วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 10, 2567

บรรดาผู้มีอำนาจมักจะเชื่อว่า ภารกิจแรกของการควบคุมสื่อคือข่าวสารความจริงที่เกิดขึ้นต้องถูกทำให้ตายไปก่อน และสื่อสารให้ผู้คนได้รับทราบเฉพาะข่าวที่พวกเขาต้องการเท่านั้น การโฆษณาชวนเชื่อจึงเป็นเครื่องมือสำคัญมากในการรักษาอำนาจของฮิตเลอร์และพลพรรคนาซี เช่นเดียวกับการรักษาอำนาจของผู้นำหลายประเทศในยุคนี้


THE STANDARD @thestandardth

บรรดาผู้มีอำนาจมักจะเชื่อว่า ภารกิจแรกของการควบคุมสื่อคือข่าวสารความจริงที่เกิดขึ้นต้องถูกทำให้ตายไปก่อน และสื่อสารให้ผู้คนได้รับทราบเฉพาะข่าวที่พวกเขาต้องการเท่านั้น 

การโฆษณาชวนเชื่อจึงเป็นเครื่องมือสำคัญมากในการรักษาอำนาจของฮิตเลอร์และพลพรรคนาซี เช่นเดียวกับการรักษาอำนาจของผู้นำหลายประเทศในยุคนี้ที่ใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ 

การโฆษณาชวนเชื่อกับการรักษาอำนาจจึงเป็นของคู่กันมาตลอดทุกยุคทุกสมัย 

.....

ในหนังสือ การต่อสู้ของข้าพเจ้า ฮิตเลอร์กล่าวว่า “การใช้โฆษณาชวนเชื่อให้ได้ผลนั้นเป็นศิลปะอย่างแท้จริง”

สมัยฮิตเลอร์ครองอำนาจ เขาได้มือขวาคู่ใจคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการ โยเซฟ เกิบเบิลส์ (ค.ศ. 1897-1945) ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาประวัติศาสตร์วรรณคดี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปลุกระดม การโฆษณาชวนเชื่อ และสร้างข่าวเท็จจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า Fake News ในปัจจุบัน เขามีลักษณะเด่นคล้ายฮิตเลอร์คือเป็นนักพูดตัวยง เป็นนักแสดงบนเวที และเป็นนักเล่าเรื่องผู้ยอดเยี่ยม

พวกเขาร่วมกันสร้างหลักการง่ายๆ จนเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำโฆษณาชวนเชื่อแพร่หลายทั่วไปจนถึงปัจจุบัน ภายใต้หลักการง่ายๆ 7 ประการ และไม่น่าเชื่อว่าหลัก 7 ประการนี้ ทุกวันนี้ยังเป็นหลักคิดที่ไม่เคยล้าสมัยของบุคคลหรือหน่วยงานบางกลุ่ม

1.  การใส่ร้ายป้ายสี โจมตีตัวบุคคลเป้าหมาย ด่าคนนั้นออกสื่อไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ กันหลายรอบ โดยธรรมชาติผู้คนชอบฟังเรื่องด้านลบของผู้คน พอฟังหรืออ่านตอนแรกคนฟังอาจไม่เชื่อ แต่ฟังไปบ่อยๆ ผู้คนก็เริ่มเชื่อแล้วว่าบุคคลที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมีพฤติกรรมแบบนั้นจริงๆ วิธีการแบบนี้เห็นตัวอย่างได้ง่ายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นวิธีสร้างความแตกแยกได้ชัดเจนที่สุด

นักการเมืองคนใดที่ถูกฝ่ายตรงกันข้ามเขียนข่าวเท็จออกสื่อทุกวัน มีนักวิจารณ์หรือพิธีกรข่าวคอยด่าทุกวัน วันละหลายรอบ ซ้ำๆ กันเป็นเดือน เป็นปี ไม่นานนัก ข่าวเท็จข่าวลวงเหล่านั้นก็กลายเป็นข่าวจริงในสายตาของผู้คนจำนวนหนึ่ง

2.  พูดประโยคสำคัญซ้ำแล้วซ้ำอีก ย้ำข้อความเดิมๆ ไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ คนฟังและผู้รับสารจะค่อยๆ ซึมซับและเชื่อไปเองว่าเรื่องที่เล่าเป็นความจริง ไม่ต่างจากที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นวิธีโปรโมตเพลงดัง ซึ่งหากค่ายเพลงตั้งใจจะให้เพลงใดฮิตติดตลาด ก็จ้างบรรดาดีเจเปิดเพลงนี้ซ้ำๆ บ่อยๆ ทางสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ เปิดให้ฟังไปเรื่อยๆ จนในที่สุดคนฟังจะชินหูแล้วเริ่มรู้สึกว่าเพลงนี้มีความไพเราะ กลายเป็นเพลงฮิตติดตลาดไปในที่สุด

3.  โกหกคำโต โยเซฟ เกิบเบิลส์ เคยกล่าวว่า “ยิ่งโกหกคำโตมากเท่าไร โกหกบ่อยๆ นานๆ ไป คนจะยิ่งเชื่อมากขึ้น” และ “การหลอกประชาชนจำนวนมากด้วยการพูดโกหกเรื่องใหญ่ๆ ง่ายยิ่งกว่าการโกหกเรื่องเล็กๆ”

4.  การตั้งฉายาฝ่ายตรงกันข้ามให้แย่ หรือกดให้รู้สึกว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป และเมื่อคนทั่วไปไม่รู้สึกว่าเป็นมนุษย์ การปราบปราม การกำจัดก็ง่ายขึ้น มีตัวอย่างมากมายในอดีต เช่น “พวกยิวคือเชื้อโรคร้าย ต้องกำจัดให้หมด” หรือ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” จนถึงปัจจุบัน “ควายแดง” และ “สามกีบ”

