1 ปี ความเคลื่อนไหวคดี ‘สหพันธรัฐไท’: ดำเนินคดีอย่างน้อย 20 คน ใน 11 คดี
โดย admin010
25/09/2019
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เดือนกันยายนนี้ ครบรอบ 1 ปี ของการจับกุมบุคคลเกี่ยวกับ “องค์การสหพันธรัฐไท” เริ่มปรากฏเป็นข่าวสาธารณะ ในช่วงเริ่มแรกนั้น การจับกุมผู้มีเสื้อสีดำลายธงขาวสลับแดงนั้น จะสร้างความงุนงงว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับอะไร ดูเหมือนสาธารณชนหรือแม้แต่ผู้ติดตามทางการเมืองเอง ก็จะไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับองค์กรนี้ และเหตุใดเจ้าหน้าที่ทหารต้องควบคุมตัวบุคคลที่ครอบครองเสื้อหรือสัญลักษณ์ดังกล่าว
องค์การที่ถูกเรียกว่า “สหพันธรัฐไท” นั้น รายงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในช่วงปี 2561 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกนำมาใช้กล่าวหาบุคคลในคดีต่างๆ ระบุว่าเป็นกลุ่มที่ต่อต้าน คสช. ซึ่งได้หลบหนีไปเคลื่อนไหวในประเทศลาว โดยมีแกนนำหลัก 5 คน ได้แก่ นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ “โกตี๋”, นายวัฒน์ วรรลยางกูร, นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง”, นายสยาม ธีรวุฒิ หรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง” และนายกฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด”
กลุ่มนี้ถูกระบุว่ามีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านรัฐบาล ต่อต้าน คสช. และสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทย จากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยหวังจะแบ่งแยกพื้นที่การปกครองของประเทศออกเป็นมลรัฐต่างๆ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระบุว่ากลุ่มดังกล่าวมีการเผยแพร่แนวความคิดผ่านทางโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการจัดรายการวิทยุทางช่อง Youtube หรือที่เรียกกันว่า “วิทยุใต้ดิน” โดยแกนนำสามรายหลัง ได้แก่ ชูชีพ, สยาม และกฤษณะ มีการจัดรายการร่วมกันในนาม “สามทหารเสือ” กลุ่มดังกล่าวยังมีการเผยแพร่สัญลักษณ์ประจำกลุ่ม ได้แก่ ธงสีขาวสลับแดง และมีการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ โดยการจัดทำเสื้อยืดสีดำและสติกเกอร์ แจกจ่ายให้สมาชิก และยังมีการเผยแพร่ใบปลิวไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วย
ในรายชื่อกลุ่มแกนนำดังกล่าว วุฒิพงศ์ หรือ “โกตี๋” ปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ว่าเขาหายตัวไปจากสถานที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ จะเผยแพร่ข้อมูลยืนยันข่าวจากบุคคลใกล้ชิด ว่าโกตี๋ได้ถูกกลุ่มชายชุดดำ ประมาณ 10 คน คลุมใบหน้าด้วยหมวกไหมพรม พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าจับกุมตัวไปจากบ้านพัก เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 60 และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครทราบชะตากรรมของเขาอีก ทำให้ความเกี่ยวข้องของโกตี๋กับการเคลื่อนไหวกรณีสหพันธรัฐไทในช่วงปี 2561 ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด
ต่อมา ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 ยังปรากฏข่าวการถูกอุ้มหายไปของผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งเคลื่อนไหวจัดรายการวิทยุทางการเมือง และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศลาวอีกกลุ่มหนึ่ง จำนวน 3 ราย ได้แก่ สุรชัย แซ่ด่าน, ไกรเดช ลือเลิศ, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ ก่อนไม่กี่อาทิตย์ถัดมา ในช่วงปลายเดือนเดียวกัน จะพบศพของบุคคลสองรายหลัง ถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม และถูกทิ้งศพอยู่ในแม่น้ำโขง
