วันอาทิตย์, สิงหาคม 22, 2564

“การก่อจลาจลคือภาษาของประชาชนที่รู้สึกว่าพวกเขาไม่ถูกรับฟัง” พวกมึงเข้าใจยัง ??



‘จลาจล’ ภาษาของผู้ถูกกดขี่ที่น่าแคลงใจ? ดูตัวอย่างในสหรัฐฯ ฝรั่งเศส แอฟริกาใต้

Aug 21, 2021
Voice TV

“การก่อจลาจลคือภาษาของประชาชนที่รู้สึกว่าพวกเขาไม่ถูกรับฟัง”

ประโยคหนึ่งในสุนทรพจน์ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้นำการเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมืองที่เท่ากันโดยไม่แบ่งแยกสีผิวในสหรัฐอเมริกา ทุกคนรู้ดีว่าจุดยืนของเขาคือการต่อสู้อย่างสันติ แต่ในสุนทรพจน์นี้เขาอธิบายให้สังคมอเมริกันเข้าใจว่าทำไมการจลาจลจึงเกิดขึ้น และความเป็นธรรมทางสังคมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ประชาชนใช้ความรุนแรงมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้อีก

ในปี 1967 ที่ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์นี้ ณ มหาวิทยาลัยแสตนด์ฟอร์ด สงคราม การเหยียดเชื้อชาติและความยากจนกำลังเป็นปัญหาใหญ่และเป็นประเด็นสำคัญในขบวนการเรียกร้องเสรีภาพในขณะนั้นจนนำไปสู่เหตุการณ์จลาจลที่รู้จักกันในนาม ‘ฤดูร้อนที่แผดเผายาวนาน’ (“The Riots of the Long Hot Summer”) มีการจลาจลกว่า 160 ครั้งเกิดขึ้นทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา คนผิวดำจำนวนมากในเวลานั้นถูกปฏิเสธการจ้างงานโดยเจ้าของธุรกิจผิวขาว ได้รับการบริการที่ไม่เป็นธรรมจากผู้ว่าฯ และข้าราชการผิวขาว ถูกเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว ความยากจนและการว่างงานของชาวอเมริกันผิวดำที่ถูกกดขี่จากโครงสร้างสังคมที่คนผิวขาวเป็นใหญ่นำไปสู่การจลาจลนองเลือดในเมืองนิวเวิร์กในรัฐนิวเจอร์ซีย์ และเมืองดีทรอยต์ ในรัฐมิชิแกน

การจลาจล การปล้นสะดม และการใช้ความรุนแรง หากสิ่งเหล่านี้มาจากฝ่ายประชาชน มันมักถูกทำให้เห็นชัดเจนกลบเสียงเรียกร้องและความเจ็บปวดจากการถูกกดขี่โดยรัฐและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง อีกทั้งการประณาม ก่นด่า และพยายามลงโทษปัจเจกชน ทำให้สังคมลืมตั้งคำถามว่าอะไรคือสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการกระทำเหล่านั้น

นักสังคมวิทยาและนักวิจัยจำนวนหนึ่งพยายามศึกษาและทำความเข้าใจว่า ทำไมประชาชนจึงก่อจลาจล เผา ใช้ความรุนแรง ไปจนถึงทำลายข้าวของและร้านค้า ฉวยโอกาสปล้นสะดมในขณะที่มีการประท้วง จากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และแอฟริกาใต้ ย้อนกลับมามองไทย คำถามเหล่านี้ก็เริ่มสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ว่า เราจะทำความเข้าใจอย่างไรกับรถตำรวจที่ถูกเผา ขวดน้ำ หนังสติ๊ก พลุที่ถูกใช้ต่อสู้กับกระสุนยาง-แก๊สน้ำตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

จราจลในสหรัฐอเมริกา: ‘ความรุนแรง’ เปลี่ยนตามการนิยามของผู้มีอำนาจ

“ประชาชนในเมืองบัลติมอร์พยายามพูดมาหลายรุ่นต่อรุ่นว่าตำรวจบัลติมอร์แย่แค่ไหน แต่ไม่มีใครรับฟัง เมื่อเฟร็ดดี้ เกรย์ถูกตำรวจทำร้ายจนเสียชีวิต ก็ยังไม่มีใครรับฟัง เมื่อพวกเขาออกมาประท้วง ก็ไม่มีใครรับฟังอีก แต่เมื่อร้านขายยาถูกเผาในบัลติมอร์ ทั้งโลกต่างจับจ้อง”

ลอเรนโซ บอยด์ อาจารย์สอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มหาวิทยาลัยนิวฮาเวน ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายถึงเหตุการณ์ก่อจลาจลในปี 2015 ที่ผู้ประท้วงออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการตายของเฟร็ดดี้ เกรย์ ชายหนุ่มผิวดำวัย 25 ปีที่ถูกตำรวจเมืองบัลติมอร์ควบคุมตัวและได้รับบาดเจ็บที่บริเวณกระดูกไขสันหลังจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา กรณีนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นายถูกพักงาน การเผาร้านขายยาเป็นหนึ่งในความพยายามของพลเมืองกลุ่มหนึ่งในบัลติมอร์ที่ต้องการให้ผู้มีอำนาจรับฟังความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับชุมชนคนผิวดำ

ก่อนยุคสมัยของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ มาจนถึงวันที่ ‘Black Lives Matter’ สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลกหลังการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยการก่อจลาจล (riot) และการปล้นสะดม (looting) หากย้อนมองดูตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอเมริกันจนถึงปัจจุบัน น่าสนใจว่าความหมายและการให้คุณค่าต่อการก่อจลาจลและปล้นสะดมในประวัติศาสตร์ของอเมริกันชนเปลี่ยนแปลงไปตามนิยามของคนที่มีอำนาจมากกว่า



แมทธิว แคลร์ อาจารย์ด้านสังคมวิทยามหาวิทยาลัยแสตนด์ฟอร์ดตั้งข้อสังเกตว่า การให้นิยามและคุณค่าในด้านลบของคำว่าปล้นสะดม (looting) มักจะไม่ถูกใช้นิยามการกระทำของชาวอเมริกันผิวขาว คนที่มีอำนาจมากกว่าในสังคม ทั้งที่เราอาจมองการพรากดินแดนและทรัพยากรไปจากชนพื้นเมืองอเมริกัน (Native American) ในประวัติศาสตร์เป็นการปล้นสะดมได้เช่นเดียวกัน

กลางเดือนธันวาคม ปี 1773 ชาวอาณานิคมอเมริกันในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ เพราะการเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม พวกเขาประท้วงและปีนขึ้นไปบนเรือพาณิชย์ของอังกฤษ โยนกระสอบบรรจุชากว่า 45 ตัน มูลค่าเกินหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐทิ้งทะเลไป เหตุการณ์นี้รู้จักกันในนาม ‘งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน’ (“The Boston Tea Party”) หากเราวาดทับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นด้วยภาพผู้ประท้วงผิวดำในวันนี้เทชาทิ้งหรือขโมยชาไป สังคมและสื่ออเมริกันอาจจะเรียกพฤติกรรมนี้ว่าการปล้นสะดม ไม่ใช่การต่อสู้ของกลุ่มคนที่สร้างประวัติศาสตร์ปฏิวัติของอเมริกันชน นี่คือการตั้งข้อสังเกตของ วิลเลียม ฮอลล์ อาจารย์สอนรัฐศาสตร์ในหลายมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐอเมริกาที่บอกว่า “การปล้นสะดมและก่อจลาจลเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์การสร้างชาติของเรา”



จากอดีตมาจนถึงการก่อจลาจลและการปล้นสะดมตามร้านค้าและห้างชื่อดังที่เกิดขึ้นในขบวน Black Lives Matter การถกเถียงเรื่องนี้ในปัจจุบันนำไปสู่การแบ่งกลุ่มระหว่าง ‘ประชาชน’ ด้วยกันเอง โดยผู้ประท้วงที่เชื่อมั่นในสันติวิธีมักจะไม่ยอมรับกลุ่มคนที่ใช้ความรุนแรงว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ และถกเถียงว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ส่งผลดีต่อการไปถึงเป้าหมายของขบวน

“การก่อจลาจลไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก แต่มักเกิดจากความอยุติธรรมที่มีอยู่ในสังคม คนนับพันไม่ได้แค่ออกมาบนถนนโดยไร้เหตุผล การก่อจลาจลส่วนใหญ่คือการตอบสนองอย่างสิ้นหวังของคนที่รู้สึกว่าไม่มีอะไรให้พึ่งพาได้อีกแล้ว ทางเดียวที่จะลดการก่อจลาจลคือการทำให้ทุกคนเข้าถึงความเป็นธรรมได้”

