วันเสาร์, ตุลาคม 05, 2562

โครงการบันทึก 6 ตุลา: พวงทอง ภวัครพันธุ์ 43 ปี 6 ตุลา สังคมไทยควรได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์





โครงการบันทึก 6 ตุลา: พวงทอง ภวัครพันธุ์ 43 ปี 6 ตุลา สังคมไทยกับความรุนแรงที่ไม่เคยคลี่คลาย


ที่มา The Momentum
OCT 4, 2019


อะไรคือจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’

เราต้องการให้มันเป็นสถานที่รวบรวมข้อมูล เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวกับ 6 ตุลา โดยนำข้อมูลเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มพูดถึง 6 ตุลามากขึ้น แต่ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีไม่มาก ถ้าดูคนที่ทำวิจัยเกี่ยวกับ 6 ตุลาอย่างต่อเนื่องยาวนานจริงๆ อาจจะมีแค่คนเดียวคือ ศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล

ในความเป็นจริงเราพบว่ายังมีข้อมูลอีกหลายประการเกี่ยวกับ 6 ตุลาที่ยังไม่มีคำตอบ ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นข้อมูลพื้นฐาน เช่น เราเชื่อกันมาตลอด 40 ปีว่าคนที่ถูกแขวนคอที่สนามหลวงมีแค่คนเดียว แต่ช่วงปี 2559 เราค้นพบเพิ่มว่าอาจจะมีอย่างน้อย 5 คน ผู้ชายที่ถูกแขวนคอในรูปที่ได้รางวัลพูลิตเซอร์จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร และยังมีอีกหลายคนที่เรายังไม่รู้ว่าเขาคือใคร มาจากไหนกันบ้าง ทั้งที่มันคือข้อมูลพื้นฐานที่เราควรจะรู้มาตั้งนานแล้ว แสดงว่าที่ผ่านมาเราพูดถึง 6 ตุลา แต่เราละเลยที่จะศึกษา และทำความเข้าใจมันจริงๆ

ดังนั้น เราจึงตั้งศูนย์บันทึกข้อมูล 6 ตุลา เพื่อให้คนหันมาสนใจและศึกษาค้นคว้าข้อมูลมากขึ้น ดิฉันคิดว่า ถ้าศึกษาเรื่อง 6 ตุลาอย่างลึกซึ้ง น่าจะทำให้เราเข้าใจสังคมไทยในมิติที่เรามองข้าม และมอบบทเรียนหลายอย่างให้สังคมไทยได้อีกมาก

สังคมไทยควรได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บ้าง

14 ตุลาคม 2516 ถูกเรียกว่าเป็นชัยชนะของภาคประชาชน ซึ่งทำให้ภาคประชาชนเข้ามาในพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น แต่ 6 ตุลา 2519 คือความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตยที่จบลงด้วยความรุนแรงและกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่อาจารย์ธงชัยบอกว่า ‘ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’

เราปฎิเสธไม่ได้ว่า 6 ตุลาเคยเกิดขึ้น แต่สังคมไทยกลับไม่อยากพูดถึงมัน หรือพูดแบบขอผ่านไปที เช่น ในหนังสือเรียนก็จะไม่พูดถึงเหตุการณ์นี้ เพราะมันเป็นสภาวะที่สร้างความอิหลักอิเหลื่อให้กับผู้มีอำนาจหรือสถาบันทางอำนาจที่เคยเกี่ยวข้องกับ 6 ตุลา เช่น กองทัพ หรือ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ซึ่งต่างยังมีอำนาจมาถึงปัจจุบัน และย่อมไม่อยากให้สังคมมองว่ามีส่วนในการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนผู้บริสุทธิ์

การไม่พูดถึงมันอย่างตรงไปตรงมาแสดงว่ามันมีหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ หรือมีบางอย่างที่มันน่ารังเกียจจนไม่อยากพูดถึง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันท้าทายต่อสังคมไทยว่าสิ่งที่ไม่อยากพูดถึงคืออะไร และถึงเวลาที่เราควรจะพูดถึงมันอย่างตรงไปตรงมาหรือยัง เพื่อทำให้เราเข้าใจถึงกลุ่มที่มีอำนาจในสังคมมากขึ้น และยังป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก

มันมีหลายบทเรียนจากเหตุการณ์ 6 ตุลา หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ‘ความรุนแรง’ เราเห็นภาพจำนวนมากที่บ่งบอกถึงการทำร้ายศพ ศพของผู้เสียชีวิตถูกมวลชนที่บ้าคลั่งรุมทำร้าย เช่น แขวนคอ เก้าอี้ฟาด ไม้ฟาด เตะ ถีบ หรือบางคนถูกกรีดตลอดทั้งหน้าอกและใบหน้า ผู้หญิงคนหนึ่งถูกยิงด้วยกระสุนสามนัด ยังถูกเอาไปเปลือยอนาจาร มันสะท้อนถึงความป่าเถื่อนอย่างมาก

การทำร้ายศพต่อหน้าคนจำนวนมาก แสดงว่าต้องมีความเกลียดชังอย่างสูง จึงมีคำถามว่าอะไรที่ทำให้คนไทยในตอนนั้นเกลียดชังนักศึกษามากขนาดนั้น ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป คนเหล่านั้นยังเป็นเด็ก เป็นเยาวชนอายุ 18 – 22 ปี ทำไมถึงกลายเป็นเหยื่อของความเกลียดชังได้ขนาดนี้ คำตอบที่เราได้ในปัจจุบัน คือมันเกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อของ ‘ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย’ ที่ทำให้นักศึกษาปัญญาชนไม่ได้เป็นนักศึกษาในสายตาเพื่อนร่วมชาติอีกต่อไป

อยากให้เล่าถึงความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตหรือผู้สูญหายไป ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลา

มันเริ่มจากตอนที่เราเตรียมทำภาพยนต์สารคดีเรื่อง “Respectfully Yours (ด้วยความนับถือ)” เราต้องการให้ภาพยนต์เรื่องนี้บอกเล่าถึงตัวตนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา เพราะตลอด 40 ปีที่เรารำลึกถึงเหตุการณ์ เราพูดถึงและรู้จักผู้เสียชีวิตในฐานะปัจเจกชนน้อยมาก เราเลยต้องการจะทำหนังที่บอกเล่าว่าก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เขาเป็นอย่างไร เขาเป็นใครในครอบครัวของเขา ครอบครัวเขามีความหวังกับเขาอย่างไร และมันเกิดผลกระทบอย่างไรกับครอบครัวเขาหลังที่เขาเสียชีวิต

เพราะเราเชื่อว่า การที่จะทำให้คนในสังคมไทยเคารพในสิทธิในชีวิตของคนอื่น คุณต้องทำให้สังคมมองผู้สูญเสียเป็นปัจเจกชนที่มีคุณค่า และการสูญเสียเขาไปมันสร้างบาดแผลให้กับคนรอบข้างอย่างไรบ้าง

ตอนที่เราไปตามหาญาติหรือเพื่อนสนิท บางคนเขาก็เต็มใจคุยกับเรา อย่างกรณีคุณชุมพล ทุมไมย พี่ชายของคุณชุมพร ทุมไมย ช่างไฟฟ้าที่เสียชีวิตและถูกแขวนคอที่ประตูแดงที่นครปฐมก่อนหน้า 6 ตุลา ตอนโทรไปเขาก็ร้องไห้ใหญ่เลย เขาบอกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครมาติดตามหาเขา และเขายินดีอย่างมากที่เราจะไปสัมภาษณ์ เขาไม่กลัว เขาพูดด้วยความรู้สึกคับแค้นว่า เขาสูญเสียน้องชายไปโดยไร้ซึ่งความยุติธรรม ทุกวันนี้เวลาพูดถึงน้องชาย เขาก็ยังร้องไห้อยู่

มีบางคนที่เราไปสัมภาษณ์ในปี 2559 และหลังจากนั้นสองวันก็โทรมาบอกว่าขออย่าให้เปิดเผยหน้าได้ไหม เพราะเขากลัว เขารู้ว่าสังคมอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ทหารมีอำนาจ เขาโยงไม่ได้หรอกว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวข้องอย่างไรกับ 6 ตุลา แต่เขารู้สึกว่ามันมีความต่อเนื่องบางอย่างอยู่ แต่ก็มีบางคนที่ไม่ยอมให้สัมภาษณ์ เขาบอกว่าสัมภาษณ์ไปก็ไม่เห็นจะได้อะไรขึ้นมา เขาไม่เชื่อว่าเขาจะได้รับความยุติธรรม และเขาก็ไม่อยากจะเข้าไปเสี่ยงกับเรื่องแบบนี้

เมื่อหวนกลับไปมอง 6 ตุลา 2519 มาจนถึง 6 ตุลา 2562 อาจารย์มองว่าบริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของไทย ก้าวหน้าหรือถอยหลังอย่างไรบ้าง