สถานการณ์ดังกล่าวก็ทำให้ความเคลื่อนไหวทางโลกออนไลน์ของ “สามทหารเสือ” ค่อยๆ เงียบหายไปในช่วงเวลาเดียวกันด้วย กระทั่งเดือนพฤษภาคม 2562 “ภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน” ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า “สามทหารเสือ” ชูชีพ, สยาม และกฤษณะ ได้ถูกทางการเวียดนามส่งตัวกลับมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 62 หลังจากทั้งสามคนถูกจับกุมตัวระหว่างพยายามเข้าเมืองผิดกฎหมายจากประเทศลาว ตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนมกราคม แต่ทางการไทยปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องการส่งตัวทั้งสามคนกลับมาแต่อย่างใด ทำให้จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ทราบชะตากรรมของทั้งสามคน
มารดาของสยาม ธีรวุฒิ ยังคงติดตามการหายตัวไปของลูกชาย โดยไม่ทราบชะตากรรม
ด้านวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนอิสระ อีกหนึ่งผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในกรณีสหพันธรัฐไท ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 รายงานข่าวโดยบีบีซีไทย ระบุว่าวัฒน์ได้เดินทางลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม คือประเทศฝรั่งเศสแล้ว
ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยเอง แม้ผ่านมากว่า 1 ปี และผู้ที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศจะประสบกับภาวะความรุนแรงและการหายสาบสูญดังกล่าว จนไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอีก ก็ยังมีรายงานการจับกุมดำเนินคดีบุคคลจากกรณีเกี่ยวกับสหพันธรัฐไทอยู่เป็นระยะ โดยเป็นการนำพฤติการณ์ในช่วงปี 2561 มาใช้กล่าวหา ทั้งในหลายคดีก็กำลังดำเนินขึ้นสู่ชั้นศาล
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 จนถึงกันยายน 2562 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกรณีที่เกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท แล้วอย่างน้อย 20 ราย โดยแยกเป็นจำนวนคดีอย่างน้อย 11 คดี
ข้อกล่าวหาหลักที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้แจ้งความดำเนินคดี หรือตำรวจใช้ตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาในกรณีนี้ ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหายุยงปลุกปั่น และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 หรือข้อหาอั้งยี่
ด้วยข้อหาที่หนักเช่นนี้ ทำให้ผู้ต้องหาแต่ละรายต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวตั้งแต่ 2 แสนบาทขึ้นไป บางคดีในระยะหลังต้องใช้หลักทรัพย์สูงถึง 6 แสนบาท ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาบางคนไม่มีหลักทรัพย์ในการยื่นประกันตัว จนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 2 ราย ที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี ขณะที่ผู้ต้องหาบางรายที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัว แต่ก็ได้ถูกสั่งให้มีการติดอุปกรณ์ติดตามตัว หรือกำไล EM เป็นเงื่อนไขในการประกันตัว (ดูรายงาน ติด ‘EM’ ไว้กับตัวผู้ต้องหา ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิประกันตัว?)
กันยายน 2561: ทหารตามจับผู้ครอบครองเสื้อสัญลักษณ์
ข่าวเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจติดตามจับกุมบุคคลจากการครอบครองและซื้อขายเสื้อสีดำ ที่มีตราสัญลักษณ์ธงลายสีขาวพาดแดงขนาดเล็กอยู่บริเวณหน้าอก แต่ไม่ได้มีข้อความอื่นใดบนเสื้อดังกล่าว ปรากฏครั้งแรกในช่วงต้นเดือนกันยายน 2561
ในช่วงดังกล่าว (6 ก.ย. 61) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการติดต่อจากญาติของผู้ถูกควบคุมตัว 2 ราย ได้แก่ นางสาวสุรางคณาง (นามสมมติ) ช่างเสริมสวยย่านเขตประเวศ และนางวรรณภา (สงวนนามสกุล) คนขับจักรยานยนต์รับจ้างย่านสำโรง ในวัย 30 ปี โดยญาติระบุว่าทั้งสองคนถูกเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบมากกว่า 10 นาย เข้าตรวจค้นบ้านพักและห้องเช่า ก่อนถูกควบคุมตัวไปยังค่ายทหาร ซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นมณฑลทหารบกที่ 11
กรณีสุรางคณางนั้น เจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจยึดเสื้อสีดำที่มีตราสัญลักษณ์ลายขาวสลับแดง จำนวน 1 ตัว เจ้าหน้าที่มีการสอบถามถึงที่มาของเสื้อ และสั่งห้ามเธอใส่หรือซื้ออีก ทั้งยังมีการตรวจสอบประวัติการใช้งานโทรศัพท์ และให้เธอลงนามในเอกสารไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก ก่อนปล่อยตัวในช่วงค่ำวันนั้น โดยเธอไม่ได้ถูกดำเนินคดี
ขณะที่นางวรรณภา ถูกเจ้าหน้าที่ทหารพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับการซื้อขายเสื้อยืดดังกล่าว ทำให้เธอถูกควบคุมตัวไว้ใน มทบ.11 ถึง 6 วัน ก่อนจะถูกนำตัวไปส่งที่กองปราบปรามเพื่อดำเนินคดี ข้อหามาตรา 116 และอั้งยี่ ต่อมาเธอถูกส่งตัวฝากขังต่อศาล และได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบว่าในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันนี้ ได้มีประชาชนที่ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ควบคุมตัวในมทบ. 11 และนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา ในกระบวนการเช่นเดียวกับนางวรรณนภาไปก่อนแล้ว อีก 3 ราย ได้แก่ นายกฤษณะ อายุ 32 ปี อาชีพพนักงานขับรถส่งของ, นายเทอดศักดิ์ อายุ 32 ปี อาชีพพนักงานพาร์ทไทม์ และนางประพันธ์ อายุ 58 ปี อาชีพเปิดร้านนวด
ทั้งสามคนได้ถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่กองปราบปรามตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. 61 ก่อนถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาล และถูกคุมขังในเรือนจำอยู่หลายวัน ต่อมาญาติของผู้ต้องหาแต่ละราย ได้ทยอยยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์รายละ 4 หมื่นบาท ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัว โดยมีเงื่อนไขให้ใส่อุปกรณ์ติดตามตัว และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
หลังจากนั้น พบว่าเจ้าหน้าที่ทหารยังมีการเข้าควบคุมตัวบุคคลอีกหนึ่งราย เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 61 คือนางสาวจินดา อายุ 55 ปี แม่ค้าจากจังหวัดชลบุรี ซึ่งเธอก็ถูกนำตัวไปควบคุมที่ มทบ.11 ก่อนนำตัวไปแจ้งข้อหาที่กองปราบปราม จินดาถูกฝากขังและไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัวในช่วงแรก ทำให้ถูกคุมขังกว่า 1 เดือนเศษ จนญาติมายื่นประกันตัวและศาลอนุญาต ด้วยหลักทรัพย์ 40,000 บาท เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 61
รวมแล้วเหตุการณ์ในช่วงเดือนกันยายน 2561 มีการควบคุมตัวบุคคลไปในค่ายทหารอย่างน้อย 6 คน ในจำนวนนี้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีต่อมาทั้งหมด 5 คน โดยทั้งหมดถูกอัยการสั่งฟ้องเป็นคดีเดียวกันต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 61 โดยกล่าวหาว่าทั้งห้าคนได้เคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไทและประชาชนทั่วไป ผ่านการแจกใบปลิวและขายเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท ทำให้เข้าข่ายความผิดในสองข้อหาข้างต้น
