ThaiPublica
Yesterday at 9:21 AM ·
อีไอเอฉบับร้านลาบ
โครงการอุโมงค์ผันน้ำยมเติมเขื่อนภูมิพล 7 หมื่นล้าน กับอีไอเอ #ฉบับร้านลาบ
และคำถาม "ประวิตร วงษ์สุวรรณ" เป็นทั้งประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าการพิจารณาโครการผันน้ำยวมครั้งนี้ขาดความชอบธรรม และมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ
#อีไอเอฉบับร้านลาบ #อุโมงค์ผันน้ำยมเติมเขื่อนภูมิพล
#ผลประโยชน์ทับซ้อน #Thaipublica #ไทยพับลิก้า
เบื้องหลังโครงการยักษ์คือทุนใหญ่จากจีน
นายวีระกร คำประกอบ ยังให้ข้อมูลในฐานะเป็นรองประธานกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีประเด็นที่น่าสนใจว่า เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ศึกษาโครงการนี้ และได้มีการประสานไปทางบริษัทวิสาหกิจของรัฐบาลจีน จึงทราบว่าเขาให้ความสนใจในโครงการนี้เป็นอย่างมาก ประเทศจีนมีวิสาหกิจประมาณ 5 บริษัทที่รับทำเขื่อนทั่วโลก สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งในจีนและต่างประเทศ งานนี้เหมือนเขารับงานโดยไม่เอากำไรมากเพราะเครื่องไม้เครื่องมือมีพร้อมสำหรับทำโครงการใหญ่ๆ และอยากช่วยประเทศไทย
“กรมชลประทานออกแบบคร่าวๆ ไว้ จากเดิมใช้งบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาสร้าง 7 ปี แต่ทางวิสาหกิจจีนตอบมาว่าเขาใช้งบเพียง 4 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาเพียง 4 ปี จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งราคากลางก็ถูกกว่าที่เราคิดตั้งเยอะ เรื่องนี้ผมได้กราบเรียนท่านนายกฯ และท่านประวิตร (วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี)ที่นั่งอยู่ด้วยกัน ท่านบอกว่าเอาเลย ถ้าเขาทำให้เราก่อน เราไม่ต้องเสียอะไร เราไม่ต้องลงทุนเอง หากต้องลงทุนเอง ตอนนี้รัฐบาลไม่พร้อม หากทางจีนจะทำ ท่านบอกเดินหน้าเต็มที่เลย ผมไฟเขียวให้เลย บอกให้บริษัททางจีนประสานงานกับคุณสมเกียรติ (สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.) ได้เลย ทำให้โครงการได้รับการผลักดันจากระดับสูง ทางกรมชลประทานก็ตื่นเต้นกัน เดินเรื่องกันเต็มที่ แม้กระทั่งอีไอเอก็ผ่านกันเต็มที่ ในขณะที่ทำอีไอเอ ทางกรมชลก็ออกแบบคู่ขนานกันไป แบบใกล้เสร็จแล้ว ที่ผมได้คุยกับท่านอธิบดีประพิศ (จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน)ล่าสุด ท่านบอกว่าถ้าผ่าน คชก. ก็คงไม่เกินปลายปีเราคงเริ่มงานได้”
นายวีระกรยังให้ข้อมูลเสริมอีกว่า “สาเหตุหนึ่งที่ทางวิสาหกิจจีนสนใจโครงการนี้ก็คือ เพราะเมื่อบวกลบคูณหารแล้วเขายังได้กำไรจากการขายน้ำ โดยเขาขายน้ำให้เราในราคา 1 คิว ไม่ถึง 1 บาท ซึ่งถูกมาก ต่อให้เราทำเองก็ทำไม่ได้ เขาคงมีกำไรบ้าง ถ้าไม่ดีเขาคงไม่ทำ แต่เขาไม่ได้เอากำไรมากเกินไป และเมื่อกรมชลประทานได้ยินว่าไม่ถึง 1 บาทก็เลยดีใจ ทุกคนดีใจ เป็นราคาที่ดีมากๆ “เขาขายให้รัฐบาลไทย เมื่อน้ำไหลลงอ่างเขื่อนภูมิพล เราปั่นไฟขาย ก็ได้อยู่แล้ว อาจมีส่วนเกินต้องจ่ายนิดหน่อย ก็อาจเป็น กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) รัฐบาลก็มอบหมาย กฟผ. ตัดเอางบกำไรไปคืนเขา ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร มันนิดเดียว ไม่ได้มากมาย คิวหนึ่งเมื่อหักค่าไฟแล้ว ผมว่าไม่ถึง 50 สตางค์ ปีหนึ่ง 2,000 ล้านคิว ก็ประมาณ 1,000 ล้านบาท รายได้ กฟผ. หลายหมื่นล้านบาท เยอะกว่านี้มาก”
การที่วิสาหกิจยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท “ต้าถัง” ของจีน ที่เสนอตัวจะเป็นผู้เข้ามาลงทุนในกระบวนการก่อสร้างโครงสร้างหลักในครั้งนี้ สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคืออนาคตจะมีการเรียกเก็บค่าการใช้น้ำจากเกษตรกรหรือไม่ เกษตรกรลุ่มน้ำภาคกลางจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจริงหรือ รวมทั้งข้อกังวลของชาวบ้านในหลายหมู่บ้านที่อยู่ในเส้นทาง ว่าจะได้รับผลกระทบจากกองหินและกองดินที่ต้องมากองทิ้งไว้จากการขุดอุโมงค์ หรือต้องได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง หรือจะต้องมีการอพยพเคลื่นย้ายชุมชนกันอีกหรือไม่ (เพราะหลายหมู่บ้านในเส้นทางเคยต้องอพยพย้ายถิ่นอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนภูมิพลมาแล้วครั้งหนึ่ง) คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ พยายามส่งเสียงให้ดังถึงหูข้าราชการและนักการเมืองที่พยายามผลักดันโครงการนี้อย่างสุดแรง
#EIAร้านลาบ
แม้ผู้คนตื่นรู้ทางการเมืองและตื่นรู้ในการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองมากขึ้น แต่วิธีการทำงานในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการนี้ สิ่งหนึ่งที่พบได้ก็คือ การจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่รีบเร่ง และเร่งรัดมากเป็นพิเศษจนมีประเด็นให้ชวนตั้งข้อสงสัย
ย้อนไปเมื่อกลางปี 2563 กรมชลประทานได้เชิญผู้แทนชุมชนเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยฯ ซึ่งชาวบ้านปฏิเสธไม่เข้าร่วม ด้วยเหตุผลว่าวงประชุมจัดขึ้นในฤดูฝน สภาพถนนลูกรังบนภูเขาเป็นอันตรายและไม่เอื้อต่อการเดินทาง ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากกว่าปกติ อีกทั้งในการจัดประชุมยังไม่มีรายละเอียดเวลา กำหนดการว่าใครจะเป็นผู้มาชี้แจงข้อมูลในประเด็นที่ชาวบ้านสงสัย ข้อมูลการประชุมทั้งหมดจะมีบันทึกในรายงานหรือไม่
แต่สุดท้ายประมาณเดือนเมษายน 2564 เอกสารรายงาน EIA ก็เสร็จสมบูรณ์ออกมา โดยมีการนำชื่อ-สกุล รูปภาพ และข้อมูลการเข้าร่วมประชุมจำนวนหนึ่งมาใช้ประกอบในรายงาน ประหนึ่งว่าทางเจ้าหน้าที่ได้จัดการประชุม ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านแล้ว และผู้เข้าร่วมการประชุมล้วนมีความเข้าใจต่อโครงการนี้อย่างดี พร้อมจะให้การสนับสนุน เสร็จสิ้นในการบวนการมีส่วนรวมโดยสมบูรณ์
แต่ข้อเท็จจริงเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะชาวบ้านและแกนนำชุมชนส่วนใหญ่ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมกับทางเจ้าหน้าที่ บางคนบางกลุ่มถูกอ้างชื่อลงไปในรายงาน บางคนออกมาให้ข้อเท็จจริงว่า ภาพการเข้าร่วมในครั้งนั้นเป็นเพียงการนัดพบที่ร้านกาแฟและรับประทานอาหารในร้านลาบ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่า ตนไม่ได้อนุญาตให้นำรูปและข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในรายงาน EIA แต่อย่างใด
จนเป็นที่มาของแฮชแท็ก #EIAร้านลาบ เป็นที่มาของการถามหาความโปร่งใสของกระบวนการทำ EIA ของโครงการนี้
“ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
สถานะของโครงการผันน้ำยวมในเวลานี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จากผลการประชุมพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับลักไก่ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 และน่าสังเกตว่าขั้นตอนโครงการพิจารณาโครงการผันน้ำยวมครั้งนี้ ถือว่าเป็นการพิจารณาโครงการที่รวดเร็วกว่าปกติ ทั้งที่เป็นโครงการอภิมหาโปรเจกต์ที่จะมีเรื่องราวและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน
ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ในการประชุมเพื่อพิจารณารายงาน EIA โดย คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ครั้งที่ 19/2564 คณะกรรมการได้ลงมติ ‘เห็นชอบ’ ต่อรายงานเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาในขั้นตอนต่อไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในการประชุมพิจารณารายงาน EIA โครงการผันน้ำยวม โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มี พลเอก ประวิตร เป็นประธาน ก็ได้ลงมติเห็นชอบต่อรายงานเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการแล้ว
ทั้งนี้พลเอก ประวิตร มีตำแหน่งเป็นทั้งประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าการพิจารณาโครการผันน้ำยวมครั้งนี้ขาดความชอบธรรม มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ
ที่ตั้งโครงการผันน้ำยวม
มีคำตอบไว้หมดแล้วจริงหรือ?
