วิเคราะห์สมรภูมิพิชิตท้องถิ่น อ่านเกมบุกอีสานแบบ ‘ทักษิณ’
23 ธ.ค. 2567
Spacebar
- ถอดนัยจากสมรภูมิ ‘เลือกตั้งนายกอบจ.ภาคอีสาน’ กับการวางเกมของ ‘ทักษิณ’ ผู้ใช้มนต์ขลังสร้างคะแนนนิยม นำไปสู่ชัยชนะจาก ‘อุดรฯ’ ไปจนถึง ‘อุบลฯ’
ต้องยอมรับว่า ผลการเลือกตั้งนายกอบจ. จาก ‘อุดรฯ’ ถึง ‘อุบลฯ’ ได้สร้างความมั่นใจให้กับ ‘พรรคเพื่อไทย’ มากขึ้น หลังสามารถกรำชัยได้ทั้งสองสนามสำคัญ จนหลายฝ่ายเชื่อว่ามีผลมาจากการลงพื้นที่ของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ผู้นำทางจิตวิญญาณของ ‘คนเสื้อแดง’ ที่ยังอบอวลด้วยมนต์ขลังจนชนะใจพี่น้องชาวอีสานได้อยู่
แม้สนานท้องถิ่นจะถือเป็นการชิมลาง แต่ก็มีปัจจัยต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กับการเลือกตั้งภาพใหญ่ระดับประเทศ และการประกาศเชิงยุทธศาสตร์ของ ‘ทักษิณ’ ในการกวาดเก้าอี้ สส. ให้ได้อย่างน้อย 200 ที่นั่งในปี 2570 ปรากฏการณ์ที่ราบสูงจึงไม่ต่างอะไรกับสมรภูมิขนาดใหญ่ ที่มีตัวแปรสำคัญเข้าคลุกวงในหลายพรรค จนเข้าข่ายศึกการเมืองที่แลกมาด้วย 'ศักดิ์ศรี' จึงขอเริ่มถอดความจาก 'สมรภูมิอุบลราชธานี' ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปหมาดๆ ก่อน
‘ผศ.ปฐวี โชติอนันต์’ ประธานกลุ่มท้องถิ่นศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อธิบายสภาพแวดล้อมทางการเมืองในจังหวัดอุบลราชธานี (ที่ผ่านมา) ไว้ว่า มันมีความพิเศษ คือเป็นพื้นที่ ‘มัลติคัลเลอร์’ โดยเฉพาะหากมีการพิจารณาการเมืองภาพใหญ่ จะเห็นว่า มีส่วนแบ่งจากหลายพรรค แต่หากมองภาพในของท้องถิ่น หากใครมีพื้นฐานความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพื้นที่ย่อมได้เปรียบ เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อ ‘ผลแพ้ชนะ’ ไม่ใช่ ‘การต่อรอง’ ดังนั้นต้องวิเคราะห์ตามข้อเท็จจริง 3 ประการ
- บรรยากาศทางการเมือง ซึ่งแตกต่างกับปี 2563 ที่กระแสมาพร้อมกับ ‘ม็อบเยาวชน’ แตกต่างกับหลังเลือกตั้ง 2566 ที่กระแสการเมืองแบบ ‘หัวก้าวหน้า’ ลดระดับความเข้มข้นลง ขณะที่กระแสความนิยมบุคคล อย่างกรณี ‘ทักษิณเอฟเฟกต์’ กลับทวีมากขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่สร้างชัยชนะในศึกนายกอบจ. อุดรธานี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยม ที่ทักษิณมีมากในภาคอีสาน
- เมื่อพิจารณาจากตัวบุคคล จะพบว่า ‘พรรคเพื่อไทย’ เป็นต่อ เนื่องจาก ‘กัลป์ตินันท์’ เป็นบ้านใหญ่ในพื้นที่ ผนวกกับ ‘กานต์ กัลป์ตินันท์’ เคยบริหารท้องถิ่น - มีผลงานเดิมเป็นกำลังหลัก แตกต่างกับ ‘มาดามกบ - จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล’ ที่ถึงแม้จะอาศัยบารมี ‘เครือข่ายแป้งมัน’ และสรรพกำลัง ‘พรรคไทรวมพลัง’ แต่ก็ไม่ใช่ ‘คนท้องถิ่น’ เดิม ขณะที่ ‘สิทธิพล เลาหะวนิช’ จากพรรคประชาชน ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง จากที่เคยร่วมทำงานในฐานะรองนายกอบจ. ร่วมกับกานต์มาก่อน