ทั้งสองช่วงเวลา มีบรรยากาศของความเกลียดชังรุนแรงพอกัน เพียงแต่ว่าในสมัยนี้ ทุกฝ่ายมีสื่อไว้ใช้เกทับกันและกัน และต่างฝ่ายต่างก็มีฐานสนับสนุนจำนวนมากเหมือนกัน ตัวอย่างกรณี การปราบปรามกลุ่มคนเสื้อแดงโดยภาครัฐช่วงพฤษภา 2553 ไม่ได้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่มาจากแรงกดดันของชนชั้นกลางขณะนั้นที่เปิดไฟเขียวให้กับรัฐบาล

ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ขณะนั้น มองคนเสื้อแดงว่าเป็นพวกบ้านนอก ไร้การศึกษา แม้กระทั่งมองเป็นเชื้อโรคด้วยซ้ำ พวกเขามองว่าคนเสื้อแดงเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองของไทย ทำให้ชนชั้นกลางที่มีการศึกษาที่เกลียดทักษิณ พลอยเกลียดคนเสื้อแดงไปด้วย

ในแง่สิทธิเสรีภาพ มีหลายเรื่องที่ดิฉันคิดว่าไม่เปลื่ยนแปลง เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ยังดำรงอยู่ และถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานคนที่คิดต่างทางการเมือง ในแง่ของเสรีภาพของสื่อก็มี ขึ้น–ลง ถ้าอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน สื่อก็จะค่อนข้างมีเสรีภาพมาก แต่ถ้าอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร สื่อมวลชนก็จะไม่กล้าวิจารณ์รัฐบาลทหารมากขนาดนั้น แม้กระทั่งสื่อที่บอกว่ากล้าตรวจสอบการคอร์รัปชัน พอถึงรัฐบาลทหารก็จะเห็นว่าความกล้านั้นลดลงไปมาก

เราจะเห็นว่าภายหลังการรัฐประหาร 2557 วัฒนธรรมการเมืองของไทยถอยหลังลงไปเยอะ มีความอนุรักษ์นิยมขึ้นมากในทุกระดับรวมถึงแวดวง ‘การศึกษา’ มีการใช้ความรุนแรงระหว่างครูและนักเรียนมากขึ้น ทั้งที่ ช่วงคุณจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ก็เริ่มมีการให้สิทธิเสรีภาพนักเรียนมากขึ้น เช่น ยกเลิกบังคับตัดผม อย่างในมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้การบังคับใส่เครื่องแบบนักศึกษาหรือพิธีกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยก็กลับมาเป็นเรื่องสำคัญและเคร่งครัดมากขึ้น

นโยบายของรัฐบาลทหารก็มีส่วน เช่น การสนับสุนนให้คนแต่งชุดไทย สนับสนุนความเป็นไทย ต่อต้านค่านิยมตะวันตก หรือเรื่องค่านิยม 12 ประการ ซึ่งเป็นค่านิยที่อนุรักษนิยมมากและไม่ทันโลก ซึ่งคนบางกลุ่มที่อยู่ในสถาบันการศึกษาก็ชอบตรงนี้ ทำให้บรรยากาศโดยรวมมีความอนุรักษนิยมมากขึ้น 

อาจารย์คิดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้วัฒนธรรมการเมืองของประเทศเราถอยหลังได้ถึงขนาดนี้

ดิฉันคิดว่าสำหรับคนรุ่นใหม่ สาเหตุหนึ่งมาจากความกลัว เขาคงเห็นว่าการลุกขึ้นมาประท้วง มันมีการบาดเจ็บ เสียชีวิต แต่ท้ายที่สุดกลับไม่ได้อะไร คนตายไม่สามารถมาเฉลิมฉลองชัยชนะอะไรได้ ทำให้ไม่มีใครอยากเสี่ยง หรืออาจไม่ถึงขึ้นกลัวการบาดเจ็บ เสียชีวิต แต่กลัวเรื่องหน้าที่การงานในอนาคต คนรุ่นใหม่คงเห็นว่าถ้าอยากประสบความสำเร็จในอาชีพ เช่น เข้ารับราชการหรือทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีจุดยืนทางการเมืองแบบไหนถึงจะอยู่ได้ อย่างเวลาไปสมัครงาน ถ้าเขาพบว่าเคยโพสต์ในอะไรเฟซบุ๊ก เคยเป็นคนหัวรุนแรง ก็จะเข้าไปทำงานได้ยาก เพราะฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่อาจคิดว่าเขาน่าจะมีโอกาสชีวิตที่ดีกว่า ถ้าเขาไม่เอาตัวเองเข้ามาเสี่ยงกับการเมือง

