วันเสาร์, มีนาคม 13, 2564

ปิยบุตร เสนอ เปิดจินตนาการใหม่ ใช้การออกเสียงประชามติ ทำลายระบบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พวกเผด็จการ คสช.สร้างขึ้น ก่อตั้งระบบรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน อย่างปราศจากข้อจำกัดใดทั้งสิ้น - อาเมน!



Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
11h ·

[ อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อจินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ในการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน ]
.
-1-
.
อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ VS อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ
.
อำนาจที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมี 2 ประเภท
.
ประเภทแรก อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant ; constituent power) คือ อำนาจเริ่มต้นที่ใช้ก่อตั้งรัฐธรรมนูญ อำนาจนี้มีลักษณะ 3 ประการ ได้แก่ ริเริ่มสิ่งใหม่ อิสระไม่ขึ้นกับอำนาจอื่นใด และปราศจากซึ่งข้อจำกัดใดๆทั้งสิ้น เป็นอำนาจที่เริ่มต้นจากสภาวะ “ปลอดรัฐธรรมนูญ” เมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญใดอยู่ จึงต้องก่อตั้งสถาปนารัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญใดอยู่ จึงไม่มีกรอบ ข้อจำกัดใดๆทั้งสิ้น
ในกรณีที่มีรัฐธรรมนูญใดดำรงอยู่ การสถาปนารัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเข้าทำลายรัฐธรรมนูญที่ดำรงอยู่นั้นและก่อตั้งสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจึงมี 2 ภารกิจในตัวมันเอง ด้านหนึ่ง คือ การรื้อถอนรัฐธรรมนูญที่ดำรงอยู่ (déconstituant) และการก่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่ (reconstituant)
.
ประเภทที่สอง อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant dérivé ; pouvoir de révision) คือ อำนาจที่เข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้ว ดังนั้น จึงต้องมีรัฐธรรมนูญดำรงอยู่ก่อน แล้วรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดว่าหากต้องการแก้ไขตนเอง ต้องกระทำการอย่างไร องค์กรใดมีอำนาจ และมีข้อจำกัดในการแก้ไขอย่างไรบ้าง ดังนั้น อำนาจชนิดนี้จึงไม่ได้เกิดจากสภาวะไร้กฎเกณฑ์ ไร้รัฐธรรมนูญ แต่มันเกิดจากรัฐธรรมนูญกำหนด
.
เพื่อให้ชัดเจนขึ้น จะลองยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมจากกรณีรัฐธรรมนูญ 2560
รัฐธรรมนูญ 2560 กำเนิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557
รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำเนิดขึ้นมาจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ก่อนหน้านั้น มีรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้บังคับอยู่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกทำลายลงไปโดยรัฐประหาร
.
ดังนั้น นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ผ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาจนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 6 เมษายน 2560 นี่คือ กระบวนการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ (procédure constituant) ที่เริ่มต้นจากการใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant) ผ่านการรัฐประหารที่เข้าทำลายรัฐธรรมนูญ 2550 (déconstituant) และเริ่มก่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่ (reconstituant) คือ รัฐธรรมนูญ 2560
.
เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นแล้ว หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ต้องเป็นไปตาม หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในส่วนนี้ คือ การใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อจำกัด ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐและระบอบการปกครอง (มาตรา 255) และต้องดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 256 (1)-(9)
.
-2-
.
การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการอยู่ในรัฐสภา คือ การใช้อำนาจชนิดใด?
.
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระ 1 วาระ 2 และกำลังเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ในวาระ 3 ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ คือ กรณีที่รัฐสภาใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 255 และมาตรา 256 มิใช่การใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพราะ
.
หนึ่ง ดำเนินการภายใต้กรอบของหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้ข้อจำกัดห้ามเปลี่ยนรูปของรัฐและระบอบการปกครองตามมาตรา 255 และอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต้องดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในมาตรา 256 (1)-(9)
.
สอง ไม่มีการใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ไม่มีการทำลายรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิม แล้วดำเนินการก่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ใช้กระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560
.
สาม แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ผลลัพธ์ในท้ายที่สุด อาจนำมาซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญใหม่ แต่รัฐธรรมนูญใหม่นี้ไม่ได้เกิดจากการทำลายรัฐธรรมนูญเดิม จนเข้าสู่สภาวะปลอดรัฐธรรมนูญ และเริ่มต้นสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร้ข้อจำกัด ตรงกันข้าม รัฐธรรมนูญใหม่นี้เกิดจากการสืบสายต่อเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำเนิดจากครรภ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ห่วงโซ่ความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกตัดขาดลงไป ในช่วงเวลานี้ไปจนถึงการมี สสร และมีรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีวันใด เวลาใด วินาทีใด ที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ
.
- 3 -
.
ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญพูดถึงอำนาจชนิดใด?
.
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้สั้นๆว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
.
ถ้อยคำว่า “ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” นี้คือประชามติอะไร?
.
เราต้องแยกประชามติออกเป็น 2 รูปแบบ
.
รูปแบบแรก ประชามติแบบมีข้อจำกัด
.
ได้แก่ ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 (8) ซึ่งมีข้อจำกัดห้ามมิให้แก้ไขรัฐธรรมนูญจนกระทบต่อรูปของรัฐและระบอบการปกครอง และประชามติในประเด็นสำคัญตามมาตรา 166 ซึ่งมีข้อจำกัดว่าห้ามประชามติในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือคณะบุคคลและห้ามประชามติในประเด็นที่ขัดรัฐธรรมนูญ
.
รูปแบบที่สอง ประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิม และสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่
.
ประชามติในกรณีนี้ไม่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตราใดทั้งสิ้น ไม่มีข้อจำกัดใดๆทั้งสิ้น เพราะ มันเป็นประชามติที่แสดงออกถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ตัดสินใจยกเลิกรัฐธรรมนูญ และสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่า “ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” เช่นนี้ ย่อมชัดเจนว่า นี่คือ การใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ นี่คือ ประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ และสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่
.
-4-
.
วาระสาม เดินหน้าหรือยุติ?
.
เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการกันอยู่ในรัฐสภาที่จะมีการลงมติให้ความเห็นชอบในวาระสาม ในวันที่ 17 มีนาคมนั้น เป็นการใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญล่าสุดที่พูดถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ
.
การดำเนินการของรัฐสภา ย่อมเป็นไปตามมาตรา 255 และ 256 รัฐสภาจึงมีมติให้ความเห็นชอบในวาระสามได้ และหลังจากนั้น ก็เข้าสู่การออกเสียงประชามติตามเงื่อนไขในมาตรา 256 (8) ต่อไป
.
-5-
.
ออกจากกรงขังรัฐธรรมนูญ 2560 สร้างความเป็นไปได้ใหม่ในการสถาปนารัฐธรรมนูญโดยประชาชน
.
เรื่องวุ่นๆของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ มีปฐมเหตุมาจาก คณะรัฐประหารยึดอำนาจมาแล้วต้องการสืบทอดอำนาจ จึงกำหนดกติกาผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 และไม่ต้องการให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกติกาเหล่านี้
.
หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญถูกสกัดขัดขวางก็ดี หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราถูกสกัดขัดขวางก็ดี นั่นหมายความว่า หนทางในการใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกปิดลง ถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะออกจากรัฐธรรมนูญ 60 ได้อย่างไร?
.
ผมเสนอว่า เราต้องนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในกรณีล่าสุดนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เปิดจินตนาการใหม่ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ออกไปจากกรงขังของรัฐธรรมนูญ 2560 เลิกเดินตามเกมที่พวกเขาขีดเส้นให้เราเดิน แล้วกลับมาฟื้นเอาอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนกลับมา
.
นั่นก็คือ การกลับไปหาอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน ด้วยการออกเสียงประชามติว่า “ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร้ข้อจำกัดหรือไม่”
.
อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนอย่างถาวรนิรันดรตลอดกาล
.
อำนาจนี้ไม่ใช่อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่มันคือ อำนาจตามสิทธิธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์ที่รวมตัวกันในชื่อ "ประชาชน"
.
การออกเสียงประชามตินี้ คือ การฟื้นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ มิใช่ ประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญตาม มาตรา 256 (8) มิใช่ประชามติในประเด็นสำคัญตามมาตรา 166
.
การออกเสียงประชามตินี้ คือ ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญรวมพลังและปรากฏกายขึ้น เพื่อตัดสินใจทำลายระบบรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ทิ้งให้หมด และก่อตั้งระบบรัฐธรรมนูญใหม่
.
ทำลายระบบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พวกเผด็จการ คสช.สร้างขึ้น
ก่อตั้งระบบรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน อย่างปราศจากข้อจำกัดใดทั้งสิ้น
.
#รัฐธรรมนูญใหม่ #แก้รัฐธรรมนูญ #ศาลรัฐธรรมนูญ #อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ #ประชาชน