จะนะ : ลูกสาวชาวเล ผู้ไม่อยากเห็นถิ่นเกิดต้องกลายเป็นแดนอุตสาหกรรม14 พฤษภาคม 2020
14 พฤษภาคม 2020
บีบีซีไทย
เกือบ 50 ชั่วโมง คือเวลาที่ ไครียะห์ ระหมันยะ หรือยะห์ เด็กสาวมุสลิมวัย 17 ปี จากหาดสวนกง หมู่บ้านริมทะเลเล็ก ๆ ใน อ.จะนะ จ.สงขลา นั่งรอคอยคำตอบอยู่ที่หน้าบันไดศาลากลางจังหวัดสงขลา คำถามของเธอที่ส่งถึงผู้ใหญ่ที่เป็นผู้นำประเทศคือว่าอนาคตของดินแดนบ้านเกิดที่รัฐมีแผนเดินหน้าเปลี่ยนให้เป็นเขตอุตสาหกรรมนั้น อยู่ที่ไหน
"บ้านที่หนูอาศัยอยู่ เสื้อผ้าที่หนูใส่ รองเท้า ชุดนักเรียน ค่าเทอม รถจักรยานที่หนูเคยขี่ ของเล่นที่ หนูเคยมี ชีวิตทั้งชีวิต ความสุข ความทรงจำ ทุกเรื่องราวของหนู มาจากทะเลทั้งหมด" บางส่วนของ "จดหมายน้อย ถึงปู่ประยุทธ์" ที่ไครียะห์ เขียนบนเฟซบุ๊กในวันที่เดินทางเข้ายื่นจดหมายเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา
ในคืนวันเดียวกัน เธอและแม่สวมชุดคลุมละหมาด ขดตัวอยู่บนผ้าปูละหมาดที่พกติดตัวยามเดินทาง ทั้งสองนอนอยู่ในมุ้งหลังหนึ่งที่มีคนนำมาให้เมื่อรู้ว่าเธอตัดสินใจรอฟังคำตอบอยู่ที่นั่น คืนนั้นเป็นค่ำคืนในเดือนรอมฎอน และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังบังคับใช้อยู่
"แม่ไปยื่นหนังสือด้วย แต่ไม่คิดว่าหนูจะไปนั่งตรงนั้น หนูไม่กลับ แม่ก็เลยบอกว่าถ้าหนูไม่กลับ แม่ก็ไม่กลับ เพราะเป็นห่วงหนู"
ไครียะห์และชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางจากบ้านใน อ.จะนะ ไปที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกการจัดเวทีฟังความคิดเห็นโครงเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจที่จะเปลี่ยนพื้นที่ 16,753 ไร่ใน 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ สะกอม และตลิ่งชัน ให้เป็นเขตอุตสาหกรรม เวทีนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14-20 พ.ค.
เธอบอกกับบีบีซีไทยว่า ชาวบ้านไม่เคยรับรู้เรื่องโครงการนี้มาก่อน
"ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดให้ข้อมูล หรือว่าถามว่าชาวบ้านต้องการหรือเปล่า อยู่ดี ๆ มีมติ ครม. ออกมา แต่ว่าชาวบ้านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมนี้เลย"
ไครียะห์ เป็นเด็กสาวมุสลิมจากหมู่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ เธอเล่าว่าชาวบ้านที่หมู่บ้านของเธอกว่า 100 หลังคาเรือน เกือบทั้งหมดประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน
"บ้านของหนูเองอยู่ติดริมทะเลเลย พ่อทำอาชีพประมง ออกทะเล ส่วนแม่ทำอาชีพค้าขาย"
เด็กสาวที่ออกมานั่งประท้วงหน้าศาลากลางคนนี้ กำลังจะขึ้นชั้น ม.6 แต่เธอเริ่มต้นทำกิจกรรมด้านอนุรักษ์และวัฒนธรรมในชุมชนกับกลุ่มเด็กและเยาวชน มาตั้งแต่อายุ 13 ปี การเติบโตมาอย่างใกล้ชิดและรู้จักถิ่นเกิดของตัวเองเป็นอย่างดี ทำให้ยะห์ต้องการปกป้องท้องทะเลแห่งนี้
