วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 12, 2564

ถอดรหัส 'สมรภูมิดินแดง' ชัยภูมิ คฝ.‘ขุดบ่อล่อปลา’ ม็อบ'สายเหยี่ยว' ‘แยกปลาออกจากน้ำ’ ดังนั้นฝั่งผู้ชุมนุมเองต้อง ‘ถอดบทเรียน’ ให้เป็น ‘ระบบ’ เช่นกัน



ถอดรหัส 'สมรภูมิดินแดง' ชัยภูมิ คฝ.ขุดบ่อล่อ ม็อบ'สายเหยี่ยว'

Aug 11, 2021
Voice TV

ตลอดเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการนัดชุมนุมของกลุ่มต่างๆอย่างต่อเนือง โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปที่ ร.1 ทม.รอ. ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

นับตั้งแต่ชุมนุมของกลุ่มเยาวปลดแอก-รีเดม ที่เปลี่ยนจาก ถ.ราชดำเนิน-พระบรมมหาราชวัง มายังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อ 7 ส.ค. 2564

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 10 ส.ค.

และกลุ่มทะลุฟ้า 11 ส.ค. 2564 ซึ่งทั้ง 3 กลุ่ม ได้นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังหน้า ร.1 ทม.รอ.

การชุมนุมที่ผ่านมา 3 ครั้ง ‘ไร้แกนนำ’ ที่ชัดเจน แต่ใช้การสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นหลัก รวมทั้งการประกาศยุติการชุมนุม แต่ในความเป็นจริงสถานการณ์กลับ ‘ถูกลากยาว’ ซึ่งหากย้อนดูก็จะพบว่าการชุมนุมมีการแบ่งคนออกเป็น 2 ประเภท คือ ‘สายพิราบ’ กับ ‘สายเหยี่ยว’ ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกัน แต่วิถีทางต่อสู้ต่างกัน

กลุ่ม ‘สายพิราบ’ (The Dove) เชื่อในการต่อสู้ระยะยาว เน้นการแสดงออกแบบสั่งสมไปเรื่อยๆ เช่น กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ การร่วมชุมนุมตามนัดหมายต่างๆ เพื่อขยายฐานความคิด เพิ่มมวลชน

ขณะที่ ‘สายเหยี่ยว’ (The Hawk) เชื่อในการใช้กำลังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ขอประนีประนอม ในการต่อสู้กับ ‘อำนาจรัฐ’ ที่มีพลังเหนือกว่า



ทั้งนี้ฝ่ายความมั่นคง เลือกใช้แนวทาง ‘แยกปลาออกจากน้ำ’ และทำการ ‘ขุดบ่อล่อปลา’ เห็นได้จากการชุมนุมวันที่ 1 กับ 7 และ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ตร.ได้ปล่อยให้แสดงออกและชุมนุมตามปกติ แต่เมื่อหลังการประกาศยุติการชุมนุม ผู้ชุมนุมที่มาร่วมกิจกรรมทยอยเดินทางกลับ แต่ก็มีสถานการณ์ลากยาวเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ไม่เดินทางกลับ จึงเกิดการปะทะกัน

ระหว่าง ‘ตร.ควบคุมฝูงชน’ กับ ‘ผู้ชุมนุม’ ทุกครั้ง แต่ที่แตกต่างจากทั้ง 3 ครั้ง คือ กลุ่มทะลุฟ้า ที่นัดชุมนุมอนุสาวรีย์ชัยฯ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยัง ร.1 ทม.รอ. ทางกำลัง คฝ. ได้เข้าควบคุมพื้นที่ตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยฯ ทำให้มีการประกาศยุติการชุมนุม หลังชุมนุมยังไม่ถึง 1 ชั่วโมง แต่สถานการณ์ก็ลากยาวมาถึงแยกสามเหลี่ยมดินแดงอีกครั้ง

การชุมนุมทุกครั้งได้เกิดเหตุการณ์บานปลายปะทะบริเวณ ‘แยกสามเหลี่ยมดินแดง’ จึงมีการตั้งข้อสังเกตต่างๆออกมา ในทางความมั่นคงนั้น เป็นในแง่ ‘ยุทธวิธี’ อย่างหนึ่ง จากบทเรียนในอดีตที่ให้การเดินขบวนไปถึงหน้า รพ.ทหารผ่านศึก ถ.วิภาวดีรังสิต ที่มีขนาดถนนกว้าง จึงยากแก่การควบคุม

หากย้อนมาดูบริเวณ ถ.ราชวิถี แยกสามเหลี่ยมดินแดง จะพบว่าเป็นช่องถนน ‘คอขวด’ มีสะพานข้ามแยก-อุโมงค์ ทำให้ ตร. ควบคุมพื้นที่ได้ง่ายกว่า และทำให้ฝั่งผู้ชุมนุมต้อง ‘ถอยร่น’ เท่านั้น ไม่สามารถอ้อมมาได้





