วันพุธ, ตุลาคม 02, 2562

"ถึงแม้เราจะมีมุมมองที่ต่างกัน แต่ก็ควรจะมีความเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ลดอคติ ไม่ก้าวก่ายกัน แค่นี้ต่างฝ่ายก็ต่างดูหนังกันได้อย่างมีความสุขแล้ว" BBC Thai เปิดใจคน "ไม่ยืน"





เพลงสรรเสริญพระบารมี : เบื้องหลังความคิดสาววัย 27 ปีที่ถูกเชิญออกจากโรงหนังเพราะไม่ยืนแสดงความเคารพ


บีบีซีไทย
เมื่อ 9 ชั่วโมงที่แล้ว


ค่ำวันเสาร์ที่ 28 ก.ย. 2562 หญิงคนหนึ่งเข้าไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ในห้างสรรพสินค้าย่านฝั่งธนบุรีที่ใช้บริการเป็นประจำ และเหมือนทุกครั้งที่เข้าโรงหนังในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เธอไม่ได้ยืนแสดงความเคารพเมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้นก่อนที่หนังจะเริ่มฉาย

ครั้งที่ผ่าน ๆ มา การ "ไม่ยืนในโรงภาพยนตร์" ก่อให้เกิดเสียงซุบซินนินทาหรือถูกคนในโรงมองเขม่นบ้าง แต่คราวนี้พนักงานหญิงของเครือเมเจอร์ฯเดินตรงมาหาและเชิญเธอ ออกไปยืนข้างนอก เธอปฏิเสธและเลือกที่จะยืนอยู่ตรงบันไดใกล้ที่นั่งพร้อมกับเอ่ยถามพนักงานหลายครั้งว่า การเชิญออกเป็นนโยบายของบริษัทใช่หรือไม่

เมื่อถูกถามซ้ำ ๆ พนักงานจึงตอบเธอว่านี่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน เป็นวัฒนธรรม พอเพลงจบ เธอได้รับอนุญาตให้กลับไปนั่งที่เดิม


เพลงสรรเสริญพระบารมี : จาก "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร" ถึงกิจกรรม "ไม่ยืนในโรงภาพยนตร์"
เพลงสรรเสริญพระบารมี : คนดูหนังจำนวนหนึ่งร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "ไม่ยืนในโรงภาพยนตร์"


เธอเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้โลกโซเชียลฟังทางทวิตเตอร์ บัญชีของเธอมีผู้ติดตามไม่ถึง 300 คน แต่ข้อความที่บอกเล่าเหตุการณ์ "ถูกขอให้ออกจากโรง" ในวันนั้น ถูกรีทวีตมากกว่า 56,000 ครั้งในเวลาไม่นาน ส่งผลให้แฮชแท็ก #แบนเมเจอร์ พุ่งเป็นเทรนด์อันดับหนึ่งของทวิตเตอร์ ตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่ถึง 1 เดือนหลังจากมีการจัดกิจกรรมไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ หรือ "Not Stand at Major Cineplex" เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ซึ่งเป็นการนัดหมายออนไลน์โดยเฟซบุ๊กเพจ "นักการมีม" ที่ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว

เครือเมเจอร์ กรุ๊ป ตอบสนองต่อเรื่องนี้ทันควันด้วยการออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ชี้แจงว่า บริษัทฯ ไม่มีนโยบายเชิญลูกค้าออกจากโรงภาพยนตร์



"กรณีพบเห็นผู้ไม่ลุกยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ทางบริษัทจะขอความร่วมมือให้ลุกยืนเพื่อถวายความเคารพ ซึ่งถือปฏิบัติต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่จะไม่มีการเชิญลูกค้าออกจากโรงภาพยนตร์แต่ประการใด เพราะบริษัทไม่มีนโยบายให้เชิญลูกค้าออกจากโรงภาพยนตร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของท่านลูกค้า จึงเรียนมาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง" เครือเมเจอร์ กรุ๊ป ชี้แจงบนหน้าเฟซบุ๊ก

หญิงคนดังกล่าวให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยถึงเหตุผลที่ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ โดยเธอไม่ขอเปิดเผยชื่อ แต่ให้ข้อมูลกับเราว่า เธออายุ 27 ปี เป็นคนที่ชอบท่องเที่ยว หาประสบการณ์ใหม่ ๆ มีความสุขกับการถ่ายรูป ชอบเสพงานศิลปะและชอบอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ ส่วนแนวภาพยนตร์ที่ชอบคือฟิล์มนัวร์ของฝรั่งเศส บีบีซีไทยสรุปมาเป็น บทถาม-ตอบ ดังข้างล่างนี้

