วันพุธ, ธันวาคม 15, 2564

ใครเป็นใคร ใครเกี่ยวข้อง ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่ ครม.มีมติให้ชะลอออกไปก่อน

The MATTER
12h ·

รัฐบาลไม่ทำตามสัญญา หน่วยงานไม่โปร่งใส ไม่ถามความเห็นชาวบ้าน
.
เป็นอีกครั้ง ที่ชาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขึ้นมาประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หลังจากที่เมื่อปลายปี 63 เคยขึ้นมาปักหลัก ยื่นเสนอข้อเรียกร้องกับรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบแผนการจัดตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่จะทำให้พื้นที่ทำกิน ที่เป็นเกษตรกรรม ต้องเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
.
แม้ว่าในวันนี้คณะรัฐมนตรี จะมีมติทำตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และยอมชะลอโครงการ แต่เราก็ต้องจับตาต่อไปว่าโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งเรื่องนี้นอกจาก คณะรัฐมนตรี และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นแล้ว ยังมีรัฐมนตรี หน่วยงาน และบริษัทเอกชน ที่ต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ซึ่งใครเกี่ยวข้องยังไง เรื่องราวเป็นอย่างไรบ้าง The MATTER มากางเปิดแผนผัง ให้เห็นทั้งความสัมพันธ์ และตัวละครแล้ว
.
คณะรัฐมนตรี และบริษัทเอกชน
.
โครงการนิคมอุตสาหกรรม ได้รับการอนุมัติให้เป็น พื้นที่แห่งที่ 4 ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ในปี 2562 โดยคณะรัฐมนตรี โดยในตอนนั้น ได้มีการนำกิจการของเอกชนอย่าง บริษัท TPIPP และบริษัท IRPC ร่วมลงทุนในโครงการ ซึ่งมีประเมินงบประมาณในการลงทุนไว้ที่ 600,000 ล้านบาท
.
ขณะที่บริษัท TPIPP นั้น มี ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงความเกี่ยวโยงของประชัย และรัฐบาล เนื่องจากประชัยนั้น เคยซื้อโต๊ะจีน 2 โต๊ะ ในงานจัดระดมทุนพรรคพลังประชารัฐ และบริษัท TPIPP นั้น ยังอยู่ในรายชื่อผู้สนับสนุนพรรคในการจัดกิจกรรมโต๊ะจีนระดมทุนครั้งนั้นด้วย
.
นักการเมืองในคณะรัฐมนตรีอีกคน ที่ถูกพาดพิงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะนั้น คือ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เคยถูกประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในโครงการนี้ ซึ่งพรรคก้าวไกลนั้น ได้ระบุว่า ในสมัยที่นิพนธ์ ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ได้มีส่วนในการผลักดันให้เกิดโครงการนี้ รวมถึงยังถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และรวบรวมฉโนดให้กลุ่มทุน โดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็เคยยื่น ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบนิพนธ์ในกรณีนี้ด้วย
.
สำหรับเรื่องที่ดินนั้น ส.ส.พรรคก้าวไกลยังอภิปรายอีกว่า นิพนธ์ และบริษัท TPIPP มีส่วนเกี่ยวข้องกัน โดยบริษัท TPIPP ได้ซื้อที่ดินจากกลุ่มคนใกล้ชิดนิพนธ์ รวมถึงยังอ้างว่ากรมที่ดินว่า ได้ให้ ศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน จ.สงขลา-นครศรีธรรมราช ซึ่งล้วนแต่อยู่ในกำกับดูแลของนิพนธ์ เร่งดำเนินการออกโฉนดที่ดิน เน้นเฉพาะพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งหลายแปลงมีการออกโฉนดทับซ้อนกัน จนเกิดเป็นข้อพิพาท และการฟ้องร้องระหว่างบริษัท TPIPP และชาวบ้านจะนะด้วย
.
ขณะที่ล่าสุด นิพนธ์เองได้ออกมาประกาศชัดเจนว่า สนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และอ้างว่าคนในพื้นที่ 80-90% เห็นด้วย รวมถึงชี้ว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับโครงการ และสำหรับเรื่องรวบรวมโฉนดที่ดินนั้น นิพนธ์ก็ตอบว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ตามขั้นตอนกฎหมาย และไม่ได้กดดันชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ส่วนด้านของประชัย ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ที่มาเรียกร้องหน้า UN และทำเนียบว่า “การกระทำของอันธพาลกลุ่มนี้ไม่ใช่วิถีของประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องของอนาธิปไตยหรืออันธพาลธิปไตย ทั้งยังมีเจตนาบ่อนทำลายความสงบสุขของชาวบ้าน”
.
ทั้งเขายังอ้างว่าประชาชนชาวจะนะ ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตและท่าเรือน้ำลึกที่จะนะ ในพื้นที่ที่ดินของเจ้าของโครงการ โดยไม่ได้ไปยึดเอาสวนกงมาเป็นท่าเรือน้ำลึก อย่างที่กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นนี้กล่าวหา ทั้งยังมีการทำประชาพิจารณ์ฟังความเห็นชาวจะนะ วันที่ 13 ธันวา ที่ผ่านมาด้วย
.
.
หน่วยงานรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย และข้อเรียกร้องจากกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น
.
สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ และดูแลโครงการนั้น ทางคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินการ และก็ได้มีโครงการนำร่องเกิดขึ้นแล้ว โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 63 นั้น ศอ.บต.ได้เปิดเวทีรับฟังเสียงประชาชน ซึ่งข้อมูลนั้น ต้องไปนำเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเป็นประธาน
.
จนจากการประชุม เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 63 ครม.ก็มีมติให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและจังหวัดสงขลา ดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชน ด้วยการเปลี่ยนผังเมืองในพื้นที่ตรงนั้นจากสีเขียวเป็นสีม่วง พร้อมอ้างผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จากเวทีที่ ศอ.บต. ซึ่งชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมองว่า เป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม เพราะไม่ได้ฟังเสียงประชาชนอย่างโปร่งใส และมีการคุกคามผู้คัดค้านด้วย
.
สำหรับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่ขึ้นมาเรียกร้องในครั้งนี้ มีข้อเรียกร้องเดิมเหมือนปี 63 ได้แก่

