TLHR’s Collection ที่สุดแห่งปีของศูนย์ทนาย ประจำปี 2567
30/12/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ปีนี้ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แม้ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือน สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองยังคงถูกลิดรอน สิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมืองยังเป็นปัญหา คดีความจากการแสดงออกจำนวนมากยังคงเต็มศาล
เวลากว่า 4 ปี ผ่านพ้นไป แต่ผลพวงจากการชุมนุมเมื่อปี 2563 ในแง่มุมต่าง ๆ ยังดำเนินต่อไป ยอดประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองยังพุ่งทะลุไปไม่น้อยกว่า 1,960 คน ในจำนวน 1,311 คดี และยังมีผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ไม่น้อยกว่า 33 ราย
ในปีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอนำเสนอ “ที่สุด” ในหลากหลายเรื่องในแต่ละช่วงเดือนของปฏิทิน จากสถานการณ์คดีทางการเมืองตลอดทั้งปี 2567 เพื่อเป็นการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ของสิทธิมนุษยชนไทย และขอเชิญชวนประชาชนร่วมจดจำเรื่องราวเหล่านี้ไปด้วยกัน
.
.
แด่ บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม ด้วยความระลึกถึงในการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
มกราคม: บัสบาสถูกลงโทษจำคุกคดี ม.112 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวม 54 ปี
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ศาลจังหวัดเชียงรายอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 30 ปี ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยจากเดิมเห็นว่ามีความผิดใน 14 ข้อความ เป็นเห็นว่ามีความผิดเพิ่มอีก 11 ข้อความ รวมเป็น 25 กระทง ลงโทษจำคุกรวมกัน 50 ปี นับเป็นสถิติคดีมาตรา 112 ที่ถูกลงโทษจำคุกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
จากนั้นเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 เขายังถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนลงโทษจำคุก 4 ปี ในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง พร้อมเพิ่มโทษอีก 6 เดือนจากคดีส่วนตัวของเขาที่ถูกให้รอการลงโทษไว้ก่อนหน้านี้ รวมโทษจำคุกของเขาอยู่ที่ 54 ปี 6 เดือน
ปัจจุบัน บัสบาสยังถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ทั้ง 3 คดี อยู่ที่เรือนจำกลางเชียงราย และไม่ได้สิทธิประกันตัวในระหว่างฎีกา โดยเขาได้ยื่นขอประกันตัวในปีนี้รวม 4 ครั้ง และศาลฎีกาได้ยกคำร้องเรื่อยมา เขายังยืนยันต่อสู้คดีถึงที่สุดในทุกคดีตาม ม.112 ของตัวเอง
ย้อนอ่าน: สูงสุดเป็นประวัติการณ์! คดี ม.112 “บัสบาส” ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพิ่มโทษจำคุกเป็นรวม 50 ปี เห็นว่าผิดเพิ่ม 11 กระทง แม้ตีความถึงอดีตกษัตริย์
ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยมบ้านบัสบาส:“ก็แค่ยักไหล่แล้วไปต่อ ผมยังหายใจอยู่นี่หน่า”: พาเยี่ยมบ้าน ‘บัสบาส’ ผู้ต้องโทษประวัติศาสตร์คดี ม.112
กุมภาพันธ์: Journalism is not a crime – 2 นักข่าวถูกกล่าวหาสนับสนุนให้พ่น “วัดพระแก้ว” โบราณสถานเสียหาย
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 ณัฐพล เมฆโสภณ หรือ “เป้” นักข่าวประชาไท อายุ 34 ปี ถูกจับกุมที่บ้านตามหมายจับของศาลอาญา และถูกนำตัวไป สน.พระราชวัง ต่อมา ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ หรือ “ยา” ช่างภาพอิสระ อายุ 34 ปี ได้ถูกจับกุมขณะจอดแวะโทรศัพท์ที่บริเวณวัดสุทธิวราราม ระหว่างการทำข่าวกรณี “เป้” ณัฐพลที่ถูกจับกุมก่อนหน้า
ทั้งสองถูกกล่าวหาในข้อหา “เป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหาย ทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่า และขีดเขียน พ่นสี ข้อความและภาพบนกำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ” จากกรณีลงพื้นที่รายงานและติดตามสถานการณ์การแสดงออกพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ของ “บังเอิญ” เป็นสัญลักษณ์เลข 112 และมีเส้นขีดทับ รวมถึงเครื่องหมายสัญลักษณ์ “อนาคิสต์” เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566
ปัจจุบันคดีของทั้งสองยังอยู่ในชั้นสอบสวน ภายใต้ความกังวลต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่ต้องถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการปฏิบัติหน้าที่
ย้อนอ่านข่าว: “เป้-ยา” 2 สื่อมวลชน และ “สายน้ำ” ถูกแจ้งข้อหาเพิ่ม “ร่วมกัน” ทำลายโบราณสถาน กรณีทำข่าว-ถ่ายรูป “บังเอิญ” พ่นสีกำแพงวัง
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของเป้ เมื่อสื่อเข้มแข็ง ประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็ง: คุยกับ “เป้ ประชาไท” ในวันที่เสรีภาพสื่อของไทยยังเลือนราง และบทสัมภาษณ์ของยา ให้ภาพถ่ายเล่าความจริง : “ยา” ณัฐพล ช่างภาพข่าวหัวขบถ
มีนาคม: ม.112 ในสายตาโลก – ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ UN เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี ม.112 กับประชาชน
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติได้แสดงความกังวลในประเด็นการดำเนินคดีต่อ อานนท์ นำภา ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกตัดสินลงโทษจำคุก 4 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ทั้งหมด 2 คดี รวมเป็นโทษจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี จากการตั้งคำถามเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 รวมไปถึงการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เผยแพร่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการกลับคำพิพากษา และยุติการดำเนินคดีที่เหลือทั้งหมดของอานนท์ นำภา และผู้ถูกดำเนินตามมาตรา 112 รวมถึงการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และเน้นย้ำข้อเรียกร้องที่มีมาอย่างยาวนานให้รัฐบาลไทย “ยกเลิก” (repeal) มาตรา 112 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน
ย้อนอ่านข่าว: ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ UN เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่ออานนท์ นำภา และผู้ถูกดำเนินคดีตาม ม.112
เมษายน: ขังร่างกายได้ แต่ขังอุมดมการณ์ไม่ได้ – ผู้ต้องขังทางการเมืองเยอะที่สุดในรอบปี ถึง 46 ราย
สถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมืองในรอบวันที่ 1 เม.ย. ถึง 14 พ.ค. 2567 พบว่าเป็นช่วงที่มีการคุมขังประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองสูงถึง 46 ราย นับเป็นช่วงที่มียอดผู้ต้องขังที่สูงที่สุดในรอบปีนี้ ก่อนจะลดลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี เมื่อผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดหลายคนได้รับการปล่อยตัว หลังมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ. 2567 แต่สถานการณ์การประกันตัวผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด ก็ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี
ย้อนอ่านประมวลสถานการณ์: อัปเดตสถานการณ์ผู้ต้องขังคดีการเมืองรอบ 1 เม.ย. – 14 พ.ค. 2567
ย้อนอ่านบทความ: นิยามที่หลากหลายและข้อถกเถียงต่อความหมายของ “นักโทษการเมือง” นิยามที่หลากหลายและข้อถกเถียงต่อความหมายของ “นักโทษการเมือง”
พฤษภาคม: บุ้ง เนติพร เสียชีวิตในเรือนจำ ยังต้องติดตามการไต่สวนการตาย
14 พ.ค. 2567 บุ้ง เนติพร เสียชีวิตในระหว่างการคุมขัง ในคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งจำคุก 1 เดือนในคดีละเมิดอำนาจศาล และต่อเนื่องมาในคดีมาตรา 112 ทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งถอนประกันเธอ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567
ระหว่างการคุมขังในทัณฑสถานหญิงกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2567 บุ้งได้ปฏิบัติการอดอาหารและน้ำ เพื่อประท้วงก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยมี 2 ข้อเรียกร้อง ดังนี้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก
อย่างไรก็ตาม การไต่สวนการตายของ “บุ้ง เนติพร” จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 ม.ค. 2568 ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี เวลา 13.00 น.
ย้อนอ่านข่าว: บุ้ง เนติพร เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของ จนท.ราชทัณฑ์ รอชันสูตรพลิกศพต่อในวันพรุ่งนี้
มิถุนายน: “หมดเวลาราชการ เริ่มภารกิจประชาชน” – ประชาชนรวมพลังโหวตเห็นด้วยดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เข้าสภาผู้แทนราษฎร
รัฐสภาฯ ได้เปิดรับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 โดยเปิดรับความเห็นเป็นระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. – 12 มิ.ย. 2567
ในช่วงเวลาดังกล่าวมีประชาชนเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนเป็นจำนวนมากถึง 89,393 คน โดยสัดส่วนสุดท้ายในวันที่ 12 มิ.ย.67 พบว่ามีคนแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วย เป็นจำนวน 65.11 % และมีคนเห็นด้วย 34.89 %
ในตลอดการเปิดรับความเห็นของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้มีประชาชนร้องเรียนปัญหาเว็บไซต์กับรัฐสภา และพบว่าในเว็บไซต์ของรัฐสภาจะมีความผิดปกติในจำนวนตัวเลขของการแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
สถานการณ์การพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในคดีทางการเมืองยังเป็นประเด็นถกเถียงตลอดปี 2567 โดยประเด็นใจกลางสำคัญ คือปัญหาเรื่องมาตรา 112 ว่าควรถูกรวมในการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ และการต่อสู้นี้ยังสืบเนื่องไปในปีใหม่นี้
ย้อนอ่านข่าว: รายงานความผิดปกติของเว็บไซต์รัฐสภาฯ ในการรับฟังความเห็นร่างฯ นิรโทษกรรมประชาชน
กรกฎาคม: พ่นสีกำแพงวัด สร้างผลกระทบกระเทือนจิตใจปวงชน – ศาลอาญาลงโทษจำคุก 8 เดือน “บังเอิญ” พ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว
วันที่ 4 ก.ค. 2567 ศาลอาญาพิพากษาคดีของ “บังเอิญ” ศิลปินชาวขอนแก่น วัย 26 ปี กรณีถูกฟ้อง 2 ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากเหตุพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ผู้ต้องขังทางการเมือง ในช่วงวันเกิดอายุครบ 25 ปีของเขาเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566
ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 8 เดือน ก่อนได้รับการประกันในระหว่างอุทธรณ์คดี และเขายังต้องต่อสู้คดีตามมาตรา 112 อีก 2 คดี ที่ถูกกล่าวหา จากการโพสต์ภาพในเฟซบุ๊ก
ย้อนอ่าน: ศาลเห็นว่าเป็นโบราณสถาน คดี ‘บังเอิญ’ พ่นสีกำแพงวัง ลงจำคุก 8 เดือน ก่อนได้ประกันชั้นอุทธรณ์
ย้อนอ่านบทสัมภษณ์ของบังเอิญ: ไม่มีอะไรที่ผมกลัวอีกแล้ว หลังจากพ่นกำแพงวังในวันนั้น”: คุยเรื่องตั้งใจของ “บังเอิญ” ศิลปิน Punk Art “หรือชีวิตไพร่มันไร้ค่า”
สิงหาคม: จากบริสุทธิ์ ให้มีความผิด – ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กลับคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี “ทิวากร” โพสต์ภาพใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาฯ”-เรียกร้อยหยุดใช้มาตรา 112
14 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีมาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ ทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น วัย 48 ปี กรณีโพสต์ภาพสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564
ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา แต่ต่อมาอัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 4 กลับคำพิพากษาทั้งหมด โดยเห็นว่าเขามีความผิดในทุกกระทง ให้ลงโทษจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา หลังจากนั้นทิวากรกลับไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกาเรื่อยมา แม้การต่อสู้คดีจะยังไม่สิ้นสุด
ย้อนอ่าน: ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาจำคุก 6 ปี “ทิวากร” เหตุโพสต์ภาพสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาฯ” – เรียกร้องหยุดใช้ 112 ชี้ ข้อความมีลักษณะ ลดคุณค่า-ใส่ความ ร.10
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ชีวิตของทิวากร “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า”: “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า” สำรวจเส้นทางต่อสู้ ‘112’ ของทิวากร
กันยายน: ตะโกนไล่ประยุทธ์ เป็นเสรีภาพของประชาชน – ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกฟ้อง “ป้าวันทนา”
วันที่ 5 ก.ย. 2567 ศาลแขวงราชบุรีนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ภาค 7 ในคดีของ วันทนา โอทอง ประชาชนวัย 63 ปี ในจังหวัดราชบุรี จากเหตุยืนรอขบวน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และตะโกนวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566
ก่อนหน้านี้ ศาลแขวงราชบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกวันทนา เต็มอัตรา 6 เดือน 10 วัน ปรับ 1,000 บาท ทั้งยังไม่รอลงอาญา ใน 3 ข้อหาตามคำฟ้อง ได้แก่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน, ส่งเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร และต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน
ก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 7 กลับคำพิพากษาเป็นยกฟ้องทั้งหมด กลายเป็นหนังคนละม้วนกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยชี้ว่าตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุ เป็นการละเมิดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
ย้อนอ่านข่าว: ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกฟ้อง! “ป้าวันทนา” คดีตะโกนไล่ประยุทธ์ ชี้ตำรวจละเมิดเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรอง
ตุลาคม : รับงานแสดงค่ะ ไม่ได้ล้อเลียนใคร – ศาลอาญายกฟ้อง ม.112 “หนูรัตน์” กรณีร่วมทำคลิปโฆษณา ชี้ไม่ควรตีความกฎหมายอาญาขยายความ
วันที่ 30 ต.ค. 2567 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษามาตรา 112 ของ “หนูรัตน์” หรือ สุภัคชญา ชาวคูเวียง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ อายุ 30 ปี จากกรณีร่วมจัดทำและร่วมแสดงในคลิปโฆษณาแคมเปญ 5.5 ของลาซาด้า เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นการล้อเลียนเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ
ก่อนศาลพิพากษายกฟ้อง ชี้ว่าเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ไม่ใช่รัชทายาทที่กฎหมายมาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง และองค์ประกอบของมาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะตัวบุคคลตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ได้คุ้มครอง “สถาบัน” การบังคับใช้กฎหมายอาญาไม่ควรตีความในทางขยายความ การกระทำของจำเลยยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดในข้อกล่าวหานี้
ย้อนอ่าน: ศาลยกฟ้องคดี 112 “หนูรัตน์” กรณีร่วมทำคลิปโฆษณา ชี้ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ไม่ใช่รัชทายาท – ไม่ควรตีความ ม.112 เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติ
ย้อนอ่านคำเบิกความของหนูรัตน์: สวัสดีค่ะ หนูชื่อสุภัคชญา ชาวคูเวียง ชื่อเล่น “หนูรัตน์” ปัจจุบันหนูยืนยันต่อสู้คดี ม.112
พฤศจิกายน: ถอดเสื้อประท้วงต้านพิจารณาคดีลับ – ศาลอาญาสั่งพิจารณาลับคดี ม.112 #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์1 “อานนท์” ถอดเสื้อประท้วง ตั้งข้อรังเกียจศาล
วันที่ 27 พ.ย. 2567 ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 40 ปี กรณีปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
อานนท์ได้ถอดเสื้อประท้วงศาลเป็นครั้งที่สอง เนื่องจากศาลยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่จะใช้ถามค้านพยานโจทก์ ได้แก่ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณ โดยอ้างว่าการออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ต่อ