ทำไมถึงเลือกที่จะไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง

เพราะเรามองว่าโรงหนังคือพื้นที่ที่ให้ความบันเทิง เราเสียค่าตั๋วมาเพื่อเสพงานศิลปะภาพยนตร์ จึงไม่คิดว่าเรื่องตรงนี้จะเป็นปัญหาใหญ่อะไร เพราะคิดว่าเป็นสิทธิ นี่คือหลักสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นขั้นพื้นฐาน เราคิดว่าการร้องหรือยืนเคารพเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นน่าจะเหมาะกับงานพิธีในวันสำคัญต่าง ๆ มากกว่าจะเปิดในโรงภาพยนตร์

ทำมาหลายครั้งหรือยัง

ทำมาได้ 2-3 เดือนแล้ว เพราะเราอยากจะลองแสดงจุดยืนที่แตกต่างบ้าง ซึ่งเราก็ได้รู้มาว่า พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ 2485 ที่มีบทลงโทษปรับและจำคุกคนที่ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วน พ.ร.บ. วัฒนธรรมฯ 2553 ที่บังคับใช้ในปัจจุบันเน้นเรื่องการส่งเสริมวัฒนธรรมเท่านั้น ซึ่งไม่มีบทลงโทษตรงนี้แล้ว




ครั้งแรกที่ไม่ยืนรู้สึกอย่างไรบ้าง

ก็รู้สึกถึงความกดดันพอสมควร แต่เราก็คิดว่าตรงนี้คือพื้นที่ของเรา สิทธิของเรา แล้วเราก็ไม่ได้ไปทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน เพราะเราเองก็ไม่ได้แสดงกริยาที่ไม่สุภาพเลย นอกจากนั่งอยู่ในความสงบเท่านั้น

คนรอบข้างมีปฏิกิริยาอะไรบ้าง

ครั้งก่อน ๆ ไม่มีพนักงานมายุ่งเลย ส่วนคนอื่นที่อยู่ในโรงเดียวกันก็มีซุบซิบนินทาบ้าง โดนมองบ้าง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ในเมื่อเราต้องการที่จะแสดงจุดยืนที่แตกต่าง เราก็ต้องยอมรับความกดดันตรงนี้ให้ได้

หากการกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงจุดยืนบางอย่าง จุดยืนของคุณคืออะไร

จุดยืนของเราคือ ต้องการให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วย (กับการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี) เปิดใจยอมรับความคิดที่แตกต่างของการมาดูหนัง และเปิดโอกาสให้คนกล้าที่จะแสดงจุดยืนของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งตรงนี้เรามองว่ามันจะไม่เป็นประเด็นอะไรเลย ถ้าต่างฝ่ายต่างยอมรับความคิดของกันและกัน ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น คิดว่าแค่นี้ก็อยู่รวมกันได้โดยไม่มีปัญหาแล้ว

การที่เราแสดงจุดยืนของตัวเอง เป็นการพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าจะมีคนยอมรับกับการกระทำแบบนี้มั้ย ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถามว่ากลัวมั้ย บอกตรง ๆ ว่าตอนที่เริ่มคิดจะทำก็กลัวเหมือนกัน มีหวั่น ๆ อยู่บ้าง แต่จากครั้งที่ผ่าน ๆ มาไม่เคยมีปัญหาเลย คนอื่นก็ยืนของเขาไป เราก็นั่งของเราไป อาจจะมีโดนด่าบ้าง แขวะบ้าง แต่เราก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา คือถ้าคุณคิดจะทำอะไรที่แตกต่าง การที่มีคุณจุดยืนเป็นของตัวเองและกล้าที่จะทำ มันก็เหมือนเป็นกระบอกเสียงเพื่อให้คนที่มีจุดยืนเดียวกัน กล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น




คิดว่าควรยกเลิกการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนังหรือไม่

จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องยกเลิกหรอก เพียงแต่อยากจะให้โฟกัสไปที่เรื่องสิทธิมากกว่า ใครอยากจะยืนก็ยืน ใครอยากจะนั่งก็นั่ง เพราะมันก็เป็นสิทธิของแต่ละคน ต่างคนต่างมีความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งก็ไม่มีใครผิดใครถูก เป็นความคิดที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่อยากเห็นก็คือ ถึงแม้เราจะมีมุมมองที่ต่างกัน แต่ก็ควรจะมีความเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ลดอคติ ไม่ก้าวก่ายกัน แค่นี้ต่างฝ่ายก็ต่างดูหนังกันได้อย่างมีความสุขแล้ว

การยอมรับความเห็นที่แตกต่างในสังคมไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

เกิดขึ้นได้ถ้ามีคนกล้าที่จะแสดงจุดยืนของตัวเองออกมามากขึ้น ต้องกล้าที่จะเรียนรู้และยอมรับถึงความแตกต่าง ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้เป็นที่ยอมรับในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นก็ได้