วันอังคาร, ตุลาคม 08, 2567

ความจริงตากใบ ! เคยมีคณะกรรมการอิสระแสวงหาความจริง แต่เรื่องราวของคณะกรรมการนี้ ดูเหมือนจะไม่เป็นที่รับรู้มากนักในปัจจุบัน อ.สุรชาติ เขียนเล่าอดีต ถึงคณะกรรมการชุดนี้


The Politics ข่าวบ้าน การเมือง
14 hours ago
·
ความจริงตากใบ !
คณะกรรมการอิสระแสวงหาความจริง
สุรชาติ บำรุงสุข
สำหรับเหตุการณ์ตากใบนั้น ระยะเวลาได้ล่วงเลยมานานจนเข้าสู่ปีที่ 20 แล้ว และน่าสนใจว่าในปีนี้ ได้มีความพยายามอย่างมากที่จะรื้อฟื้น “คดีตากใบ” กลับขึ้นมาเป็นประเด็นในศาลให้ได้ ซึ่งทำให้เกิดการกลับมากล่าวถึงเหตุการณ์นี้ในวงกว้าง โดยเฉพาะในเวทีการเมือง และในเวทีสื่อ อันส่งผลให้กรณีตากใบกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปด้วย ดังจะเห็นได้จากการปะทะคารมระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านในเวทีสภาด้วย
แต่ดูเหมือนสังคมจะรับรู้เรื่องราวกรณีตากใบอย่างค่อนข้างจำกัด และเน้นอยู่เพียงปลายทาง ที่เป็นเรื่องของการเสียชีวิตของผู้ต้องหาที่เกิดขึ้นจากการขนย้าย แต่ดูจะรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพรวมน้อยมากๆ อันทำให้มองไม่เห็นพัฒนาการและบริบทของปัญหา
อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการสูญเสียชีวิตของผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 แล้ว รัฐบาลในขณะนั้น ได้สั่งให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส” ตามคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 335/2547 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 หรือที่เรียกคณะชุดนี้โดยทั่วไปว่า “คณะกรรมการอิสระ”
เรื่องราวของคณะกรรมการนี้ ก็ดูจะไม่เป็นที่รับรู้มากนักในปัจจุบัน หรือแทบจะมีคนไม่มากนักได้อ่านข้อมูลการไต่สวนของคณะกรรมการดังกล่าว ดังนั้น บทความนี้จะลองย้อนอดีตถึงเรื่องราวของคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อเป็นการนำเสนอถึงความพยายามในการแสวงหาความจริงในขณะนั้น เพื่อตอบคำถามให้เกิดรัฐและสังคมให้ได้รับรู้ถึงเรื่องราวการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น
- จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์
เหตุการณ์เริ่มต้นจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ. อ. ตากใบได้จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 6 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ในข้อหายักยอกทรัพย์ที่เป็นอาวุธปืนของทางราชการ และนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจดังกล่าว ทั้งที่ผู้ถูกจับกุมไม่ได้ถูกขังอยู่ที่สถานีตำรวจ แต่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ
ในช่วงเย็นของวันดังกล่าว (ก่อนค่ำ) เจ้าหน้าที่ได้ตัดสินใจสลายการชุมนุมและควบคุมผู้ร่วมชุมนุม เพื่อนำตัวบุคคลเหล่านั้นไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 คน และเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง 78 คน
- องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่
เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องของการเสียชีวิตของผู้ถูกควบคุมตัว คณะกรรมการอิสระจึงถูกตั้งขึ้นเพื่อสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ คณะกรรมการนี้จะไม่มีบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เว้นแต่นักวิชาการมุสลิมที่มาจากสถาบันอุดมศึกษา และมีความรู้ทางด้านศาสนาอิสลาม ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การคัดเลือกตัวบุคคลเช่นนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่เกิดความลำเอียงในการเก็บข้อมูล คณะกรรมการนี้ จึงเป็นดัง “คณะกรรมการแสวงหาความจริง” (The Truth Commission) ที่จะทำหน้าที่ในการตอบปัญหาจากข้อมูลที่มาจากการไต่สวน
