วันอังคาร, ตุลาคม 08, 2562

ความไม่สมเหตุสมผลของอัตราโทษตามมาตรา 112 หลัง 6 ตุลาคม 2519 มาตรา 112 เพิ่มโทษสูงสุดเป็น 15 ปี ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 3 ปี




ผลพวงรัฐประหารหลัง 6 ตุลาคม 2519 มาตรา 112 เพิ่มโทษสูงสุดเป็น 15 ปี

43 ปี 6 ตุลา 2519 มีเรื่องราวมากมายให้ถวิลถึงเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีนี้ก็มีทั้งนิทรรศการและเสวนารำลึกถึงบาดแผลและทรงจำผ่านวัตถุพยาน ในทางกฎหมายยังมีอีกสิ่งที่คล้ายเป็นมรดก ภายหลังจากความรุนแรงดังกล่าว คือการเพิ่มโทษให้กับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่ส่งผลตั้งแต่ช่วงเวลานั้นมาถึงวันเวลานี้

ปัจจุบันโทษในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ คือจำคุกสามปีถึงสิบห้าปี มาจากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2519 ในรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยการนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ทำรัฐประหารรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ประชาไทรายงานว่า พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล เขียนไว้เมื่อปี 2554 เผยแพร่ทางประชาไท ในหัวข้อ "มาตรา 112 : ผลพวงรัฐประหาร 6 ตุลา 2519" ว่า 21 ตุลาคม 2519 , คณะรัฐประหาร เพิ่มโทษบทบัญญัติมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ1 โดยปรับโทษจากเดิม "จำคุกไม่เกินเจ็ดปี" เพิ่มขึ้นเป็น "จำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" อัตราโทษนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

กฎหมายดังกล่าวจึงเป็น "กฎหมาย" หรือ "ผลพวง" ของคณะรัฐประหาร และขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ซึ่ง คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) ได้เสนอทางออกไว้เมื่อปี 55 ว่า ทางออก เพื่อสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้มั่นคงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลบล้างผลพวงอันเป็นสิ่งปฏิกูลที่เกิดเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร และยิ่งกว่านั้่น แม้แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โทษสูงสุดเพียง 3 ปี และไม่มีโทษขั้นต่ำ

นอกจากนี้ ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ยังเคยให้ความเห็นผ่านเว็บไซต์นิติราษฎร์ว่า ปัญหาอัตราโทษ ปัจจุบันโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ฯลฯ คือ โทษจำคุกสามปีถึงสิบห้าปี โทษดังกล่าวเป็นโทษที่ได้รับการกำหนดขึ้นโดยขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครอง แผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2519 (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519) เมื่อเปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ตามพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 มาตรา 4 อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว พบว่าโทษหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล คือ โทษจำคุกไม่เกินกว่าสามปี ฤาให้ปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าหนึ่งพันห้าร้อยบาท ฤาทั้งจำคุกและปรับด้วย

ความไม่สมเหตุสมผลของอัตราโทษตามมาตรา 112 คือ ในขณะที่โทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็น โทษจำคุกนั้น กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกินสามปี โดยไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ ซึ่งหมายความว่าศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยเพียงใดก็ได้ แต่โทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

กลับกำหนดไว้สูงสุดถึงสิบห้าปี โดยกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ด้วยว่าต้องจำคุกไม่ต่ำกว่าสามปี มีข้อสังเกตด้วยว่าในคราวประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาเมื่อ ปี 2500 นั้น โทษตามมาตรา 112 คือ โทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ อาจกล่าวได้ว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายปัจจุบันขาดความสอดคล้องกับหลัก ความพอสมควรแก่เหตุอย่างสิ้นเชิง

ดูประวัติศาสตร์ตัวบทมาตรา 112 และไทม์ไลน์การแก้ไข ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/blog/Historyof112