แต่หากถามว่า อะไรที่ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ ‘ขี้กลัว’ ดิฉันคิดว่ามีสองสาเหตุ ประการแรก เพื่อนนักข่าวต่างชาติที่เคยอยู่ภูมิภาคนี้ของดิฉันเคยตั้งข้อสังเกตว่า ‘คนไทยยอมรับอำนาจรัฐสูงมาก’ เมื่อเทียบกับประชาชนในประเทศอื่นของเอเชีย ยกตัวอย่างที่เราได้ยินกันบ่อยๆ คือ ‘ต้องยอมรับตามคำพิพากษาของศาล’ ทั้งที่ในความเป็นจริงควรตั้งคำถามได้ว่า กฏหมายหรือคำตัดสินมันแฟร์หรือเปล่า เช่น กรณีตำรวจวิสามัญฆาตกรรมประชาชน ซึ่งโดยทั่วไป ตำรวจที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกไต่สวนว่า การวิสามัญนั้นมันชอบธรรมหรือไม่ แต่ในบ้านเราทำกันจนเป็นเรื่องปกติ จนไม่มีการตั้งคำถามว่าถูกหรือผิด เราเคยชินกับความเชื่อว่า ถ้าให้อำนาจที่เด็ดขาดแก่รัฐ สังคมจะมีความสงบเรียบร้อย อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งในการสนับสนุนรัฐประหาร

สอง เป็นผลพวงของ ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ประสบการณ์ที่ประชาชนถูกปราบปรามหลายครั้ง ทั้งในช่วง 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35 (ล้มรัฐบาลของพล.อ.สุจินดา คราประยูร), พฤษภา 53 (การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์) ไม่มีครั้งไหนเลยที่ภาครัฐสามารถเอาคนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงนั้นมาลงโทษได้ แล้วใครล่ะ อยากจะเสี่ยงชีวิตของตัวเอง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐไม่เคยมีความพยายามอย่างจริงจังที่จะนำตัวผู้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนมาลงโทษ แม้กระทั่งตอนพฤษภาคม 35 ที่ประชาชนเป็นฝ่ายชนะและทำให้รัฐบาลของพล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องลงจากอำนาจ ก็ยังไม่มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะเอาคนที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี ก็เลิกกันไป นิรโทษกรรมกันไป เพราะว่ามีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมที่บอกว่า ถ้าไปเอาผิดเขาแล้วมันจะก่อให้เกิดความไม่พอใจ เขาอาจจะตีโต้กลับมาแล้วมันอาจจะยิ่งทำให้โอกาสที่จะพัฒนาประชาธิปไตยชะงักงัน

คิดว่าในอนาคต มีโอกาสที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมเหล่านี้อีกครั้งไหม

คิดว่ามีโอกาส เพราะฝ่ายที่มีอำนาจตั้งแต่ปี 2557 เห็นได้ชัดว่าไม่ยอมประนีประนอมทางอำนาจ ไม่ให้พื้นที่กับฝ่ายประชาชน และไม่ฟังเสียงความไม่พอใจของประชาชน รวมถึงตอนนี้ เขามั่นใจในอำนาจของเขามากว่า สามารถควบคุมกลไกของรัฐได้ทั้งหมด จนไม่ต้องสนใจประชาชน

ความไม่แยแสเหล่านั้น แสดงออกมาในเรื่องการถวายสัตย์ ไม่ยอมตอบคำถามในสภา รวมถึงกรณีคุณสมบัติของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า พวกเขาไม่สนใจว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไร พวกเขาพูดเรื่องความโปร่งใส และคนดี แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นอีกแบบหนึ่ง แม้กระทั่งการเกรี้ยวกราดใส่ประชาชนหรือสื่อมวลชนช่วงน้ำท่วม ก็เป็นตัวอย่างของการมั่นใจในอำนาจของตัวเองจนไม่แยแสว่าใครจะรู้สึกอย่างไร

ในแง่ฝ่ายตุลาการ หลายคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาก็ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพิงกระบวนการยุติธรรมได้ ยิ่งเป็นการผลักให้ประชาชนจนตรอกด้วยความรู้สึกคับแค้น แต่ก็บอกไม่ได้ว่าความแค้นนี้จะระเบิดออกมาเมื่อไร เพราะว่าประชาชนก็ไม่อยากเสี่ยงชีวิตตัวเองเหมือนกัน แต่ความคับแค้นก็เหมือนหม้อเดือดที่ถูกฝาปิด ยิ่งปล่อยไว้นานวัน ยิ่งไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่ระเบิดออกมา

