วันศุกร์, ตุลาคม 04, 2562

#SCHOOLSTRIKE 4 เหตุผลที่คนรุ่นใหม่ไม่ทนกับโลกร้อน





#SCHOOLSTRIKE 4 เหตุผลที่คนรุ่นใหม่ไม่ทนกับโลกร้อน


เรียบเรียง: นลินี มาลีญากุล
The Potential


“มันขึ้นกับว่าคุณอ่านการศึกษาเรื่องใด ซึ่งงานชิ้นนั้นอาจให้ผลสรุปที่มองโลกในแง่ดีเกินไป หรือมองโลกในแง่ร้ายเกินไป”

มาร์ค เออร์เบิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยคอนเนคติคัต กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่หลายฝ่ายหันมาศึกษาภาวะโลกร้อนกันอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะเขาเชื่อว่า ต่างฝ่ายต่างต้องการให้ผลการศึกษาไปตรงกับประเด็นที่กลุ่มองค์กรนั้นๆ จะหาประโยชน์ได้จากมัน ดังนั้นโลกร้อนจึงควรถูกทำความเข้าใจใหม่ เพื่อให้ผู้คนกลับมามองมันจากความจริงที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด

ท่ามกลางเสียงเล็กเสียงน้อยที่ธรรมชาติทั่วโลกแอกชั่นให้เราเห็นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีคนตั้งแง่ต่อขบวนการเคลื่อนไหวกู้โลกร้อนของเยาวชนทั่วโลกให้เห็นกันอยู่ บ้างก็ว่าเรื่องนี้มันพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้มากน้อยแค่ไหน เอาเวลาไปเรียนให้ดีก่อนดีกว่าไหม โลกร้อนแล้วยังไงต่อ?

สถิติต่างๆ ที่แม้แต่ เกรตา ธุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมชาวสวีดิชวัย 16 ปี เอามาพูดก็ยังดูจับต้องได้ยาก บวกกับความจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆ ในชีวิตของผู้คน จึงไม่แปลกที่โลกร้อนจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ หลายคนบอกว่ามันเป็นปัญหาที่รอได้ ท่ามกลางความจำเป็นอื่นที่ต้องจัดการในชีวิต ขอโฟกัสเรื่องอื่นที่ใกล้ตัวและจำเป็นก่อน

แต่เดี๋ยวก่อน พฤติกรรมเก็บเล็กผสมน้อยในชีวิตประจำวันของพวกเรานี่แหละ ที่รวมก้อนกันแล้วอาจจะยิ่งใหญ่มหาศาล รู้ตัวอีกทีโลกก็ปะทุพลังร้อนจนอยู่ไม่ไหว สำคัญที่สุด นี่คือ 4 เหตุผล (อย่างน้อย) ที่อธิบายว่าทำไมโลกร้อนจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และมันส่งผลกระทบต่อเราในระดับชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง ที่สำคัญคือ ส่งผลต่อคนรุ่นใหม่ที่จะอยู่ในโลกร้อนๆ ใบนี้ต่อในอนาคต

เป็นเหตุผลว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่ยอมทน ขอลุกขึ้นมา #SchoolStrike ในทุกๆ #Friday

อ้างอิงจากอินสตาแกรม เกรตา ธุนเบิร์ก จำนวนผู้คนที่ออกมา #SchoolStrike ในวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ประเมินว่าอยู่ที่ราว 170,000 คน จาก 170 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่ในจำนวนนั้นคือ…คนรุ่นใหม่

โลกร้อนเพาะเชื้อโรคติดต่อชนิดใหม่ และรีเทิร์นโรคที่หายไปนาน

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยส่งเสริมให้เจ้าเชื้อโรคต่างๆ ฟักตัวและเติบโตได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้นนอกจากโลกร้อนจะนำพาให้โรคหลายชนิดที่เคยหายไปจากประเทศไทยกลับมาโลดเต้นและระบาดเป็นวงกว้างอีกครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้โลกร้อนยังอาจทำให้โรคที่รุนแรงอยู่แล้วแพร่ระบาดไปได้ไกลกว่าเดิมอีกด้วย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโรคที่เกิดขึ้นใหม่และโรคที่หายไปนาน แต่อยู่ๆ ก็เกิดซ้ำขึ้นมาอีกหลายชนิด

