วันศุกร์, ตุลาคม 11, 2567

อ่านประเด็นที่จะยุบเพื่อไทย เอาให้จริงเรื่องยุบเพื่อไทย คือเป้าหลอก เป้าจริง ๆ คือจะเล่นงานทักษิณ ชั้น 14 มากกว่า - สั่งให้ขับพรรคพลังประชารัฐพ้นพรรคร่วมรัฐบาล เป็น 1 ใน 6 ปมเอาผิด ทักษิณ-เพื่อไทย คดีล้มล้างการปกครองฯ

https://www.facebook.com/watch/?v=1499100564074894&t=0
.....


.....
Thanapol Eawsakul
17 hours ago
·
อ่านประเด็นที่จะยุบเพื่อไทยแล้วขี้หมามาก
เอาให้จริงเรื่องยุบเพื่อไทย คือเป้าหลอก
เป้าจริง ๆ คือจะเล่นงานทักษิณ ชั้น 14 มากกว่า
.....

'ธีรยุทธ' ยก 6 พฤติการณ์กล่าวหา 'ทักษิณ' ใช้ 'พท.' ทำลายสถาบันกษัตริย์-พรรคการเมือง

10 ตุลาคม 2567
ประชาไท

'ธีรยุทธ' มือยื่นยุบก้าวไกล ร้องศาลรัฐธรรมนูญ ยก 6 พฤติการณ์ 'ทักษิณ' ใช้ 'เพื่อไทย' เป็นเครื่องมือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ทำลายสถาบันกษัตริย์ และสถาบันทางการเมือง รับปรึกษา 'ไพบูลย์' บางประเด็น

10 ต.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก The reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ และผู้ยื่นยุบพรรคก้าวไกล เดินทางมายื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยุติครอบครอง ครอบงำ และสั่งการ ใช้พรรคเพื่อไทย เป็นเครื่องมือเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันทางการเมือง



ธีรยุทธ กล่าวว่า ยื่นคำร้องโดยตรงศาล รธน.โดยตรง เพื่อให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หรือทักษิณ ชินวัตร และผู้ถูกร้องที่ 2 หรือพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

ธีรยุทธ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยไปยื่นสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เมื่อ 24 ก.ย. 2567 หลังผ่านกำหนดครบ 15 วันนั้นแล้ว แต่อัยการสูงสุดยังไม่ส่งคำร้อง จึงเป็นเหตุให้มายื่นศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองวันนี้ โดยเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 49/3

ธีรยุทธ กล่าวว่า การกระทำที่ผู้ถูกร้องทั้ง 2 แบ่งจำแนกได้เป็น 6 กรณี และเข้าข่ายลักษณะการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ 2 ลักษณะ

ยก 6 พฤติการณ์ที่นำมาสู่คำฟ้อง

ธีรยุทธ กล่าวว่า ลักษณะที่ว่าคือ 1. ผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์ในการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย พระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง และ 2. ผู้ถูกร้องมีเจตนาบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่มีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยฯ ให้ชำรุดทรุดโทรมอ่อนแอลง

โดยแยกเป็น 6 กรณีดังนี้

1. กรณีที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ขอพระราชทานขออภัยลดโทษ ทักษิณ ชินวัตร นักโทษเด็ดขาดชาย เหลือโทษจำคุก 1 ปี ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคของผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุก ให้พักอาศัยที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษตามพระบรมโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง เพราะว่าระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นอกจากนี้ ธีรยุทธ อ้างรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่า ทักษิณ ชินวัตร มีอาการดีขึ้นเพียงพอที่จะกลับเข้าสู่กระบวนการรับโทษแล้ว แต่กลับไม่กลับไปรับโทษ

2. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่กับสมเด็จฮุน เซน ผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา และผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคเพื่อไทย หรือผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือสั่งการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้นำประเทศกัมพูชา กรณีอาจละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หรือ ‘เกาะกูด’ ตามข้อตกลงร่วม (MOU) ปี 2544 เพื่อแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในเขตอธิปไตยของไทยให้กับกัมพูชา

3. ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้สั่งการผู้ถูกร้องที่ 2 ให้ร่วมมือกับพรรคประชาชนแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาชนเป็นพรรคที่ก่อตั้งจากกลุ่มการเมืองพรรคก้าวไกลเดิม ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์ผู้ถูกร้องที่ 1

4. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์ครอบครอง ครอบงำ และสั่งการผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน เพื่อหารือการนำเสนอผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเหตุนั้นเกิดขึ้นเมื่อ ส.ค. 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 หรือบ้านจันทร์ส่องหล้า

5. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์ครอบครอง ครอบงำ และสั่งการผู้ถูกร้องที่ 2 หรือพรรคเพื่อไทยมีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมทำตามผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ

6. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ครอบครอง ครอบงำ และสั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567

โดยธีรยุทธ กล่าวหาว่า การกระทำทั้ง 6 กรณีของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 เข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ลักษณะ

8 คำขอที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งการ
สั่งผู้ถูกร้องที่ 1

1.  ขอศาลโปรดสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือกระทำการเซาะกร่อนบ่อนทำลายเกียรติยศสถาบันพระมหากษัตริย์

2.  ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการเป็นเจ้าของครอบครอง และครอบงำ เป็นผู้สั่งการพรรคผู้ถูกร้องที่ 

3.  ขอศาลได้โปรดสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1

4.  ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

5.  สั่งผู้ถูกร้องที่ 2สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์

6.  ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือสั่งการการดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2

7.  ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคของผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1

8.  ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ ด้วยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

รับปรึกษา 'ไพบูลย์'

ธีรยุทธ กล่าวหลังแถลงข่าวว่า ความคาดหวังของเขาคือให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดสั่งการตามที่ได้ร้องขอ ส่วนศาลฯ จะเมตตาไต่สวนเหตุอื่นประการใด ไม่อาจก้าวล่วงได้

ธีรยุทธ กล่าวต่อว่า ทำคนเดียวไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง แต่ยอมรับว่าปรึกษาไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ บางประเด็นเท่านั้น เนื่องจากมีความรู้ ประสบการณ์ คุณวุฒิ และวัยวุฒิที่เหมาะสม

ธีรยุทธ ยังกล่าวอีกว่า ในกรณีเรื่องชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจที่ทักษิณพักรักษาตัว เขายึดรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นหลัก และได้เตรียมพยานบุคคล 3-4 คน ซึ่งมีชื่อตามรายงานดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาเรียกตัวมาไต่สวนเพราะถือว่าเป็นพยานบริสุทธิ์ เมื่อเทียบกับคลิปเสียงหรือรูปภาพ ที่มีการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ เพราะถ้านำเข้ามาประกอบสำนวน หากไม่ได้รับการยินยอมก็อาจผิดกฎหมาย ผิดกับความตั้งใจของเขา

ทั้งนี้ มติชนออนไลน์ รายงานว่า สำหรับคำร้องของธีรยุทธ ที่นำมายื่นศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย คำร้องรวม 65 หน้า เอกสารประกอบคำร้องอีก 443 แผ่น รวมคำร้อง เอกสารประกอบชุดละ 508 แผ่น ทำสำเนารวม 10 ชุด รวมเป็นเอกสาร 5,080 แผ่น

https://prachatai.com/journal/2024/10/111004