วันพฤหัสบดี, มีนาคม 18, 2564

การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่ม ไม่ผ่านวาระ 3 เพราะมีสองอุปสรรคที่สำคัญกันไว้ เสียงเห็นชอบไม่เกินครึ่ง-เสียง ส.ว.เห็นชอบไม่ถึงหนึ่งในสาม



สองเงื่อนไขที่อาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านวาระสาม

รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (5) กำหนดว่า เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป ดังนั้น การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม จึงจะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุด คือ ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประธานสภานัดหมายการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 17 และ 18 มีนาคม 2564 โดยในวาระนี้ จะเป็นการพิจารณาเพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างเดียวเท่านั้น จะไม่มีการแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญอีก

อย่างไรก็ดี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (6) กำหนดว่า "การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา"

หรือหมายความว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านสภาได้ ไม่ใช่แค่อาศัยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเท่านั้น ยังมีอีกสองเงื่อนไขสำคัญ ได้แก่

๐ หนึ่ง ต้องมีเสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
๐ สอง ต้องมีเสียงของ ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน

จากข้อมูลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า มีจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดอยู่ 737 คน ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ นอกจากจะต้องต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 369 เสียงแล้ว ต้องมีเงื่อนไข เสียงเห็นชอบ จาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือ ประมาณ 84 คน จาก 250 เสียง ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่า คสช. เป็นคนเลือก ส.ว. มากับมือ การจะผ่านเงื่อนไขเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

อีกทั้ง อีกหนึ่งเงื่อนไขที่ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐธรรมนูญ คือ ต้องมีเสียงเห็นชอบของ ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร ร้อยละยี่สิบ ซึ่งจากข้อมูล พบว่า พรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.ในสังกัดเป็นรัฐมนตรีและ ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย

เพื่อไทย มี ส.ส. 134 คน
ก้าวไกล มี ส.ส. 53 คน
เสรีรวมไทย มี ส.ส. 10 คน
ประชาชาติ มี ส.ส. 7 คน
เพื่อชาติ มี ส.ส. 5 คน
พลังปวงชนไทย มี ส.ส. 1 คน
พลังท้องถิ่นไท มี ส.ส. 5 คน
เศรษฐกิจใหม่ มี ส.ส. 6 คน
รักษ์ผืนป่าประเทศไทย มี ส.ส. 2 คน
พลังชาติไทย มี ส.ส. 1 คน
ประชาภิวัฒน์ มี ส.ส. 1 คน
ไทยศรีวิไลย์ มี ส.ส. 1 คน
พลังไทยรักไทย มี ส.ส. 1 คน
ครูไทยเพื่อประชาชน มี ส.ส. 1 คน
ประชาธรรมไทย มี ส.ส. 1 คน
พลเมืองไทย มี ส.ส. 1 คน
ประชาธิปไตยใหม่ มี ส.ส. 1 คน
พลังธรรมใหม่ มี ส.ส. 1 คน
ไทรักธรรม มี ส.ส. 1 คน
รวมทั้งสิ้น 233 คน

ดังนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการเห็นชอบในวาระที่สามได้ ต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.ในสังกัดเป็นรัฐมนตรีและ ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างน้อย 47 คน ด้วยเช่นกัน

ที่มา
แก้รัฐธรรมนูญ: จับตาวาระสาม "สองประเด็น-สองเงื่อนไข-หนึ่งประชามติ"
Ilaw
.....


iLaw
3h ·

กระบวนการ #แก้รัฐธรรมนูญ ที่เดิมพอมองเห็นปฏิทินทางการเมืองซึ่งจะนำไปสู่การลงประชามติและการเลือกตั้ง สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ถูกตีตกแล้วในวาระ3
ถึงวันนี้ ไม่มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่รออยู่
หากจะมีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องใดๆ ก็ต้องเริ่มต้นตามขั้นตอนใหม่ทั้งหมด

iLaw
4h ·

ร่างรัฐธรรมนูญวาระสามล่ม! เสียงเห็นชอบไม่เกินครึ่ง-เสียง ส.ว.เห็นชอบไม่ถึงหนึ่งในสาม
.
17 มีนาคม 2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีมติเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ..... ในวาระสาม เพียง 208 เสียง ซึ่งไม่เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา จึงเป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป หลังมีการหารือและอภิปรายกันมายาวนานมากกว่า 12 ชั่วโมง ว่าจะมีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้หรือไม่ เพราะมีการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปในแนวทางที่แตกต่างกัน แต่ในท้ายที่สุด เสียงข้างมากของรัฐสภาก็มีมติให้เดินหน้าลงมติวาระสามร่างรัฐธรรมนูญในวาระสาม
.
โดยผลการลงมติ คือ
มีเสียงเห็นชอบ รวม 208 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 206 เสียง และส.ว. 2 เสียง
มีเสียงไม่เห็นชอบ รวม 4 เสียง เป็น ส.ว. ทั้งหมด
มีงดออกเสียง รวม 94 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 10 เสียง และส.ว. 84 เสียง
มีผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน รวม 136 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 9 เสียง และส.ว. 127 เสียง
ซึ่งผลการลงมติดังกล่าวไม่เป็นตามหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดว่า การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระสามจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และมีเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม รวมถึงต้องได้รับเสียงจาก ส.ส.พรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภา และรองประธาน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 จึงทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป
.
++ประชุมรัฐสภายาวนาน 12 ชั่วโมง จากยื้อแก้สู่คว่ำวาระสาม++
.
ก่อนลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระสาม ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีการหารือและอภิปรายหาทางออกเกี่ยวกับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระสาม หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาโดยมีสาระสำคัญว่า "รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการทำประชามติก่อน" ซึ่งจากคำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเสนอแนวทางแตกต่างกันออกไป ดังนี้
.
หนึ่ง ให้รัฐสภาลงมติว่าไม่สามารถลงมติแก้รัฐธรรมนูญ วาระสาม
.
โดยผู้ที่เสนอแนวทางดังกล่าว คือ สมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอญัตติให้รัฐสภาพิจารณาร่วมกัน เพื่อลงมติว่า ไม่สามารถลงมติ #แก้รัฐธรรมนูญ โดยยกเหตุผลว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องทำประชามติก่อน อีกทั้งฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาและฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภาก็ให้ข้อมูลว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภาอาจไม่สามารถลงมติ #แก้รัฐธรรมนูญ ในวาระสามได้ ภายหลังจากนั้นจึงมีการรับรองญัตติดังกล่าว แต่ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาชี้แจงว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนอื่นๆ ที่ลงชื่อรออภิปราย จึงต้องเปิดทางให้คนอื่นอภิปรายด้วย
.
สอง ให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอีกครั้ง
.
โดยผู้ที่เสนอแนวทางดังกล่าว คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถูกตีความหลากหลาย เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นแวดวงวิชาการ แวดวงผู้มีประสบการณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่รัฐสภาอีกรอบ ว่าจะลงมติวาระสามได้หรือไม่
.
สาม ให้รัฐสภาลงมติว่าจะลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระสาม
.
โดยผู้ที่เสนอแนวทางดังกล่าว คือ ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายว่า จากคำวินิจฉัยตัวเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีถ้อยคำใดที่ระบุว่าให้ไปเริ่มทำประชามติก่อนเสนอญัตติ ด้วยวิธีการที่รัฐสภากำลังทำนี้ คือ กำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยอยู่ขั้นตอนวาระสามตามมาตรา 256(6) ไม่ใช่ขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อีกทั้งนักวิชาการ เช่น สมคิด เลิศไพฑูรย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล สมชัย ศรีสุทธิยากร พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ล้วนมีความเห็นว่า คำว่า “ก่อน” (ให้ประชาชนลงประชามติก่อน) หมายถึงก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในขั้นตอนนี้ไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา ซึ่งหากผ่านวาระสาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) ก็กำหนดเรื่องการทำประชามติอยู่แล้ว หากทำตามกระบวนการนี้ก็จะเป็นการทำตามกฎหมาย และได้ทำประชามติถามประชาชน
.
แต่ในท้ายที่สุด ที่ประชุมร่วมของรัฐสภายังไม่สามารถหาข้อยุติในประเด็นดังกล่าวได้ จนเวลา 20.55 น. ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสนอญัตติให้ที่ประชุมดำเนินการตามระเบียบวาระ หรือเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระสาม และที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติเห็นชอบตามญัตติของไพบูลย์ นิติตะวัน จนเป็นผลให้สมาชิกรัฐสภาบางคน นำโดย ส.ส. พรรคภูมิใจไทย เดินออกจากห้องประชุม ด้าน ชาดา ไทยเศรษฐ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยยังประกาศในรัฐสภาด้วยว่า "ไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย โกหกปลิ้นปล้อน ไร้สาระสิ้นดี..."
.
++พลังประชารัฐ-ส.ว. ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ นานถึง 16 เดือน ก่อนจะคว่ำ++
.
แม้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา แต่ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญเพิ่งปรากฎครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 เมื่อที่ประชุมภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่การตั้ง กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญฯ ก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรมมากนัก
.
จนกระทั่งวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีนัดพิจารณาวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จำนวน 6 ญัตติ ท้ายที่สุด สภามิได้ลงมติรับหลักการในร่างใด เนื่องจากหลังการอภิปรายถกเถียงกันอย่างหนักหน่วง พรรคพลังประชารัฐได้เสนอให้รัฐสภาลงมติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 121 วรรคสามเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ กินเวลา 30 วันเสียก่อนจะมีการลงมติในเรื่องนี้ซึ่งจะเป็นขั้นของการรับหลักการในวาระแรก
.
หลังตั้ง กมธ.ศึกษาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีนัดพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 โดยผลการพิจารณาของรัฐสภา ให้ความเห็นชอบหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสองฉบับ คือ ร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย และร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล โดยทั้งสองร่างมีหลักการสำคัญ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางให้มีการตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ “สสร.” เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ห้ามแก้ไข "หมวด 1 หมวด 2" ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
.
ต่อมา ในวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระสองซึ่งเป็นการแก้ไขรายมาตรา โดยสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การแก้ไขมาตรา 256 เรื่องวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่หนึ่งและวาระที่สามจำเป็นจะต้องใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า "สามในห้า" ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา และการแก้ไขเพิ่มหมวด 15/1 เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หรือระบบ "หนึ่งเขตหนึ่งคน" โดยมีเงื่อนไขพิเศษว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และ หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์
.
อย่างไรก็ดี ก่อนรัฐสภาจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระสอง รัฐสภาลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ 366 เสียง ประกอบไปด้วย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พรรคเล็กอื่นๆ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อเปิดทางให้ตั้ง สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ จนในท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยออกมาในวันที่ 11 มีนาคม 2564 และถูกนำมาใช้เป็นเหตุในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในท้ายที่สุด
.
++แก้รัฐธรรมนูญต้องนับหนึ่งใหม่-ถ้าอยากได้ สสร. ต้องทำประชามติก่อน++
.
หลังผลการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระสามเป็นอันต้องตกไป เพราะเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญต้องกลับไปเริ่มต้นตั้งแต่เสนอญัตติเพื่อพิจารณาในวาระหนึ่งใหม่ ซึ่งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็ยังคงต้องฝ่าด่านอรหันต์ อาทิ ต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ต้องได้เสียงเห็นชอบจากพรรคฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ รวมถึงบางประเด็นที่ต้องการแก้ไขก็ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ
.
นอกจากนี้ หากรัฐสภาจะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็อาจจะมีการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาบังคับให้ต้องทำประชามติก่อนพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระหนึ่ง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้ที่จะเสนอให้มีการจัดทำประชามติก่อนการพิจารณารัฐธรรมนูญก่อนวาระหนึ่ง เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี หรือในรัฐธรรมนูญ มาตรา 166