แชร์รี แฮมบี นักวิจัยด้านจิตวิทยาความรุนแรงให้สัมภาษณ์กับนิตยาสารไทม์ เพื่อชวนให้สังคมทำความเข้าใจว่าทำไมคนถึงก่อจลาจล เป็นมุมมองเดียวกันกับ คริสเชียน ดาเวนพอร์ต อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเดียวกันใน เดอะแอตแลนติก ว่า การก่อจลาจลและการปล้นสะดมมีสาเหตุมาจากความอยุติธรรมที่ทำให้เกิดการประท้วงขึ้นตั้งแต่แรก ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดไม่ใช่การใช้อำนาจรัฐปราบปราม แต่เป็นการที่รัฐตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชน ให้ค่าตอบแทนที่เพียงพอ ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเอื้ออำนวยให้ชีวิตของประชาชนเจริญงอกงามได้

จลาจลในฝรั่งเศส: การต่อรองอำนาจของคนรุ่นใหม่ ปฏิเสธการเมืองกระแสหลัก

จลาจลกับฝรั่งเศสแทบจะเรียกได้ว่าเป็นของคู่กัน

เกิดมาก เกิดบ่อย เกิดทุกครั้งต้องมีรถถูกเผา ปรากฏเป็นภาพตามข่าวจนคุ้นตา แต่จะแตกต่างจากสหรัฐฯ ก็ตรงที่ว่า ผู้ก่อจลาจลมักไม่นิยมปล้นสะดม เน้นทำลายข้าวของและเผารถ เผาอาคารอย่างเดียว ภายในปี 2005 ถึง 2008 มีรถยนต์ถูกเผาจากการก่อจลาจลมากถึง 45,000 คันต่อปี จนรัฐบาลผ่านกฎหมายชดเชยค่าเสียหายให้กับเจ้าของรถ



ฟาเบียน โจบาร์ด นักวิจัยด้านสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ศึกษาเรื่องตำรวจและกระบวนการยุติรรมทางอาญา พบว่า ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ฉากการก่อจลาจลในฝรั่งเศสไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปเท่าไรนัก โดยมักจะเกิดในย่านถิ่นฐานของผู้อพยพและมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งมักตั้งห่างออกมาจากตัวเมือง ในบริเวณที่เรียกว่า ‘ banlieue’ ทุกครั้งมักจะเริ่มจากการเผชิญหน้ากับตำรวจที่นำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชน ตามมาด้วยการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ก่อจลาจลที่เป็นคนรุ่นใหม่ในย่านนั้นกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเป็นเวลา 1-2 คืนหรือมากกว่า ทั้งย่านเต็มไปเปลวเพลิงและเขม่าของรถยนต์ที่ถูกเผา

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สังคมฝรั่งเศสตั้งคำถามต่อกลุ่มผู้ก่อจลาจลว่า “พวกเขาทำไปทำไม?”

เพราะการต่อสู้เช่นนั้นในชุมชนตนเองย่อมหมายถึงเผารถของญาติที่รู้จัก เผาอาคารกีฬาที่พี่และน้องของตัวเองตื่นมาตอนเช้าแล้วไม่มีโอกาสได้ใช้ เมื่อไม่ได้มองหาคำตอบอย่างตั้งใจมากพอ คนฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยจึงตัดสินว่า พฤติกรรมการก่อจลาจลของผู้ประท้วงที่เป็นคนรุ่นใหม่เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมือง ไร้วัตถุประสงค์ และไร้ประโยชน์

“เด็กพวกนี้ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการกระทำของพวกเขาหรอก” หลายคนคิด แต่ฟาเบียน โจบาร์ด นักวิจัยด้านสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ศึกษาเรื่องตำรวจและกระบวนการยุติรรมทางอาญาโต้เถียงไว้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก การก่อจลาจลในย่าน banlieue เกิดขึ้นบ่อยจนดูเหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มคนก่อจลาจลที่เป็นลูกหลานของผู้อพยพในสายตาของคนนอก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากลักษณะผังเมือง การควบคุม และการคำนวณความสูญเสียโดยตำรวจควบคุมฝูงชนของฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการจลาจล

ฟาเบียนอธิบายว่า เมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ตำรวจจะส่งหน่วยควบคุมมาปิดล้อมย่านนั้นๆ เพื่อไม่ให้คนรุ่นใหม่ผู้ก่อจลาจลออกจากพื้นที่ไปสร้างความเสียหายในตัวเมืองอย่างปารีสได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะคุมเข้มอยู่ในทุกจุดเชื่อมระหว่างพื้นที่ banlieue กับทางเข้าสู่ใจกลางเมือง เพราะตำรวจคำนวณแล้วว่า หากรถและอาคารในชุมชนของย่านที่ไม่ได้ร่ำรวยนี้ถูกเผาเสียหาย รัฐใช้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมน้อยกว่าการปล่อยให้ผู้ก่อจลาจลเข้าไปทำลายข้าวของหรือเผาขนส่งสาธารณะใจกลางเมือง นอกจากปัจจัยจากฝั่งตำรวจ ฟาเบียนตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ก่อจลาจลเองก็เลือกที่จะอยู่ในพื้นที่ที่ตัวเองคุ้นเคย เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ตนเองได้เปรียบว่าตำรวจ เนื่องจากรู้จักพื้นที่ดี สามารถหลบหนีได้ง่าย



ประเด็นที่สอง ฟาเบียนถกเถียงว่าการก่อจลาจลในย่าน banlieue ไม่ได้ ‘ไร้วัตถุประสงค์และไม่เป็นการต่อสู้ทางการเมือง’ อย่างที่หลายคนมอง แต่หลายครั้งเป็นวิธีการสร้างอำนาจต่อรองกับผู้มีอำนาจปกครองในท้องถิ่นและชุมชน

เขาพบว่ากลยุทธ์ที่ตำรวจเลือกใช้ส่งผลต่อความสุดโต่งและรุนแรงที่ผู้ก่อจลาจลจะตอบโต้กลับ การเลือกว่าจะเผารถของใครมักมาจากการตัดสินของผู้ก่อจลาจลว่า “เจ้าของรถคนนี้ไม่ได้ยินดียินร้ายกับความเดือดร้อนในชุมชนเลย” ซึ่งตรงกับที่นักวิจัยหลายคนพบว่า การเลือกทำลายข้าวของและร้านต่างๆ ของผู้ก่อจลาจลมักเป็นสะท้อนว่าสิ่งๆ นั้นถูกตัดสินให้เป็นสัญลักษณ์ของคุณค่าอื่น (“symbolic of other values”) ที่ส่วนใหญ่มักจะกดขี่และทำร้ายความเป็นชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าในบางย่าน กลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชนใช้การก่อจลจลเพื่อต่อต้านหรือเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างจากนายกเทศมนตรีของตัวเองอีกด้วย

ท้ายที่สุด ฟาเบียนโต้เถียงว่าการก่อจลาจลที่มักเกิดขึ้นโดยลูกหลานของกลุ่มคนที่มีรากฐานเป็นผู้อพยพเข้ามาในฝรั่งเศสไม่เพียงแค่เป็นการการกระทำที่เรียกร้องให้รัฐและผู้มีอำนาจรับฟังความไม่พอใจของพวกเขา แต่ยังเป็นการต่อสู้ทางการเมืองแบบเต็มตัว อีกนัยหนึ่ง นับเป็นการแสดงออกถึงการ ‘ต่อต้าน’ การเมืองกระแสหลักที่ผู้ก่อจลาจลมองว่าพวกเขาไม่ได้ประโยชน์อะไร สาเหตุของการก่อจลาจลผ่านมุมมองนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการมองผ่านเลส์เศรษฐกิจที่เบอร์นาร์ด ซาลานี อาจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยโคลัมเบียวิเคราะห์ว่า การเข้าถึงโอกาสในการฝึกทักษะและการถูกจ้างงานที่ต่ำของคนหนุ่มลูกหลานของผู้อพยพเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พวกเขาก่อจลาจล เพราะถูกสังคมฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะให้ความเป็นธรรมและความเท่าเทียม พวกเขาจึงไม่ยินยอมที่จะประนีประนอมกับการเมืองกระแสหลักที่ไม่เห็นคุณค่าของพวกเขาอีกต่อไป

จลาจลในแอฟริกาใต้ : “อนาธิปไตย” เชื้อไฟมาจากความเหลื่อมล้ำรุนแรง

การก่อจลาจล เผาห้างสรรพสินค้า และปล้นสะดมในจังหวัดควาซูลู-นาทัล และจังหวัดเคาเต็งที่กินเวลายาวนานนับสัปดาห์ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ประเทศแอฟริกาใต้กลายเป็นพาดหัวข่าวไปทั่วโลก “ช่วงเวลาแห่งความมืดมน” ที่เต็มไปด้วยกระสุนยางและการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ก่อจลาจลนี้เกิดขึ้นหลังจากอดีตประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมา ถูกศาลสั่งจำคุก 15 เดือนหลังปฏิเสธที่จะเข้ารับการไต่สวนตามคำสั่งของศาลภายใต้ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตในสมัยดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ

รัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา ต้องใช้กองกำลังทหารกว่า 25,000 นายเข้าควบคุมพื้นที่ ประชาชนกว่า 300 คนเสียชีวิต ถูกจับอีกนับพัน ร้านค้าและธุรกิจ 40,000 แห่งได้รับผลกระทบ ห้างสรรพสินค้าถูกปล้นสะดมราว 100 แห่ง ในจังหวัดควาซูลู-นาทัลคาดการณ์ว่างานจำนวน 150,000 ตำแหน่งได้รับความเสี่ยง และความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของจังหวัดคิดเป็นมูลค่า 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 43 พันล้านบาท



‘อนาธิปไตย’ ‘กบฏ’ เป็นคำที่รัฐบาลใช้เรียกความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีซูมาคือกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังและมีความตั้งใจที่จะทำให้เศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ยิ่งอ่อนแอลงไปกว่าเดิม หากเรามองหาคำอธิบายที่นอกเหนือไปจากฟากฝั่งของรัฐบาล หลายคนเห็นตรงกันว่า จริงอยู่ที่จลาจลนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี แต่ไฟที่ลามทุ่งได้กว้างขวางและรุนแรงขนาดนี้ แท้จริงแล้วมีเชื้อมาจากความเหลื่อมล้ำรุนแรง

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า แอฟริกาใต้หลังการจบลงของนโยบายแบ่งแยกสีผิว ได้อ้าแขนต้อนรับเสรีนิยมใหม่ที่ยังคงเอื้อให้เกิดการผูกขาดโดยคนผิวขาว และพรรครัฐบาลอย่างพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา(African National Congress: ANC) ได้ทอดทิ้งให้ชาวแอฟริกาใต้ผิวดำต้องใช้ชีวิตในประเทศที่ติดอันดับความเหลื่อมล้ำระดับโลก คนในพรรค ANC ที่สนับสนุนเสรีนิยมใหม่ถูกวิจารณ์ว่าพวกเขามัวแต่หาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง ละเลยการบริการสังคมที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล นับตั้งแต่ปี 1994 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย คนผิวดำแทบจะถูกกีดกันจาก ‘วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย’ ที่ถูกมองว่าเป็นการรับใช้ทุนมากกว่าชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน



ตลอดสัปดาห์ของการก่อจลาจล ข้าวของที่ถูกปล้นสะดมไปมากที่สุดคือ อาหาร ยา เสื้อผ้า และสินค้าอย่างโทรทัศน์ อัตราการว่างงานของแอฟริกาใต้พุ่งสูงถึง 32.5% โดยคนรุ่นใหม่อายุ 15-24 ปีเป็นกลุ่มคนที่ว่างงานมากที่สุด คิดเป็น 63% ของคนว่างงานทั้งหมด ความเดือดร้อนนี้ถูกทำให้แย่ลงด้วยการจัดการวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล เราอาจะไม่เข้าใจความเจ็บปวดของคนที่นั่นได้ทั้งหมด แต่ข้อเท็จจริงนี้อาจะช่วยทำให้เราเข้าใจที่มาของภาพห้างสรรพสินค้าที่ถูกทำลายในแอฟริกาใต้ได้ไม่มากก็น้อย

อ้างอิง

https://www.britannica.com/story/the-riots-of-the-long-hot-summer
https://time.com/3838515/baltimore-riots-language-unheard-quote/
https://www.crmvet.org/docs/otheram.htm
https://www.latimes.com/nation/la-na-cvs-pharmacy-baltimore-riots-20150428-story.html
https://time.com/5851111/protests-looting/
https://time.com/3951282/riot-violence-use-american-history/
https://www.theatlantic.com/health/archive/2020/06/why-people-loot/612577

Fabien Jobard. Riots in France.: Political, proto-political, or anti-political turmoils?. Riot, Unrest and Protest on the Global Stage, 2014, 9781137305510. ‌halshs-01118328‌

https://www.wsj.com/articles/SB113193068852996087
https://items.ssrc.org/riots-in-france/the-riots-in-france-an-economists-view/
https://www.africanexponent.com/post/9005-south-africas-violence-and-looting-reveals-deeper-unhealed-wounds-and-trauma
https://www.washingtonpost.com/opinions/2021/07/22/south-africa-looting-riots-anc-zuma/
https://www.bbc.com/news/world-africa-57996373
https://www.worldbank.org/en/country/southafrica/overview#:~:text=South%20Africa%20remains%20a%20dual,does%20not%20generate%20sufficient%20jobs.