วันพุธ, ธันวาคม 11, 2567

นับถอยหลัง ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับบ้านตามรอยทักษิณ สาระสำคัญไม่ใช่ข้อกฎหมาย แต่อาจอยู่ที่กุญแจช่วยสำคัญ นั่นคือ ‘ดีลลับ’



นับถอยหลัง ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับบ้านตามรอยทักษิณ สาระสำคัญไม่ใช่ข้อกฎหมาย แต่อาจอยู่ที่ ‘ดีลลับ’ อีกครั้ง?

17 ก.พ. 67
บูรพา เล็กล้วนงาม
THAIRATH Plus

Summary
  • หากว่าตามกฎหมาย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของประเทศไทย สามารถกลับบ้านได้ตลอดเวลา เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหนห้ามคนไทยเข้าประเทศ เท่ากับว่า ยิ่งลักษณ์เป็นคนตัดสินใจเอง ว่าอาจจะยังไม่ใช่ช่วงเวลาเหมาะสมจะกลับบ้าน
  • หาก ‘ดีลลับ’ ที่ทำให้ทักษิณได้กลับบ้านมีจริง ตามที่หลายฝ่ายเคยตั้งข้อสังเกตโอกาสที่ยิ่งลักษณ์จะได้กลับบ้าน ก็น่าจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในข้อตกลงดีลลับเช่นกัน และเป็นไปได้ว่า หลังพี่ชายได้ออกจากโรงพยาบาลไปอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าแล้ว โอกาสถัดไปจะเป็นของน้องสาว
  • ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องการขอพระราชทานอภัยโทษว่า หนึ่ง-ต้องเข้ามา สอง-มอบตัวเป็นนักโทษแล้วถึงจะถวายฎีกาได้ ถ้ายังไม่รับโทษ ก็ยังไม่สามารถถวายฎีกาได้
ถ้าจะตอบคำถามแบบกำปั้นทุบดินว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 และน้องสาวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 จะได้กลับประเทศไทยหรือไม่ ตอบได้ทันทีว่า ยิ่งลักษณ์สามารถกลับบ้านได้ตลอดเวลา เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหนห้ามคนไทยเข้าประเทศ เท่ากับว่า อดีตนายกรัฐมนตรีสตรีคนแรกเลือกที่จะยังไม่กลับประเทศไทยพร้อมกับพี่ชายเอง

แต่ที่ต้องตั้งคำถามถึงโอกาสที่ยิ่งลักษณ์จะได้กลับบ้าน หมายถึงการกลับบ้านในลักษณะเดียวกับทักษิณคือ กลับบ้านแบบเท่ๆ กลับมาแล้วไม่ต้องรับโทษจำคุกในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว แต่พักอาศัยอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจมาเป็นเวลาเกือบครึ่งปีท่ามกลางข้อสงสัยของคนหลายกลุ่มว่า ทักษิณป่วยเป็นอะไรกันแน่ ทำไมไม่มีข่าวว่าครอบครัวและผู้สนับสนุนอวยพรหรือขอพรให้ทักษิณหายป่วยไวๆ จะได้ออกจากโรงพยาบาล ซึ่งต่างจากกับกรณีคนป่วยหนักทั่วไป

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และบุตรสาวทักษิณ ให้สัมภาษณ์ว่า ครอบครัวได้เตรียมบ้านจันทร์ส่องหล้าไว้ต้อนรับทักษิณหากได้พักโทษ

ทำให้มีข้อสงสัยว่า ทักษิณที่อยู่โรงพยาบาลเพราะป่วยหนักจะสามารถกลับบ้านได้ทันทีที่ได้พักโทษ หลังถูกจำคุกครบ 180 วัน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้เลยหรือ อะไรคือเหตุผลทางการแพทย์ที่ทำให้คนป่วยหนักเมื่อได้รับการพักโทษแล้วถึงไม่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่ออีกสักระยะ

มีคนโต้แย้งว่า ที่ทักษิณไม่ต้องติดคุกนั้นถูกต้องแล้ว เพราะทักษิณมีสถานะเป็นนักโทษการเมือง ความผิดที่เขาได้รับเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง และการดำเนินคดีทักษิณก็ไม่อยู่ในมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม

ข้อโต้แย้งนี้อธิบายได้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก ทักษิณไม่ได้รับความยุติธรรมจากข้อกล่าวหาต่างๆ ฉะนั้นเขาไม่ควรติดคุกแม้แต่วันเดียว ตรรกะนี้คงปฏิเสธได้ยาก แต่ก็มีคำถามตามมาว่า แล้วทำไมนักโทษการเมืองคนอื่นถึงไม่ได้รับการดูแลเหมือนกับทักษิณ ทำไมพวกเขาไม่ได้กลับบ้าน แถมบางคนก็หมดลมหายใจไปแล้วที่ต่างแดน และมีคนจำนวนหนึ่งถูกลอบสังหารอีกด้วย ทำไมเป็นทักษิณคนเดียวที่ได้รับสิทธิกลับบ้านแบบนี้

ประเด็นที่สอง การได้กลับบ้านแบบเท่ๆ ของทักษิณ คือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันในหมู่ชนชั้นนำใช่หรือไม่ การได้กลับบ้านคือหนึ่งในข้อตกลงที่ทำให้เกิดรัฐบาลผสมข้ามขั้ว แกนนำพรรคเพื่อไทยยอมเสียคำสัตย์ที่มีไว้กับประชาชน ไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ โดย สว.สายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ยกมือให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เข้าสู่อำนาจอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 วันเดียวกับที่ทักษิณลงเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ และส่งผลให้พรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้งกลายเป็นฝ่ายค้าน ข้อเท็จจริงนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกัน

จากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด จึงมองเห็นเค้าลางว่า โอกาสที่ยิ่งลักษณ์จะได้กลับบ้าน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในข้อตกลง หรือ ‘ดีลลับ’ (ดีลระหว่างฝ่ายทักษิณกับผู้กุมอำนาจ ก่อนวันโหวตเศรษฐา ตามที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง เคยออกมาแฉ) ว่าดีลนั้นให้นับรวมยิ่งลักษณ์ได้กลับบ้านด้วยหรือไม่ แต่เชื่อว่า ชื่อของยิ่งลักษณ์คงไม่ตกหล่น และเป็นไปได้ว่า หลังพี่ชายได้ออกจากโรงพยาบาลไปอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าแล้ว โอกาสถัดไปจะเป็นของน้องสาว

ทักษิณได้พักโทษปูทางยิ่งลักษณ์ได้กลับบ้าน

หลังมีข่าวว่าทักษิณที่ต้องโทษจำคุก 8 ปี แต่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี จะได้ออกจากเรือนจำ (โรงพยาบาลตำรวจ) จะได้รับการพักโทษ เปลี่ยนเป็นถูกควบคุมตัวที่บ้าน

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ข่าวก็ถูกยืนยัน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า มีการเสนอการพักโทษมายังกระทรวงยุติธรรมแล้ว โดยคณะอนุกรรมการพักโทษอนุมัติพักโทษจำนวน 930 คน ซึ่งการพักโทษมีเงื่อนไขตามกฎหมาย คือต้องรับโทษมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน หรือรับโทษมา 1 ใน 3 โดยให้ใช้เกณฑ์ที่มากกว่า และต้องมีโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 10 ปี

สำหรับคำถามที่ว่า มีรายชื่อของ ทักษิณ ชินวัตร ด้วยหรือไม่ พันตำรวจเอกทวีกล่าวว่า ในรายงานการประชุมมีชื่อทักษิณด้วย ซึ่งคณะกรรมการพักโทษได้พิจารณาเห็นชอบตามที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เสนอ เนื่องจากเกณฑ์ของทักษิณ คือเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป

ส่วนการปล่อยตัวในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมระบุว่า ต้องไปไล่วันดู หากได้รับโทษครบเกณฑ์ ก็เป็นสิทธิของผู้พักโทษ โดยการพักโทษเป็นเรื่องปกติ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 และมีการพักโทษไปแล้ว 2,440 คน

ขณะที่กระบวนการพักโทษเดินหน้า อีกฝ่ายหนึ่ง การต่อต้านทักษิณหลังจากเข้าประเทศครั้งนี้มีมาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นหลักคือ เหตุใดทักษิณไม่ต้องถูกจำคุกในเรือนจำเหมือนนักโทษทั่วไป

ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย พิชิต ไชยมงคล และ นัสเซอร์ ยีหมะ ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ทักษิณกลับไปรับโทษในเรือนจำ แต่ก็ไม่ได้เกิดกระแสร้อนแรงเท่าที่คาดไว้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการสลายขั้วเหลืองกับแดงไปแล้ว จากการตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วตามดีลลับ อีกส่วนมาจากหลายคนก้าวข้ามทักษิณไปแล้ว

ถ้าจะมีอุปสรรคต่ออิสรภาพของทักษิณ คือคดีหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการให้สัมภาษณ์ที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2558

คดีนี้ ทักษิณถูกพนักงานสอบสวน แจ้งหมายจับคดีอาญามาตรา 112 ในวันที่เขาเดินทางกลับเข้าประเทศไทย และพนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัวไว้กับกรมราชทัณฑ์

อัยการสูงสุดมีความเห็นควรสั่งฟ้องทักษิณ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 โดยหลังจากทักษิณเดินทางกลับประเทศไทย พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่ทักษิณ แต่ทักษิณให้การปฏิเสธ พร้อมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดให้ความเห็นและมีคำสั่งทางคดีต่อไป

เชื่อว่าแม้จะมีการอายัดตัว แต่ทักษิณคงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีตามหนังสือขอความเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้ทักษิณลอยนวลจากมาตรา 112 ทันที



วิษณุชี้ช่องยิ่งลักษณ์ขอพระราชทานอภัยโทษได้

ถ้าตีวงลงมาพิจารณาถึงโอกาสเฉพาะของยิ่งลักษณ์เอง ต้องย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องการขอพระราชทานอภัยโทษว่า หนึ่ง-ต้องเข้ามา สอง-มอบตัวเป็นนักโทษแล้วถึงจะถวายฎีกาได้ ถ้ายังไม่รับโทษ ก็ยังไม่สามารถถวายฎีกาได้ และไม่เรียกว่าฎีกา