หากไม่ต้องการให้สังคมไทยเดินหน้าสู่ความรุนแรง ฝ่ายชนชั้นนำต้องยอมที่จะรับฟังเสียงประชาชน ยอมที่จะถอยทางการเมือง เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่ากลัวเสียจนไม่ยอมประนีประนอม เช่น กรณีของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ไม่มีสิทธิ์เข้าสภา แม้จะได้รับเสียงเลือกตั้งอย่างมหาศาลก็ตาม

ก่อนหน้านี้ อำนาจของฝ่ายขวาคืออำนาจในการให้คุณ–โทษ โดยใช้พระเดช–พระคุณ ความรัก–ความกลัว ควบคู่กันไป ซึ่งอิทธิพลของความรักได้กลายเป็นอุดมการณ์หลักของชาติ แต่ในตอนนี้ ความรักมันลดลงเรื่อยๆ เหลือแต่ความกลัว และอาจจะลดลงอีกใน 5 ปีข้างหน้า เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่มีความรู้สึกร่วมเหมือนเดิมอีกแล้ว และถ้าเศรษฐกิจยิ่งแย่ลง และทำให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังจะขึ้นมาตกงาน พวกเขาอาจจะไม่ทนก็ได้

มีความหวังว่าสังคมจะได้รับอะไรบ้างจาก ‘โครงการบันทึก 6 ตุลา’

เราจะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่อง 6 ตุลาเยอะ โดยเฉพาะปรากฏการมิวสิควิดีโอ ‘ประเทศกูมี’ ที่ทำให้เขาอยากจะรู้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมันคืออะไร ก่อนหน้านี้ รูปเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างเช่น รูปที่คนถูกแขวนคอและฟาด ถ้าเอาให้ใครดู เขาจะไม่เชื่อว่าเกิดขึ้นในเมืองไทย เขาจะบอกว่าเป็นหนังฮอลลีวู้ดหรือเปล่า เกิดขึ้นในเขมรหรือเปล่า เขาไม่เชื่อว่าคนไทยจะทำอะไรแบบนี้กันได้

แต่ในปัจจุบัน เราเริ่มเห็นแล้วว่าสังคมไทยมีศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรงต่อกันขนาดไหน และมันได้ทำลายภาพมายาคติที่คนไทยเชื่อว่า เราเป็นสังคมพุทธ เราไม่ทำร้ายกัน เรารักกัน ซึ่งดิฉันคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นรายวัน คนตีกัน ยิงกัน เจ้าหน้าที่รัฐพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชน แม้กระทั่งขับรถ เราก็ยังไม่คำนึงถึงชีวิตของกันและกัน ซึ่งตราบเท่าที่สังคมไทยยังเชื่อในมายาคติเหล่านี้ เราจะมองข้ามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และจะไม่เห็นความสำคัญของการที่จะต้องแก้และป้องกันปัญหานี้

โครงการบันทึก 6 ตุลา เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่จะตอกย้ำให้สังคมเห็นว่าจริงๆ แล้วสังคมนี้มันเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง แต่อย่างว่า—เราก็ตระหนักว่า เราก็เป็นแค่เสียงส่วนน้อย เสียงที่เราพูด ข้อมูลที่เราสื่อ ดิฉันไม่แน่ใจว่าจะมีถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ไหมที่จะได้รับสารจากเรา

FACT BOX

  • ‘โครงการบันทึก 6 ตุลา’ เป็นความพยายามรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มาไว้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ภาพหลักฐาน ผู้เสียชีวิต-สูญเสีย ตลอดจนองค์ความรู้ที่สังคมไทยควรได้รับ ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมไทยหันมาตระหนักและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว มากกว่าถูกกลบฝังให้ลืมตามความพยายามของรัฐ
  • ในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2562 โครงการบันทึก 6 ตุลา ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน ‘เสวนาวัตถุพยานกับความทรงจำ’ ในโอกาสเปิดนิทรรศการ ‘ประจักษ์ I พยาน’ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเวลา 10.00-20.00 น.โดยจะมีทั้งวิทยากร ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง และนักวิชาการ ร่วมกันเสวนาในประเด็นนี้ พร้อมนำหลักฐานที่โครงการเก็บไว้ออกมาจัดแสดง

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มที่
https://themomentum.co/interview-puangthong-pawakapan-doct6/