ท้องทะเลจะนะ คือแหล่งทรัพยากรที่ชาวบ้านพึ่งพิงใช้ในการประกอบอาชีพประมงและสร้างรายได้ให้กับพวกเขา อ.จะนะ นับเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่ง ยะห์บอกว่า จากการสำรวจแพปลาน้อยใหญ่ที่บ้านเกิด อาหารทะเลจากทะเลจะนะ พบว่ามีการส่งขายไปยัง 5 ประเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
ยิ่งค้นคว้าเกี่ยวกับพื้นที่ที่เคยถูกเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมแห่งอื่นในประเทศไทยยิ่งทำให้เธอกังวล และไม่อยากเห็นบ้านเกิดเป็นเช่นนั้น เพราะไม่มีอะไรที่จะรับประกันได้ว่าคนในพื้นที่จะมีงานทำจริงหรือได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นในอนาคต
"หนูเห็นชะตากรรมตัวเอง มันน่าจะเหมือนกับที่มาบตาพุด" เธอกล่าว "หนูอยากปกป้องทะเลที่บ้าน อยากให้อยู่กับเราได้นานที่สุด"
ภายหลังยะห์และแม่ รอคำตอบอยู่เกือบ 50 ชั่วโมงที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา ทางจังหวัดก็ส่งหนังสือแจ้งเลื่อนการแสดงความคิดเห็นด้วยวาจาในเวทีฟังความคิดเห็นจาก ศอ.บต. ออกไปโดยยังไม่ระบุวันเวลาและสถานที่ที่จะจัดรอบใหม่
"ต้องยกเลิกและต้องมาเริ่มกันใหม่ว่าสมควรหรือไม่ที่จะเปลี่ยนจากแหล่งผลิตอาหาร มาเป็นฐานนิคมอุตสาหกรรม อ.จะนะ นอกจากจะมีทะเลแล้ว ยังมีทั้งควน ป่า นา เล มีครบหมดทุกอย่าง เป็นที่ ๆ มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแล้ว ที่แบบนี้ไม่ควรนำไปเป็นฐานนิคมอุตสาหกรรม"
เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 4 อำเภอ
ก่อนหน้านี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ส่งหนังสือเชิญชวนประชาชนเข้าแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการขับคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค.
ที่มาที่ไปของโครงการนี้ อ้างจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2563 เห็นชอบประกาศของ ศอ.บต. ที่กำหนดให้ อ.จะนะ ในฐานะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ พร้อมเห็นชอบแผนการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่
มติ ครม. ครั้งนั้นซึ่งเป็นการประชุมนอกสถานที่ที่ จ.นราธิวาส ระบุว่า ใช้เงินลงทุนในโครงการ 18,680 ล้านบาท โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 100,000 อัตรา
การประกาศดังกล่าวเป็นความคืบหน้าสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบยกระดับให้ อ.จะนะ และอีก 3 อำเภอ ใน จ.สงขลา ได้แก่ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย เป็นเมืองต้นแบบที่ 4 คือ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมที่จะเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่นของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
ในเอกสารแนบท้ายของหนังสือรับฟังความเห็น ยังระบุเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือผังเมืองใหม่ ที่จะมีการเปลี่ยนพื้นที่ผังเมืองสีเขียว ที่ดินเพื่อการใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม ประมงและการพาณิชย์ ให้เป็นผังเมืองสีม่วง ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ooo
29 พฤษภาคม 2020
บีบีซีไทย
"ตอนนี้กำลังปล่อยเบ็ดอยู่ ประมาณ 13 เมตร ปกติเราวาง 7-8 เมตร" บังเหด พูดพลางโยนเบ็ดที่ติดเหยื่อไว้ตรงปลายลงทะเลทีละอัน ๆ อย่างคล่องแคล่ว
"ปลานักล่ามันต้องกินเหยื่อเคลื่อนไหว รู้จังหวะของมัน" ปลาตัวขนาดเท่าฝ่ามือที่เบียดแน่นอยู่ในถังพลาสติกสีขุ่นถูกจับมาตั้งแต่ค่ำเมื่อวาน ตายังใสแจ๋วตอนถูกบังเหดเอาเบ็ดเจาะทะลุหัว ก่อนจะลงไปดิ้นกลางน้ำตามประสาปลาเล็กที่เป็นเหยื่อรอปลาใหญ่ตะครุบ
นายบ่าว ยะมันยะ หรือบังเหด ลงเรือออกทะเลไปกับพ่อและแม่ตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียนชั้น ป.1 สั่งสมประสบการณ์ทำประมงพื้นบ้านมายาวนานทั้งชีวิต วันนี้เจะรอนิง ลูกชาย กำลังทำอย่างเดียวกัน
"เราต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ต้องรู้ว่าเวลากี่ค่ำน้ำไหล" เสียงคนเล วัย 60 ปี อธิบายแข่งกับเสียงเครื่องยนต์เรือหาปลาที่จอดลอยลำ เบื้องหลังที่เห็นไกล ๆ คือบ้านหลังเล็ก ๆ ของเขาและชาวประมงพื้นบ้านที่ทำมาหากินไม่ห่างจากชายฝั่ง
อุปกรณ์หาปลาของบังเหดคือตะขอเบ็ดแหลมโค้งผูกติดอยู่กับเชือกไนล่อน แขวนเรียงรายข้างลำเรือ กว่า 500 อัน เช้านี้เจะรอนิงขับเรือออกมาตั้งแต่ตีห้าครึ่ง
การทำประมงเป็นอาชีพที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ของปู่ "สมัยที่ว่าเขาเอาปลาไปแลกข้าว เขาแบกกัน เมื่อก่อนเขาไม่มีรถ คนไปมาหาสู่กัน เขาเป็นห่วงกัน เขาไม่เอาเปรียบกัน เขาช่วยเหลือกัน ถามว่าบ้านเรามีไหมแบบนั้น ก็ยังมีอยู่"
แต่วันนี้ท้องทะเลที่บรรพบุรุษเคยพึ่งพิงได้ถูกลากโยงเข้าไปอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจที่รัฐบาลมีแผนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งอุตสาหกรรมหนักและท่าเรือน้ำลึก
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เพิ่มจาก 3 อำเภอเดิม คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562
สงขลาจะกลายเป็น "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" แต่นายรุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ กลับห่วงว่าอนาคตของชาวบ้านจะก้าวถอยหลัง
"ถ้าโครงการจะเกิด คุณต้องให้ชุมชนเติบโตไปกับอุตสาหกรรมของคุณ ไม่ใช่คุณเติบโต แต่ชาวบ้านต่ำลง ๆ"
เจะรอนิง ยะมันยะ กับปลาอินทรีย์ที่จับได้ในทะเลจะนะ
เขาเคยเดินทางไปดูพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหลายครั้ง และเห็นว่าการล้มผังเมืองเดิมเพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กับปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น คือตัวอย่างที่จะเกิดกับ อ.จะนะเป็นลำดับต่อไป
"ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจะสู้จนถึงวินาทีสุดท้าย อย่างน้อยที่สุด ถ้าทำอะไรไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดก็จะให้คนจะนะ และคนทั้งโลกได้รู้ว่าเราเคยสู้มาแล้ว อย่างน้อยก็อย่าให้เป็นตัวอย่างที่อื่น ให้ดูผลเสียที่จะเกิดกับจะนะเป็นตัวอย่าง…ผมไม่ได้ปฏิเสธ ผมเข้าใจการพัฒนา แต่คุณต้องไม่ทิ้งเจ้าของฐานทรัพยากร"