หลังจากนั้น ศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีโดยลับ และให้ตำรวจศาลเชิญทุกคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณาคดีพร้อมทั้งยืนเฝ้าประตู อานนท์จึงได้ยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาลและเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง
ต่อมา ทนายจำเลยยืนยันไม่ถามค้าน เนื่องจากศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญเข้ามาในคดี ศาลจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจถามค้าน ทำให้การสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น และศาลได้สั่งให้นำพยานจำเลยเข้าสืบในวันถัดไป แต่ทนายจำเลยและอานนท์ยืนยันไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีนี้ ก่อนศาลกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา 19 ธ.ค. 2567 โดยมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน ก่อให้เกิดคำถามต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในกรณีนี้
ย้อนอ่าน: ศาลอาญาสั่งพิจารณาลับคดี 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 ด้าน “อานนท์” ถอดเสื้อประท้วง – ตั้งข้อรังเกียจศาล หลังศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสาร
ย้อนอ่านบันทึกเสวนาจากห้องพิจารณาลับ: รายงานการเสวนา “ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด” จากห้องพิจารณาคดีลับ และความเป็นกลางของผู้พิพากษา ในคดี 112 ของ “อานนท์”
ธันวาคม : หนึ่งคนออก หนึ่งคนเข้า – “บูม” จิรวัฒน์ ได้ประกันตัวหลังถูกคุมขังคดี ม.112 กว่า 1 ปี ขณะ “แอมป์” ณวรรษ กลายเป็นผู้ถูกคุมขังรายใหม่
เดือนธันวาคม มีผู้ต้องขังทางการเมืองที่ได้รับการประกันตัว 1 ราย ได้แก่ “บูม” จิรวัฒน์ พ่อค้าออนไลน์ วัย 33 ปี ซึ่งถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 จากการแชร์โพสต์ข้อความ 3 โพสต์ โดยไม่ได้เขียนข้อความใดประกอบ เขาถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ลงโทษจำคุก 6 ปี และไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2566 แม้มีความพยายามยื่นประกันตัว 9 ครั้ง
ขณะเดียวกันภรรยาของจิรวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ยังต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ทั้งได้มีอาการป่วยหนักขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทำให้มีการพยายามขอประกันตัวจิรวัฒน์เรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2567 จิรวัฒน์เพิ่งได้รับการประกันตัว หลังศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 250,000 บาท ให้ติดกำไล EM
บูมนับเป็นผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกาอยู่ในคดีมาตรา 112 รายเดียว ที่ได้ประกันตัวในปีนี้ แต่ก็ถูกคุมขังไปกว่า 1 ปี 6 วัน
ขณะเดียวกัน “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมและบัณฑิตจากศิลปากร กลายเป็นผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 รายใหม่แทน หลังเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 เขาถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในคดีจากการปราศรับ #ม็อบ13กุมภา64 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 7 เดือน และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกาคดี
ย้อนอ่านข่าวคดีบูม ศาลฎีกาให้ประกันตัว “บูม จิรวัฒน์” ผู้ต้องขังคดี ม.112 หลังถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ กว่า 1 ปี และบทสัมภาษณ์ภรรยาของเขา “ถ้าเราตายก่อนบูมได้ประกันตัว แล้วลูกจะอยู่กับใคร?” คุยกับ “แพร” แม่เลี้ยงเดี่ยวจำเป็น ผู้ป่วยมะเร็ง และภรรยานักโทษการเมือง
อ่านข่าวคดีของแอมป์ ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 1 ปี 7 เดือน “ณวรรษ” คดี 112 ปราศรัย #ม็อบ13กุมภา64 – เข้าเรือนจำทันทีรอศาลฎีกาสั่งคำร้องขอประกัน เพิ่มผู้ต้องขังทางการเมืองเป็น 34 ราย