วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2567

ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางเดือด ! ส่อฮั้วผลประโยชน์สัมปทานนับแสนล้าน ถามเพื่อไทยเสนอกฎหมายเป็นร่างทรงของใคร ?



[ ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางเดือด ! ส่อฮั้วผลประโยชน์สัมปทานนับแสนล้าน ถามเพื่อไทยเสนอกฎหมายเป็นร่างทรงของใคร ? ]
------
.
วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง นำเสนอโดย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ - Surachet Pravinvongvuth สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โดยมีการพิจารณาพร้อมกับร่างฯ ที่ยื่นเสนอโดยคณะรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย พร้อมกันรวมทั้งหมด 3 ร่าง
.
สุรเชษฐ์อภิปรายเสนอหลักการและเหตุผลของร่างในส่วนของพรรคประชาชนว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางจะเป็นกฎหมายใหม่ แต่ก็มีการเริ่มร่างกันมาตั้งแต่ปี 2559 เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 โดยมีกรมการขนส่งทางรางเป็นผู้ผลักดันหลัก เนื่องจากมีกรมแล้วแต่ยังไม่มีกฎหมายมอบอำนาจให้ และได้มีการยื่นเข้าสู่สภาในชุดก่อนหน้านี้ไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งสภาในเวลานั้นได้มีมติรับหลักการในวาระแรกไปแล้ว
.
ต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าว ซึ่งตนก็ได้เข้าไปร่วมในฐานะกรรมาธิการ และยังมีประเด็นปัญหาที่ค้างคาใจมาตลอดถึงความสมเหตุสมผลของโครงสร้างอำนาจ ตนและพรรคประชาชนจึงได้ยื่นร่างดังกล่าวประกบเพื่อให้สภาแห่งนี้พิจารณา
.
สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ในวาระการประชุมนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ร่าง คือ ร่างของคณะรัฐมนตรี, ร่างของพรรคเพื่อไทย โดย มนพร เจริญศรี เป็นผู้เสนอ และร่างของพรรคประชาชน โดยหลักแล้วการทั้ง 3 ร่างระบุไว้เหมือนกัน คือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางราง ดังนั้นการลงมติในวันนี้จึงไม่มีเหตุผลให้มีการคว่ำร่างใดร่างหนึ่ง แต่คำถามที่สำคัญ คือ ควรเอาร่างไหนเป็นร่างหลัก และความแตกต่างของทั้ง 3 ร่างมีอยู่อย่างไรบ้าง
.
ในด้านของที่มานั้น ร่างของคณะรัฐมนตรีถือเป็นร่างดั้งเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งมาให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 และไม่เหมาะเป็นร่างหลัก เพราะสภาชุดที่แล้วโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาแก้ไขในรายละเอียดจนได้ร่างที่ประนีประนอมแล้ว เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาชุดที่แล้วตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 แต่ถูกร่าง พ.ร.บ.กัญชา แซงคิวขึ้นมาจนทำให้ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางเป็นอันตกไปเมื่อสภาสิ้นอายุลง และต่อมารัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ก็ไม่ได้นำมาพิจารณาตามกรอบ 60 วัน จนทำให้ร่างฉบับประนีประนอมดังกล่าวเป็นอันตกไป ดังนั้นการกลับไปใช้ร่างดั้งเดิมจากสมัย พล.อ.ประยุทธ์ ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอมาจึงไม่เหมาะสม เพราะเป็นการวนกลับไปที่เดิม เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
.
สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปถึงร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยว่า ตนพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็น "ร่างทรง” ของใครก็ไม่ทราบ แต่ที่ทราบ คือ มีการเปลี่ยนแปลงจากร่างของคณะกรรมาธิการวิสามัญโดยสภาชุดที่แล้วไปเยอะ ในลักษณะที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากขึ้นเมื่อเทียบกับร่างของคณะรัฐมนตรี ทำให้กฤษฎีกาไม่กล้ารับรองให้เป็นร่างของคณะรัฐมนตรีแต่เลือกที่จะส่งร่างดั้งเดิมมาในนามคณะรัฐมนตรี สิ่งที่ต้องตั้งคำถาม คือ ใครเป็นคนร่างให้มนพรมาแปะป้ายว่า เป็นของพรรคเพื่อไทย เป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางรางและ/หรือตัวแทนจากบริษัทใหญ่ด้านรางที่มีอิทธิพลมากในคณะรัฐมนตรีนี้หรือไม่
.
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามตัวหนังสือในร่างพบว่า มีความเปลี่ยนแปลงจากร่างดั้งเดิมของคณะรัฐมนตรีที่มีการยื่นมาทั้ง 2 รอบ และไม่ได้เหมือนกับร่างฉบับประนีประนอมของคณะกรรมาธิการวิสามัญในสภาชุดที่แล้ว เพราะมีข้อความหายไปกว่า 20 มาตรา อีกทั้งมีการแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญในหลายมาตรา สุดท้ายเหลือเพียง 145 มาตราจาก 164 มาตรา ในร่างประนีประนอม
.
“เรื่องรางเป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวพันกับดีลสัมปทานมูลค่านับแสนล้านบาท อยากให้มีการตอบคำถามกันให้ชัดเจนว่า ที่ท่านไปเปลี่ยน เปลี่ยนอะไรนอกรอบ มีเหตุผลอย่างไรที่เปลี่ยน” สุรเชษฐ์ กล่าว
.
สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนร่างของพรรคประชาชนนั้นถือเป็นร่างประนีประนอมพร้อมจุดยืนอย่างตรงไปตรงมา เพราะเป็นร่างที่ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญในสภาชุดที่แล้วมาแล้ว โดยคงไว้ที่ 164 มาตรา และมีการแก้ไขเพียงเล็กน้อยตามเอกสารการสงวนความเห็นรายมาตรา โดยไม่มีการยัดไส้หรือแอบตัดบางมาตราทิ้งไป และมีเหตุผลในการขอแก้ไขตามที่แถลงไว้อย่างชัดเจน
.
หากสภาใช้ร่างนี้เป็นร่างหลัก สส. รัฐบาลก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกมาตราอยู่ดี ผ่านเสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการ ตนจึงขอเสนอให้นำร่างฉบับของพรรคประชาชนเป็นร่างหลัก เพราะไม่ต้องเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ในการกลับไปเริ่มนับหนึ่งจากร่างดั้งเดิมของคณะรัฐมนตรี และไม่ต้องระแวดระวังการยัดไส้หรือแอบตัดบางมาตราทิ้งไปโดยร่างทรงของใครก็ไม่ทราบ
.
สุรเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า แม้ทั้ง 3 ร่างจะเห็นตรงกันในมาตรา 5 เรื่องการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางรางที่ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางรางเป็นกรรมการและเลขานุการ แต่ที่เห็นต่างกัน คือ ใครควรเป็นประธานระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งประเด็นนี้สำคัญมากเพราะคณะกรรมการชุดนี้ คือ หัวใจของร่าง โดยร่างของพรรคประชาชนเห็นว่า อำนาจในเรื่องการขนส่งทางรางควรอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เช่นเดียวกันกับด้านถนน อากาศ และน้ำ ไม่ใช่นำไปไว้กับนายกรัฐมนตรีอย่างไม่มีเหตุผลที่ดีพอในการอธิบายว่า ทำไมจึงเลือกปฏิบัติกับรางแตกต่างจากรูปแบบการเดินทางอื่น
.
ทั้งนี้ตนมีข้อสังเกต 5 ประเด็น หากจะให้อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการไปทำงานขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ กล่าวคือ
.
1) จะเกิดปัญหาการไม่บูรณาการกันระหว่างรูปแบบการเดินทางหนักขึ้น กล่าวคือ รางจะถูกเลือกปฏิบัติแตกต่างจากรูปแบบการเดินทางอื่น เพราะคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก คณะกรรมการการบินพลเรือน และกรมเจ้าท่า ต่างก็มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้กำกับดูแลทั้งสิ้น หากจะแยกบทบาทการกำกับกิจการทางรางออกมาจะเป็นการสร้างปัญหาใหญ่ในเชิงระบบ จะเกิดการไม่บูรณาการกันระหว่างรูปแบบการเดินทางหนักขึ้น ซึ่งผู้เสนอร่างดังกล่าวยังไม่เคยอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลเลยว่า ทำไมรางจึงต้องถูกเลือกปฏิบัติแตกต่างจากรูปแบบการเดินทางอื่น
.