1) รัฐบาลต้องยุติการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมือง และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในทันที เพื่อเป็นการหยุดการสืบทอดความไม่ชอบธรรมที่ส่งต่อมาจากระบอบ คสช.

2) รัฐบาลต้องจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทางและโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้

3) จะไม่มีการยุติการชุมนุมจนกว่ารัฐบาลจะทำกระบวนการข้างต้นแล้วเสร็จ
.
ซึ่งในตอนนั้นมีการเซ็นต์ MOU กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง นายกฯ ประยุทธ์ ก็ออกมาประกาศว่า ตน และ ครม. ไม่ได้ตกลงด้วย ขณะที่ด้านธรรมนัสก็ออกมาบอกว่า หลังจากพ้นจากตำแหน่ง ก็ไม่สามารถสานงานต่อได้ และนายกฯ รวมถึง ครม.เองก็รับรู้ถึง MOU นี้ด้วย เพราะมีการถกเถียงในที่ประชุมมาแล้ว
.
โดยล่าสุด หลังจากที่จะนะรักษ์ถิ่น ได้ย้ายการตั้งหมู่บ้านจากหน้า UN เดินเท้ามา ปักหลักนอนบริเวณสะพานชมุยมรุเชษ หน้าทำเนียบรัฐบาล และทางเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น รวมถึงเครือข่ายองค์กรประชาชน 20 องค์กร ได้ยื่นข้อเสนอ ถึงสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จกรณีนิคมจะนะ และมีการค้างคืนเพื่อรอคอยมติคณะรัฐมนตรีต่อนิคมอุตสาหกรรมจะนะในวันนี้
.
โดยในตอนแรก รองปลัดสำนักนายกฯ ได้ชี้แจงทิศทางมติ ครม.ที่กำลังมีการประชุมว่า รับทราบข้อร้องเรียน มีมติจะชะลอโครงการ แต่จะให้หน่วยงานอื่นๆ เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร เป็นประธานนั้น เข้าร่วมทำ SEA ด้วย แต่ทางจะนะรักษ์ถิ่นคัดค้านมตินี้ ก่อนที่สุดท้าย ที่ประชุม ครม.มีมติให้รับข้อเสนอของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำ SEA ส่วนการดำเนินงานอื่นๆ ให้ชะลอออกไปก่อน รวมถึงยอมถอด กพต.ออกจากหน่วยงานรับผิดชอบ สศช.เป็นหน่วนงานหลักตามข้อเรียกร้อง
.
ซึ่งหลังจากนี้ รัฐบาลจะยอมทำตามมติจริงๆ หรือไม่ หรือจะไม่รักษาสัญญาแบบปีที่แล้ว โครงการนี้จะถูกดำเนินการอย่างไรต่อไป เราคงต้องติดตามกัน
.
https://thematter.co/quick-bite/jana-relations/162723
.
#นิคมอุตสาหกรรมจะนะ #quickbite #TheMATTER