วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2562

"ฟ้าเดียวกัน" แนะนำหนังสือ 8 เล่มที่อภิรัชต์ต้องอ่าน (The King Never Smiles ไม่ติดเหรอ ?)





8 เล่มที่อภิรัชต์ต้องอ่าน

จากการที่ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้บรรยาย "แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง" เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในการบรรยายแม้จะอ้างว่าเป็นเสรีภาพ และความปรารถนาดี แต่ทั้งเนื้อหาที่เต็มไปด้วยอคติ และสถานะของข้าราชการที่ต้องวางตัวเป็นกลาง แต่กลับแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เพื่อโจมตีพรรคการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมือง

ขณะที่ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ พูดถึง 8 Hybrid Warfare ดังนั้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ก็ขอเสนอ 8 เล่มที่อภิรัชต์ต้องอ่าน ด้วยเช่นกัน

#อภิรัชต์ต้องอ่าน #ฟ้าเดียวกัน



1. ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย
กุลดา เกษบุญชู มี้ด

หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่า อะไรคือแรงผลักดันเบื้องหลังการเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย และเหตุใดมันจึงเสื่อมลงในเวลาเพียงชั่วศตวรรษ หนังสือเล่มนี้ยังพยายามแสดงให้เห็นว่า ในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นได้มีการหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ที่จะทำลายระบอบในตัวมันเองลง โดยเฉพาะการสร้างระบบราชการสมัยใหม่อันเป็นกลไกที่ทรงประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากแต่กลับกลายเป็นกลไกที่กลืนกินตัวเอง สิ่งนี้สะท้อนจากความไม่พอใจภายในระบบราชการที่ก่อตัวและปะทุขึ้นจนนำมาสู่เหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130



2. การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

ในการบรรบายของ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ นั้นมอง 2475 ในแง่ร้ายในการคุกคามสถาบันกษัตริย์ และใครก็ตามที่พูดถึง 2475 คือผู้ราย แต่หนังสือ การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 นั้นแสดงให้เห็นว่ารัฐรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยก่อน 2475 นั้นเสื่อมเพียงใด และนี่เป็นความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ รวมทั้ง 2475 ยังธำรงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ด้วย



3. ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย
ธงชัย วินิจจะกูล

ในหัวของ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ นั้นเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ที่ท่องจำกันมา หนังสือเล่มนี้ จะพาอภิรัชต์ได้กลับไปลงเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันใหม่อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการเรียนรู้แบบไม่จำเป็นต้องท่องจำอะไรเลย ทว่าถูกท้าทายให้หัดคิดและตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา หนังสือเล่มนี้จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ประวัติศาสตร์ในระดับมูลฐาน ให้ภาพรวมของกระแสความเคลื่อนไหวของวิทยาการประวัติศาสตร์ไทยที่พยายามออกนอกขนบ เสนอแนะทฤษฎีวิพากษ์ทั้ง post-national, postmodern, post-colonial history และทฤษฎีที่ให้มุมมองเชิงพื้นที่ รวมไปถึงตัวอย่างการปรับใช้ทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้ในการวิเคราะห์วิพากษ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่ว่าอภิรัชต์จะไม่ต้องมาพูดแบบนี้อีก



4. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ
ประจักษ์ ก้องกีรติ

ท่าทีต่อต้านคอมมิวนิสต์ของ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ คือมรดกสงครามเย็น แม้จะกลายเป็นอดีตไปแล้วจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน และการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หนังสือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ จะชี้ให้เห็นถึงบทบาทของนักศึกษาปัญญาชนในยุคสงครามเย็นพร้อม ๆ กับแสดงให้เห็นถึงการก่อตัวของความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย



5. รัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน
ปิยบุตร แสงกนกกุล

ที่ผ่านมาตำรับตำราเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญของนักวิชาการไทย ส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่ที่การอธิบายเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ และที่ดีขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นการศึกษารัฐธรรมนูญ เปรียบเทียบของประเทศต่างๆ หรือประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางการเมืองของเรา งานของปิยบุตร ได้ชี้ชวนให้เราให้ความสำคัญและทำความเข้าใจต่อความหมายที่เป็นแก่นแกนของสิ่งที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญ” ในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองของมนุษย์



6. คนไทย/คนอื่น
ธงชัย วินิจจะกูล

ในการบรรบายของ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ นั้นมักจะผูกขาดความเป็น "คนไทย" ไว้กับตัวเองขณะที่ใครที่คิดไม่เหมือนก็จะกลายเป็น "คนอื่น" หนังสือเล่มนี้จะชักนำให้เราต้องทบทวนอคติใหม่หมด เพราะแต่ละบทจะค่อยๆ ชำแหละให้เห็นว่าอคติเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นอย่างไร



7. ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน
ประจักษ์ ก้องกีรติ

งานเขียนของ ประจักษ์ ก้องกีรติ บางชิ้นแม้จะเขียนขึ้นหลายปีแล้ว แต่เมื่อนำมาอ่าน ณ ปัจจุบัน ก็ต้องพูดยังมีความร่วมสมัยกับสถานการณ์ในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย ที่เป็นเช่นนี้มิใช่เพราะผู้เขียนมีความสามารถในการพยากรณ์การเมืองไทยได้ล่วงหน้า แต่คงเป็นเพราะการเมืองไทยย่ำอยู่กับที่เสียมากกว่า เพราะทุกครั้งที่เราเผชิญปัญหาความขัดแย้ง เราใช้วิธีการที่ (ผิดพลาด) แบบเดิม ๆ มาแก้ไข และเพราะเหตุนั้น เราจึงวนกลับมายืนอยู่ ณ จุดเดิมเสมอ การอ่านหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้พล. อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ได้พ้นไปจากความเชื่อเดิม ๆ



8. นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง : ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2475-2550
สมชาย ปรีชาศิลปกุล

พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ กล่าวหาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองว่าจะโยงไปถึงการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ หนังสือเล่มนี้จะชวนให้เห็นถึง ความผันแปรของบทบัญญัติในหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ รวมไปถึงข้อถกเถียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมก็ไม่อาจปฏิเสธถึงความเป็น "การเมือง" ในบทบัญญัติเหล่านี้ได้