  • โรคที่เกิดขึ้นมาบ้างแล้ว เช่น โรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคไข้เลือดออก อีโบลา โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา โรคไข้หวัดนก โรคไข้เหลือง โรคชิคุนกุนยา โรคมือเท้าปากจากเชื้อเอาเทอโรไวรัส 71 โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) รวมถึงโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่ด้วย 
  • โรคที่เกิดขึ้นและกำลังระบาดในประเทศไทยก็คือ โรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส หรือพูดให้เห็นภาพก็คือ อาการติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงเยื้อหุ้มสมอง ที่พบได้จากการรับประทานเนื้อหมูนั่นเอง

ยังมีโรคที่ชื่อพอจะคุ้นหูอยู่บ้างอย่าง โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจเฉียบพลันรุนแรงอีกด้วย

นอกจากนั้น ภาวะโลกร้อนยังส่งผลโดยตรงต่อวงจรชีวิตของยุงทั้งหลาย เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้วงจรชีวิตของยุงสปีดเร็วขึ้น ดังนั้นปริมาณเชื้อโรคในตัวยุงที่เป็นพาหะก็จะเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดดเรื่อยๆ ส่งผลให้เจ้ายุงตัวเล็กๆ นี้ยิ่งแทรกซึมไปได้ทุกที่ยิ่งกว่าเดิม เพิ่มเติมคือโรคระบาดจากยุงจะไม่ได้เกิดแค่เฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้ในทุกฤดูกาล เพราะอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ นี้เองที่ยิ่งทำให้โลกเป็นพื้นที่อุ่นๆ สำหรับการขยายพันธุ์ของยุงตัวน้อยนี้ไปได้เรื่อยๆ 

ภัยพิบัติหนักขึ้น อุณหภูมิสูงทำลายการสังเคราะห์แสงของพืช ซึ่งหมายถึงโภชนาการอาจลดลง

น้ำท่วมอุบลอาจจะเป็นแค่จุดสตาร์ทที่ทำให้เราเริ่มเอะใจ แต่จากตัวเลขของศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตรพบว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2560 นั้น สร้างความเสียหายให้ภาคการเกษตรของประเทศไม่ต่ำกว่า 14,198.21 ล้านบาท

หากนำตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มาพูดต่อน่าจะไกลตัวไปนิด เรื่องของเรื่องก็คือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ พบว่า ความแปรปรวนของภูมิอากาศทั้งหมดนี้จะทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญภัยพิบัติ เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะฝนแล้ง

ที่สำคัญคือ หากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ข้าวกำลังออกดอก ทั้งหมดจะกระทบต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงและการเจริญเติบโตของต้นข้าว และแน่นอน ผลผลิตที่ได้ก็จะลดลงตามไปด้วย

อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นยังมีผลต่อการเติบโตและอยู่รอดของพืชการเกษตรที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย อย่าง ข้าวโพด และอ้อย ซึ่งนำไปแปรรูปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์อย่าง ไก่ หมู หรือวัวอีกที

ย้อนกลับไปที่ความรู้วิทยาศาสตร์สมัยประถม ว่ากันง่ายๆ ก็คือ หากพืชไม่สังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างอาหารของพืชพรรณ ก็จะทำให้การเติบโตชะลอตัวหรือหยุดชะงัก พืชไปต่อไม่ได้ การเกษตรทำได้ยากขึ้นทุกวัน เกษตรกรต้องพบกับความไม่แน่นอนในการประกอบอาชีพ คิดในแง่ดีก็คือ ไทยอาจจะต้องเสียเงินนำเข้าผลผลิตการเกษตรที่จำเป็นมากขึ้น ซึ่งประเทศที่เรานำเข้าทั้งหลายนี้ก็น่าจะประสบภัยธรรมชาติไม่ต่างกัน ในที่นี้ เด็ดดอกไม้อาจจะไม่สะเทือนถึงดวงดาว แต่อุณหภูมิไม่กี่องศานั้นสะเทือนถึงปากท้องทุกคำที่เราตักกิน

หากอุณหภูมิเพิ่มสูงอีก 4.5 องศา สัตว์น้อยใหญ่จะค่อยๆ สูญพันธุ์อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ทางการออสเตรเลียออกมาประกาศการสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการของ หนูเมโลมีส์ ซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยเพียงแห่งเดียวบนเกาะทรายขนาดเล็กที่ชื่อ แบรมเล เคย์ ที่น้ำทะเลสูงขึ้นและเข้าท่วมจนหนูเหล่านี้ไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เจ้าหนูที่ว่าจึงกลายเป็นสัตว์ชนิดแรกที่สูญพันธุ์อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน

การสูญพันธุ์ที่ว่าสอดคล้องกันกับรายงานของมหาวิทยาลัย Jams Cook และองค์กรภาครัฐที่ทำงานร่วมกัน ที่ว่าพื้นที่ 35 แห่งสำคัญทั่วโลกที่มีความโดดเด่นในเชิงระบบนิเวศและเป็นที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ซึ่งรวมถึงพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงของเราเอาไว้ด้วยนั้น หากอุณหภูมิโลกยังคงสูงขึ้นอีกเพียง 4.5 องศาเซลเซียส ก็อาจจะทำให้เกือบ 50% ของสายพันธุ์สัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาติสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ

พอพูดว่าสัตว์ป่าขึ้นมาก็อาจจะไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่อย่าลืมว่าสัตว์ทุกตัวนั้นมีผลต่อระบบนิเวศโดยรวม และที่แน่ๆ สัตว์ท้องถิ่นที่ว่า ก็หมายรวมถึงกุ้ง หอย ปู ปลา ที่อยู่ตามธรรมชาติและเป็นอาหารของเราๆ ท่านๆ

โลกร้อนยังอาจกระทบต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ ซึ่งเจ้าสัตว์น้ำที่ว่านั่นก็รวมถึงแซลมอน ปลาทูไทย หรืออื่นๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมนูที่เราโปรดปรานกันมาแต่ไหนแต่ไร 

ผู้อพยพทั่วโลกจะเพิ่มมากขึ้น และที่อยู่อาศัยก็จะน้อยลงเรื่อยๆ

โลกร้อนดูไม่น่าเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องผู้อพยพ แต่จากตัวเลขในรายงาน UN Climate Change ชี้ให้เห็นกันชัดๆ ว่า มีประชากรกว่า 17.2 ล้านคนทั่วโลกที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของแหล่งที่อยู่อาศัย อันเนื่องมาจากความปั่นป่วนของสภาพอากาศที่ทำให้ถิ่นที่อยู่เกิดภัยแล้ง น้ำท่วม พายุเข้า แหล่งอาหารหดหาย สภาพความเป็นอยู่ก็เลยย่ำแย่ตามไปด้วย

ซึ่งทั้งหมดนั้นผลักให้ประชากรหลายล้านคนต้องละทิ้งถิ่นฐาน เพื่ออพยพไปสู่แผ่นดินอื่นๆ ที่ยังพอจะฝากเนื้อฝากตัวไว้ได้

จากการคาดการณ์ของ ​UN ยังพบว่า หากน้ำทะเลยังคงเพิ่มระดับสูงขึ้น ผู้คนที่อาศัยในถิ่นฐานที่ใกล้กับภาคผิวน้ำก็อาจจะต้องกระชับพื้นที่เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ แบบไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะแผ่นดินที่เคยอยู่มาหลายชั่วคนนั้นไม่สามารถเดินเหินได้อีกต่อไป

ลองมองกลับมายังประเทศไทย เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่อีสาน โดยเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานีที่เกิดขึ้นไม่นานนี้นั้น น่าจะพอทำให้เห็นภาพความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะจู่โจมเราเมื่อไหร่ เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน ความไม่แน่นอนเหล่านี้นี่แหละที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ผู้คนค่อยๆ มองหาถิ่นฐานที่ดูจะมั่นคงกว่าในที่สุด

อ้างอิง
https://www.bbc.com/https://www.seub.or.th/
http://www.pidst.net/http://kb.hsri.or.th/
https://www.bangkokbiznews.com/
https://www.tcijthai.com/
http://www.fao.org/
https://interactive.carbonbrief.org
https://truthout.org/
https://www.mercycorps.org/
https://www.bbc.com/

  • #SchoolStrike คือแฮชแท็กจากคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมทนกับสถานการณ์ ลุกขึ้นมาเรียกร้องและเคลื่อนไหว และอธิบายว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
  • เพราะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลกระทบหลายด้าน เช่น ทำให้โรคที่หายไปแล้วกลับมา, ทำลายการสังเคราะห์แสงของพืช, สัตว์น้อยใหญ่จะค่อยๆ สูญพันธุ์, จำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้น แต่ที่อยู่อาศัยน้อย