วันเสาร์, ธันวาคม 14, 2567
อ.พวงทอง จัดหนัก ทำไม นายกฯ แพทองธารและพรรคเพื่อไทย ต้องหยุดสร้างกับดัก-ปิดกั้นอำนาจของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยหยุดสนับสนุนวาทกรรม “ฝ่ายการเมืองต้องไม่แทรกแซงกองทัพและระบบราชการ”
Puangthong Pawakapan
14 hours ago ·
นายกฯ แพทองธารและพรรคเพื่อไทยต้องหยุดสร้างกับดัก-ปิดกั้นอำนาจของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ต้องหยุดสนับสนุนวาทกรรม “ฝ่ายการเมืองต้องไม่แทรกแซงกองทัพและระบบราชการ” พวกคุณต้องไม่ลืมว่าคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ ถูกเล่นงานด้วยข้อหานี้ จนนำไปสู่การล้มรัฐบาลมาแล้วถึงสองครั้ง
กรณีคุณทักษิณ การแต่งตั้งญาติผู้พี่ของตน พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเดือนกันยายน 2546 และเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 10 อีกจำนวนมาก ให้เข้าคุมกำลังในเหล่าทัพต่างๆ ถูกโจมตีจากกลุ่มต่อต้านทักษิณว่าเป็นการแทรกแซงกองทัพ เล่นพรรคเล่นพวก ใช้อำนาจในทางมิชอบแต่งตั้งเครือญาติและคนใกล้ชิดดำรงตำแหน่งราชการระดับสูง และนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ คมช. อ้างเพื่อทำรัฐประหาร
ฝ่ายต่อต้านทักษิณอ้างว่าพลเอกชัยสิทธิ์ เป็นทหารสายช่าง ไม่ใช่สายคุมกำลัง ถ้าไม่ใช้เส้นสาย ไม่มีทางได้เป็น ผบ.ทบ.
ถ้าเราใช้แว่น “ทหารอาชีพ” มองปัญหานี้ คำอธิบายนี้ก็อาจจะถูก แต่การแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพไม่เคยมีเรื่องรุ่น เรื่องฝักฝ่าย ไม่มีเรื่องคนของใคร จริงๆ หรือ? หรือเพราะได้ยินเรื่องนี้กันจนชินจนลืมตั้งคำถาม หรือเรากลัวจนไม่กล้าตั้งคำถามกันแน่?
ประเทศไทยไม่มีสงครามขนาดใหญ่มานานแล้ว ความเป็นมืออาชีพของกองทัพไทยก็ถูกตั้งคำถามบ่อยครั้ง แต่เวลามีปัญหาการเมือง กลับใช้แว่นทหารอาชีพมาตัดสิน
แต่ถ้าเราใช้แว่น “การเมือง” มองปัญหานี้ เราก็จะเห็นว่าตำแหน่ง ผบ.ทบ. (รวมทั้งตำแหน่งคุมกำลังอื่นๆ) สำคัญต่อความปลอดภัยของรัฐบาลพลเรือน เป็นตำแหน่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองได้ ในอดีต การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูงก็ล้วนคำนึงถึงประเด็นนี้ทั้งสิ้น รัฐบาลย่อมต้องพยายามแต่งตั้งคนที่ตนไว้ใจได้ให้คุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพ ถ้าใครเริ่มทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล ก็อาจถูกปลดได้ เช่น เมื่อพลเอกเปรมสั่ง “ปลดกลางอากาศ” พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก จากตำแหน่งผบ.ทบ. ในปี 2529 ก่อนหน้าที่พลเอกอาทิตย์จะเกษียณอายุไม่กี่เดือน เพราะพลเอกอาทิตย์เริ่มวิจารณ์รัฐบาลบ่อยขึ้น มีความทะเยอทะยานทางการเมืองมากขึ้น ... แต่มีใครกล้าตั้งคำถามกับพลเอกเปรมบ้าง เรากลัวผู้นำทหารมากกว่าผู้นำพลเรือนใช่หรือไม่?
ฉะนั้น ถ้าเราใช้แว่นการเมือง การแต่งตั้งญาติและเพื่อนร่วมรุ่นของทักษิณ ก็เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของรัฐบาลพลเรือน เป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันรัฐประหารนั่นเอง แต่กองทัพไม่ต้องการสิ่งนี้ ฉะนั้น หลังรัฐประหาร 2549 สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดย คมช. จึงผลักดัน พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมปี 2551 โดยมี “ซุปเปอร์บอร์ด 6 คน” (นายทหาร 5 + 1 รมต.กลาโหม) เพิ่มขึ้นมา เอาอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพล ไปจากรัฐบาลโดยตรง
กรณีคุณยิ่งลักษณ์ก็เกิดเหตุทำนองเดียวกัน หนึ่งในข้อหาที่ใช้โจมตียิ่งลักษณ์ก็คือ การสั่งย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ คุณถวิล เปลี่ยนสี มาเป็นที่ปรึกษานรม.ฝ่ายข้าราชการประจำเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 (ไม่ถึงสองเดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่ง นรม.) ต่อมานายถวิลได้ร้องเรียนต่อศาลปกครองสูงสุดว่า ยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง กลั่นแกล้ง ลดบทบาทหน้าที่และศักดิ์ศรีในทางราชการของตน และขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ในช่วงพีคของการเคลื่อนไหวของ กปปส. นี่เอง ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งว่ายิ่งลักษณ์มีความผิด เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ มีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล ไม่เพียงแค่นั้น ศาลยังสั่งให้ยิ่งลักษณ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี” อันสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของ กปปส.ในขณะนั้น (ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาแล้ว ดำรงตำแหน่งรักษาการณ์ แต่ กปปส. ต้องการให้เธอหลุดจากอำนาจในทันที)
แต่เรื่องไม่จบเท่านี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สว.และคณะรวม 28 คน ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภาให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในวันที่ 7 พ.ค. 2557 (สองสัปดาห์ก่อนรัฐประหาร) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550
1 ก.ค. 2563 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญายิ่งลักษณ์ ตามป.อาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อนส่งรายงานการสอบสวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ต่อไป
28 ก.พ. 2565 อสส. มีความเห็นสั่งฟ้องอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ในที่สุด เมื่อปีที่แล้ว วันที่ 26 ธ.ค.2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า “การใช้ดุลพินิจของจำเลย (คุณยิ่งลักษณ์) ในการโยกย้ายนายถวิลจึงเป็นไปตามแนวทางที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม ข้อเท็จจริงยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายถวิล” ... ก็ไม่รู้ว่าเป็นผลจากกระแสการเมืองหรือไม่
เช่นกัน ถ้าเราใช้แว่นการเมืองมองกรณีนี้ เราก็ต้องนำประวัติของนายถวิลมาร่วมพิจารณาด้วย นั่นคือนายถวิลเคยดำรงตำแหน่งกรรมการและเลขานุการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่นำการปราบปรามการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 (ต่อมานายถวิลเคยขึ้นเวที กปปส. ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นข้าราชการประจำ)
ถ้าเราใช้แว่นการเมือง เราก็จะเข้าใจว่าตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการด้านความมั่นคงของรัฐบาลและข่าวกรองด้านความมั่นคง มีนรม.เป็นประธาน สมช. แต่หากสองตำแหน่งนี้ไม่สามารถทำงานประสานกันได้ ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ย่อมกระทบต่อการทำงานและความมั่นคงของรัฐบาลอย่างแน่นอน
ฉะนั้น จึงน่าเสียใจอย่างยิ่งที่ ณ วันนี้ พรรคเพื่อไทยเลือกกลับลำอย่างรวดเร็ว และนรม.แพทองธารยังช่วยปกป้องวาทกรรมฝ่ายการเมืองไม่ควรแทรกแซงกองทัพ ช่วยกันปกป้องคมดาบที่อาจถูกนำมาทำร้ายรัฐบาลพลเรือนและระบอบประชาธิปไตยเสียเอง แทนที่พรรคเพื่อไทยจะร่วมมือกับพรรคประชาชนแก้ไขกฎหมายนี้ แทนที่จะร่วมมือกันสู้กับวาทกรรมการเมืองแทรกแซงกองทัพ/ระบบราชการ พวกคุณกลับเห็นแก่ความอยู่รอดของตนเองเป็นสำคัญ แล้วทิ้งภาระให้กับประชาชนไทยต่อไป
เพิ่มเติม การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยกับการเล่นพรรคเล่นพวกในระบบราชการ แต่ถ้าจะทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพเป็นเรื่องของความสามารถจริงๆ ก็ต้องเอาทหารออกจากการเมืองด้วยเพื่อทำให้ความกลัวเรื่อง รปห. หมดไป
หมายเหตุ ข้อมูลบางส่วนอ้างจาก BBC ไทย https://www.bbc.com/thai/articles/cyx4j4n29r1o
(https://www.facebook.com/puangthong.r.pawakapan/posts/9153847344665943)