วันอาทิตย์, ธันวาคม 15, 2567

คุณพี่ไอลอว์โดน เพราะโพสต์นี้เห็นเหตุ


iLaw
10 hours ago
·
ภายใต้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร พ.ร.บ. กลาโหมฯ กลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้งเมื่อนักการเมืองไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลพยายามนำเสนอร่างแก้ไข โดยเป้าหมายหลักในการแก้ไขนี้นอกจากจะเป็นการลดอำนาจกองทัพที่มีอยู่เหนืออำนาจรัฐบาลพลเรือนแล้ว ยังมุ่งออกแบบกลไกในการพยายามจะป้องกันการรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ตั้งแต่เริ่มสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ชุดที่ 26 เป็นต้นมา มีร่างแก้ไข พ.ร.บ. กลาโหมฯ อย่างน้อยสามฉบับ โดยเริ่มที่ร่างฉบับพรรคประชาชน (เดิมชื่อพรรคก้าวไกลขณะที่เสนอ) ภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ไม่นานพรรคก้าวไกลนำโดยเรืออากาศโทธนเดช เพ็งสุข ก็ได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. กลาโหมฯ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ถึง 2 พฤศจิกายน 2566 ร่างฉบับพรรคประชาชนนี้มีสาระสำคัญในการลดอำนาจสภากลาโหมจากเดิมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมต.กลาโหม) จะปฏิบัติหน้าที่ใดภายในกระทรวงก็ต้องผ่านความเห็นชอบของสภากลาโหมเสียก่อน ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือการปรับเปลี่ยนบทบาทจากสภาบริหารไปเป็นสภาที่ปรึกษา รวมถึงปรับสัดส่วนภายในกระทรวงกลาโหมและเปลี่ยนกระบวนการแต่งตั้งนายพลให้ยึดโยงกับรัฐบาลพลเรือนมากขึ้น
ร่างฉบับพรรคประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของ สส. เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 โดยที่ประชุมมีมติให้นำร่างกฎหมายฉบับนี้ไปพิจารณาก่อนลงมติรับหลักการ และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ได้แจ้งกลับมายัง สส. ว่าเห็นควรให้ชะลอการพิจารณาไว้ก่อนเพื่อจะได้พิจารณาพร้อมกับร่างฉบับที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหมกำลังร่างและจะได้พิจารณาพร้อมกัน
กรมพระธรรมนูญ โดยการสนับสนุนของสุทิน คลังแสง รมต.กลาโหม ในขณะนั้น ได้นำเสนอร่างแก้ไขฉบับของตนและได้เปิดให้รับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม – 22 กรกฎาคม 2567 ซึ่งในร่างฉบับกรมพระธรรมนูญนี้มีเนื้อหาที่ต่างจากร่างฉบับพรรคประชาชน แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างของสภากลาโหมเช่นเดียวกัน แต่บทบาทและหน้าที่ยังคงไว้ดังเดิม ประเด็นสำคัญของร่างฉบับกรมพระธรรมนูญคือการออกแบบกลไกการป้องกันการรัฐประหาร ซึ่งประเด็นการออกแบบกลไกป้องกันการรัฐประหารนี้จะคล้ายกับร่างฉบับพรรคเพื่อไทย
ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส. พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอร่างแก้ พ.ร.บ. กลาโหมฯ โดยเปิดให้รับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2567 เมื่อร่างฉบับพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลถูกนำเสนอขึ้นมาแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงอดีตพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐต่างออกมาคัดค้านอย่างสุดขีด โดยให้เหตุผลว่าการรัฐประหารเกิดขึ้นเพราะนักการเมืองทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. กลาโหมฯ เพื่อป้องกันการรัฐประหาร โดยจะเห็นว่าพรรคการเมืองต่างๆ ที่ออกมาคัดค้านต่างก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเก่าของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ทั้งสิ้น
ไม่นานหลังกระแสคัดค้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมเริ่มเข้มข้น วิสุทธ์ ไชยอรุณ วิปฝ่ายรัฐบาล ระบุว่าพรรคเพื่อไทยถอนร่างฉบับพรรคเพื่อไทยแล้วและ ภูมิธรรม เวชยชัย รมต.กลาโหม จะนำไปหารือกับสภากลาโหมเพื่อพิจารณาใหม่ ทั้งที่มีร่างฉบับกรมพระธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของสภากลาโหมมาแล้วก็ตาม
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาร่างแก้ไข พ.ร.บ. กลาโหมฯ ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/49324