ปลานักล่า
"ปลาอยู่จนแก่ ปลาอินทรีย์มันแก่แล้ว สุด ๆ แล้ว ไม่ใหญ่กว่านี้แล้ว" บังเหดพูดเนิบ ๆ ขณะช่วยลูกชายลากปลาตัวโตน้ำหนักประมาณ 13 กิโลกรัมขึ้นจากน้ำ ปลานักล่าที่กลายเป็นเหยื่อน่าจะขายที่ตลาดได้ราว 2 พันบาท
ยี่สิบกว่าปีก่อน ท้องทะเลจะนะไม่อุดมสมบูรณ์อย่างวันนี้ "เรือพาณิชย์บุกรุกเข้ามา ทั้งปลา ทั้งกุ้ง ทั้งหอย กวาดไปเกลี้ยง"
บังเหดย้อนความทรงจำในยุคที่เรือประมงพาณิชย์เคยเข้ามาจับสัตว์น้ำในพื้นที่ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งจนทำให้ชาวประมงพื้นบ้านต้องย้ายไปจับปลาในจังหวัดอื่น แต่ต่อมาชาวบ้านรวมตัวกันต่อต้านเรือประมงพาณิชย์ พร้อมหันมาฟื้นฟูท้องทะเลด้วยการสร้างบ้านปลาและปะการังเทียม
"ชาวบ้านเอาขวดไปขว้างปา ด่าทอเรือประมงพาณิชย์ เพื่อรักษาหม้อข้าวหม้อแกงของเรา" นายรุ่งเรือง นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะอธิบายถึงพฤติกรรมที่เขาเรียกว่า "เถื่อน โหด" เมื่อหลายสิบปีก่อน
ทุกวันนี้ ปลาเก๋า ปลาอินทรีย์ กั้งกระดานที่เคยหายไป กลับมาให้จับอีกครั้ง หลังจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเข้ามาดูแลแบ่งเขตการทำประมงพื้นบ้านที่ชัดเจน ขณะที่กรมประมงช่วยทิ้งปะการังเทียมในช่วงระยะ 2 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ให้เป็นที่อยู่ของปลา นายรุ่งเรืองยืนยันว่าทะเลจะนะวันนี้สมบูรณ์ ปลาและสัตว์น้ำที่จับได้ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ
"ชาวประมงหาเช้ากินค่ำ"
"ทะเลมันให้กับเรามาก ถ้าไม่มีทะเล จะเอาอะไรไปเลี้ยงชีพ เลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย เลี้ยงผู้คน ทะเลคือชีวิต" บังเหดเอ่ย สายตาไปทอดไกลไปโดยไร้จุดหมาย
เพราะทะเลคือชีวิต บังเหดจึงไม่เชื่อว่าคนเลอย่างเขาและชาวประมงพื้นบ้านจะอยู่รอดหรือ ได้ประโยชน์จากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เขาบอกว่าการก่อสร้างโรงงานจะรบกวนที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ส่วนชาวประมงนั้น "ทำ (งานโรงงาน) ไม่ได้หรอก คือฟันธงเลย ชาวประมงหาเช้ากินค่ำ เขาอยู่กับมันมาตลอด อยู่กับทะเลมาตลอด อย่ามาบอกแบบนั้น ไม่เชื่อ มันไม่สมดุลกัน (มันไม่เข้ากัน)"
"เราไม่ได้รบ (ทะเลาะ) กับรัฐบาล แต่เราอยากบอกรัฐบาลว่ายกเว้นเถิด ให้ชาวบ้านทำมาหากิน คือดั้งเดิม คือชายหาดก็สมบูรณ์ อากาศก็บริสุทธิ์อยู่ ทะเลคืออ้ารับเสมอ แต่เราต้องดูแลปกป้องมัน อย่าให้เครื่องมือทำลายมันมา"
เกือบเที่ยงวัน เรือหาปลาลำเล็กสีฟ้ากลับถึงฝั่ง ปลาอินทรีย์ตัวใหญ่ที่จับได้กับตัวขนาดย่อมอีกสองตัว และปูทะเลอีกจำนวนหนึ่งคือรายได้ของบังเหด ภรรยา กับลูกอีก 7 คนในวันนี้ และท้องทะเลสีครามจะยังคงเป็นที่ทำกินในวันต่อ ๆ ไปจนกว่าการพัฒนาจะมาถึง