วันพุธ, มีนาคม 03, 2564

เปิดคำให้การ "ทนายอานนท์" ในคดี 112 “ม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์” ในขั้นตอนสอบคำให้การ อานนท์ได้ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
9h ·

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 – พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ได้เดินทางเข้าพบอานนท์ นำภา ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีความที่สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือ หรือ “ม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมทั้งสอบคำให้การในเรือนจำเป็นเวลา 2 วัน
.
สำหรับเนื้อหาในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ระบุว่า ในคดีความนี้ซึ่งมี พ.ต.ท.สุธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา ภายหลังจากการแจ้งข้อกล่าวหาในครั้งแรก ต่อมาได้มีหนังสือจากสํานักงานอัยการพิเศษฝ่าคดีอาญา 7 สํานักงานอัยการสูงสุด แจ้งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตามมติของคณะทำงานฯ การบังคับใช้คดีหมิ่นฯ 112
.
เดิมในคดีนี้ อานนท์ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (เนื่องจากมีการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวเนื่องกันกับเนื้อหาการชุมนุมบนเฟซบุ๊กส่วนตัวของอานนท์เอง) และได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
.
+++ 19 ประเด็นปฏิรูปสถาบันและถ้อยคำประกาศเจตนารมณ์ของ อานนท์ นำภา +++
.
ในขั้นตอนสอบคำให้การ อานนท์ได้ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และได้ให้การในรายละเอียดแต่ละประเด็นของถ้อยคำปราศรัยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยแบ่งเป็น 19 ประเด็น (ให้การโดยละเอียด 6 ประเด็น ที่เหลืออานนท์แจ้งพนักงานสอบสวนว่าจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมในภายหลัง) อีกทั้งยังได้ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้
.
1. “เพื่อการอภิปรายที่กระชับมากขึ้น แนะนําให้ผู้ร่วมชุมนุมเย็นนี้อ่านบทความในหนังสือฟ้าเดียวกันฉบับส่งเสด็จ ก่อนฟังอภิปราย เพราะวันนี้อาจไม่ได้เท้าความไปไกลมากนัก อยากอภิปรายในเรื่องปัจจุบันมากกว่า หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการยื่นฟ้องพระมหากษัตริย์และพระราชินี ในความผิดข้อหาโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ต่อมาศาลได้มีคําสั่งคําพิพากษาให้ฝ่ายกษัตริย์เป็นฝ่ายแพ้คดี และต้องถูกอายัดทรัพย์สินรวมทั้งยึดวังสุโขทัยไว้ด้วย”
.
ในประเด็นนี้ ผู้ต้องหาอธิบายว่า ถ้อยคําปราศรัยดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง กล่าวโดยสุจริต และเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ จึงขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพยานเอกสาร ได้แก่ 1.) เอกสารสํานวนคดีระหว่าง กระทรวงการคลัง โจทก์ กับ ในหลวงรัชกาลที่ 7 จําเลย ฉบับรับรองสําเนาถูกต้อง 2.) ขอให้ออกหมายเรียกสําเนาโฉนดที่ดินและสารบบที่ดินทั้งหมดของวังสุโขทัยฉบับรับรองสําเนาถูกต้องเข้ามาในสํานวนคดี และขอให้ออกหมายเรียกพยานบุคคล ได้แก่ 1.) ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2.) ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ 3.) นาย ณัฐพล ใจจริง มาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การในประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะเนื้อหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
.
เหตุที่ต้องพูดและหยิบประเด็นในนี้ขึ้นมาอภิปราย เนื่องจากมีการออกกฎหมายถ่ายโอนทรัพย์สินสาธารณะมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ตามคําพิพากษาที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการโอนหุ้นในธนาคารไทยพาณิชย์ หรือการโอนหุ้นในบริษัทปูนซีเมนต์ไทย และบริษัทหรือหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเดิมหุ้นถูกถือในนามของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
.
2. “เราต้องยอมรับความจริงว่าที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุม เรียกร้องทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายคนต้องการจะตั้งคําถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ในเวทีชุมนุมมีการชูป้ายกล่าวอ้างถึงบุคคลที่อยู่ในเยอรมัน (โฮร้อง) มีการกล่าวอ้างถึงบุคคลที่เป็นนักบิน บินไปบินมา คํากล่าวอ้างเหล่านี้จะหมายถึงใครไปไม่ได้นอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเราครับพี่น้อง (ปรบมือ)”
.
ในประเด็นนี้ อานนท์ให้การขยายความว่า หลังจากที่มีการเปลี่ยนรัชสมัย ประชาชนได้ตั้งคําถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ข้อวิพากษ์วิจารณ์ถูกกดทับและปิดกั้นไม่ให้มีการพูดในที่สาธารณะ จนสิ่งที่ถูกกดทับไว้ได้ระเบิดออกมาภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรดานิสิต นักศึกษา และประชาชน ได้แสดงความกล้าหาญลุกขึ้นหยัดยืนขึ้นมาพูดถึงต้นตอของปัญหาของสังคมไทย การยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทําให้คนรุ่นใหม่หมดความอดทนต่อสังคมอันโสมม
.
การชุมนุมต่อเนื่องในหลายมหาวิทยาลัยสะท้อนความกล้าหาญของเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนและมุ่งเน้นในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันโดยการใช้ถ้อยคำเปรียบเทียบ ไม่ได้กล่าวถึงตรงๆ แต่นั่นไม่อาจทําให้ปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ ถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา คนรุ่นใหม่ที่แสดงออกเหล่านั้นถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี ปัญหาดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ได้เลย หากไม่ถูกพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา นั่นคือที่มาของการปราศรัย ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในนามของ “แฮรี่ พอตเตอร์” ซึ่งเป็นการพูดอย่างเคารพต่อตัวเอง ผู้ฟัง และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
.
ผู้ต้องหาเชื่อว่า การพูดอย่างตรงไปตรงมา สถาบันกษัตริย์เองจะใจกว้างและสังคมจะใจกว้าง เปิดใจรับฟังปัญหาอย่างมีวุฒิภาวะ อันจะนําไปสู่การแก้ไขปัญหาในสังคมด้วยวิธีการสันติวิธีและจะทําให้แก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน
.
3. “การตั้งหน่วยงานในพระองค์ขึ้นมาและบริหารไปตามพระราชอัธยาศัย การที่บอกว่าบริหารไปตามพระราชอัธยาศัยนั้น แปลเป็นภาษาบ้านเราคือบริหารไปตามใจของพระมหากษัตริย์ เหล่านี้เป็นการออกแบบกฎหมายที่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น”
.
ในประเด็นนี้ อานนท์ให้การว่า ข้อความข้างต้นเป็นที่มาของคําว่าการขยายพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ห่างจากระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กล่าวคือ เมื่อครั้งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็เนื่องจากว่า ระบอบเดิมไม่ได้ส่งเสริมให้ราษฎรได้มีสิทธิเสรีภาพ ประชาชนถูกปิดกั้นกดขี่อย่างไม่ชอบธรรม และการปกครองนั้นไม่ได้ถูกตรวจสอบ รายละเอียดปรากฏตามแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งทางผู้ต้องหาได้ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกไปยังหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลที่ครอบครองเอกสารดังกล่าวฉบับรับรองสําเนาถูกต้องเข้ามาในสํานวนคดีด้วย
.
อานนท์ยังกล่าวอีกว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น หมายถึง การปกรองที่อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ สามารถกําหนดผู้แทนเข้าไปใช้อํานาจในการบริหารประเทศ ในการตรากฎหมาย และมีศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งอํานวยความยุติธรรมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักการสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ องค์พระมหากษัตริย์ต้องดํารงตนเป็นหลักชัยแห่งสิทธิเสรีภาพและร่วมปกป้องระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งทําหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด เป็นประมุขของรัฐที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง
.
กระบวนการขยายพระราชอํานาจของสถาบันกษัตริย์ให้ถอยห่างออกจากประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ยังหมายรวมถึงการให้การรับรองอํานาจของคณะบุคคลซึ่งก่อการรัฐประหาร การใช้อํานาจจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาบริหารด้วยตนเอง ซึ่งขัดกับหลักการที่ว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทรงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง ดังจะเห็นได้จากการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนพระองค์ เป็นต้น การกระทําดังกล่าวมีการจําเป็นจะต้องหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง พระมหากษัตริย์จะลงมาปกครองด้วยตัวเองไม่ได้ นี่คือหลักการสําคัญของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ต้องหาจะให้การในรายละเอียดต่อไป
.
4. “พอมีการผ่านการออกเสียงประชามติมา เกิดการแทรกแซงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก คือเมื่อมีการผ่านประชามติออกมา ประยุทธ์ จันทร์โอชา นํารัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าพระมหากษัตริย์รับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญในสาระสําคัญอยู่หลายประการ ซึ่งถ้าในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เหตุการณ์นี้ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะนี่เป็นการแทรกแซงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ”
.
ในประเด็นนี้ อานนท์ระบุว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงจะต้องทําให้เป็นไปตามกฎหมาย กรณีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ผ่านการลงประชามติจากประชาชนแล้ว พลเอกประยุทธ์ฯ ได้นําขึ้นทูลเกล้าถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฯ แต่พระมหากษัตริย์ได้ทรงให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่ได้มีการลงประชามติแล้ว ปรากฏข่าวตามสื่อต่างๆ และพลเอกประยุทธ์ฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญบางส่วน
.
อานนท์ยังได้ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับลงประชามติ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ประกาศใช้ เข้ามาในสํานวนคดี และขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพยานบุคคล ดังนี้ 1.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสอบถามในประเด็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่ผ่านการออกเสียงประชามติที่ได้เสนอทูลเกล้าให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงลงพระปรมาภิไธยนั้นมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง ส่วนฉบับที่ได้มีการประกาศใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง เนื้อหาทั้งสองฉบับแตกต่างกันอย่างไร บุคคลใดเป็นผู้สั่งการให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงฉบับที่ผ่านการลงประชามติไปแล้ว
.
ส่วนอีกประเด็นคือ สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติไปแล้วนั้นสามารถทําได้หรือไม่ และการที่พระมหากษัตริย์มีคําสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมนั้นทําได้หรือไม่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก 1.) อาจารย์ธีระ สุธีวรางคกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.) อาจารย์ชํานาญ จันทร์เรือง มาให้การในประเด็นดังกล่าว
.
5. “การแก้ไขให้พระมหากษัตริย์กรณีที่ไม่อยู่ในประเทศไทยเนี่ยไม่ต้องตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ เราจึงได้เห็นพระมหากษัตริย์ของเราเสด็จไปประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมัน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นานๆ ครั้งจึงจะกลับมาที่ประเทศไทย ข้อเท็จจริงนี้พี่น้องทุกคนทราบ ทหาร ตํารวจทุกคนทราบ”
.
อานนท์ยืนยันว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องจริง โดยขอให้เรียกบุคคล ดังต่อไปนี้มาให้การยืนยัน 1.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ 2.) เอกอัครราชทูตไทยประจําประเทศเยอรมัน 3.) เลขาธิการพระราชวัง มาให้การในประเด็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงประทับอยู่ในประเทศไทยช่วงใดบ้าง เสด็จไปประเทศเยอรมันช่วงใดบ้าง เสด็จไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ช่วงใดบ้าง ในช่วงที่พระองค์เสด็จไปนั้นได้มีการแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ หากแต่งตั้งได้ แต่งตั้งใคร ให้เรียกคําสั่งแต่งตั้งเข้ามาในสํานวนคดีด้วย
.
ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเข้ามาในสํานวนคดี เพื่อเปรียบเทียบว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการเขียนไว้ว่า กรณีพระมหากษัตริย์ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศไทย ไม่จําเป็นต้องตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่
.
