วันอังคาร, ตุลาคม 08, 2567

จากดรามาช้าง ทำความเข้าใจ การเลี้ยงช้าง และการควบคุมช้าง


ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง
Yesterday
·
เขียนถึงสักนิดในฐานะที่เคยทำข้อมูลให้ทีมสารคดี 'ช้างไทย' ให้แมทชิ่ง ออกอากาศ ช่อง 7 เมื่อเกือบสิบปีก่อน
.
- ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติไทย เมื่อก่อนมีมาก ปัจจุบันมีน้อยเพราะหดไปตามพื้นที่ป่า ทั้งหมดน่าจะเหลือราวๆ ,5000 ตัว/เชือก เป็นช้างป่าราว 3,000 ตัว ช้างบ้านราว 2,000 เชือก
.
-ช้างไทยถูกยกเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และถึงแม้เหลือไม่มาก เมื่อเทียบกับประชากรเกือบ 70 ล้านคน ประเด็นที่ชวนถามต่อคือ ทำไมเราจึงดูแลช้างจำนวนเท่านี้ให้มีสวัสดิภาพที่ดีไม่ได้ ปัญหาช้างป่าก็ประเด็นหนึ่ง ช้างบ้านก็อีกประเด็นหนึ่ง
.
ตรงนี้จะขอเสนอเฉพาะประเด็นช้างบ้านก่อน
.
หนึ่ง ช้างบ้าน ไม่ใช่ช้างป่า เลิกคิดโรแมนติกจะเอาช้างไปปล่อยป่าคืนธรรมชาติ เพราะป่าไม่พอและมันปรับตัวไม่ได้ เหมือนจะเอาหมาบ้านต่อให้ดุที่สุดไปปล่อยป่าก็รอดยาก จะไซบีเรียนที่ว่ามีเชื้อหมาป่า พิตบูลที่ดุๆ หรือหมาล่าหมีแบบไอ้เขี้ยวเงินก็ไม่รอด ต้องเลิกคิดตรงนี้ก่อน
.
สอง ช้างไม่ใช่หมา แต่เป็นสัตว์มีกำลังมากและใช้ทรัพยากรมาก ดังนั้น ถึงเป็นช้างบ้าน แต่มันก็ไม่ใช่หมาบ้าน ต้องมีการควบคุมระดับหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็ต้องมีที่กว้างขวางไม่เจอใคร เพราะสามารถสร้างความเสียหายได้ มากหากมีความผิดพลาดไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
.
ประเด็นก็คือแล้วจะควบคุมแบบใดซึ่งแบ่งเป็นสองแนวหลัก
.
หนึ่งยึดขนบโบราณ ยืนตามตำราคชศาสตร์ หรือวิธีการเลี้ยงแบบวิถีเดิมของแต่ละชนเผ่าชาติพันธุ์ในการนำช้างมาใช้งาน ส่วนใหญ่ใช้ขอสับโซ่ตรวนเครื่องมั่นฝึกฝนให้เชื่อฟังบังคับได้ ปัจจุบัน ปางช้างเพื่อการท่องเที่ยวหรืออื่นๆ เช่น นักแสดงในหนัง ลคร โฆษณา ใช้แนวทางนี้
.
สองวิถีใหม่ เชื่อว่าต้องให้อิสระ ความเป็นอยู่ใกล้เคียงธรรมชาติ ซึ่งก็สามารถสร้างการท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่งได้เช่นกัน และช้างก็มีความสุขกว่า ซึ่งก็คือแนวทางมูลนิธิของคุณแสงเดือน ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้
.
ข้อขัดแย้ง
.
- สิ่งที่ไม่ค่อยถูกหยิบยกมาพูดก็คือทั้งสองแนวทางยืนกันคนละฝั่งหรืออยู่กันคนละปลายมากเกินไปหรือไม่ และเมื่อต่างไม่วางจุดยืนบนฐานข้อเท็จจริงในการคุยกัน เลยกลายเป็นความขัดแย้งที่กรุ่นกันมานาน กระทั่งเกิดกรณีน้ำท่วมและมีความสูญเสียเกิดขึ้น สิ่งที่มองไม่เห็นใต้ภูเขาน้ำแข็งของวงการช้างเลยลอยขึ้นมา
.
- ที่ผ่านมาฝั่งคุณแสงเดือนค่อนข้างได้รับการยอมรับในทางสากลและทางหลักการค่อนข้างมาก ขณะที่ฝั่งปางช้างทั่วไปมักถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ที่ยังเลี้ยงสัตว์ด้วยขอช้างและเครื่องพันธนาการ หรือถูกมองว่าหากินด้วยการทรมานสัตว์ แน่นอนว่าเกี่ยวกับภาพลักษณ์และการเสียประโยชน์ทางธุรกิจเช่นกัน
.
- บนจุดยืนที่แตกต่าง ประเด็นก็คือเราต้องย้อนกลับไปในการอธิบายช่วงแรก จำได้หรือไม่ว่า ช้างไม่ใช่หมา ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ มีกำลังมาก ใช้ทรัพยากรมาก แต่โจทย์สำคัญที่สุดคือเราไม่สามารถ 'คืนช้างสู่ป่า' ได้ เพราะมันคือ 'ช้างบ้าน' และป่าก็มีไม่พอ แค่ตอนนี้ช้างป่าที่มีก็กระทืบคนตายปีละร้อยแล้ว
.
- ดังนั้น คนไทยจึงต้องอยู่กับช้างบ้านต่อไป ประเด็นก็คือจะใช้แนวทางไหนได้บ้าง แบบหลักการที่สากลยอมรับหรือแนวทางของคุณแสงเดือนแม้ตอบโจทย์ช้าง แต่ถ้าจะใช้แนวทางนี้จริงหมายความว่าจะต้องใช้ทรัพยากรมาก ด้วย เอาแค่พื้นที่รองรับช้าง 2,000 ตัวก็แทบเป็นไปไม่ได้ คุณต้องคิดถึงพื้นที่แบบคุณแสงเดือนราวๆ 20 แห่ง แห่งละ 100 ตัว มีน้ำ มีป่า มีอาณาเขต ยังไม่นับกระบวนการดูแลจัดการอื่นๆ ไม่ว่าคนอาหาร หรืองบประมาณ ยิ่งรัฐก็จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องมาก ต้องมีโมเดลรองรับชัดเจน อาจต้องมองแบบอุทยานซาฟารีในแถบอาฟริกา เป็นต้น
.
- เมื่อมันเป็นไปได้ยาก หรือยังเป็นไปไม่ได้ในเวลานี้ สุดท้ายต้องกลับมาที่ตรงกลางคือธุรกิจปางช้าง ปัญหาก็คือแต่ละที่ทรัพยากรไม่เท่ากัน ทำให้บางแห่งดูแลช้างได้ดี มีความสุขระดับหนึ่ง แต่บางที่ก็มีลักษณะของการทรมานช้างจริง
.
- อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องพึ่งระบบปางช้างก็ต้องพึ่งควาญช้าง ซึ่งก็คือการต้องพึ่งการเลี้ยงระบบตรวนและขอช้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าบังคับช้างไม่ได้ก็คืออันตรายกับคน ศาสตร์การบังคับช้างโดยพื้นฐานก็คือการป้องกันอันตรายให้คนจากช้างด้วย
.
- นอกจากนี้ องค์ความรู้เรื่องช้างในบางด้านอาจหายไปจากความเข้าใจ เช่น ตำราคชลักษณ์ ที่โดยนัยอาจไม่ได้ดูเพียงลักษณะช้างดีหรือไม่ดีเท่านั้น แต่อาจเป็นลักษณะสายพันธุ์ดุ หรือไม่ดุด้วย ช้างชนะศึก ช้างชนะงาจึงไม่ใช่แค่งาสวย แต่มีลักษณะธรรมชาติดุในการสู้ด้วย เหมือนเรารู้ว่าล็อตไวเลอร์ต้องดุ หมาแบบนี้ต้องใส่เครื่องมั่นให้ดีเวลาเอาออกนอกบ้าน ต้องรู้วิธีจับล็อกเวลาเขาตื่น เป็นต้น
.
- ช้างก็เช่นกัน เพียงแต่เรามองแบบปัจจุบัน มีหู มีงาก็ช้างหมด แต่องค์ความรู้โบราณอาจแบกสายพันธุ์ไว้ว่าทรงนี้มันดุ มันต้องเลี้ยงแบบไหน ถ้ามันดุต้องคุมยังไง ช้างบางสายพันธุ์ปล่อยแบบธรรมชาติอาจมีความรุนแรงมากกว่าการควบคุม
.
- อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือ มันมีจริงที่ควาญทรมานหรือฝึกช้างหรือใช้งานช้างหนักแบบทารุณกรรมซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ช้างต้องได้รับการปกป้อง และกลุ่มควาญหรือคนทำธุรกิจปางช้างก็ต้องยอมรับและจัดการปัญหาอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน
.
- ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แค่อยากบอกว่าทั้งสองแนวทางมีจุดอ่อน จุดแข็ง ควรต้องเอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับมูลนิธิคุณแสงเดือน และการสูญเสีย รวมถึงแนวทางรับเงินบริจาคหรือขอทุนต่างชาติมาดูแลก็เป็นแนวทางหนึ่งในการดูแลช้าง เป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรได้รับการยอมรับ ส่วนความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ต้องถอดบทเรียนหาวิธีกันต่อไป เพราะมันเป็นเรื่องสุดวิสัย ไม่มีใครคาดว่าแม่แตงจะเกิดอุทกภัยระดับนี้ นึกภาพไม่ออก หาวิธียังไม่ถูก อาจคล้ายๆกรณีโรงนิวเคลียร์ฟูกูชิมะเจอสึนามิ ถ้าใครได้ดูหนัง จะเห็นว่าต่อให้ทำคู่มือพร้อมรับมือทุกกรณีที่คิดออก เจอรอบนั้นเข้าไปก็ไม่มีแนวรับมือไหนระบุในตำราและยังงงๆกันอยู่ถึงตอนนี้ว่าเตามันสงบลงเพราะอะไรกันแน่
.
- เช่นเดียวกัน สิ่งที่ควรทำความเข้าใจให้ตรงกันคือธุรกิจปางช้างทั่วไปก็ร่วมแก้ปัญหาคนกับช้างบ้านเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องมองเป็นปีศาจหรือป่าเถื่อนเสียทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาถูกโจมตีมากซึ่งมีทั้งจริงและไม่จริง โดยบทบาทมูลนิธิคุณแสงเดือนก็อาจเป็นความขัดแย้งหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่มองด้วยข้อท็จจริงที่คนเลี้ยงช้างอื่นๆต้องแบกไว้เหมือนกันก็แก้ปัญหาให้ช้างไทยไม่ได้
.
โมเดลแบบมูลนิธิคุณแสงเดือนเป็นเรื่องดี แต่อาจไม่สามารถใช้ช้างบ้านทั้งหมดที่มีได้ ปางช้างแต่ละแห่งก็ทรัพยากรไม่เท่ากัน พื้นที่ไม่ได้มีกว้างขวางพอจะทำอย่างนั้นเหมือนกันได้ และเมื่อคนต้องทำงาน ช้างบ้านก็ต้องทำงาน ต่างคนต่างหาเลี้ยงกันในจุดที่สมดุลพอดีไม่เอาเปรียบกัน
.
ดังนั้น สิ่งที่ต้องโฟกัสหรือให้ความสำคัญตรงกันก็คือสวัสดิภาพของสัตว์ที่ดีควรเป็นแบบไหน ต้องมีหน่วยงานช่วยกำกับดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งคน ช้าง เจ้าของธุรกิจ และธรรมชาติ อย่างไร
.
ขณะเดียวกันเรื่องช้างไทยควรมองเป็นเรื่องใหญ่ รัฐต้องเข้ามามีบทบาทอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากไม่อยากอายชาวโลกที่ไปอวดเขาว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาติ แต่แค่ 5000 ตัว/เชือก ยังดูแลไม่ได้ ที่ผ่านมาเคยมีบรรจุไปช่วยป่าไม้ลาดตระเวนแต่เห็นว่างบมาไม่กี่ปีก็ตกเบิก ควาญเลยพาช้างหนีหมด ปัญหาวนลูป ถ้าจะแก้ต้องมีแผนแม่บทที่จริงจัง มีมาตรการดูแลตามบริบทที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็น ช้างบ้านทช้างป่า ปางช้าง ช้างมูลนิธิ หรือช้างที่จะบรรจุเข้ารับราชการบ้างก็ตาม
.....


.....
Pratthana Inthawong
13 hours ago
.
ว่าด้วยเรื่องของการเลี้ยงช้าง
> ที่ต่างประเทศจะมีการเลี้ยงช้างที่เรียกว่า Protected Contact คือการที่คนเลี้ยง และช้าง ไม่ใช้พื้นที่ร่วมกันเลย จะมีรั้วหรือแบริเออ กั้นระหว่างคนกับช้าง ง่ายๆ ก็ช้างอยู่ฝั่งนึง คนอยู่ฝั่งนึง เวลาจะให้อาหาร หรือเวลาหมอจะทำการรักษาจะทำผ่านรั้วกั้น เพื่อให้ความปลอดภัยกับทั้งสองฝ่าย มีการฝึกเชิงบวก (positive training) ให้ช้างยืนนิ่งๆ กางหูให้หมอทำการตรวจ ฉีดยา หรือเจาะเลือดได้ด้วย
ส่วนตัวมองว่า ช่วยป้องกันการบาดเจ็บ และสูญเสียสำหรับผู้ปฏิบัติงานกับช้างได้ดีมากๆ แต่กรณีที่เวลาช้างป่วย ช้างหงุดหงิด และไม่ยอมทำตามคำสั่ง ไม่ยอมเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงาน ก็จะทำอะไรได้ยาก หรืออาจเข้าไม่ถึงตัวช้างได้ หรือต้องใช้ยาซึม/ยาสลบตามความเหมาะสม
.
> การเลี้ยงช้างในไทยจะเป็นแบบ free contact นั่นคือคนกับช้างสัมผัสกันได้ ใช้พื้นที่ร่วมกันได้ ช้างเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่ พละกำลังมาก ช้างที่เพิ่งเกิดน้ำหนักยังเกือบๆ 200 กิโลกรัมเลย บางมุมเค้าน่ารัก แต่เวลาเค้าเกิดการเจ็บป่วย หรือมีอาการหงุดหงิดโมโห เค้าสามารถทำอันตรายกับเราได้ง่ายๆ เลย หรือไม่ว่าจะเป็นช้างตัวผู้ที่ถึงวัยหนุ่มจะมีอาการตกมัน ก็ยิ่งจะมีความดุร้ายมากๆ เกิดความสูญเสียมานักต่อนัก จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมจึงต้องมีการฝึก และใช้อุปกรณ์สำหรับการฝึกและควบคุมช้าง ไม่ว่าจะเป็นตะขอ หรือโซ่
ในอดีต คงต้องยอมรับว่าการฝึกช้างอาจจะมีความรุนแรง การใช้งานช้างที่มากเกิน เช่น การลากซุง การฝึกเพื่อโชว์แสดงความสามารถ การพาเดินเร่ขายผลไม้ ทำให้สวัสดิภาพช้างไม่ดี ส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยได้ จึงเป็นประเด็นให้ชาวต่างชาติ หรือกลุ่มคนที่รักสัตว์ไม่เห็นด้วยกับการฝึกช้าง และใช้อุปกรณ์ในการควบคุมช้าง และแบนการเลี้ยงแบบโบราณดั้งเดิม
ในปัจจุบัน ยุคสมัยเปลี่ยนไป องค์ความรู้ด้านการเลี้ยงช้างที่ได้ถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง สัตวแพทย์ หน่วยงานทั้งภาครัฐ หรือเอกชน หรือการหาข้อมูลต่างๆ ที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น ได้นำมาปรับใช้กับการเลี้ยงกับวิถีดั้งเดิม ทำให้สวัสดิภาพช้างดีขึ้น (มีระเบียบการบังคับใช้ของกรมปศุสัตว์) เช่น การได้รับน้ำ อาหารที่เพียงพอต่อวันควรได้รับเท่าไหร่ ควรมีการได้เดินหรือออกกำลังกายอย่างน้อยเท่าไหร่ต่อวัน ที่อยู่ต้องเป็นยังไง รวมถึงการใส่โซ่ควรมีความยาวเท่าไหร่ ที่ไม่ส่งผลเสียต่อตัวช้าง ส่วนตัวเคยเห็นเองช้างบางเชือกที่นิสัยไม่ดุร้าย ยังผูกแค่เชือกเส้นบางๆ หรือมีเชือกแค่ฝั่งตัวช้าง แต่ไม่ได้ผูกอีกฝั่งไว้กับหลักมัด