วันพุธ, ธันวาคม 08, 2564

เพราะเรามี ยักษ์หูหนวก กับเตมีย์ใบ้ ประเทศเลยฉิบหายหมด


พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
Yesterday at 10:08 AM ·

[ จากนิคมจะนะถึง EEC เมื่ออนาคตของ ‘อ่าวไทย-อันดามัน’ ตกอยู่ในกำมือของ ‘ยักษ์หูหนวก’ ]
.
-----
.
***หมายเหตุ : ขณะนี้พี่น้องประชาชนชาวจะนะได้เดินทางมาทวงสัญญาที่หน้าทำเนียบรัฐบาล สถานการณ์ล่าสุด มีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนเตรียมสลายการชุมนุม และมีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมบางส่วนไปที่สโมสรตำรวจ โดยมี ชัยธวัช ตุลาธน - Chaithawat Tulathon เลขาธิการพรรคก้าวไกล, Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม, Kanphong Chongsuttanamanee - กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี, Bencha Saengchantra - เบญจา แสงจันทร์ , Wanvipa Maison - วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ชลธิชา แจ้งเร็ว เลขาธิการคณะกรรมการกฎหมาย และ ปกรณ์ อารีกุล อนุกรรมาธิการปฏิรูกระบวนการยุติธรรม เดินทางไปติดตามสถานการณ์ที่ บก.ปส.สโมสรตำรวจ***
.
-----
.
ทุกๆ วัน เวลา 16.00 น. หากใครมีโอกาสผ่านและมองไปบริเวณทางเท้าฝั่งตรงข้าม ประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล จะเห็นหญิงสาวคนหนึ่งนั่งอยู่อย่างสงบ ทว่ากลับแจ่มชัดในการกระทำ เธอคือ ‘ไครียะห์ ระหมันยะ’ หรือที่คนจะนะเรียกว่า ‘ลูกสาวแห่งท้องทะเล’ ป้ายใกล้ๆ กันมีข้อความเขียน ‘ทวงคำสัญญากรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ’ เธอมารอคำตอบจากนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนแล้ว ว่าจะตระบัดสัตย์หรือดำเนินการตามคำสัญญาที่เคยลงนามไว้ในบันทึกข้อตกลงกับเครือข่ายหรือไม่
.
เมื่อหนึ่งปีก่อน ความไม่ปกติในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ นำมาซึ่งเสียงคัดค้านของคนในพื้นที่และตกเป็นที่สนใจของกระแสสังคมในวงกว้าง รัฐบาลจึง รับปากว่าจะ ‘ยุติการดำเนินการ’ โครงการนี้ไว้ จนกว่าจะมีการตรวจสอบความไม่ปกติตามที่มีข้อสังเกต และตั้งคณะทำงานจากตัวแทนที่ทุกฝ่ายยอมรับมาศึกษาเรื่องนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ศอ.บต. และบริษัทเอกชนผู้เป็นเจ้าของโครงการเร่งดำเนินงานอย่างไม่หยุดหย่อน
.
หากนำจิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ จากปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่สองคาบสมุทร ‘อ่าวไทย - อันดามัน’ มาต่อกัน ก็จะเห็นเป็นภาพของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ที่เหมือนยักษ์กำลังถือกระบองอำนาจหลังการรัฐประหาร ทุบทึ้งบดขยี้ลงไปบนชายหาดและท้องทะเลทั่วไปหมด ตั้งแต่ภาคใต้ทอดยาวไปถึงฝั่งตะวันออก หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
.
รัฐบาลวาดภาพฝันว่า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ จะนำมาซึ่งความเจริญและมั่งคั่ง แต่เมื่อโครงการเดินหน้า กลับกลายเป็นคำถามว่า ใครบ้างที่ได้รับประโยชน์จากความมั่งคั่งนี้ เพราะทันทีที่โครงการเหล่านี้ตอกหมุดลงไป ในทุกๆ แห่งล้วนแล้วมีแต่แรงต้านจากพื้นที่สะท้อนกลับมา ว่าวิถีชีวิตในพื้นที่เป้าหมายเหล่านี้กำลังถูกทำให้หายไป
.
พรรคก้าวไกลได้ยินเสียงดังอื้ออึงของผู้คนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการฟาดกระบองของยักษ์หูหนวกตนนี้ และเชื่อว่าการพัฒนาที่ควรเดินไม่ควรเกิดขึ้นบนคราบน้ำตาของประชาชน ต้องไม่ใช่การช่วงชิงทรัพยากรของท้องถิ่น หรือทำลายสภาพแวดล้อมอย่างไร้ความรับผิดชอบ จึงเป็นที่มาของความพยายามผลักดันให้มีการศึกษา ‘ปัญหาที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก’ ภายใต้กลไก คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นประธานในสมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ และมี Apichat Sirisoontron - อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล เป็นประธานคนปัจจุบัน
.
ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รายงานฉบับนี้ศึกษาแล้วเสร็จและได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาเพื่อส่งต่อเป็นข้อสังเกตให้รัฐบาลดำเนินการ ซึ่งในระหว่างนั้น มีคำอภิปรายจากพรรคก้าวไกลที่น่าสนใจติดตามไม่น้อย
.
.
Kanphong Chongsuttanamanee - กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ยืนยันถึงปัญหาความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา จากการลงไปฟังปัญหาด้วยตนเองไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง รวมถึงวันที่มีการจัดทำกระบวนการรับฟังเสียงประชาชนของโครงการที่มีขึ้น ซึ่งมีการคัดกรองผู้เข้าร่วม บรรยากาศก็เต็มไปด้วยความตึงเครียด มีเจ้าหน้าที่ถือปืนคุมพื้นที่ มีรถแรงดันน้ำกั้นพื้นที่โดยรอบ จนเกิดคำถามว่าเป็นการเอาความมั่นคงมาอ้างเพื่อกันคนที่เห็นต่างจากโครงการนี้ออกไปหรือไม่
.
“ถ้าเปิดใจรับฟังคนตรงนั้น เขาไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เขามองไม่เห็นว่ารูปธรรมว่าคืออะไร แม้แต่การจ้างงานที่ว่าจะเกิดขึ้น สิ่งที่โครงการต้องการคือบุคลากรระดับวิศวกร แล้วจะให้ชาวบ้านได้อะไรจากตรงนี้ ปัญหาของโครงการขนาดใหญ่ เขาถอดบทเรียนจากที่เห็นคนมาบตาพุดประสบอยู่ คนแถวนั้นเผชิญทั้งกรรมเก่า กรรมใหม่มาหลายสิบปี มีทั้งมลพิษและขยะเต็มไปหมด ซึ่งโครงการจะนะกำลังจะไปเส้นทางนั้นหากยืนยันที่จะทำโครงการแบบนี้ต่อไป”
.
.
ขณะที่ Jirat Thongsuwan - จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ EEC กล่าวถึงปัญหาการช่วงชิงทรัพยากร ‘น้ำ’ ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เป็นความไม่เป็นธรรมระหว่างการดูแลภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้การเอื้อประโยชน์ของรัฐให้กลุ่มทุนบางกลุ่มเท่านั้น ปล่อยให้เกษตรกรต้องไปทะเลาะแย่งน้ำกันเอง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมแย่งน้ำไปจนเกินความต้องการตลอดทั้งปีแล้ว
.
“สัมปทานบางบริษัทได้งานไปอีก 30 ปี พูดให้ชัด หนึ่งในนั้นคือ บริษัทจัดการน้ำ ‘อีสต์วอร์เตอร์’ ที่ได้เงินมหาศาล จากแค่ดูแลเรื่องการผันน้ำทั้งที่ภาครัฐก็จัดการเองได้ ไม่รู้ว่าเหตุใดจึงต้องนำไปให้เอกชนทำ"
.
“เมื่อก่อนยังไม่มีอุตสาหกรรมเข้ามา น้ำเพื่อทำเกษตรไม่เคยขาด พออุตสาหกรรมเข้ามาก็ขาด ฉะเชิงเทรามีอ่างเก็บน้ำสียัด แต่ชาวบ้านทำได้เพียงนั่งน้ำตาซึมมองน้ำไหลไปชลบุรีทุกวัน เคยมีหลักประกันเรื่องน้ำให้เกษตรกรหรือไม่ เคยไหมที่ไปบอกให้อุตสาหกรรมหยุดสักครึ่งปีเหมือนที่บอกให้เกษตรกรหยุดทำนาปรัง”
.
“ผมมองไม่เห็นความหวังที่ EEC จะประสบความสำเร็จหรือตอบสนองคนในพื้นที่ได้จริง เสียดายที่ญัตติเสนอให้ศึกษาผลกระทบของโครงการ EEC ก่อนจะมีการประกาศผังเมืองที่ผมเสนอ ถูกเพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ไม่เห็นด้วย ผมอยากให้กลับไปศึกษาผลจากอำนาจพิเศษของเผด็จการที่ทำให้สิ่งนี้เกิด เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความต้องการของประชาชนเลย การลงทุนเหมือนจะทำให้เจริญแต่ประชาชนถูกเวนคืนที่เป็นแถบ ชาวบ้านที่เคยข้ามถนนเลนเดียวไปวัด ตอนนี้กลายเป็น 4 เลน สะพานลอยก็ไม่มี ที่กลับรถก็ไม่มี ไม่มีอะไรซักอย่าง ทำอะไรไม่ได้เห็นหัวประชาชนเลยแม้แต่นิดเดียว” จิรัฏฐ์ กล่าว
.