อานนท์ให้การอีกว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยมีภารกิจที่จะต้องรับผิดชอบต่อประเทศ นั่นคือต้องประทับอยู่เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย รวมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้าที่ในการลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายต่างๆ หรือเรื่องต่างๆ การที่พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จไปประทับต่างประเทศโดยไม่ตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์จึงกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ดังจะเห็นได้จากกรณีที่มีกฎหมายบางฉบับต้องรอให้เสด็จกลับมาประเทศไทยก่อนถึงจะสามารถลงพระปรมาภิไธย หรือการแต่งตั้งข้าราชการ หรือแต่งตั้งตุลาการ ทําให้บ่อยครั้งเกิดความล่าช้าเกินสมควร อานนท์ยืนยันว่า ตนได้ปราศรัยไปด้วยเจตนาที่ห่วงใยต่อประเทศชาติ ไม่ได้มีเจตนาจะใส่ร้ายหรือดูหมิ่นบุคคลใด หากไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาก็ยากที่จะแก้ไข
.
6. “ต่อไปนี้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พวกเราเป็นเจ้าของรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นสนามหลวงไม่ว่าจะเป็นพระราชวังไม่ว่าจะเป็นหุ้นซึ่งเดิมเป็นของพวกเราทุกคนที่ประเทศ ของเรารวมกันเนี่ย ต่อไปนี้จะตกเป็นของพระมหากษัตริย์บริหารราชการแผ่นดินไปโดยตามพระราชอัธยาศัยครับพี่น้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สําคัญแต่ไม่มีใครกล้าพูดถึง”
.
อานนท์ให้การว่า ข้อเท็จจริงที่ปราศรัยเรื่องพระราชอํานาจในการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นที่ชัดเจนตามพระราชบัญญัติจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 และ 2561 ทรงสามารถจัดการทรัพย์สินไปได้ตามพระราชอัธยาศัย ถ้อยคำปราศรัยที่พูดไปนั้นก็เพื่อที่จะไม่ให้ทรัพย์อันเป็นของราชบัลลังก์ถูกเปลี่ยนมือ เป็นเจตนาที่หวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเชื่อว่าคนในสังคมก็เห็นด้วยแต่ไม่กล้าพูดในประเด็นนี้ การเปลี่ยนมือดังกล่าวเริ่มกระทําอย่างซ้ำๆ เช่น หุ้นของ SCB และหุ้นของ SCG
.
.
อ่านรายละเอียดอื่นๆ https://tlhr2014.com/archives/26414


.....
อานนท์ นำภา
12h ·

ข้อความฝาก 2 มี.ค. 64
วันนี้มีข่าวดีนิดหน่อย ศาลยกฟ้องคดีที่ผมไปว่าความให้คนเสื้อแดงคดีหนึ่ง ชื่อพี่มดเอ็ก คดีก่อการร้าย ความจริงผมว่าความคดีก่อการร้ายมาทั้งหมด 4 คดี คดีแรกคือคดี นายเพชร แสงมณี คนกัมพูชา ถูกฟ้องพร้อมคนเสื้อแดง ว่าร่วมกันเผาธนาคารกรุงเทพ ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษายกฟ้อง คดีที่ 2 คือคดีลุงบัง ศาลก็ยกฟ้อง คดีที่ 3 คือคดีก่อการร้ายของลุงขายกาแฟ ศาลก็ยกฟ้องเช่นกัน
เราโชคดีมีผู้พิพากษาและอัยการที่มีใจเป็นธรรม ไม่ตกเป็นเครื่องมือของรัฐในการกดขี่ประชาชน ความจริงในทุกวงการก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี เพียงแต่คนไม่ดีเสือกมีอำนาจเท่านั้น พรุ่งนี้ผมต้องออกศาล คดีคนอยากเลือกตั้ง เป็นทั้งทนายความ เป็นทั้งจำเลย คงได้เจอหน้าคราตากัน
คิดถึงทุกคน