การบังคับใช้กฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ดูไปแล้วก็เหมือนการระบาดของโควิดนั่นแหละ ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวเบาเดี๋ยวหนัก แต่ก็ไม่หายไปไหน แฝงกายมาบ้าง ชลอบ้าง กลายพันธุ์บ้าง ทางแก้มีแต่ทำให้มันรักษาง่าย ป้องกันได้ โดยเฉพาะสายพันธุ์ ๑๑๒
ตัวเลขติดเชื้อเพิ่มโควิดวันนี้กลับมาเกินหมื่น คนตายเกินร้อย ๑๑๒ รายพอดี คลับคล้ายคลับคลาว่าเห็นบนทวิตภพเมื่อสองสามวันก่อน มีคนทายทักว่าระวังนะมรึง กลางตุลาเป็นต้นไปหลังวันรำลึกส่งเสด็จสวรรคาลัย ‘เดลต้า’ มันจะกลับมาอาละวาดใหม่
ฉันใดฉันนั้น วานนี้เพจคณะนิติศาสตร์ มธ.นำรายละเอียดการเสวนาทางวิชาการกฎหมาย เรื่อง ‘ทนายชายขอบกับการต่อสู้เพื่อนิติรัฐ’ ให้ความรู้ ข้อคิด และการตระหนักรับ ไว้ดีมาก โดยเฉพาะในประเด็นหัวใจที่ว่า ต้องสอน ต้องเผยแพร่ความรอบรู้เกี่ยวกับกฎหมายไทยให้กว้างขวางที่สุด
เพราะผู้บังคับใช้กฎหมายเวลานี้ (ทั้งตำรวจและศาล) ชอบ ‘มั่วนิ่ม’ ไม่เพียงตีความตัวบทตามอำเภอใจ บางกรณียังอุปโลกกฎหมายของตัวเองเสียนี่ พวก ผษ.น่ะตัวดี พวกนี้ไม่ตลกเหมือน พส.เสียด้วย อ้างตัวบทที่มีอยู่ แต่พอบังคับใช้ เฮ้ย คนละเรื่องเดียวกันก็มี
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw วิทยากรคนหนึ่งในการเสวนาบอกว่า “ตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจมาได้ยึดครองระบบกฎหมายและนิติบัญญัติไว้เรียบร้อยแล้ว กฎหมายที่นำมาสู้กันก็เป็นกฎหมายของ คสช.” ก็จริงนะ เพราะกฎหมายอื่นๆ นอกจาก ๑๑๒ กับ ๑๑๖
ที่ใช้ลากคอเยาวชนนักชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเอาไปเก็บคุก “ล้วนแล้วแต่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)...แม้ประทั่งองค์ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เช่น องค์กรอิสระต่าง ๆ ส่วนมากก็ถูกแต่งตั้งจาก คสช.”
ขออนุญาตย่นย่อข้อความจากการเสวนา มาให้อ่านกันพอเป็นกระสายเพื่อการตื่นรู้ ใครใคร่เติมเต็มก็ตามไปดูที่ https://www.law.tu.ac.th/seminar-summary-legal-state/_Z2-eu6Y ละกัน
‘ทนายจูน’ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ พูดถึงงานของ ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ซึ่งติดตามให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง มาตั้งแต่หลัง คสช.ยึดอำนาจในปี ๕๗ จนขณะนี้มี “ประมาณ ๑,๓๐๐ คน โดยเป็นคดีอยู่ประมาณ ๑,๐๖๑ คน
ซึ่งมาจากความพยายามของรัฐที่จะตั้งข้อหาจากทุกกฎหมายเท่าที่จะหาได้” เช่น พรบ.คอมพิวเตอร์ หรือ พรก.ฉุกเฉิน (ราว ๑ พันคน) แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ที่ “พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลเพื่อให้ออกหมายขัง”
อันนี้ทนายจูนบอก “ส่วนใหญ่ศาลมักจะอนุญาตตามคำขอ...ทั้งที่กฎหมายให้สิทธิคัดค้านแก่ผู้ต้องหา ในการตั้งทนายความเพื่อไต่สวนถึงเหตุจำเป็นในการฝากขัง...เนื่องจากการฝากขังเป็นการลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐาน”
ซ้ำร้าย “ตอนแรกผู้พิพากษายังไม่เข้าใจว่า เหตุใดทนายความจะต้องมาคัดค้านด้วย รอช่วงการประกันตัวก็ได้” ศิริกาญจน์ว่า “กรณีนี้จะพอเข้าใจได้ถ้าเป็นความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป แต่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมควรรู้
ว่าเป็นสิทธิที่สามารทำได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว การร้องคัดค้านจึงไม่เรื่องหยุมหยิมหรือชวนวุ่นวาย” อะไร ส่วนทนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ลงรายละเอียดตามข้อเท็จจริงที่พวกตำรวจและ ผษ.ช่วยกัน (ร) ‘ยำ’ ตำบอน “วิธีการที่รัฐใช้บางครั้งเป็นวิธีการนอกกฎหมาย”
ตัวอย่าง “ถูกจับกุมในเขตพื้นที่ สน.หนึ่ง จะถูกนำตัวไปที่ใดไม่อาจทราบได้ บางครั้งอาจไปที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) หรือกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.)” สถานที่สุ่มเสี่ยง “อาจจะถูกซ้อมทรมาน หายสาบสูญ หรือข่มขู่บังคับ”
แล้วการตั้งข้อหาผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปก่อน ตั้งข้อหาทีหลัง “มีการตั้งข้อกล่าวหาที่สูงเกินความเป็นจริง เช่น กรณีป้าเป้าที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธ เป็นต้น” เพื่อที่จะให้ระวางโทษจำคุกเกิน ๓ ปี
ซึ่ง “เจ้าพนักงานมีอำนาจออกหมายจับได้เลย ไม่ต้องออกหมายเรียก...ปัญหาในปัจจุบันคือไม่ว่าจะมีการออกหมายเรียกหรือไม่ก็ตาม เจ้าพนักงานสอบสวนจะพาผู้ต้องหาไปศาลเพื่อฝากขัง” โดยหลัก ป.วิอาญา ม. ๑๓๔ พนักงานสอบสวนต้องขอศาลสั่งฝากขัง
แต่ศาลช่วยทำให้อะไรๆ มันยากขึ้นด้วย “เงื่อนไขในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ให้ไปกระทำการตามที่ถูกกล่าวหาอีก” เท่ากับศาลได้พิจารณาแล้วหรือว่า “การกระทำตามที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นความผิดแล้ว จึงได้ห้าม”
ทนายนรเศรษฐ์ยกตัวอย่างตรงเผง ต่อการที่ศาลกำหนดเงื่อนไขประกันต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลรัฐบาลจัดการแก้โควิดให้ฉลาดๆ หน่อย “ว่าห้ามกระทำการตามที่ถูกกล่าวหาอีก” อย่างนี้แสดงว่า ไม่ให้ไปประท้วงอีก ละสิ
ทั้งที่เป็นสิทธิและเสรีภาพกำหนดใน รธน. “ต่อไปนี้ประชาชนจะไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือเรียกร้องต่อรัฐบาลได้เลย” รัฐมาเฟียนี่หว่า