เมื่อ EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ถือว่าโครงการนี้ได้เริ่มนับหนึ่งแล้ว ต่อไปคือขั้นตอนการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ จ.เชียงใหม่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง ได้แก่ ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าอมก๋อย ป่าแม่แจ่ม ป่าแม่ตื่น พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแม่เงา ซึ่งรายงาน EIA ระบุมีมาตรการลดผลกระทบ ต้องปลูกป่าทดแทน 7,283 ไร่ โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อมูลผ่านสื่อว่าในการพิจารณา EIA ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลนั้น แต่ละฝ่ายได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีความกังวลในเรื่องความลึกของการขุดอุโมงค์และต้องใช้พื้นที่ป่าสงวน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้กันพื้นที่ของอุทยานฯ ไว้แล้ว รวมทั้งเตรียมแผนในเรื่องการปลูกป่าทดแทนไว้แล้ว
ขณะที่คำถามของชุมชนที่ยังไม่มีคำตอบ พื้นที่ทิ้งดินและวัสดุจากการขุดอุโมงค์ อย่างน้อย 6 จุด กองดินมหาศาลจากใต้ดินที่จะต้องเอามาทิ้ง จะกระทบต่อพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และพื้นที่ทำกินของชุมชนตลอดแนวโครงการอย่างไร แผนการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำที่ได้รับผลกระทบจะเป็นอย่างไร และประโยชน์ของโครงการนี้จริงๆ คุ้มค่าหรือไม่ ทำไมต้องตัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป และต้องรีบเร่งอะไรมากมายขนาดนี้?
ประเด็นใหม่ขับเคลื่อนมวลชนต่อต้านรัฐบาล
หลังวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมี พลเอกประวิตร เป็นประธาน ได้ลงมติเห็นชอบต่อรายงานเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการแล้วสำหรับโครงการผันน้ำยวม ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในปีกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเริ่มออกมาเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก เริ่มจากการติด #EIAฉบับร้านลาบ ไปจนถึงการแสดงตัวตน ออกมาทำกิจกรรม เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรีบเร่งรวบรัดโครงการนี้กันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ภาคเหนือ อย่างกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำโขงจากภาคอีสาน และอีกหลายกลุ่ม รวมถึงนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ หลายองค์กรมีการระดมทุนเตรียมออกมาเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการนี้กันแล้ว
โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ต้องมีการดำเนินการอย่างรัดกุม รอบครอบ เพราะใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมทั้งใช้เวลาดำเนินโครงการที่ยาวนาน และมีผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยากที่จะประมาณได้ ไม่มีใครปฏิเสธการพัฒนา แต่ต้องต้องอยู่บนหลักของความสมดุล โปร่งใส และเปิดโอกาสผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ข้อเท็จจริงต้องกางออกมาให้ครบ เชื่อว่าคนในพื้นที่ยังยอมรับฟังในเหตุและผล แต่การทำรายงาน EIA ฉบับร้านลาบขึ้นมาเช่นนี้ ได้ทำลายความน่าเชื่อถือ และทำลายความเป็นผู้ปกครองที่ดีเกินกว่าจะยอมรับได้…หากเริ่มต้นกันแบบนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ จะออกมาคัดค้านโครงการนี้
ที่มา ThaiPublica