ในคดีนี้ ต่อมามีจำเลยหลบหนีไปจำนวน 1 ราย ขณะจำเลยที่เหลือให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลอาญาได้กำหนดวันนัดเริ่มสืบพยานในช่วงวันที่ 19-22 และ 26-27 พ.ย. 62 นี้
5 ธันวาคม 2561: ควบคุมตัวบุคคลอย่างน้อย 34 คน ดำเนินคดีอย่างน้อย 9 คดี
หลังจากเหตุการณ์ในเดือนกันยายน “สหพันธรัฐไท” เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสื่อออนไลน์ ปลายปีนั้น “ลุงสนามหลวง” ได้มีการประกาศเชิญชวนให้ผู้ฟังของเขาร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการรวมตัวกันใส่เสื้อสีดำไปตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้า ในวันที่ 5 ธ.ค. 61 ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีการติดตามจับตาสถานที่ต่างๆ อย่างเข้มงวดในวันดังกล่าว
อีกทั้ง ในช่วงหลังจากนั้น คือวันที่ 9 ธ.ค. 62 ยังมีการจัดกิจกรรม “ปั่นอุ่นไอรัก” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 จะมาทรงร่วมปั่นจักรยานรอบเกาะกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารมีการติดตาม “กลุ่มเป้าหมาย” จำนวนมากอย่างใกล้ชิด ทั้งยังมีการควบคุมตัวบุคคลไปไว้ในค่ายทหาร เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวในช่วงดังกล่าวด้วย
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลเข้าไปในค่ายทหาร หรือเจ้าหน้าที่นำตัวไปสอบสวนที่สถานีตำรวจ จำนวนอย่างน้อย 34 คน ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด (โดยแยกเป็นกรณีการถูกคุมตัวในค่ายทหารอย่างน้อย 23 ราย และถูกพาตัวไปยังสถานีตำรวจเพื่อสอบสวนและทำประวัติ อย่างน้อย 11 ราย) ในจำนวนนี้รวมไปถึงภรรยาและลูกชายของ “ลุงสนามหลวง” แม้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว แต่ทั้งสองคนถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในค่ายทหาร 7 วัน ก่อนปล่อยตัว
ผู้ถูกควบคุมตัวในกรุงเทพฯ ยังให้ข้อมูลว่าระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ในมณฑลทหารบกที่ 11 ยังมีบุคคลที่ถูกนำตัวเข้ามาอีกหลายรายด้วย แต่พวกเขาไม่ทราบว่าเป็นใคร และเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้พูดคุยกัน ทำให้เป็นไปได้ว่าจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวน่าจะสูงกว่านี้อีก
ในจำนวนนี้ บางส่วนถูกดำเนินคดีตามมา โดยเจ้าหน้าที่มีทั้งการนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา หลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหารทันที หรือบางรายก็ถูกติดตามจับกุมหลายเดือนหลังจากนั้น แม้จนถึงเดือนกันยายน 2562 แล้ว ก็ยังมีรายงานการจับกุมบุคคลเพิ่มเติมอีกด้วย
จนถึงปัจจุบัน เท่าที่ทราบมีผู้ถูกดำเนินคดีจากกรณีกิจกรรมเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 แล้วอย่างน้อย 9 คดี ข้อกล่าวหาหลักของทุกคดี ได้แก่ ข้อหายุยงปลุกปั่นและอั้งยี่ โดยบางคดียังมีการแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ในกรณีที่มีการแสดงออกรวมตัวในที่สาธารณะ และบางคดีมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีที่มีการโพสต์ภาพในโลกออนไลน์ ต่อไปนี้เป็นข้อมูลบางส่วนของคดีต่างๆ เท่าที่ทราบในขณะนี้
1. คดีที่ห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ มีผู้ถูกดำเนินคดี 2 คน
ผู้ถูกดำเนินคดีในคดีนี้ เป็นสองรายเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในเหตุการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2561 ได้แก่ นายเทิดศักดิ์ และนางประพันธ์ ทั้งสองคนถูกกล่าวหาอีกครั้งว่าได้สวมใส่เสื้อดำมีแถบธงขาวแดงติดที่บริเวณหน้าอกด้านซ้าย พร้อมข้อความ “Federation” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไท เดินอยู่บริเวณห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ ในวันที่ 5 ธ.ค. 61