คณะกรรมการอิสระมีอำนาจและหน้าที่ในการสอบข้อเท็จจริงในพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้สร้างกรอบของประเด็นปัญหาที่จะต้องทำการไต่สวน 4 ประการ คือ
1) การใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมสถานการณ์และความสงบเรียบร้อย การสลายการชุมนุม การต่อต้านขัดขืนการใช้อำนาจรัฐ การควบคุมตัวผู้ชุมนุม และการเคลื่อนย้ายผู้ถูกจับกุม หรือถูกควบคุมตัวดังกล่าว ตลอดจนเหตุแห่งการบาดเจ็บ และเสียชีวิตมีสาเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร
2) สิ่งที่เกิดขึ้นในข้อ 1 มีพฤติการณ์ประการใดกระทำไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หลักวิชา หรือมาตรฐานในการควบคุมหรือเคลื่อนย้ายบุคคลในสถานการณ์เช่นนั้นหรือไม่ ประการใด
3) หากไม่เป็นไปตามนั้น มีผู้สมควรต้องรับผิดชอบประการใดหรือไม่
4) จะมีมาตรการป้องกัน ตลอดจนช่วยเหลือหรือเยียวยาเพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างไร
- การดำเนินการ
คณะกรรมการอิสระได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 4 ชุด ได้แก่
5) คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานด้านการแพทย์และพยาบาล มีพลเรือตรี นายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว เป็นประธาน ประชุมทั้งสิ้นรวม 12 ครั้ง
6) คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง มีพลตำรวจเอกดรุณ โสตถิพันธุ์ เป็นประธาน ประชุมทั้งสิ้นรวม 13 ครั้ง
7) คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในพื้นที่ มี ดร.จรัญ มะลูลีม เป็นประธาน ประชุมทั้งสิ้นรวม 14 ครั้ง
8 ) คณะอนุกรรมการฝ่ายประสานงาน มีนายวีรยศ พันธุเพชร เป็นประธาน ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและประสานงานการประชุมของทุกอนุกรรมการ
ในการนี้ คณะกรรมการอิสระมีการประชุมทุกวันตั้งแต่เวลา 09:30 น. (เว้นในวันที่ไม่มีเรื่องให้พิจารณา) โดยการประชุมครั้งแรกเริ่มในวันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2547 และประชุมครั้งสุดท้ายในวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม 2547 รวมการประชุมทั้งหมดเป็นจำนวน 27 ครั้ง
สำหรับการดำเนินการนั้น มีรายละเอียดใน 3 ส่วน ดังนี้
9) เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มาให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง
10) เดินทางไปตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงในพื้นที่เกิดเหตุและในบริเวณใกล้เคียง
11) ทำการรวบรวมวัตถุพยานต่างๆ เพื่อประกอบการ
- องค์ประกอบของคณะบุคคล
คณะกรรมการอิสระ ประกอบด้วยคณะบุคคลทั้งหมด 11 คน และไม่มีใครเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ยกเว้นบางท่านเป็นอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยของรัฐ และบางท่านอาจจะมีชั้นยศนำหน้า แต่ก็ได้เกษียณจากราชการไปแล้ว ซึ่งมีรายนาม ดังนี้
1) นายพิเชต สุนทรพิพิธ (ประธานกรรมการ)
2) พลเรือตรี นายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว (รองประธานกรรมการ)
3) นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม (กรรมการ)
4) นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ (กรรมการ)
5) นายขวัญชัย วศวงศ์ (กรรมการ)
6) พลตำรวจเอก ดรุณ โสตถิพันธุ์ (กรรมการ)
7) นายอิสมาแอ อาลี (กรรมการ)
8 ) นายจรัญ มะลูลีม (กรรมการ)
9) นายอาดิส พิทักษ์คุมพล (กรรมการ)
10) นายวีระยศ พันธุเพชร (เลขานุการ)