2) อาจมีบางท่านไม่ไว้ใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลยอยากนำไปขึ้นกับนายกรัฐมนตรีแทน แม้ตนจะไม่ไว้ใจทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและนายกรัฐมนตรี แต่ในร่างกฎหมายควรตัดเรื่องตัวบุคคลออกไป แล้วพิจารณาโครงสร้างอำนาจที่เหมาะสมในด้านการคมนาคม แม้รางจะเป็นเรื่องสำคัญจริง แต่ถนน น้ำ และอากาศก็สำคัญเช่นกัน ที่สำคัญคือ ต้องมีการบูรณาการกันอย่างแท้จริง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับทั้งผิดและชอบ ให้โครงข่ายมาเสริมกัน ไม่ใช่มาแข่งขันกันโดยใช้เงินของคนทั้งประเทศไปอุดหนุนทุกอย่างแบบไร้หลักคิด
.
3) อาจมีบางท่านคิดว่า เอาไปไว้กับนายกรัฐมนตรีดีแล้วเพราะใหญ่ดี ขออะไรจะได้ผ่านง่าย ๆ แม้นายกรัฐมนตรีจะใหญ่จริง แต่นายกรัฐมนตรีเองก็มีตำแหน่งเป็นประธานร่วมร้อยกว่าคณะกรรมการ ย่อมไม่มีเวลาพิจารณาในรายละเอียดอย่างแน่นอน อาจได้ประชุมเพียงปีละแค่ 1-2 ครั้งเทานั้น ขออะไรอาจผ่านได้ง่ายกว่าจริงแต่จะขาดการกลั่นกรองและก่อให้เกิดโครงการที่ซ้ำซ้อน เกินความจำเป็น และไม่คุ้มค่าได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญ คือ จะขาดผู้รับผิดชอบจากการวางแผนที่ผิดพลาดและไม่บูรณาการจริง เพราะต่างคนต่างดันเรื่องของตัวเอง
.
4) บทบาทของนายกรัฐมนตรีมีอยู่แล้วใน 2 ฐานะที่สำคัญในการกำกับดูแลภาพรวมของการคมนาคมในทุกรูปแบบ คือ ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ตาม พ.ร.บ. คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นเลขานุการอยู่ ซึ่ง สนข. ก็ดูแลภาพรวมในการบูรณาการทั้งทางล้อ ราง เรือ และเครื่องบินอยู่แล้ว จึงไม่ควรไปสร้างโลกคู่ขนานโดยดึงรางแยกออกมาให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังมีบทบาทที่สองในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งสามารถกำกับดูแลภาพรวมของการคมนาคมได้อยู่แล้ว จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้นายกรัฐมนตรีไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง เพราะจะอ้างได้ว่าผ่านนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ใครจะกล้าขวาง ระบบดุลอำนาจก็จะเสีย
.
5) ขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 เรื่อง แนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมาย ที่กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่จำเป็นต้องมีระบบคณะกรรมการ จะต้องไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ เว้นแต่เป็นคณะกรรมการที่กำหนดนโยบายระดับชาติเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางรางถือเป็นนโยบายการคมนาคมประเภทหนึ่ง เนื้อหาก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่ใช่คณะกรรมการระดับชาติ แต่เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งในด้านการคมนาคมเท่านั้น จึงควรให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน
.
สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากจุดแตกต่างหลักในเรื่องของโครงสร้างอำนาจ ยังมีจุดแตกต่างในเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น ในร่างของพรรคเพื่อไทยเมื่อเทียบกับร่างของตนและของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีข่าวว่าจะมีการผลักดันให้เป็นร่างหลัก มีทั้งการลดเงื่อนไขการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เพิ่มประโยชน์ให้นายทุนผู้ประกอบกิจการ และยังลดอำนาจรัฐในการเข้าไปตรวจสอบ
.
“ข้อเสนอของผมชัดเจน คือ อยากให้เพื่อนสมาชิกทุกท่านลงมติเพื่อรับหลักการในทุกร่าง เพราะมีหลักการเดียวกัน ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะปฏิเสธได้ และเวลาเลือกว่า จะเอาร่างใดเป็นร่างหลัก ผมอยากให้เอาร่างพรรคประชาชน เพราะใกล้เคียงกับร่างประนีประนอมจากสภาชุดที่แล้วมากที่สุด มีการแก้ไขเพียงเล็กน้อยและชัดเจน ไม่มีการแอบไปตัดกันนอกรอบกว่า 20 มาตรา โดยไม่รู้เลยว่าร่างที่เพื่อไทยเสนอมานี้เป็นร่างทรงของใครและใครเป็นคนตัด แต่เห็นได้ชัดว่าเอื้อประโยชน์ให้นายทุน” สุรเชษฐ์ กล่าว