วันศุกร์, ธันวาคม 17, 2564

ล้างมรดก คสช. ล้มเหลว สภาปัดตกทุกช่องทาง


iLaw
10h ·

- ล้างมรดก คสช. ล้มเหลว สภาปัดตกทุกช่องทาง -
.
แม้จะสิ้นสุดยุคเผด็จการภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว แต่มรดกที่ คสช. สร้างมาตลอดห้าปีของการปกครองยังคงดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะมรดกทางกฎหมายที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จออกมาเป็นประกาศและคำสั่งจำนวน 556 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง
.
หลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 มีความพยายามใช้เวทีรัฐสภาในการขจัดมรดกของคณะรัฐประหารหลายครั้งแต่ก็ประสบความล้มเหลว เพราะกลไกที่ คสช. วางไว้ในรัฐสภายังคงเข้มแข็งเกินกว่าที่ผู้แทนจากประชาชนจะฝ่าไปได้ ที่ผ่านมีความพยายามทั้งหมดแปดครั้ง โดยสามวิธีการที่จะใช้เวทีรัฐสภาปลดอาวุธ คสช. แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
.
1. ช่องทางเสนอร่างกฎหมาย “ปลดอาวุธ คสช.” - ล้มเหลว

ความล้มเหลวล่าสุดในการปลดอาวุธ คสช. คือ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. สองฉบับ คือ “ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ....” หรือ “ร่างปลดอาวุธ คสช.” ที่เสนอโดยประชาชน 13,409 คน และ “ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. ....” ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (ในขณะนั้น)
.
สำหรับร่างปลดอาวุธ คสช. ของภาคประชาชน เริ่มดำเนินการล่ารายชื่อประชาชนผู้สิทธิเลือกตั้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 โดยต้องรอเวลาเกือบสี่ปีที่ร่างกฎหมายประชาชนจะได้เข้าสู่การพิจารณา แต่ท้ายที่สุดร่างฉบับนี้ถูกปัดตกโดยสภาผู้แทนราษฎร ด้วยคะแนนเห็นด้วย 162 เสียง ไม่เห็นด้วย 234 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ของ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกปัดตกไปพร้อมกัน ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 156 เสียง ไม่เห็นด้วย 229 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง
.
2. ช่องทางเสนอญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบ ม.44 - ล้มเหลว

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ตัวแทนจาก ส.ส.จากหลากพรรคทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ได้เสนอญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของ คสช. ในประเด็นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่เกิดจากการใช้มาตรา 44 กับนักการเมืองท้องถิ่น ข้ารการตำรวจ ไปจนถึงนโยบายทวงคืนผืนป่า รวมทั้งหมดถึงเจ็ดญัตติ
.
อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงวันลงมติในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐได้ถอนญัตติของตัวเองออกไปทำให้เหลือเพียงหกญัตติ ซึ่งในการพิจารณา ญัตติที่เหลือทั้งหมดก็ถูกรวมกันเป็นญัตติเดียวกัน ผลของการลงมติสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับญัตตินี้ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 234 เสียง ไม่เห็นด้วย 230 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง แต่พรรคร่วมรัฐบาลขอให้นับคะแนนใหม่จนทำให้ฝ่ายค้านไม่ร่วมนับองค์ประชุมทำให้สภาล่มไปถึงสองรอบ
.
สุดท้ายในวันที่ 4 ธันวาคม 2562 จึงลงมติได้สำเร็จโดยที่ฝ่ายค้านประท้วงโดยการวอร์กเอาต์ ผลคือสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบ ม.44 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 5 เสียง ไม่เห็นด้วย 244 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
.
3. ช่องทางเสนอแก้รัฐธรรมนูญ “ล้างมรดก คสช.” - ล้มเหลว

มรดกทางกฎหมายที่สำคัญของ คสช. ถูกรับรองรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาลมาตรา 279 มาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญให้การรับรองให้คำสั่งและการกระทำของคสช. ไม่ขัดต่อกฎหมาย
.
ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกมาตรา 279 ที่เป็นหลักประกันให้ คสช. ลอยนวล ไม่ต้องรับผิด กำหนดให้การกระทำทุกอย่างของ คสช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ รวมทั้งรับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไป
.
ที่ผ่านมามีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญทั้งจากภาคประชาชนและพรรคการเมือง เพื่อยกเลิกมาตรา 279 อยู่ถึงสี่ฉบับ จากความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดสามครั้ง
.
สุดท้ายผลของการลงมติร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการล้างมรดก คสช. ทั้งหมดถูกคว่ำในรัฐสภาตั้งแต่ขั้นรับหลักการวาระที่หนึ่ง โดยเสียงจาก ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช. และ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล คสช.
...
อ่านเพิ่มเติม https://www.ilaw.or.th/node/6054