5.  แบ่งแยกผู้คนเป็นฝ่ายต่างๆ ชัดเจน โลกของนักโฆษณาชวนเชื่อมักจะแบ่งมวลชนออกเป็นแค่สองฝ่าย เพื่อบีบให้คนตรงกลางต้องเลือกข้าง เป็นพวกเขา พวกเรา หากไม่ใช่พวกนาซีก็เป็นพวกคอมมิวนิสต์หรือพวกยิว ในสมัยที่ฮิตเลอร์กวาดล้าง สังหารโหดชาวยิวหกล้านกว่าคน คนเยอรมันที่เห็นใจชาวยิวก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกยิว จะโดนทำร้าย จับกุมคุมขัง เพราะฮิตเลอร์ต้องการสร้างภาพแบ่งกลุ่มคนเป็นคนดี คนเลว คนถูก คนผิด ให้ชัดเจน

แนวคิดนี้กลับมาโด่งดังมากเมื่อเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 หรือ 9/11 เมื่อโจรจี้เครื่องบินนำเครื่องบินทั้งสองลำพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และทำให้ จอร์จ บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวหาว่า ซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีประเทศอิรัก อยู่เบื้องหลัง และตัดสินใจบุกอิรัก โดยมีวลีอันโด่งดังว่า “หากคุณไม่อยู่ฝ่ายเรา คุณคือผู้ก่อการร้าย” หรือกลยุทธ์การหาเสียงของบางประเทศ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

6.  ฝ่ายธรรมะ ฝ่ายอธรรม ฮิตเลอร์พยายามสร้างภาพว่าตัวเองเป็นสัตบุรุษ เป็นเสมือนพระเยซูผู้ทรงคุณธรรม มีศีลธรรมอันดีงาม มาช่วยเหลือปกป้องชาวเยอรมัน ผู้สืบเผ่าพันธุ์จากพวกอารยัน ชนชาติที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด และผู้ร้ายคนชั่วคือพวกยิวที่เป็นพ่อค้าขูดรีด เอาเปรียบชาวอารยันมานาน และพวกคอมมิวนิสต์ที่มีความคิดชั่วร้ายในการปกครองประเทศ แม้กระทั่งก่อนการบุกประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศเชโกสโลวาเกียหรือโปแลนด์ ก็มีการปลุกระดมให้คนเยอรมันเข้าใจผิดว่าชนชาติเหล่านั้นเป็นคนชั่ว บังอาจข่มเหงรังแกคนเยอรมัน ชนกลุ่มน้อยในประเทศนั้นๆ รัฐบาลนาซีเลยต้องประกาศสงคราม

ไม่ต่างจากบางประเทศที่มักชูว่าตัวเองเป็นฝ่ายคนดี มีศีลธรรมอันดีงาม เป็นพวกจงรักภักดี ขณะที่อีกฝ่ายเป็นพวกชังชาติ

7.  การควบคุมสื่อ ภายหลังพรรคนาซีรุ่งเรืองอำนาจในปี 1933 ฮิตเลอร์และเกิบเบิลส์เข้าควบคุมหนังสือพิมพ์ทั้งหมดในเยอรมนี เพื่อกำหนดข่าวให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน ไม่รวมถึงวิทยุกระจายเสียงที่อยู่ภายใต้รัฐบาลอยู่แล้ว และพวกเขาสร้างนักพูด นักปลุกระดมมวลชนหลายพันคนที่มีฝีปากจัดจ้าน ออกตระเวนไปพูดทั่วประเทศ ส่งเนื้อหาเพื่อทำให้ประชาชนชื่นชอบฮิตเลอร์ พรรคนาซี และความชอบธรรมในการรุกรานประเทศอื่นๆ

สิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อสารเป็นข้อมูลด้านเดียวที่เป็นประโยชน์ต่อนาซีและเป็นผลร้ายต่อฝ่ายตรงกันข้าม และการนำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดไม่เคยเกิดขึ้นในสื่อเลย

บรรดาผู้มีอำนาจมักจะเชื่อว่า ภารกิจแรกของการควบคุมสื่อคือข่าวสารความจริงที่เกิดขึ้นต้องถูกทำให้ตายไปก่อน และสื่อสารให้ผู้คนได้รับทราบเฉพาะข่าวที่พวกเขาต้องการเท่านั้น

การโฆษณาชวนเชื่อจึงเป็นเครื่องมือสำคัญมากในการรักษาอำนาจของฮิตเลอร์และพลพรรคนาซี เช่นเดียวกับการรักษาอำนาจของผู้นำหลายประเทศในยุคนี้ ที่ใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ เช่น LINE, X และ Facebook โดยมีกองทัพไซเบอร์ เหล่า IO บรรดานางแบกและนายแบกทั้งหลาย ผู้ทำหน้าที่ปั่นกระแส กล่าวหา ป้ายสี ยุยง สร้างข่าวปลอมในโลกออนไลน์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเกลียดชังให้กับฝ่ายตรงกันข้าม

การโฆษณาชวนเชื่อกับการรักษาอำนาจจึงเป็นของคู่กันมาตลอดทุกยุคทุกสมัย

มนุษย์มักคิดว่าสิ่งที่เป็นความจริงจะมิใช่โฆษณาชวนเชื่อ แต่ในสังคมสมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม วิธีการโฆษณาชวนเชื่อจะมิใช่การพูดโกหกแบบปกติ ในความคิดของคนทั่วไปมองโฆษณาชวนเชื่อเป็นการทำให้คนเชื่อและเปลี่ยนความคิด

อ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่: