ทัพฟ้าคว้าเหรียญทอง ‘กีฬาแถ’ สี่เหล่า คงเป็นเพราะพวกเค้า ‘ถลาลม’ เก่งมั้ง เรื่องเอา ‘ซ้าบ ๓๔๐’ ขนมังคุดจากใต้ไปแลกลำไยภาคเหนือ พี่เจ้ากรมกิจการพลเรือนบอกว่า เป็นการฝึกบินตามแผนอยู่แล้ว เลยขนผลไม้ไปส่งไม่เสียเที่ยว
ดูเหมือนจะมีตะหานอากาศไทยแห่งเดียวในโลกนี่ละ สุดยอด เวลาฝึกบินปฏิบัติภารกิจจริงควบไปด้วยหมายความว่าเวลาฝึกจะบินเส้นทางสุราษฎร์-เชียงใหม่-ลำพูน อย่างนี้เป็นปกติหรือ เส้นทางไม่ต่ำกว่า ๒ พันกิโลเมตร ไปกลับเชียงใหม่ แวะลำพูนเพิ่มเล็กน้อย
มีคนคำนวณค่าใช้จ่ายการบินของ SAAB 340 (Nutchanon Payakaphan) “ประมาณชั่วโมงละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท บินได้ประมาณ ๕๒๔ กม./ชม.” ดังนั้นค่าใช้จ่ายสำหรับ ‘ฝึก’ ภารกิจขนมังคุดไปรับลำไย จะตกราว ๓-๔ แสนบาทต่อเที่ยวบินไป-กลับ สิ้นเปลืองเอาการอยู่
แต่ได้หน้าว่าช่วยเหลือเกษตรกร ก็เอาวะ ท้อปฟอร์มกว่าสไตล์แจกแถมของ ปตท.กับกรมการค้าภายในเสียอีก รายนั้นจัดโครงการ ‘พีทีทีสเตชั่น’ รับซื้อมังคุด ๑ แสนกิโลกรัม ไปแจกฟรีให้แก่ผู้เติมน้ำมันปั๊ม ปตท. ๒๑๘ แห่ง รายละ ๑ กิโลฯ
แต่กระนั้นทัพไหนก็ไม่เทียมทันสา’สุข ขานั้น ‘ดิ้น’ เก่งที่สุด กำลังจะรื้อฟื้น ‘นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ มาเล่นเต้นแร้ปสลับขาหกคะเมนตีลังกาให้ประชาชนงงงวย หลังจากที่การบริหารจัดการปกปักรักษาประชาชนจากโรคระบาดร้าย โควิด-๑๙ ได้ห่วยสิ้นดีแล้ว
การจัดหา จัดสรร และแจกจ่ายวัคซีนชั้นดี ล้มเหลวไม่เป็น วัคซีนไฟ้เซอร์จำนวนน้อยนิดที่ได้รับมาจากการบริจาค ควรจะไปลงที่บุคคลกรการแพทย์ด่านหน้าก่อนอื่น กลับถูกปาดหน้าเค้กบ้าง ยักยอกบ้าง ส่งให้ไม่ครบ ต้องช่วยกันโวยถึงจะยอมปล่อย ดังกรณี รพ.สนามธรรมศาสตร์
ไม่เพียงเบี้ยร่ายปลายทางเท่านั้น มันทำกันเป็นกระบวนการ อย่าง Suthee Rattanamongkolgul ว่า “การรีดไฟ้เซอร์ออกจากบุคลากรทางการแพทย์ทำได้หลายวิธี วิธีแรก สำรวจบ่อยๆหลายๆ ครั้ง ให้คนที่เลือกไฟเซอร์มาเลือก astrazeneca
วิธีที่สอง รับโควต้ามาไม่เพียงพอ (ตัวอย่าง รฑ.ขอนแก่น รพ.ธรรมศาสตร์) วิธีที่สาม เร่งฉีดให้ไวถ้าเลยกำหนดก็อดฉีด” แบบที่สระบุรีเร่งให้ฉีดภายในวันจันทร์ที่ ๙ ส.ค. ถ้าไม่เสร็จขอวัคซีนคืนทันใด “ตอนนี้กำลังดูอยู่ว่าจะมีวิธีอื่นอีกไหม” Suthee ว่า
ครั้นเสียงบ่นเสียงก่นด่าระงม เจ้ากรมวิชามารออกไอเดียเจ๋ง เตรียมเสนอออก พรก.จำกัดความรับผิดบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด-๑๙ ‘เหมาเข่ง’ ไหมล่ะ แต่ ไอซ์@nanaicez ทักว่า อันนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนนะค้า
ยุค ‘ยิ่งลักษณ์’ มีการเสนอ พรบ.นิรโทษกรรมทางการเมือง ที่ลงเอยเปิดทำนบให้น้ำบ่า พาเอาเรือแป๊ะเผด็จการทหารยกพลขึ้นบกแล้วไปยอมถอนกลับ จนกระทั่งบัดนี้ ๗ ปีกว่าทิ้งขยะและสารพิษไว้เต็มเมือง ครั้งก่อนจะใช้วิธีลักหลับ ครั้งนี้เล่นกันโจ๋งครึ่ม
ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมฯ ผู้จัดทำร่าง พรก.ดังกล่าวอ้างว่า “ภูมิต้านทานสำคัญในการที่จะถูกฟ้องร้อง จะทำให้บุคลากรทางแพทย์มีขวัญกำลังใจในการทำงาน” อ้างว่าองค์กรวิชาชีพและ รพ.เอกชน เป็นผู้เสนอกฎหมายลักษณะนี้
แต่อีกมากมายกลับมองเห็นว่า เอาบุคลากรด่านหน้ามาเป็นข้ออ้าง “นี่เป็นการออกกฏหมายคุ้มครองตัวเองโดยสอดไส้ไปกับบุคลากรที่ปฏิบัติหน้างานจริงหรือเปล่า” Nurses Connect ฟันธง “นี่เป็นการออกกฏหมายคุ้มครองตัวเองก่อนจะโดนฟ้องหรือ”
Nurses Connect หรือ ภาคีพยาบาล เชื่อว่ากฎหมายฉบับที่ดันเข้าสภาฯ แล้วอนุมัติส่งให้นายกฯ ตู่ เซ็นรับกลับออกมาใช้บังคับได้เลย แบบนี้ยิ่งกว่าลักหลับ แต่กลับเป็นการตีแสกหน้าให้คว่ำไปเลย กลุ่ม ‘ภาคีพยาบาล’ นี้จึงลงม์อดำเนินการต้านทาน
ด้วยการยื่นกระทู้คัดค้าน พรก.นิรโทษกรรมวัคซีนฉบับนี้ ชักชวนประชาชนทุกคนเข้าร่วมลงชื่อผ่านทาง https://www.change.org/ แจ้งแก่ชาวโลกว่านี่เป็น “นิรโทษกรรมที่จงใจให้ผลประโยชน์กับตัวบุคคล ที่บริหารงานบ้านเมืองในสถานการณ์ฉุกเฉิน”
Nurses Connect ชี้ด้วยว่า “พวกเขาไม่ต้องแบกรับความผิดจากผลการกระทำ เขากำลังจะทำให้ตัวเองปลอดมลทิน โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร” ซ้ำร้ายทำให้ “ระบบสาธารณสุขล้มเหลว...และพวกท่านนั่นแหละต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง”
(https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6555913, https://www.bbc.com/thai/thailand-58145395?at_campaignPPDU2V9P554 และ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/953821?aoj=)