วันพุธ, ธันวาคม 22, 2564

คำว่า ‘เคร่งครัด’ อาจหมายถึง ‘เต่งตูม’ ในทางสุรุ่ยสุร่าย “บ่าวนายไม่ต่างกัน”

บางที คำว่า เคร่งครัด ที่ใช้ในตอนท้ายโพสต์ของ ‘voguethailand’ เกี่ยวกับคอนเสิร์ตรายการ ‘A15 2021’ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ว่า “จัดขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ของกระทรวงสาธารณสุข

อย่างเคร่งครัด” น่าจะเอามาจาก พจนานุกรมแปลไทยเป็นไทย ราชบัณฑิตสถานที่ว่า “ความหมายคือ [-คฺรัด] ก. เข้มงวด, กวดขัน, เช่น อย่าเคร่งครัดนักเลย; แน่น, ตึง, เช่น สองเต้าตูมเต่งเคร่งครัด ดอกไม้ทัดทั้งห่อผ้าห่ม หวง (ขุนช้างขุนแผน)” ก็ได้

ภาพที่ถูกบรรยายจึงย้อนแย้งกับถ้อยวจีที่สาธยายอย่างน่าเกลียด ในเมื่อบุคคลทีเป็นข่าวมิได้ปฏิบัติตามมาตรการปิดจมูก ปาก เหมือนคนอื่นๆ ที่ไปยืนต้องรับ บางทีในเมืองนี้ประเทศนี้ เชื้อไวรัสไม่นิยมเกาะผู้สูงศักดิ์เป็นพาหะ ก็ได้เช่นกัน

ที่ไม่เคร่งครัดก็คือ การจับจ่ายใช้สอยเงินทองในคลังของรัฐบาลช่วงนี้ยิ่งสุรุ่ยสุร่ายใหญ่ อ้างว่าเป้นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน ปนไปกับมาตรการต้านเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ระลอกใหม่ ไหนจะแจกสะบัด “จ่าย ๕ พันคนกลางคืน ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน” และคนละครึ่ง

เหมือนกับว่าเป็นสะพานทอดไปสู่อาการ มือเติบ อีกในปีหน้า ไม่เท่านั้น จองตั๋วเอาไว้จ่ายต่ออีกสี่ปี ด้วยการอนุมัติ แผนการคลังระยะปานกลาง “จัดงบประมาณขาดดุล ๔ ปี” ติดๆ กัน ๒๕๖๖ ถึง ๒๕๖๙ โดยเฉพาะปี ๖๙ “ทะลุ ๓.๔๕ ล้านล้านบาท”

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเบิ่งแผนการคลัง ล้ำสมัยของรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งตามระเบียบการอย่าง ‘gentleman’ จะหมดสมัยลงในกลางปีหน้า ๒๕๖๕ ส่วนถ้า ตู่ จะมั่นใจแค่ไหนว่าได้กลับมาครองเมืองอีก ก็ต้องระวังมารยาท

ทั่นโฆษกฯ แจ้งประมาณการทางเศรษฐกิจปี ๖๖ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีจะขยายขนาดเป็นร้อยละ ๓.๒ ถึง ๔.๒ ช่างมองโลกแง่ดีเสียเหลือเกิน ทั้งที่ประมาณการของสำนักวิจัยเศรษฐกิจอื่นๆ ให้จีดีพีไทยโตแค่ ๓.๐%

พอถึงปี ๖๗ “คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ ๒.-. (ค่ากลางร้อยละ ๓.) ขณะที่ในปี ๒๕๖๘-๒๕๖๙ คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ ๒.-. (ค่ากลางร้อยละ ๓.)” โดยมีรายได้สุทธิของรัฐบาล อยู่ที่ ๒.๕, ๒.๕, ๒.๖ และ ๒.๗ ล้านล้าน

“ผลต่อเนื่องถึงภาคการคลัง ทำให้เกิดภาระที่สะสมต่อภาคการคลังของไทย ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงได้อีก ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทา...เพิ่มเติมอีกในอนาคต”

โดยทั่วไปแล้ว การวางนโยบายล่วงหน้า ๓-๔ ปีเป็นสิ่งดี ถ้าในต้นสมัยมองเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องอย่างสมจริง แต่ในกรณีของรัฐบาลประยุทธ์ นับแต่ยึดอำนาจเรื่อยมาถึงการออกแบบรัฐธรรมนูญให้ได้เป็นรัฐบาลต่อ มาถึงนี่ก็ ๗ ปีกว่า

บ่องตง มีแต่ขาลงตลอด แล้วนี่มากำหนดแผนจองลงกาล่วงหน้าอีกสี่ปี จะไปให้ถึงก้นเหวหรืออย่างไร อ้างอีกว่า “รัฐบาลมุ่งบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง” ทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว ด้วยหลัก ‘CARE’ (อย่าได้สับสนกับคณะเก่งกาจของ พี่โทนี่)

สำหรับเฮียตู่หมายถึงควบรวมหมดด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ จะมีการ “เพิ่มพื้นที่ทางการคลังอย่างระมัดระวัง” จัดการหนี้อย่างมีภูมิคุ้มกัน ฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ และปรับกระบวนการจัดสรรงบประมาณ (Expenditure Reprioritizing)

อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า ดูดีแต่ก็ไม่อาจเชื่อเลยสักนิดว่าจะเป็นจริงได้ หลายคนพูดกันไว้แล้วหลายครั้งว่าเครื่องพิสูจน์มีให้เห็นตำตา ถ้า ๗ ปีแล้วยังไม่มีอะไรดี อีกสี่ซ้าห้าปีจะเอาดีมาจากไหน ในเมื่อความสุรุ่ยสุร่ายใช้จ่ายเงินของประชาชนยังเป็นปกติ

ตัวอย่างจะแจ้งบ่าวนายไม่ต่างกัน ก็คือคอนเสิร์ต เม็นเดลซอห์นที่ใช้มาตรการสาธารณสุข “เต่งตูมเคร่งครัด” นั่นไง

(https://dekgenius.com/dictionary/thaitothai/meaningthai-6547.htm และ https://www.prachachat.net/breaking-news/news-826682)