ในวันดังกล่าว ทั้งสองคนได้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ สน.ลาดพร้าว โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใด ภายหลังยังถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าสอบถาม ขอให้รายงานความเคลื่อนไหว หรือขอมิให้เข้าร่วมกับกลุ่มหรือบุคคลใดอีก
หากต่อมา นายเทอดศักดิ์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมจากสถานที่ทำงานในจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 62 และส่งตัวกลับมายังกองบังคับการปราบปราม เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาจากกรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 ต่อมาเขาจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท
ส่วนนางประพันธ์นั้น หลังจากเหตุการณ์ได้เดินทางไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อขอแสวงหาที่ลี้ภัย โดยได้ลงทะเบียนขอสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แต่เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 62 ตำรวจมาเลเซียได้จับกุมประพันธ์ ตามคำร้องขอของรัฐบาลไทย ซึ่งได้มีการออกหมายจับนางประพันธ์แล้ว จนวันที่ 10 พ.ค. 62 ภายหลังจากที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานีตำรวจและสถานที่ควบคุมตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย รวมทั้งสิ้น 18 วัน นางประพันธ์ถูกส่งตัวกลับมาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาจากกองปราบปรามฯ เช่นเดียวกับนายเทิดศักดิ์
นับแต่นั้น นางประพันธ์ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวมาจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่มีหลักทรัพย์ในการประกันตัว และจำนวนเครื่องติดตามอิเล็กทรอนิคส์ยังไม่เพียงพอ จนไม่อาจใช้อุปกรณ์ดังกล่าวแทนการวางเงินเป็นหลักประกันได้
ทั้งสองคนถูกสั่งฟ้องต่อศาลอาญาเป็นคดีเดียวกันอีกครั้ง เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 62 โดยทั้งคู่ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และศาลกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 16-17 และ 24 ม.ค. 63
2. คดีที่สกายวอร์คบริเวณหน้าห้างมาบุญครอง (MBK) มีผู้ถูกดำเนินคดี 6 คน
คดีนี้ เกิดเหตุจากเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 ได้มีกลุ่มบุคคลมารวมตัวกันชูป้ายที่เป็นสัญลักษณ์ธงลายขาว-แดง ที่มีข้อความ “Thai Federation” อยู่บริเวณสกายวอล์คหน้าห้างมาบุญครอง (MBK) โดยในวันดังกล่าว มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการควบคุมตัวบุคคลที่ออกมาทำกิจกรรมดังกล่าว อย่างน้อย 5 คน และมีอย่างน้อย 2 คน ถูกควบคุมตัวไปยังค่ายทหาร มทบ. 11 เป็นเวลา 5 วัน โดยอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ในการควบคุมตัว
ต่อมา มีการเเจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลทั้ง 5 คน เเละมีการติดตามจับกุมบุคคลอีก 1 คน มาเเจ้งข้อกล่าวหาในภายหลัง ที่สน.ปทุมวัน ในข้อหามาตรา 116, ข้อหาอั้งยี่, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม และชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังสระปทุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ขณะที่เฉพาะผู้ต้องหาที่ 6 ยังถูกแจ้งข้อหากล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการเผยแพร่ภาพถ่ายกิจกรรมลงในเฟซบุ๊ก
คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา และพนักงานอัยการมีการสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 62 และศาลนัดสืบพยานคดีนี้ระหว่างวันที่ 14-17 ก.ค. และ 21-22 ก.ค. 2563
3. คดีที่ห้างเซ็นทรัล รามอินทรา มีผู้ถูกดำเนินคดี 1 คน
