วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

สังคมอุดม ‘ด็อกเตอร์’ ทำไมคนไทยถึงชอบอวดคำนำหน้าชื่อ



สังคมอุดม ‘ด็อกเตอร์’ ตอบปัญหาคาใจ ทำไมคนไทยถึงชอบอวดคำนำหน้า

โดย ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
30.10.2019
The Standard

HIGHLIGHTS

  • คนที่จบปริญญาเอกส่วนใหญ่ในอังกฤษแทบไม่เคยให้ความสำคัญต่อการมีไตเติลนำหน้าชื่อตัวเองเลย มิหนำซ้ำคนส่วนใหญ่จะค่อนข้างถ่อมตน และแทบจะอายด้วยซ้ำเวลาที่คนอื่นพูดถึงประวัติของตัวเขาในทางที่ดี
  • เมื่อเทียบกับคนเอเชียส่วนใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงคนไทยด้วย การพยายามให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองเป็น ดร. หรือ ศ. หรือยศ ตำแหน่งนำหน้าชื่อ ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เราสามารถพบเห็นกันได้ทั่วไป
  • การมี ดร. หรือไตเติลที่หรูๆ นำหน้า ถือเป็นการส่งสัญญาณแสดงฐานะอย่างหนึ่งในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ
ย้อนกลับไปตอนที่ผมกำลังเรียนอยู่มัธยมปลายที่อังกฤษ เมื่อประมาณ 22 ปีที่แล้ว ผมมีแฟนเป็นคนอังกฤษที่เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน ผมสนิทกับคุณพ่อของเธอมาก (คุณพ่อเป็นชาวสกอตแลนด์ชื่อว่า เอียน) เอียนเป็นคนคุยสนุกและเอ็นดูผมมาก ผมได้ดูบอลอังกฤษที่สนามจริงๆ ครั้งแรกก็ไปดูกับเอียน และเพราะเขานี่เองที่ทำให้ผมเชียร์ทีมฟุตบอล Gillingham แทนที่จะเชียร์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือลิเวอร์พูลเหมือนคนอื่นๆ มันเป็นอะไรที่ตลกดีเวลาที่มองย้อนกลับไปในวัยนั้น คนที่ผมคิดถึงที่สุดไม่ใช่แฟนเก่า แต่เป็น เอียน พ่อของเขาต่างหาก

และสิ่งที่ทำให้ผมตกใจมากที่สุดเกี่ยวกับตัวเอียนในเดือนแรกๆ ที่ผมรู้จักเขาก็คือ เขาจบปริญญาเอก ตัวจริงของเอียนก็คือ ดร.เอียน แต่เขาไม่เคยใช้คำนำหน้าที่เขามีในชีวิตประจำวันเลย (เขาไม่เคยบอกผมด้วยซ้ำไปว่าเขาเป็น ดร. ทางด้านเคมีที่มีชื่อในบริษัท Pfizer ที่เขาทำงานอยู่) แฟนผมเป็นคนบอกผมต่างหาก “It’s no big deal” เธอบอกกับผม

มันเป็นอะไรที่ตลกดีสำหรับผม เพราะในตอนนั้นผมเห็นว่าการที่เอียนไม่เคยใช้คำนำหน้าของเขาเลยถือเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะผมเคยเล่าให้แฟนฟังว่า ที่ประเทศไทยถ้าคุณมีไตเติลนำหน้า ไม่ว่าจะเป็น ดร. ศ. หรืออะไรก็ตาม

“…You’re gonna want everybody to know about it!”

… คุณอยากจะให้ทุกคนที่คุณรู้จักรู้ว่าคุณมีไตเติลนำหน้า

ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือว่าผมคิดไปเอง แต่พฤติกรรมของเอียนและคนที่จบปริญญาเอกส่วนใหญ่ที่ผมเจอในอังกฤษแทบไม่เคยให้ความสำคัญต่อการมีไตเติลนำหน้าชื่อตัวเองเลย มิหนำซ้ำคนที่ผมเจอส่วนใหญ่จะค่อนข้างถ่อมตน และแทบจะอายด้วยซ้ำเวลาที่คนอื่นพูดถึงประวัติของตัวเขาในทางที่ดี

เมื่อเทียบกับคนเอเชียเราส่วนใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงคนไทยด้วย การพยายามให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองเป็น ดร. หรือ ศ. หรือยศ ตำแหน่งนำหน้าชื่อ ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เราสามารถพบเห็นกันได้ทั่วไป (และถ้าคนอื่นพูดถึงโดยไม่ได้เอ่ยชื่อแบบเต็มยศหลายคนจะโกรธมาก)

ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าพฤติกรรมของการ ‘โชว์’ ไตเติลตัวเองของคนไทยและเอเชียมาจากไหน จนกระทั่งได้มีโอกาสทำวิจัยในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ และความสุขที่คนเราได้มาจากการมีฐานะที่เหนือกว่าคนอื่น ซึ่งสิ่งที่ผมและเพื่อนร่วมงานพบก็คือ

1. คนเราแคร์เรื่องฐานะของตัวเองมากกว่าเงินทองที่เรามี พูดง่ายๆ ก็คือเราแคร์ว่าเรารวยเป็นอันดับที่ 5 หรืออันดับที่ 44 ในบริษัทมากกว่าการที่เราได้รับเงินเดือนเท่าไร

2. ยิ่งความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ยิ่งสูงขึ้น ความสุขที่เราได้มาจากการเปรียบเทียบก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

พูดง่ายๆ ก็คือคนรวยในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้สูงมักจะมีความสุขมากกว่าคนรวยในสังคมที่มีความเท่าเทียมกันมากกว่า ถึงแม้ว่าคนรวยทั้งสองคนจะมีรายได้เท่ากันก็ตาม ในทางกลับกัน คนจนในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้สูงมักจะทุกข์มากกว่าคนจนในสังคมที่มีความเท่าเทียมกันมากกว่า ถึงแม้ว่าคนจนทั้งสองคนจะมีรายได้เท่ากันก็ตาม

ซึ่งก็หมายความว่า ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้สูงอย่างเช่นประเทศไทย คนเรามักจะให้ความสำคัญต่อการได้ ‘อยู่เหนือ’ คนอื่นมากกว่าเมื่อเทียบกันกับคนที่อาศัยอยู่ในสังคมที่มีเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าผลตอบแทนจากการที่เราได้อยู่เหนือกว่าคนอื่นในสังคมที่ต่างคนต่างก็แก่งแย่งชิงดีกันเพราะความเหลื่อมล้ำนั้น มีค่าสูงกว่าสังคมที่ต่างคนต่างพอใจกับฐานะของตัวเอง (เพราะต่างคนต่างมีฐานะที่ใกล้เคียงกัน)

และผมคิดว่าด้วยเหตุผลนี้นี่เองที่ทำให้คนที่มี ดร. นำหน้า ไม่ว่าจะเป็น ดร. อะไรก็ตาม มีแรงจูงใจในการทำให้ Qualification ซึ่งเป็น Public Knowledge เพราะว่าการมี ดร. หรือไตเติลที่หรูๆ นำหน้า ถือเป็นการส่งสัญญาณแสดงฐานะอย่างหนึ่งในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ

และมันก็ยังอธิบายได้อีกว่าทำไมคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีความเท่าเทียมกันมากกว่าถึงไม่ค่อยแคร์กับการส่งสัญญาณตัวนี้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าในสังคมที่เท่าเทียมกัน ตัวเขาและคนอื่นๆ ต่างก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับไตเติลพวกนี้ในฐานะของการเป็นสัญญาณแสดงฐานะตัวเองเลย

และก็เป็นเพราะเอียนนี่แหละที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมแทบจะไม่ค่อยแคร์ในไตเติลที่ผมมีสักเท่าไรนัก

“Just call me Nick” จึงเป็นอะไรที่ผมพูดติดปากกับนักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่ (แต่ก็อาจจะต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ถ้าการไม่ใช้ไตเติลเลย = ไม่มีใครที่ไทยยอมฟัง!)

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า