มาแล้ว ผอ.เขตลาดกระบังมาเอง
อ้อมค้อมหน่อยแต่ก็ถือว่าไม่สาย
เราขอบใจผู้อ่านที่ส่งผ่านมาให้เนื่องจากเขาเห็นว่า “เป็นการกล่าวเท็จในหลายๆ
เรื่อง” ซึ่งจะพิสูจน์ได้ก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงทั้งหมดได้ออกสู่สาธารณะตัดสิน
มิใช่การวินิจฉัยของหน่วยงาน องค์กร
แม้กระทั่งตุลาการใด ในสภาพที่ ‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’
‘ผู้ใหญ่ทำร้ายผู้น้อย’ และ/หรือ ซึ่งนักรัฐศาสตร์มักกล่าวเสมอว่า
“ชนใดเขียนกฎหมาย ก็เพื่อประโยชน์ของชนนั้น” ดังที่เป็นอยู่ในสังคมไทยไม่เหือดหาย
เราได้แจ้งแต่แรกแล้วว่า นำเสนอการร้องเรียนเรื่องผู้อำนวยการเขตลาดกระบังเมาเหล้าอาละวาดที่ร้านแสงจันทร์
และมีการเรี่ยไรจากพนักงานชั้นผู้น้อยเพื่อจัดงานเลี้ยงฉลองให้แก่เจ้านาย
เพื่อเป็นช่องทางให้แก่ ‘ผู้น้อย’
ได้ระบายความอัดอั้นของตน
เรายังบอกด้วยว่าเปิดรับการโต้ตอบและการเสริมเพิ่มเติม
แต่กลับปรากฏปฏิกิริยาจาก ผอ.เขตสั่งพักงานพนักงานกวาดผู้หนึ่งซึ่งแช้ทนินทานายกับเพื่อนทางไลน์
ถ้อยคำแช้ทจะ “ด่าผู้อำนวยการเขตด้วยถ้อยคำหยาบมาก”
แค่ไหน นอกเหนือจากที่เราได้นำเสนอไป ย่อมไม่เข้าข่าย “ฟังความข้างเดียว”
ที่หน้าเฟชบุ๊ค Verapat Momve กล่าวหาอย่างแน่นอน
และ ผอ.วีรภัทร์เขียนกระทบกระทั่งส่อเสียดว่า
“สำหรับ Thai E-new (s) ถ้ามีตัวตนจริง
ถ้ามีจิตสำนึกของสื่อ มาพบและดูข้อมูลจากผู้อำนวยการเขตได้ทุกเวลา
จะได้ยกระดับสื่อให้มีคุณภาพและประชาชนเชื่อถือได้สักทีนะครับ”
ขอชี้แจงว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปพบ
ผอ.เพื่อขอข้อมูลมากกว่านี้ เท่าที่ปรากฏเพียงพอชี้ให้เห็นความเป็นผู้บริหารของทั่นมากแล้ว
ส่วนตัวตนของเราถ้าทั่นไม่ได้เห็นคงไม่มีปฏิกิริยาออกมาในรูปนี้
แต่จะให้ยกระดับคุณภาพแบบทั่นละก็ ‘ขออภัย ไม่เอา’
ส่วนประเด็นที่ว่า “ประชาชน (จะ) เชื่อถือได้สักที”
นั้นไม่ใช่เราหรือ ‘ทั่น’ จะตัดสินหรือแอบอ้าง
ประชาชนผู้อ่านการสื่อสารของเรานั่นต่างหากเป็นผู้วินิจฉัย
ต่อกรณีที่เฟชบุ๊ค Verapat Momve
เขียนชี้แจงว่า “บุคคลภายนอกดังกล่าว เคยถูกผู้อำนวยการเขตฟ้องเป็นคดีอาญามาแล้ว
แต่ได้ถอนฟ้องคดีเนื่องจากจำเลยขอโทษ และแจ้งต่อหน้าศาลว่าเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน”
นั้นรับทราบได้
หากคนทั่วไปย่อมต้องตระหนักไว้ด้วยว่า
ในกระบวนตุลาการไทย การรับสารภาพมิใช่การยอมรับว่ากระทำผิดเสมอไป ในเมื่อกฎหมายหลายอย่างมิได้เป็นไปตามหลักนิติธรรมสากล
ที่ผู้ถูกกล่าวหาย่อมบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิดจริง
ในกระบวนการศาลไทยหลายคดีกลายเป็นตรงข้าม ที่ผู้ถูกกล่าวหามีผิดเมื่อถูกฟ้อง
และต้องเป็นฝ่ายหาหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหา (ลอยๆ) ของผู้ฟ้อง และผู้ถูกตัดสินว่าผิดจำยอมสารภาพทั้งที่ไม่ได้กระทำผิดเพื่อให้ได้รับการผ่อนโทษเบาลง
อีกทั้งกรณีที่ ผอ. “แจ้งให้ทราบทั่วกันว่า
บุคคลภายนอกที่ว่านี้...มีเจ้าหน้าที่เขตและเคยอยู่เขต ร่วมมือเป็นกระบวนการ” ก็ตรงกับที่เคยมีผู้ร้องเรียนต่อไทยอีนิวส์ว่า
“ใครที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับตัวเองก็จะถูกข่มขู่ถูกสั่งย้าย สั่งพักงานอย่างไม่เป็นธรรม
ด้วยผู้มีอำนาจของ กทม.ให้ความร่วมมือ”
คำอ้างของ ผอ.ว่า “การสอบสวนคนงานเบื้องต้นได้สอบสวนพูดคุยต่อหน้าคณะผู้บริหาร
ไม่ได้สอบสวนตามลำพัง ไม่มีการข่มขู่ คุกคามตามที่ไทย อี นิว (ส์) เสนอ”
ก็ต้องนำไปประกบกับข้อต่อสู้ของผู้ร้องเรียนด้วย ที่ว่า
“ในวันนั้น มีผู้บริหารมาร่วมจริงแต่ไม่ใช่สอบปากคำ
แต่มาช่วยกันข่มขู่เจ้าหน้าที่เพราะกลัวเจ้าหน้าที่ผู้นี้จะส่งข้อมูลหลักฐานการทุจริตของตัวเองกับพวกให้คนนอก”
(ดูภาพประกอบที่ ผอ.โพสต์เองจะเห็นบรรยากาศ)
การที่ ‘บุคคลภายนอก’
ดัง ผอ.พาดพิงว่า “ไม่สำนึก” ทั้งที่ตกเป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทหลายคดี
ที่โดน ผอ.แจ้งความไว้ อาจเป็นเพราะ ผู้น้อยถูกผู้ใหญ่ข่มเหง “จึงโกรธแค้น” ทั้งที่กำลังน้อยกว่าแต่ไม่ยอมสยบ
สมคบกับผู้ที่ตกชะตาเดียวกัน ‘ฮึดสู้’
คำขู่ของ ผอ.อีกว่า “ซึ่งคนงานรายนี้หากไม่สำนึกก็จะฟ้องเป็นคดีอาญาเช่นกัน”
หากเกิดเป็นเช่นนั้นขึ้น เราก็ยินดีเป็นปากเสียงให้แก่ ‘ผู้น้อย’ คนนั้นอีกเช่นกัน