กรณีนางรานี (สงวนนามสกุล) อายุ 56 ปี อาชีพรับราชการ เธอถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมสวมใส่เสื้อดำของกลุ่มสหพันธรัฐไทบริเวณเซ็นทรัล รามอินทรา แต่วันดังกล่าว เธอสวมเสื้อยืดสีดำ ซึ่งไม่ได้มีตราสัญลักษณ์ใด อยู่บริเวณห้างสรรพสินค้าดังกล่าว และได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาพูดคุยตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว แต่ยังไม่ได้มีการจับกุมใด จนเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 61 ในช่วงหัวค่ำ ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบและตำรวจอ้างมาตรา 44 มาขอค้นบ้านของเธอ แต่ในขณะนั้นก็ยังไม่ได้มีการจับกุมดำเนินคดีใด
กระทั่งเวลาผ่านไปราวสี่เดือน เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 62 รานีได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามและตำรวจสภ.ปากเกร็ด เข้าจับกุม โดยอ้างหมายจับที่ลงวันที่ 14 ม.ค. 62 ระหว่างที่รานีเข้าร่วมงานรับปริญญาของลูกชาย เธอถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่กองปราบปราม และถูกคุมขังสองคืน ก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท
คดีนี้ต่อมาอัยการสั่งฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 62 โดยจำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และศาลได้มีการนัดสืบพยานในช่วงวันที่ 18-20 ก.พ. 63
4. คดีที่ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า จังหวัดอุบลราชธานี มีผู้ถูกดำเนินคดี 1 คน
กรณีของนางกาญจนา (นามสมมติ) อายุ 68 ปี ข้าราชการบำนาญ ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ถูกกล่าวหาว่าได้แสดงธงสัญลักษณ์สีขาวแดงที่ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า จ.อุบลราชธานี แล้วถ่ายภาพเก็บเอาไว้ ก่อนได้ส่งภาพดังกล่าวไปทางเฟซบุ๊ก โดยเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 61 กาญจนาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปสอบปากคำที่สภ.เมืองอุบลราชธานี และถูกพาตัวไปควบคุมไว้ในค่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 22 เป็นเวลา 4 วัน ทั้งยังถูกส่งตัวไปควบคุมที่ค่าย มทบ.11 ในกรุงเทพฯ ต่ออีก 3 วัน จนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.
จากนั้น เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 61 นางกาญจนาจึงได้รับหมายเรียกจาก สภ.เมืองอุบลฯ ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งเธอได้เดินทางไปรับทราบข้อหาเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 62 นอกจากข้อหามาตรา 116 และอั้งยี่แล้ว เธอยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) เรื่องการนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ จากนั้นได้มีการโอนคดีของเธอมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองปราบปราม โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาและถามคำให้การใหม่ ซึ่งผู้ต้องหายืนยันให้การปฏิเสธ
ในชั้นอัยการ อัยการเจ้าของสำนวนได้มีความเห็นว่าเป็นคดีภายนอกราชอาณาจักร จึงมีการส่งสำนวนกลับให้พนักงานสอบสวนรวบรวมสำนวนใหม่ แต่ทางอัยการสูงสุดได้ชี้กลับมาว่าเป็นคดีภายในราชอาณาจักร ทางอัยการจึงต้องจัดทำสำนวนใหม่ และเพิ่งมีคำสั่งฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 62 โดยจำเลยต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวมากถึง 6 แสนบาท ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นศาล ซึ่งค่อนข้างสูงกว่าคดีอื่นมาก คดีนี้ ศาลอาญากำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 11 พ.ย. 62 นี้
5. คดีที่ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า จังหวัดเชียงราย มีผู้ถูกดำเนินคดี 2 คน
คดีนี้จำเลยสองรายเป็นหญิงประกอบอาชีพรับจ้าง ในจังหวัดเชียงราย วัย 66 และ 51 ปี ทั้งสองคนถูกกล่าวหาว่าได้ใส่เสื้อดำ ที่มีการเย็บธงลายขาวแดงของกลุ่มสหพันธรัฐไท ติดบนเสื้อ ไปอยู่บริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังค่ายเม็งรายมหาราชในวันดังกล่าว ก่อนถูกพาตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาสองข้อหาที่ สภ.เมืองเชียงราย ทั้งสองได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์รายละ 1 แสนบาท
คดีนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 62 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการโอนย้ายคดี และนำตัวทั้งสองคนไปสอบสวนเพิ่มเติมใหม่ที่กองปราบปราม ในกรุงเทพฯ ก่อนจะมีการนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาในการฝากขังใหม่ และศาลได้เพิ่มหลักทรัพย์ประกันเป็นรายละ 2 แสนบาท หลังจากนั้นจึงมีการสั่งฟ้องคดีที่ศาลอาญา โดยทั้งสองคนได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายจากทนายขอแรงของศาล
ในชั้นศาล จำเลยทั้งสองได้ให้การรับสารภาพ และศาลอาญาได้พิพากษาให้ทั้งสองคนมีความผิดในข้อหาตามมาตรา 116 และอั้งยี่ จำคุกข้อหาละ 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกข้อหาละ 3 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ โดยทั้งสองคนยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี
เท่าที่ทราบในขณะนี้ คดีนี้เป็นคดีเดียวที่เกี่ยวข้องกับกรณีสหพันธรัฐไท ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ แต่คดียังไม่สิ้นสุดลง
6-7. คดีที่ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ถูกดำเนินคดี 2 คน
คดีที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ คดีของนางอัมพร (นามสมมติ) อายุ 50 ปี หญิงช่างเย็บผ้าในโรงงาน ถูกกล่าวหาจากกรณีการใส่เสื้อสีดำที่ไม่มีตราสัญลักษณ์ใด แต่เจ้าหน้าที่พบว่ามีสติกเกอร์รูปธงสหพันธรัฐไทสีขาวแดง จํานวน 1 ชิ้น ไปอยู่บริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล จังหวัดเชียงใหม่
ก่อนหน้าการถูกดำเนินคดี นางอัมพรเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา 5 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 7-11 ธ.ค. 61 โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 44 และยังมีการนำกำลังทหารและตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักของเธอ โดยไม่ได้มีหมายค้น และไม่ได้พบสิ่งใดผิดกฎหมาย ต่อมาเธอยังถูกนำตัวไปสอบสวนที่สภ.เมืองเชียงใหม่ ก่อนได้รับการปล่อยตัว โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
กระทั่งผ่านไปกว่าครึ่งปี เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 62 เจ้าหน้าที่กองปราบปรามได้มีการนำหมายจับ ซึ่งลงวันที่ 16 ม.ค. 62 เข้าควบคุมตัวเธอจากบ้านไปแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีที่กองปราบปรามในกรุงเทพฯ โดยเธอได้รับการประกันตัว ผ่านการเช่าหลักทรัพย์ ต่อมาคดีได้ถูกสั่งฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 62 และศาลนัดหมายตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 7 ต.ค. 62 นี้
ส่วนอีกคดีหนึ่ง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ทราบข้อมูลชัดเจน เนื่องจากผู้ต้องหา/จำเลย ไม่ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย เพียงแต่ทราบว่ามีการดำเนินคดีดังกล่าวอยู่แยกเป็นอีกคดีหนึ่งจากนางอัมพร โดยเกี่ยวข้องกับกรณีที่ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ เช่นกัน
8. ผู้ถูกดำเนินคดีอีก 1 ราย
กรณีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ทราบข้อมูลชัดเจน เนื่องจากผู้ต้องหา/จำเลย ไม่ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายมาโดยตรง เพียงแต่ทราบว่ามีการดำเนินคดีดังกล่าวอยู่ และในกรณีนี้ผู้ถูกดำเนินคดียังไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี ทำให้ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำในปัจจุบัน
9. คดีที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ถูกดำเนินคดี 1 คน