- กลไกทางการเมือง กลายเป็นปัจจัยสู่ชัยชนะ ดูได้จากขุมกำลังของ ‘กานต์’ ที่มีเครือข่าย สส.เพื่อไทย และภาคการเมืองท้องถิ่น (สจ.- อบจ.) ร่วมผนึกกำลังภายใต้ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ทำให้ปัญหาท้องถิ่นถูกหยิบยกเข้าไปหารือในสภาได้รวดเร็ว แสดงภาพการทำงานระหว่างพันธมิตรท้องถิ่นและพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่สอดคล้องกับนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ได้อย่างไร้รอยต่อ
ในมุมมองของ ปฐวีคิดว่า ‘ทักษิณ’ คือผู้เจนจัดในการวางยุทธศาสตร์การเมือง แม้หลายฝ่ายจะตั้งคำถามว่าเป็น ‘การทุ่มสุดตัว’ กับภาคอีสานมากกว่าที่อื่น แต่เอาเข้าจริง เป็นการเลือกเดินเกม **‘แบบหวังผล’ ** ดังนั้นจึงไม่อาจจำแนกว่า การทุ่มสุดตัวในภาคอีสาน คือปล่อยผ่านภาคเหนือ (หรือภาคอื่นๆ) แต่เป็นการวางการแสดงบทบาท ในพื้นที่ที่จำเป็นต้องได้รับชัยชนะ ซึ่งต่อคู่แข่งสำคัญอย่าง ‘พรรคภูมิใจไทย’
กระนั้น การเมืองท้องถิ่นก็ไม่อาจตีความถึงการเมืองระดับชาติได้ทุกประการ เพราะปัจจัยมีความต่างอยู่หลายเงื่อนไข อย่างกรณีของ ‘พรรคประชาชน’ ในศึกนายกอบจ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ต้องเผชิญกับการเมืองแบบการเลือกตั้งจังหวัด จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเยอะ บทเรียนของ ‘พรรคส้ม’ ในพื้นที่อีสาน คือการโฟกัส ‘การเลือกตั้งระดับเทศบาล’ ซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เมือง หากตีโจทย์แตกจนได้เข้าไปทำหน้าที่ ก็สามารถพิสูจน์ตัวเอง ผ่านการแสดงฝีมือในระดับท้องถิ่น เพิ่มกลไกในการปูพื้นฐานให้การเมืองระดับอีกทางหนึ่ง ในการเพิ่มแนวโน้มช่วงชิง สส.ในเขตเมืองมากขึ้น
“หากพรรคส้ม สามารถเข้าไปมีบทบาทในองค์การท้องถิ่น (ในเมืองใหญ่)ของภาคอีสานหลายจังหวัดได้ ก็เป็นการเพิ่มแนวโน้ม ว่าการเลือกตั้งปี 2570 อาจชิงพื้นที่เมืองของ เพื่อไทย - ภูมิใจไทยสำเร็จ โดยใช้โมเดลสร้างผลงานว่าสามารถทำได้จริง ซึ่งกลไกการพิสูจน์อุดมการณ์ผ่านผลงานน ยังมีโอกาสครับถ้าผู้บริหารส่วนกลางและท้องถิ่นของพรรค ให้ความสนใจกับการบริหารท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะเขตที่เป็นเมืองและมหาวิทยาลัย มันจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อเป็นเงื่อนไขให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ตัดสินใจในการเมืองระดับชาติ”
ปฐวี กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ ‘ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นสอดคล้องกับนักรัฐศาสตร์ท้องถิ่น ถึงอิทธิพลทางความคิดที่ ‘ทักษิณ’ มีต่อคนอีสานสูง แต่บทพิสูจน์สำคัญที่จะชี้วัดความสำเร็จ คือ สมรภูมิการเลือกตั้งท้องถิ่น ในพื้นที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ กับ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ต่างเผชิญหน้ากันโดยตรง อาทิ การเลือกตั้งจังหวัดศรีสะเกษ ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ซึ่งมีตัวแปรทั้งจำนวนสส.ที่ได้จากการเลือกตั้ง 2566 และตัวละครบุคคลระดับถิ่น ที่ทั้งสองพรรคสามารถใช้สรรพกำลังสู้กันได้อย่างสูสี
“ยุทธการตีหนูไล่งูเห่าก็เคยเริ่มที่ศรีสะเกษ ผมจึงคิดว่าถ้าจะวัดความเป็นใหญ่ในอีสานจริง ต้องการเลือกตั้งอบจ.ที่นั้น มันเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะเรียกความมั่นใจให้กับคนที่ชนะ โดยเฉพาะหากพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้ง ก็อาจหมายความว่าพรรคภูมิใจไทยยังไม่ใช่คู่แข่งในภาคอีสานที่แข็งแรงพอ”
แต่ในทางตรงกันข้าม หาก ‘วิชิต ไตรสรณกุล’ อดีตแชมป์เก่า (เคยสังกัดพรรคภูมิใจไทย) ที่แม้นปัจจุบันจะลงสมัครในนามอิสระ สามารถรักษาพื้นที่ศรีสะเกษได้ ก็อาจเป็นบทเรียนให้พรรคเพื่อไทยต้องปรับกลยุทธ์ต่อ สำหรับสนามอื่นๆ ที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของดั้งเดิม
ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยพยายามชิงพื้นที่ภาคอีสาน ตั้งแต่การเลือกนายกอบจ. มากจากความจำเป็นต่อการลงทุนลงแรง เพื่อสร้างรากฐานของพื้นที่ ทั้งด้านความสัมพันธ์ส่วนท้องถิ่นและการผนวกรวมเครือข่าย ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่พรรคภูมิใจไทยใช้เป็นเครื่องมือ ในการจัดตั้งหัวคะแนนภาคอีสานมาโดยตลอด
แต่ในพื้นที่อื่นๆ ที่พรรคเพื่อไทยมีเครือข่ายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น คนของตนเอง หรือพันธมิตรการเมือง ก็ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวหนักมาก โดยเฉพาะภาคเหนือ ซึ่งมี ‘พรรคกล้าธรรม’ ที่วางโครงข่ายไว้อย่างเข้มแข็ง และแม้นจะไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทยโดยตรง แต่ก็พอจะมีอำนาจการต่อรองร่วมกันได้ในอนาคต จึงไม่จำเป็นต้องลงแรงให้เสียกำลัง
“ตรงไหนที่พรรคกล้าธรรมเข้มแข็ง (อย่างหลายพื้นที่ในภาคเหนือ) เพื่อไทยก็ไม่ซีเรียสว่านายกอบจ.จะต้องเป็นของใคร เพราะท้ายที่สุดก็ต้องร่วมหอลงโลงด้วยกันอยู่ดี กระสุนดินดำก็ไม่ต้องเสียเพิ่ม แต่ยังคงมีความเกรงอกเกรงใจซึ่งกันและกันอยู่”
ดังนั้น มุมมองของวันวิชิต จึงเห็นว่า ‘ภาคอีสาน’ กลายเป็นพื้นที่ฟาดฟันกันด้วยศักดิ์ศรีอย่างแท้จริง ระหว่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ กับ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ที่มีแนวคิดและการทำงานใกล้เคียงกันอย่างชัดเจนที่สุด
หมายความว่า สมรภูมิดินแดนที่ราบสูง ต่อจากนี้จะไม่มีความเกรงใจต่อกันระหว่างการทำศึก…
https://spacebar.th/politics/thaksin-regional-election-in-the-northeast