11) นายนิพนธ์ ฮะกีมี (ผู้ช่วยเลขานุการ)
- ข้อสังเกต
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อให้สังคมการเมืองไทยทำความรู้จักกับคณะกรรมการอิสระ เนื่องจากเหตุการณ์กรณีตากใบเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 20 ปีแล้ว ข้อมูลต่างๆ จากการไต่สวนในกรณีนี้ จึงอาจไม่เป็นที่รับรู้มากนัก แต่ข้อมูลจากการรวบรวมของคณะกรรมการอิสระ จะเป็นพื้นฐานอย่างดีในการช่วยให้สังคมไทยในปัจจุบันทำความเข้าใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น
ข้อมูลในเอกสารนี้จะช่วยตอบคำถามว่า รัฐไทยไม่ได้มีความมุ่งประสงค์ในการทำลายชีวิตของผู้ร่วมชุมนุมชาวมุสลิม เหตุความสูญเสียที่เกิดสะท้อนถึงความอ่อนด้อย และการขาดประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ในการลำเลียงผู้ถูกควบคุมตัว อีกทั้ง ขาดการคาดคะเนถึงผลร้ายที่จะเกิดขึ้น การเสียชีวิตมิได้เป็นความต้องการของรัฐไทยแต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่ใช่เป็น “ความจงใจ” ของรัฐที่จะสังหารชีวิตของผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านั้น จึงไม่ใช่อาชญากรรมที่เกิดจากการกระทำของรัฐ เช่นที่รัฐไทยถูกกล่าวหาเสมอในกรณี 3 จังหวัด
การตั้งคณะกรรมการอิสระยังช่วยเป็นเครื่องยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ละเลยต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น และต้องการให้มีการไต่สวนเพื่อหาความจริง อย่างน้อย ให้เกิดข้อมูลเชิงประจักษ์ในเบื้องต้น ที่มีแหล่งข้อมูลที่เกิดจากกระบวนการแสวงหาความจริง และกระบวนการนี้กระทำโดยเปิดเผย มิใช่การไต่สวนในทางลับ ที่จบลงด้วยเอกสารที่มีชั้นความลับ การไต่สวนเช่นนี้ เป็นความชัดเจนในตัวเอง ที่ต้องการให้ผลของการไต่สวนได้รับการเปิดเผยในเวทีสาธารณะ
ดังนั้น การเก็บข้อมูลชุดนี้จึงถือเป็นหลักฐานทางคดีที่มีความชัดเจน มิใช่การปล่อยให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจบลงโดยปราศจากการแสวงหาความจริง และทั้งยังมีการดำเนินการคู่ขนาน คือ การไต่สวนการตายของผู้ถูกควบคุมในศาลอีกด้วย โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น เป็นจำเลย ซึ่งใช้ระยะเวลาในศาลถึง 5 ปี ซึ่งข้อมูลของการให้ปากคำในศาลก็เป็นอีกส่วนที่น่าเสียดายว่า ไม่ได้ถูกนำเปิดเผยในที่สาธารณะ ซึ่งก็เป็นอีกส่วนที่สะท้อนถึงการที่กระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยมิได้ละเลยปัญหาความสูญเสียที่เกิดขึ้น
นอกจากบทความฉบับเต็มของคณกรรมการอิสระ และข้อมูลในศาลแล้ว ผู้สนใจอาจหาอ่านฉบับสรุปย่อได้จากเอกสารของสถาบันพระปกเกล้า โดยมีนางอรอนงค์ และ รศ. ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นผู้เรียบเรียง ซึ่งฉบับย่อนี้อาจจะอ่านได้ง่ายกว่าในฉบับเต็ม และสรุปโดยไม่ขาดสาระสำคัญของเอกสารต้นฉบับของคณะกรรมการอิสระ
- ท้ายบท
การรับรู้ข้อมูลจากการไต่สวนของคณะกรรมการอิสระจะช่วยให้เราเห็นบริบท พัฒนาการ ตลอดรวมถึงปัญหาและข้อขัดข้อง อีกทั้ง นำเสนอในรายละเอียดถึงผลชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ด้วย
สำหรับบุคคลในคณะกรรมการนี้ มาจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ซึ่งมีทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม และมี “ความเป็นอิสระ” ที่จะรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นให้แก่รัฐบาล ตลอดรวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ฉะนั้น เอกสารนี้จึงไม่ใช่ข้อมูลที่ทำขึ้นเพื่อเป็น “ข้อแก้ตัว” ของฝ่ายรัฐแต่อย่างใด จึงสมควรที่จะนำมาเป็นข้อมูลอีกด้านในการเรียนรู้และถกแถลงเรื่องตากใบ !
.....