลยขอให้ศาลช่วย หากศาลเห็นว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบก็อาจมีคำสั่งให้ทางเรือนจำดำเนินมาตรการบางอย่างเพื่อให้ดูแลจำเลยได้ดีขึ้น แต่หากเห็นว่าเรือนจำดำเนินการถูกต้องแล้วและคำร้องของอานนท์ฟังไม่ขึ้นก็เป็นอันตกไป