“ฎีกา คือสิ่งที่นักโทษเด็ดขาดเป็นผู้ถวายขึ้นไป ส่วนจะโปรดเกล้าฯ หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพระมหากรุณาธิคุณ” วิษณุกล่าว

ด้านขั้นตอนจะเหมือนทักษิณหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ ส่วนจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมหรือไม่ แล้วแต่พระมหากรุณาธิคุณ

วันถัดมา 26 ธันวาคม มีข่าวดีสำหรับยิ่งลักษณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้องคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องยิ่งลักษณ์ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีโอนย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2554 เเละให้ถอนหมายจับคดีนี้

ยิ่งลักษณ์ยังมีคดีติดตัวอีก 5 คดี พร้อมโทษจำคุก 5 ปี

นอกจากคดีย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ที่ศาลยกฟ้องไปแล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังถูกดำเนินคดีจากการเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหลายคดี

คดีแรกคือ คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ศาลพิพากษาจำคุกยิ่งลักษณ์ 5 ปี ไม่รอลงอาญา และโทษทางคดีไม่นับอายุความ พร้อมออกหมายจับยิ่งลักษณ์ที่ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาตามนัด โดยยิ่งลักษณ์ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปตั้งแต่คืนวันที่ 23 สิงหาคม 2560

เป็นที่สงสัยว่า ทำไมระหว่างที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมอำนาจอยู่ ยิ่งลักษณ์จึงหลบหนีออกไปได้ หรือมีการรู้เห็นเป็นใจกัน

ต่อเนื่องจากคดีจำนำข้าว ยังมีคำสั่งทางปกครองจากกระทรวงการคลังให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายเกิดขึ้นจากโครงการเป็นเงิน 35,000 ล้านบาท แต่ต่อมาปี 2564 ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากในโครงการรับจำนำข้าว 35,000 ล้านบาท และเพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินเพื่อดำเนินการขายทอดตลาด

คดีต่อมาคือ คดี Roadshow 240 ล้าน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับรับฟ้อง คดีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท พร้อมออกหมายจับยิ่งลักษณ์เหตุไม่มาศาล

ถึงเวลานี้อดีตนายกรัฐมนตรีสตรีคนแรก มีหมายจับใน 2 คดี มีโทษจำคุก 5 ปี ในคดีจำนำข้าว และมีคดีค้างในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีก 3 คดี คือ
  • คดีซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G)
  • คดีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ระหว่างปี 2548-2553 จำนวน 1,900 ล้านบาท โดยไม่มีกฎหมายรองรับ
  • คดีร่ำรวยผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว
ดีลลับคือกุญแจช่วยให้ยิ่งลักษณ์กลับไทย แต่เรียกว่าความยุติธรรมได้หรือไม่?

ถ้าพูดถึงคดีความ และข้อกฎหมายแล้ว ยิ่งลักษณ์ยังมีอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการกลับเข้าประเทศไทย แต่ขณะที่ชนชั้นนำยังต้องพึ่งพาเพื่อไทยในการเป็นรัฐบาลเพื่อควบคุมอำนาจ โอกาสที่ยิ่งลักษณ์จะกลับบ้านตามรอยพี่ชายยังเปิดกว้างอยู่ คือเข้าประเทศไทย ฟังคำพิพากษา แล้วถวายฎีกาขออภัยโทษ ชนชั้นนำเองคงไม่แคร์อะไรมากหากน้องสาวทักษิณจะกลับเข้าประเทศอีกคน อีกทั้งขณะที่ยิ่งลักษณ์กลับเข้าประเทศ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจก็คงพร้อมให้การต้อนรับผู้ป่วยโรคปัจจุบันทันด่วนรายใหม่แทนทักษิณ

สมมติว่า ยิ่งลักษณ์ต้องการพักโทษแบบทักษิณ ก็คงต้องหาเงื่อนไขที่แตกต่างออกไปเพราะยิ่งลักษณ์ อายุ 56 ปี ยังไม่ถึง 70 ปีเหมือนกับพี่ชาย จึงไม่สามารถพักโทษเพราะเหตุสูงวัยได้ แต่ถ้าดีลลับที่ทำกันไว้ไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข เชื่อว่าผู้มีอำนาจจะหาช่องทางช่วยให้น้องสาวทักษิณกลับบ้านแบบเท่ๆ ได้เหมือนพี่ชาย

ถึงตรงนี้มีคำถามว่า เราสามารถเรียกวิธีการกลับเข้าประเทศของทักษิณและยิ่งลักษณ์ (ในอนาคต-ถ้ามี) ว่า เป็นการคืนความยุติธรรมได้หรือไม่ หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือการย้ำรอยความยุติธรรมที่บิดเบี้ยวที่ผู้มีอำนาจนิยมใช้เพื่อตัวเองและพวกพ้องเมื่อต้องการลอยนวลพ้นผิด โดยคนไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรกับเรื่องพวกนี้

(https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/104225)