ศาลไทยเดี๋ยวนี้อำนาจล้นแก้ว ออกกฎหมายเองได้ด้วยไหมล่ะ ข้อคิดจากฟัง วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิจารณ์คำตัดสินศาลอาญาสั่งจำคุก เบนจา อะปัญ เต็มพิกัด ๖ เดือน คดีโปรยใบปลิว ‘ละเมิดอำนาจศาล’ อธิบดีผู้พิพากษาอ้างนอกบริบท ป.วิแพ่ง มาตรา ๓๐
เสวนาออนไลน์ ‘อ่านกฎหมาย’ ดำเนินรายการโดย ไอดา อรุณวงศ์ ถามความเห็นศาสตราจารย์กฎหมายมหาชนธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ ต่อคำตัดสินของศาลอาญาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน จากคดีทวงคืนสิทธิประกันให้เพื่อน ๒๙ เมษายน
คดีดังกล่าว เบนจา กับ ณัฐชนน ไพโรจน์ “กับพวกประมาณ ๓๐๐ คน ได้พากันเข้าไปในบริเวณศาลอาญา” ตะโกนส่งเสียงดังใช้อุปกรณ์ขยายเสียง และโปรยกระดาษ อีกทั้งใช้ถ้อยคำ “ประณามใส่ร้ายและดูหมิ่นต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา”
ศาลจึงตัดสินว่ามีความผิด “ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิแพ่ง) มาตรา ๓๐, ๓๑ (๑), ๓๓ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) มาตรา ๑๕, ๑๘๐ ให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด ๖ เดือน”
หัวใจของคำตัดสินอยู่ที่ความผิดตาม ป.วิแพ่ง ที่วรเจตน์ชี้ให้เห็นว่า ใช้จำกัดเฉพาะภายในห้องพิจารณาคดี และคดีนั้นๆ มิใช่นำออกมาใช้เป็นการทั่วไป ไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลสำหรับการตีความกฎหมาย เท่ากับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากำหนดกฎหมายเอง
การนี้ศาลนำเอา ‘ข้อกำหนด’ ข้อ ๑ และ ข้อ ๖ ของนายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ สั่งไว้เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม มาใช้พิพากษา น.ส.เบนจา ด้วยโทษจำคุกสูงสุด ไม่รอลงอาญา อย่างมิเคยมีแบบอย่างมาก่อน (เท่าที่ปรากฏจะสั่งจำคุก ๑ หรือ ๒ เดือน แล้วรอลงอาญา)
วรเจตน์แนะให้นักกฎหมาย ทนาย และผู้พิพากษาอ่านมาตรา ๓๐ อย่างช้าๆ ชัดๆ ว่าระบุเป็นการออกข้อกำหนด “แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาล” เมื่อนำไปใช้บังคับคดีกับเบนจา เป็นการใช้แก่บุคคลภายนอกที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้าศาล
วรเจตน์บอกว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ ถึงแม้ความเห็นของตนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เมื่อมีการนำข้อกำหนดมากระทำสำเร็จแล้ว แต่ควรต้องท้วงติงมิให้ไปกันใหญ่ ที่ศาลไหนๆ ศาลจังหวัดใดศาลหนึ่งออกข้อกำหนดของตนเอง ให้เอาไปใช้ทั่วไปได้
การที่อธิบดีผู้พิพากษาซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารกิจการเกี่ยวกับ ‘อาคาร’ ศาล จะออกข้อกำหนดให้ใช้ประหนึ่งกฎหมายไม่ได้ หากอยากทำเช่นนี้ต้องไปผ่านกระบวนการแก้ไขกฎหมาย ต่อรัฐสภาอันเป็นตัวแทนของปวงชน เช่นเดียวกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
ต่อคำถามที่ว่า แล้วอย่างนี้ประชาชนจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร วรเจตน์ตอบว่าในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากมาก ทางหนึ่งคือการร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งมองไม่เห็นทางสำเร็จ เพราะศาลปกครองจะบ่ายเบี่ยงไม่รับฟ้อง อ้างว่า “ไม่ใช่เรื่องของกรู” (อิ อิ)
อีกทางคือยื่นเรื่องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ก้เป็นหนทางที่ริบหรี่เสียเหลือเกิน พูดอย่างเราๆ ชาวบ้าน ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็รู้ๆ อยู่ ชอบทำแบบรัฐทำนวย ในเรื่องอะไรที่จะกระทบกระทั่ง กระเทือนซางพวกคนที่ตั้งตนเข้าไป
ในตอนท้ายของรายการ ไอดาถามว่าถ้างั้น เอาข้อท้วงติงที่ อจ.วรเจตน์ตั้งข้อสังเกตุไว้ไปใช้ในการอุทธรณ์คดีนี้ของเบนจา วรเจตน์เห็นว่า ‘น่าลอง’ ศาลอุทธรณ์อาจจะ ‘อ่านกฎหมาย’ แตก แล้วเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นเนื้อร้ายในกระบวนยุติธรรม
ส่วนถ้าศาลจะว่าพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของ ‘demi-god’ โดยที่มักอ้างเสมอว่าพิพากษา “ด้วยพระปรมาภิไธย” ฉะนั้นเราสามารถออกข้อกำหนดที่ใช้บังคับเหมือนกฎหมาย คือลงโทษจำคุกถึงที่สุดพิกัด ๖ เดือนได้ แต่ไม่เลือกใช้โทษปรับสูงสุด ๕๐๐ บาท
ก็ขอให้ว่ามาด้วยเหตุและผลในกรอบกฎหมาย ไม่เช่นนั้นคงต้องหันไปหากระบวนการเมืองในทางแก้ไข เปลี่ยนแปลง และปฏิรูประบบกฎหมายโดยรวม เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กร ตลก.ยังเป็นเอกเทศ ‘ศูนย์กลางจักรวาล’ ไม่ยี่หระ ‘สากล’
บังเอิญ (หรือไม่วะ) มีนักการเมืองคนหนึ่งพูดถึงคดีเบนจานี้ไว้ว่า “กล่าวง่ายๆ คือความผิดฐานนี้แทนที่จะใช้ปกป้องกระบวนการให้ดำเนินไปได้ กลับถูกนำมาใช้ปกป้องตัวผู้พิพากษาไม่ให้ถูกวิจารณ์เสียเอง” แล้วยิ่งถ้า “เพื่อสร้างผลร้ายต่ออีกฝ่าย” ยิ่งไปกันใหญ่
“กฎหมายอย่างเรื่องการละเมิดอำนาจศาล ที่ศาลเป็นผู้ออกข้อกำหนดเอง ตั้งข้อกล่าวหาผู้อื่นเอง และพิพากษาเอง หากถูกบิดเบือนขึ้นมาแล้ว อาจทำลายระบบกฎหมายโดยที่ยากที่จะมีผู้ใดตรวจสอบได้” รังสิมันต์ โรม เขียนความเห็นไว้บนเฟชบุ๊ค
เขาวงเล็บเอาไว้ตอนหนึ่ง ต้องพิจารณาขยายผล “พรรคก้าวไกลได้เคยยื่นเสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญาต่อรัฐสภา เพื่อเพิ่มความผิดฐานการบิดเบือนกฎหมายโดยเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ขอฝากพี่น้องประชาชนติดตามกันต่อไป”
(https://prachatai.com/journal/2021/11/95769, https://mgronline.com/crime/detail/9640000108234 และ https://www.facebook.com/readlaw2017/videos/1364366200656417/)