ทั้งนี้มีการมองว่า ร.1 ทม.รอ. เป็นพื้นที่ ‘เขตพระราชฐาน’ จึงไม่ให้มีการชุมนุมประชิด เฉกเช่นพื้นที่โดยรอบพระบรมมหาราชวัง ที่มีการกั้นด้วยตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนาม รวมทั้งทำเนียบรัฐบาล ก็เป็นอีกสถานที่ที่ไม่ให้เข้าประชิด จึงเป็น 3 สถานที่ หวงห้ามในการชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมถูกสกัดไม่ให้ไปถึง แต่สามารถไปสถานที่อื่นๆได้ เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์

แต่ด้วยสถานการณ์ที่ต่อเนื่องมา 3-4 ครั้ง ที่มีเหตุปะทะทำให้แต่ละฝ่ายบาดเจ็บ ในฝั่งฝ่ายความมั่นคงก็เตรียม “แผนป้องปราม” ไว้แล้ว เพื่อ “ตัดกำลังม็อบ” ในระยะยาว

และฝั่ง “แกนนำผู้ชุมนุม” ต้องถูกคุมขังอีกครั้ง หลังศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้การชุมนุมต้อง “ไร้แกนนำ” ไปด้วย และทำให้สถานการณ์ลากยาวโดยไม่สามารถควบคุมได้
 




กิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นอีก คือ ‘คาร์ม็อบ’ ที่ปรับเป็น ‘คาร์ปาร์ค’ มาจาก ‘คาร์ม็อบ+ไฮด์ปาร์ก’ เพิ่มเติมการปราศรัยเข้ามาด้วย นำโดย “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ในบทบาทใหม่ 'คนทำงานเครือข่ายไล่ประยุทธ์ (อ.ห.ต.) ที่เตรียมลงถนน “ไล่ประยุทธ์” ในวันที่ 15ส.ค.นี้ เป็นการ “ต่อยอดคาร์ม็อบ” จากเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด

โดย ‘ณัฐวุฒิ’ ได้ประกาศกำหนดการ นัดเจอที่จุดนัดหมายทั่วประเทศ เวลา 14.00 น. เคลื่อนขบวนเวลา 15.00 น. ไปจนถึง 18.00 น. ขบวนถึงจุดไหนก็ตาม จะจอดรถพร้อมกัน แล้วกดแตรยาวเท่าความยาวของเพลงชาติ เพื่อส่งสัญญาณขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้พ้นตำแหน่งนายกฯ เสียงขับไล่จะสะเทือนทั้งแผ่นดิน จากนั้นจะยุติการชุมนุม

ทั้งนี้มีการจับตาการชุมนุมคาร์ปาร์ควันที่ 15ส.ค.นี้ จะจบแบบที่ผ่านมาหรือไม่ หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุม แต่กลับมีสถานการณ์ลากยาวออกไป เพราะเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ จัดคาร์ม็อบ ก็เกิดเหตุปะทะระหว่าง คฝ. กับผู้ชุมนุม ที่แยกดินแดงเช่นกัน

อย่างไรก็ตามในฝั่งผู้ชุมนุมเองก็เริ่ม “ถอดบทเรียน” ฝั่งตัวเองด้วยกัน หลังการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก-รีเดม เมื่อวันที่ 7ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่าง ‘สายเหยี่ยว-สายพิราบ’ ในแนวทางการต่อสู้

แม้จะเห็นต่างกันในแง่แนวทาง แต่ยังคงต่อสู้ต่อไป ส่วนฝ่ายความมั่นคงมีการถอดบทเรียนตาม ‘ระเบียบปฏิบัติงาน’ อยู่แล้ว



ทำให้ฝ่ายความมั่นคงทำงานเป็นระบบและรับมือผู้ชุมนุมได้ตลอด ดังนั้นฝั่งผู้ชุมนุมเองต้อง ‘ถอดบทเรียน’ ให้เป็น ‘ระบบ’ เช่นกัน เพื่อตั้งรับแนวทางของฝ่ายความมั่นคงให้ได้ในอนาคต แต่ก็เป็นเรื่องท้าทายเพราะการชุมนุมที่เกิดขึ้น ไม่มีแกนนำที่ชัดเจน ทำให้ภาพการชุมนุมกลายเป็น ‘คนละทิศละทาง’ และง่ายต่อการ ‘แฝงตัว’ เข้ามาปะปนกับผู้ชุมนุมด้วย

หนทางนี้อีกยาวไกล !!