ล่าสุด ยังมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีจากจังหวัดเชียงใหม่อีกรายหนึ่ง ได้แก่ ลูกแก้ว (นามสมมติ) อายุ 59 ปี เธอถูกกล่าวหาว่าได้ใส่เสื้อสีดำที่มีสัญลักษณ์เป็นธงของสหพันธรัฐไท ไปนั่งอยู่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 61 ลูกแก้วเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ทราบว่าได้มีการออกหมายจับเธอในเวลาต่อมา จนผ่านไปกว่า 9 เดือน วันที่ 24 ก.ย. 62 ลูกแก้วถูกจับกุมตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ขณะกำลังให้ตรวจหนังสือเดินทาง เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศจีน โดยพบว่ามีการออกหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 16 ม.ค. 62 ก่อนเธอจะถูกส่งตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และอั้งยี่ ที่กองปราบปรามในกรุงเทพฯ เช่นกัน
หลังการแจ้งข้อกล่าวหา และส่งตัวไปขออำนาจศาลในการฝากขัง ลูกแก้วได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์สูงถึง 6 แสนบาท น่าสังเกตว่าคดีเกี่ยวกับสหพันธรัฐไทอย่างน้อย 2 คดีที่มีกระบวนการในเดือนกันยายน 62 นี้ ต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวสูงขึ้นอย่างมาก จากในช่วงก่อนหน้านั้น
จับกุมคดีสติกเกอร์สหพันธรัฐไทอีก 1 ราย
ขณะเดียวกัน เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 62 ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รายงานการจับกุมตัวบุคคลในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกกรณีสหพันธรัฐไทเพิ่มเติมอีก 1 ราย แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการการแสดงออกเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 ได้แก่ นายชูวิทย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 57 ปี เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 และอั้งยี่ จากข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์ของสหพันธรัฐที่ประตูช้างเผือก จ.เชียงใหม่ เมื่อ 12 ก.พ. 61
ก่อนหน้านั้น ชูวิทย์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เข้าตรวจค้นบ้านพักเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 61 พบสิ่งของต่างๆ เกี่ยวกับสหพันธรัฐไท แต่ขณะนั้นยังไม่ได้มีการแจ้งข้อหาดำเนินคดี จนกระทั่งเขามาถูกติดตามจับกุมตัวจากบ้านในปี 2562 นี้
ข้อน่าสังเกตในชุดคดีเหล่านี้ คือผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย อายุช่วง 50-70 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับจ้างนวด รับจ้างเย็บผ้า หรือแม่ค้า และมีบางส่วนเป็นข้าราชการเกษียณ
ผู้ถูกดำเนินคดีหลายรายให้ข้อมูลว่าตนเพียงแต่เป็นผู้ติดตามฟังรายการของ “ลุงสนามหลวง” ไม่ได้รู้จักกับกลุ่มผู้จัดรายการในต่างประเทศ เพียงแต่ติดตามฟังอยู่บ้าง เพราะรายการมีการพูดถึงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและการทำมาหากิน หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง และเมื่อได้ฟังเรื่องกิจกรรมในวันที่ 5 ธ.ค. 61 บางรายจึงออกมาร่วมกิจกรรมโดยสงบ หรือบางคนเพียงแต่เดินทางไปสังเกตการณ์ ไม่ได้คิดว่าจะเป็นความผิดอะไร แต่ก็กลับถูกเจ้าหน้าที่ติดตาม ถูกควบคุมตัวไปค่ายทหาร และถูกดำเนินคดีติดตามมา
ขณะที่การแจ้งข้อกล่าวหาและการบรรยายฟ้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการในทุกคดี ล้วนบรรยายในลักษณะใกล้เคียงกัน ว่าผู้ถูกดำเนินคดีได้ร่วมกับแกนนำที่อยู่ต่างประเทศทั้ง 5 คน ซึ่งหลบหนีและไม่ได้ตัวมาฟ้อง ดำเนินการเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ ในนามกลุ่มสหพันธรัฐไท อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และได้มีการเคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ และการแจกเอกสารแผ่นปลิว ชักชวนให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
ด้วยข้อกล่าวหาและการบรรยายฟ้องที่ดู “รุนแรง” เช่นนี้ กับข้อมูลจากผู้ถูกดำเนินคดีหลายคดี ที่เห็นว่าตนเพียงแต่ได้ไปแสดงออกโดยสงบ และไม่ได้ร่วมเป็นขบวนการใหญ่โตดังข้อกล่าวหา จึงทำให้ต้องติดตามต่อไปว่าข้อเท็จจริงจากคนละด้านเหล่านี้ จะถูกนำสืบและพิจารณาในคดีต่างๆ ต่อไปเช่นไรในชั้นศาล