วันอังคาร, สิงหาคม 10, 2564

ประชาชนฟ้องรัฐบาล หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้รับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา แก้ปัญหาโควิด “ล้มเหลว”



ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
14h ·

ประชาชนฟ้องรัฐบาล แก้ปัญหาโควิด “ล้มเหลว”
.
.
ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารจัดการโควิด 19 ที่ผิดพลาดของรัฐบาล ในการฟ้องร้องหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้รับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา
.
แม้ว่ารัฐบาลจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จตามกฎหมายและมีเวลาในการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่การบริหารจัดการสถานการณ์ในปีนี้กลับมีความผิดพลาดและบกพร่องอย่างร้ายแรง นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามปิดบังความจริงและปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อและบริหารจัดการวัคซีน และการจัดสรรให้ประชาชนอย่างไม่ทั่วถึง เราเห็นประชาชนที่เข้าไม่ถึงการรักษา เข้าไม่ถึงวัคซีน เข้าไม่ถึงการตรวจโรค เข้าไม่ถึงเตียงและยาที่จำเป็น เราเห็นผู้เสียชีวิตข้างถนนที่ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแล เราเห็นจำนวนผู้เสียชีวิตสูงโดยไม่มีการจัดการศพ เราเห็นการติดเชื้อในสถานประกอบการโรงงาน ไซต์งานก่อสร้าง ชุมชนที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่น และการติดเชื้อภายในครอบครัวของบ้านที่ไม่สามารถแยกกักตัวได้ ความผิดพลาดและบกพร่องของรัฐบาลก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตและสภาพจิตใจของผู้คนจำนวนมากในสังคม โดยจำนวนตัวเลขผู้สูญเสียก็ยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยรัฐบาลไม่เคยตระหนักถึงความผิดพลาดและบกพร่องของตน แต่กลับโยนความผิดให้กับประชาชน
.
นอกจากความสูญเสียต่อสุขภาพและชีวิตแล้ว เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชนก็สูญเสียไปอย่างมหาศาล เด็กนักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนหรือใช้ชีวิตเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย เจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจกลางคืน ต้องปิดตัวและลูกจ้างต้องตกงาน ประชาชนต้องสูญเสียเสรีภาพในการเดินทาง ในการรวมตัวทำกิจกรรม ผลกระทบและความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดของรัฐบาลอย่างทันทีทันใด โดยไม่มีแผนที่ชัดเจนและเป็นระบบในการชดเชยหรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจและการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนที่ต้องหาเช้ากินค่ำจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสและมีผู้พยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
.
ความผิดพลาดบกพร่องของรัฐบาลในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ได้เป็นเพียงการผิดพลาดทางนโยบาย แต่ยังเป็นความผิดพลาดบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประชาชน ซึ่งผู้เสียหายจำนวนมากเห็นว่าหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงในครั้งนี้ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งประกอบด้วยองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร และศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงจะดำเนินการใช้สิทธิทางศาลแทนผู้เสียหายจำนวนมากในคดีประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. คดีแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายและดำเนินคดี "แบบกลุ่ม"
ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐเพื่อเรียกร้องให้จ่ายค่าชดเชยเยียวยาความเสียหาย เช่น ผู้ที่เสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข ผู้ที่ต้องปิดกิจการเพราะคำสั่งของรัฐ ซึ่งในที่นี้กำลังพิจารณาใช้กระบวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action ที่อาจมีตัวแทนผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องคดีเพียงบางคน และผลของคดีที่พิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำของรัฐบาลนั้นจะมีผลให้ผู้เสียหายคนอื่นๆ ที่เสียหายลักษณะเดียวกันได้รับประโยชน์ไปด้วย
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
2. คดีปกครอง ยกเลิกคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม
ระหว่างที่รัฐบาลชุดนี้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนด และคำสั่งต่างๆ จำนวนมาก รวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่นายกรัฐมนตรีโดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีกระบวนการศึกษาผลกระทบที่รอบด้าน คำสั่งที่ออกมาจำนวนไม่น้อยจึงสร้างผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิต โดยไม่คุ้มค่าหรือสมดุลกับการควบคุมโรค เช่น คำสั่งห้ามการรวมตัวในช่วงเวลาที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโรค คำสั่งห้ามประกอบกิจการบางประเภทแบบเหมารวมโดยไม่แยกแยะพื้นที่ คำสั่งห้ามสื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว เป็นต้น การเพิกถอนคำสั่งเหล่านี้เป็นคดีความทางปกครอง แต่ต้องฟ้องต่อศาลแพ่ง เนื่องจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตัดอำนาจศาลปกครอง
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
3. คดีอาญา เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
ประมวลกฎหมายอาญา มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งมีโทษจำคุกสูง ความผิดพลาดบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่เรื่องเป็นเพียงความผิดพลาดในทางนโยบายของฝ่ายบริหาร แต่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชน ความเสียหายนี้ไม่ใช่เพียงความเสียหายในทางทรัพย์สิน แต่เป็นความสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ซึ่งเป็นความเสียหายที่ไม่อาจประเมินค่าได้และไม่อาจปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวลไปได้