Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
Yesterday at 5:00 AM ·
"เราจะออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้อย่างไร?"
วันที่ 11 มีนาคม เราก็จะได้รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะ "ขวาง" ไม่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?
วันที่ 17 มีนาคม เราก็จะได้รู้ว่าสมาชิกวุฒิสภาจะ "ขวาง" ไม่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่?
หากศาลรัฐธรรมนูญหรือสมาชิกวุฒิสภาขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว นั่นหมายความว่า หนทางในการใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant dérivé) เพื่อเปิดทางไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ถูกปิดลง การกลับไปใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant dérivé) เพื่อแก้ไขรายมาตรา ก็คงยากลำบากอีก เพราะจะแก้ได้ในสิ่งที่วุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญพอใจเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะออกจากรัฐธรรมนูญ 60 ได้อย่างไร?
เหลือเพียงหนทางเดียวเท่านั้น คือ การกลับไปหาอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant originaire) ที่เป็นของประชาชน ด้วยการออกเสียงประชามติว่า ประชาชนผู้ทรงอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร้ข้อจำกัดหรือไม่
อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนอย่างถาวรนิรันดรตลอดกาล นี่ไม่ใช่อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่มันคือ อำนาจตามสิทธิธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์ที่รวมตัวกันในชื่อ "ประชาชน"
การออกเสียงประชามตินี้ คือ การฟื้นอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ มิใช่ ประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ
ในเมื่อใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วถูกสกัดขัดขวาง ก็คงเหลือเพียงหนทางเดียว กลับไปฟื้นให้อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
...
ผมเคยเขียนหนังสือ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ : การก่อตั้งรัฐธรรมนูญและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" เอาไว้เมื่อปี 2560 หลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ไม่นาน บทสรุปของงานชิ้นนี้ ผมได้เขียนถึงวิธีการในการออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 เอาไว้ เพราะ เล็งเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะไม่มีวันสำเร็จ มีแต่เพียงการรื้อฟื้นเอาอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนกลับมาเท่านั้น เราจึงออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้
ผมตัดตอนมาบางส่วน ดังนี้
"รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ปราศจากความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ที่มา ในแง่กระบวนการจัดทำ และในแง่เนื้อหา แต่กลับสร้าง “ป้อมปราการ” ปิดล้อมไว้อย่างแน่นหนาจนไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้ได้ในทางปฏิบัติ ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ เราจะหาทางออกจาก “กรงขัง” ได้อย่างไร?
หากดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ย่อมไม่มีทางสำเร็จแน่นอน ในทางกระบวนการแก้ไขนั้น เป็นไปได้เสมอที่เสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ในทางเนื้อหา การแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งทำได้เพียงประเด็นปลีกย่อย ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้ ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ จึงเหลือเพียงหนทางเดียวเท่านั้น คือ การกลับไปหาอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นของประชาชนอย่างนิรันดรและดำรงอยู่อย่างตลอดกาล
วิธีการกลับไปหาอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่า “ประชาชนเห็นชอบให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามมาตรฐานประชาธิปไตยหรือไม่” โดยการออกเสียงประชามติครั้งนี้ ต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามแบบประชาธิปไตยด้วย เมื่อประชาชนเห็นชอบให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ นั่นก็หมายความว่า ประชาชนผู้ทรงอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญตัดสินใจร่วมกันให้ทำลายระบบรัฐธรรมนูญลง เพื่อก่อตังระบบรัฐธรรมนูญใหม่เข้าแทนที่ จากนั้น ก็เข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป
กระบวนการยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิมและก่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่เข้าแทนที่ ต้องดำเนินการโดยเปิดพื้นที่ทางประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนมากที่สุด ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ เพื่อยืนยันว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน
แน่นอน รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ไม่ได้กำหนดให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้โดยใช้วิธีการออกเสียงประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ทั้งฉบับ แต่นี่คือ กระบวนการกลับไปหาอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ไม่มีอะไรที่จะชอบธรรมไปกว่าการกลับไปสู่ประชาชน กฎเกณฑ์ต่างๆตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ไม่อาจต้านทานขัดขวางการใช้อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนได้ เพราะ กฎเกณฑ์และองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ต่างก็เป็นเพียงอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ (pouvoir constitué) จึงมิอาจสู้กับประชาชนผู้ทรงอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญตัวจริง วิธีการเช่นนี้ เป็นวิธีการเรียกเอาอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญกลับมาโดยสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นประชาธิปไตย เราสามารถทำให้ประชาชนปรากฏกายให้เห็นเด่นชัดได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้การปฏิวัติประชาชน การติดอาวุธต่อต้านรัฐ หรือการยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีรุนแรง ระบบรัฐธรรมนูญถูกทำลายลงได้ด้วยการตัดสินใจของประชาชนตามวิธีการแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีความชอบธรรมสูงเด่นกว่าการทำลายระบบรัฐธรรมนูญโดยรัฐประหารยึดอำนาจโดยกองทัพดังที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย
หากการเรียกเอาอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนกลับมาโดยใช้วิธีการออกเสียงประชามติเช่นนี้ ถูกวุฒิสภาหรือศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นใดขัดขวางอีก นั่นหมายความว่า เราจะยินยอมให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ด้วยกำลังอาวุธและการรัฐประหารโดยกองทัพเท่านั้น แต่การแสดงออกซึ่งอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างสันติและชอบธรรม เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญกลับไม่อาจทำได้ อย่างนั้นหรือ? ไม่มีเหตุผลใดทั้งทางการเมืองและทางกฎหมายที่ถูกต้องและชอบธรรมเพียงพอที่จะขัดขวางการใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนได้อีกแล้ว นอกเสียจากว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นของประชาชน อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในประเทศไทยเป็นของคนอื่น
ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ต้องแสวงหาหนทางเปลี่ยนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญให้เป็นประชาชน"
สามารถอ่านบทสรุปทั้งหมดได้ที่ : https://progressivemovement.in.th/article/3582/
#รัฐธรรมนูญใหม่ #แก้รัฐธรรมนูญ #สวมีไว้ทำไม #ศาลรัฐธรรมนูญ