.
เช่นเดียวกับ Bencha Saengchantra - เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีพื้นที่เพเป็นคนจังหวัดชลบุรีและเกาะติดผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ภายใต้โครงการ ‘ระเบียงชีวิตภาคตะวันออก’ ของพรรคก้าวไกล เธอได้อภิปรายในเรื่องนี้ว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ รวมถึง EEC เมืองมหานครแห่งอนาคต เป็นอภิมหาโปรเจ็กต์สวยหรู แต่เนื้อในนั้นกลับไม่มีอนาคตผู้คนรวมอยู่ด้วย
.
“เราได้เห็นกลุ่มนายทุนแค่บางกลุ่มที่ได้รับคัดเลือกมาร่วมทุนและรับประโยชน์จากโครงการนี้
กลุ่มนายทุนที่ได้รับสัมปทานจากการระเบิดภูเขาเพื่อนำไปถมทะเล
กลุ่มนายทุนที่ได้รับสัมปทานจากการขายน้ำจืดเพื่ออุปโภคบริโภค และเพื่ออุตสาหกรรม
กลุ่มนายทุนที่ได้รับสัมปทานจากการขายกระแสไฟฟ้า และผูกขาดพลังงาน
กลุ่มนายทุนที่ได้ผลประโยชน์จากงานรับเหมาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
กลุ่มนายทุนและกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่ได้รับประโยชน์จากการปลดล็อกให้นำเข้าขยะอุตสาหกรรม และลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม
กลุ่มทุนที่ไล่บีบ ไล่ยึด กว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาถูก แล้วนำไปขายให้นายทุนกอบโกยตักตวงหาผลกำไรบนคราบน้ำตาประชาชน
กลุ่มนายทุนที่คว้าสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 2 แสนล้านบาทไปครอง”
.
เบญจา ย้ำว่า นี่คือความจริงที่ว่า ในประเทศนี้ เครือข่าย นายทุน ขุนศึก ศักดินา ผูกขาดน้ำ ไฟฟ้า ที่ดิน พลังงาน ผูกขาดความมั่นคงทางอาหาร ผูกขาดสาธารณูปโภค ผูกขาดทรัพยากรในประเทศนี้ที่มีมูลค่ามหาศาล ส่วนสิ่งที่คนข้างล่าง คนตัวเล็กตัวน้อย และพี่น้องประชาชน ได้คือ
.
ประชาชนที่อาศัยอยู่แนวริมทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตั้งแต่ กรุงเทพ ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ -ไปจนถึงอู่ตะเภา ถูกฟ้องขับไล่ ถูกไล่รื้อเพื่อนำที่ดินมาให้กับนายทุนพัฒนา
.
ชาวประมง มากกว่า 2,000 คน ในแหลมฉบังชลบุรีและมาบตาพุดระยอง อาชีพถูกทำลาย ล่มสลาย จากนโยบายเรื่องการถมทะเล และโมเดลการทำลายอาชีพแบบนี้รัฐบาลกำลังจะย้ายไปไว้ที่นิคมอุตสาหกรรมจะนะ
.
ประชาชนรอบแนวเขตเศรษฐกิจพิเศษถูกเวนคืนหลายแสนคนทั่วประเทศ กลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทำกิน ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่จาก ‘ผังเมือง’ ที่ไม่มีประชาชนมีส่วนร่วม จาก ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ เอาไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษให้นายทุน
.
ประชาชนชลบุรี ระยอง ปราจีน ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ต้องทนทุกข์อยู่กับผลกระทบของบ่อขยะพิษ ขยะกากอุตสาหกรรม มานานหลายปี โดยที่รัฐไม่เคยเหลียวแล
.
ประชาชนใกล้เมืองมหานครแห่งการบิน ในชลบุรี ระยอง ในเขตหวงห้าม 40,000 กว่าไร่ ไร้ที่ทำกิน เกือบ 20,000 คน
.
คนแสมสารมากกว่า 7,000 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลานับร้อยปี ถูกเพิกถอนสิทธิในที่ดินทำกิน
.
“จะเห็นว่าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในแบบที่รัฐบาลประยุทธ์กำลังพยายามผลักดันอยู่ ไม่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทอดทิ้งประชาชนส่วนใหญ่ไว้ข้างหลัง แต่มีคนส่วนน้อยได้ประโยชน์ โดยไม่ได้กระจาย ความมั่นคง มั่งคั่ง ทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม เสมอภาค และเป็นธรรมเลย”
.
#ก้าวไกล #saveจะนะ