วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2567

กมธ.กฎหมายเรียกหน่วยงานชี้แจงความคืบหน้ากรณี “วันเฉลิม-ชัชชาญ” ถูกอุ้มหาย หลังครอบครัวยื่นเรื่องติดตามไปต้นปี 2567


17/10/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

วันที่ 16 ต.ค. 2567 เวลา 09.30 – 12.00 น. คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ของสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือเชิญผู้เสนอเรื่องร้องเรียนเข้าร่วมการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการกระทำให้บุคคลสูญหายในกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และกรณีชัชชาญ บุปผาวัลย์ (หรือสหายภูชนะ ถูกพบเป็นศพในเวลาต่อมา)

ในนัดประชุมดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความคืบหน้าของทั้ง 2 กรณีนี้ ที่แม้ผ่านไป 2 ปีแล้ว หลังจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 แต่ปัจจุบันหน่วยงานรัฐยังคงไม่สามารถนำ พ.ร.บ.ดังกล่าวมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

หน่วยงานที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกรรมาธิการฯ ในประเด็นนี้ ได้แก่ ตัวแทน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สำนักงานอัยการสูงสุด, ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
.
อัยการสูงสุดร่วมอยู่ในคณะทำงานสอบสวนกรณีวันเฉลิมแล้ว ส่วนกรณีชัชชาญรอ DSI พิจารณาเป็นคดีพิเศษ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ 22/2567 จากข้อร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขอลี้ภัยทางการเมืองทั้ง 9 ราย โดยมีกรณีของวันเฉลิมและชัชชาญเป็นสองในเก้ากรณีดังกล่าว และ กสม. ได้มีความเห็นว่ากรณีทั้งสองนี้น่าเชื่อว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับสูญหาย

วันที่ 16 ต.ค. 2567 กมธ.การกฎหมายฯ โดยมี กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เป็นประธาน ได้นัดทั้ง 2 ครอบครัวผู้ร้องทุกข์มาเข้าร่วมประชุมในวันเดียวกัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นกรณีที่มีประเด็นคล้ายกันและหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นหน่วยงานเดียวกันทั้ง 2 กรณี

จากการประชุม พบว่ากรณีของวันเฉลิมปัจจุบันยังไม่มีสถานะทางคดีตามกฎหมายไทย

โดยสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าว ยัง ‘ไม่สามารถ‘ สรุปได้ว่าคดีเกิดนอกราชอาณาจักรไทยหรือไม่ อัยการจึงยุติการสอบสวน เพราะไม่มีอำนาจตามมาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญาและ มาตรา 20 กฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา จึงส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ ทั้งนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดอีกสำนักหนึ่งให้ข้อมูลว่าตนได้มีหนังสือสอบถามไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้ว และเห็นว่าคดียังอยู่ที่ศาลแขวงกรุงพนมเปญ จึงควรรอการชี้แจงจากศาลก่อน

ในขณะเดียวกัน อัยการสูงสุดที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำงานตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2567 โดยสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการนี้ ดังนั้น อัยการในส่วนนี้จึงจะเริ่มดำเนินกระบวนการสืบสวนตามอำนาจ มาตรา 26 โดยตัวแทนของสำนักงานอัยการสูงสุดมีแนวทางในการเข้าไปติดต่อและติดตามคดีด้วยตนเอง ณ ประเทศกัมพูชา ภายในเดือนตุลาคมนี้

ในวันเดียวกัน ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงว่ารายงานของคณะกรรมการฯ เชื่อว่าเหตุเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนทำเท่านั้น และแนะนำให้มีการเยียวยาครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายทุกคนต่อไป


ส่วนกรณีของ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ ซึ่งได้ถูกพบเป็นศพที่จังหวัดนครพนม ก่อนหน้านี้ทางสถานีตำรวจภูธรธาตุพนม เป็นเจ้าของสำนวนหลัก ต่อมาทางผู้ร้อง (บุตรชาย) ได้รับแจ้งจากทางตำรวจ ว่าได้มีการยุติการสอบสวนเนื่องจากไม่พบผู้กระทำความผิด ทางผู้ร้องจึงได้ร้องทุกข์ตาม มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย ต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งได้รับแจ้งว่ายุติการสอบสวนเช่นเดียวกัน เนื่องจากเห็นว่ากรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นไปตามมาตรา 10 ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เนื่องจากสถานะการเป็นบุคคลสูญหายได้สิ้นสุดลงแล้ว

ผู้ร้องจึงได้ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 โดยมองว่าการอุ้มฆ่าครั้งนี้สะเทือนขวัญและโหดร้าย การฆาตกรรมในลักษณะนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล

ปัจจุบันทางกรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ว่าจะรับกรณีของชัชชาญเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ทั้งจะมีการเรียกให้ทางผู้ร้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม และเรียกรายงานเหตุอุกฉกรรจ์ในช่วงที่พบศพจากสถานีตำรวจภูธรท้องที่ที่พบศพ ทาง DSI ระบุว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ภายในกรอบระยะเวลา 6 เดือน


ทางด้านผู้แทนจากสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวเสริมในที่ประชุม กมธ. ว่า ในกรณีของวันเฉลิมมีการรวบรวมข้อมูลตามหนังสือที่ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาได้ตอบกลับไว้แล้วและหากหน่วยงานรัฐต้องการจะเข้าถึงข้อมูลสามารถเข้าถึงได้บนหน้าเว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ไว้ได้ แต่ในส่วนกรณีของชัชชาญยังอยู่ในกระบวนการรวบรวมเอกสาร ยังไม่ได้มีการเผยแพร่บนเว็บไซต์

https://tlhr2014.com/archives/70636