คือใส่ไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินเฉยๆ อันนี้แค่ในส่วนตัวช้าง ในส่วนของคนเลี้ยง หรือพี่ๆ ควาญช้าง มีการอบรม ให้ความรู้ต่างๆ ทั้งเรื่องการเลี้ยง เรื่องโรคในช้าง มีถึงขั้นการอบรมเพื่อเป็นวิชาชีพควาญช้าง (อันนี้สำคัญมาก คนที่คลุกคลีกับช้างจะรู้จักโรค EEHV ที่ทำให้ลูกช้างเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ในบางพื้นที่ หรือบางปางที่ไม่มีสัตวแพทย์ ก็ได้พี่ๆ ควาญช้างนี่แหละ ที่เป็นคนสังเกตอาการป่วยเริ่มแรก เพราะเป็นคนที่ใกล้ชิดกับช้างที่สุด ทำให้รักษาได้ไว และลดความสูญเสียได้อย่างมากๆ )
ขอแยกส่วนตรงนี้ในกรณีการเลี้ยง แล้วถ้าถามว่าเราไม่ใช้อุปกรณ์บังคับได้มั้ย ไม่ใช้โซ่ล่ามได้มั้ย ก็อาจจะได้ แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยง เมื่อเกิดกรณีที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น คนเราเองเรายังมีอารมณ์หงุดหงิดโมโหได้ ช้างเค้าก็มีได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น เราจะควบคุมเค้ายังไง? หรือถ้ากรณีช้างดุจะทำยังไง?
ความเห็นส่วนตัวจากการที่ได้ทำงานจริงมานั้น ในช้างที่ได้รับการเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ เราเห็นแล้วมันสุขใจอยู่แล้วค่ะ ไม่มีใครไม่ชอบอิสระ แต่ในเงื่อนไขที่มีพื้นที่การเลี้ยงกว้างมากพอ ช้างได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างแท้จริง ถ้าทำได้กับช้างทุกเชือก มันคงเป็นภาพที่เกินจะฝันจริงๆ แต่ประสบการณ์ที่เห็นจริงกับตา แม้แต่ช้างที่ผ่านการฝึก เมื่อเค้าหงุดหงิดโมโห ยังทำอันตรายกับคนเลี้ยงจนถึงชีวิตได้เลย จึงคิดว่ามันควรจะมีตรงกลางนะ หรือควรยืดหยุ่นกันได้
มันอยู่ที่การสื่อสาร อธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ว่าความเหมาะสม ความจำเป็นคืออะไร ยิ่งในส่วนของปางที่ทำการท่องเที่ยว เชื่อว่ายิ่งมีวาทะศิลป์ในการสื่อสารต่อนักท่องเที่ยวให้เค้าเข้าใจได้อยู่แล้ว และเชื่อว่านักท่องเที่ยวเค้าก็จะเปิดใจ และเข้าใจรูปแบบการเลี้ยงของเรามากขึ้นด้วย ในส่วนของเชิงวิชาการนั้น ทั้งสัตวแพทย์และนักวิจัย เราก็ไม่เคยหยุดที่จะสื่อสารค่ะ ทั้งการค้นคว้าหาข้อมูล ทำงานวิจัย เพื่อให้การสื่อสารของเรามันมีน้ำหนักเวลาเราไปพูดและนำเสนอให้ทั้งคนในประเทศและต่างชาติได้เข้าใจวิธี และวิถีการเลี้ยงช้างของไทยค่ะ
.
เพิ่มเติม
1. ช้างป่า ช้างบ้าน มีความแตกต่างกันชัดเจน ไม่อยากให้มองแล้วว่าไปเอามาจากป่าทำไมแต่แรก การคล้องช้างป่ามาเป็นช้างบ้าน มันเคยมีนานมากแล้ว ถ้าจะพูดถึง ควรพูดแยกกันคนละชนิดไปเลย
2. ช้างน้ำตาไหล ช้างร้องไห้ จริงๆ แล้วช้างไม่มีท่อน้ำตา น้ำที่ไหลออกมามันเป็นเหมือนสารหล่อลื่นนัยน์ตาเท่านั้นค่ะ ที่เธอเห็นแค่ฝุ่นมันเข้าตา ฉันไม่ได้ร้องไห้ ~ ตามเนื้อเพลงได้เลยค่าาาา