“ถึงเวลาแล้วครับ ที่เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง” ประยุทธ์พูดในการอัดเทปออกทีวีเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน (Jomquan @jomquan ตั้งข้อสงสัย “ไม่แน่ใจว่า อัดเทปไว้ก่อนหรือหลัง เหตุเลื่อนฉีดวัคซีน”) ซึ่งอย่างนี้ไม่ใช่ “รู้จักประเมินความเสี่ยง” แน่นอน
จากเนื้อหาคร่าวๆ ของการแถลงนั้น ไม่ว่าการจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ภายใน ๑๒๐ วัน (จนถึงวันที่ ๑๔ ตุลาคม) และจะฉีดวัคซีนให้คนไทยได้จำนวน ๕๐ ล้านคน ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนั้น ก็ไม่ใช่การกลับตัว ๓๖๐ องศาอย่างที่ ‘โบว์’ ว่า
ทวี้ตของ Nuttaa Mahattana @NuttaaBow บอก แถลงการณ์ประยุทธ์อันนี้ “โอเคมาก...เข้าใจความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เข้าใจว่าต้องอยู่กับโรคให้ได้ในระดับที่สมเหตุสมผล มีการตั้งเป้าหมายจำนวนวันสู่การเปิดประเทศที่ชัดเจน”
ล้วนเป็นนามธรรมที่รัฐบาลประยุทธ์ควรกำหนดให้ชัดเจนไว้ตั้งแต่สองเดือนมาแล้วเป็นอย่างช้า นี่เพิ่งมาแถลงตอนนี้ มันไม่โอเคตรงที่ไม่รู้เมื่อไหร่รัฐบาลจะทำได้อย่างที่ตั้งเป้า หากว่าสามารถทำได้อย่างที่พูดไว้จริง โบว์ค่อยไปออกลูกเชียร์ตอนนั้น จะโอเคกว่า
ไม่เป็นไรถ้าโบว์ดี๊ด๊าเพราะอยากให้ ‘ตู่’ “เปิดฟิตเนส ฯลฯ ให้เห็นก่อนเลยได้มั้ยคะ” เข้าใจละว่าต้องรักษาทรวดทรงองค์เอว แต่ควรต้องรู้คิดวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ก่อนว่าช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ระลอกสามเริ่มระบาด ไม่เพียงตู่มะงุมมะงาหราไม่เป็นท่า
ข้อสำคัญไม่สามารถจัดหาวัคซีนมาใช้อย่างที่คุยถุยถ่มเอาไว้ เที่ยวนี้จึงไม่ค่อยเห็นใครเชื่อในคำพูดของประยุทธ์ เรื่องที่ว่า “ภายในสิ้นปีจะมีวัคซีนทั้งสิ้น ๑๐๕.๕ ล้านโด๊สเซส” จริงๆ ดูจากจำนวนวัคซีนฉีดไปแล้วต้องหยุดเพราะของหมด
ที่ว่าขณะนี้ “มีใช้อยู่แล้วคือ แอสตร้าเซเนก้า, ซิโนแวค, และซิโนฟาร์ม” ประเมินตามจำนวนที่ฉีดแล้วก็แค่ ๖ ล้านโด๊สเซสกว่าๆ ส่วนใหญ่เป็นซิโนแว็ค ส่วนย่อยก็แอสตร้าเซเนก้า แต่ซิโนฟาร์มนั่นน่าจะเป็นส่วนทิพย์เสียมากกว่า
ฉะนั้น ไฟ้เซอร์ จอห์นสันฯ โมเดอร์น่า ที่ “อยู่ในช่วงเจรจา” จึงยังไม่รู้หมู่รู้จ่า ไม่ยักบอก (หรือคงจะไม่สามารถบอกได้) ว่าในช่วงสามเดือนข้างหน้า จะมาได้เดือนไหน ครั้งละเท่าไหร่โด๊ส หรือจะเอาแต่เฉยไว้แล้วปล่อยออกมากระปิบกระปอยเหมือนแอสตร้าฯ
จึงอาจเป็นไปได้ดังที่ ‘จอมขวัญ’ เหน็บไว้บนทวิตเตอร์ว่าแถลงการณ์ของตู่ชิ้นนี้ เป็นแถลงทิพย์ ถ่ายคลิปเผื่อไว้แล้วรีบเปิดใช้เมื่อโดนสถานการณ์วัคซีนไม่มีจริงกระหน่ำ อุตส่าห์แก้ตัวเป็นเด็กเลี้ยงแกะว่าฉีดกันไวเกินไปเลยหมดก่อน ก็ฟังไม่ขึ้น
จะว่า “เป็นการกลับตัวสู่ทิศทางที่ดี” และ “อยากเปิดประเทศ...ยังไงก็ขอให้ทำได้ค่ะ” เช่นโบว์ว่า ตรงนี้โอเค เพราะถ้าทำได้จริง ประชากรได้ปลดทุกข์กันบ้างไม่มากก็น้อย หลังจากลากยาวอาการผิดผีผิดไข้มาแล้วหลายปี ปัญหาอยู่ที่ผิดซ้ำซากนี่สิ
ประยุทธ์บริหารประเทศแบบวิ่งไล่ตามแก้ปัญหา หลังจากเรื่องร้ายเกิดแล้วซ้ำซาก มันแพร่เหมือนเชื้อไวรัสไปอย่างกว้างขวาง ทุกภาคส่วนทุกระดับ มานานเกินไปเสียจนมีคน ‘ชั่งหัวมัน’ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น ‘นิวนอร์มอล’ โดยมิบังควร
เห็นได้จากกรณีสรรพสามิตสี่ห้าคนไปล่อซื้อน้ำส้มคั้นจากผู้ผลิตขายรายหนึ่ง แล้วพากันเข้าจับกุม ข้อหา “ผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต” ต้องการจะปรับไหม ๑ หมื่น ๒ พันบาท ผู้ค้าก็โวยวายทางสื่อสังคม
ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย มีคนสั่ง ๕๐๐ ขวดย่อมดีใจ พอคั้นเสร็จแล้วโดนเทหมดเพราะคนสั่งเป็นเจ้าหน้าที่ปลอมตัว เสียของไม่พอยังจะโดนปรับเสียอีก แต่แล้วพบว่าไม่ใช่เป็นการผลิตระดับอุตสาหกรรมตามกฎหมายกำหนด
ก็ต้องออกแถลงแก้ต่างไปน้ำขุ่นๆ ว่าการล่อซื้อนั้นเป็นเพียงเข้าไปตรวจตราเพื่อให้คำแนะนำ หลังจากมี “เบาะแสจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง” หากแต่ในการกระทำของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น “ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ”
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายสิทธิมนุษยชนให้ข้อคิดแง่กฎหมาย “การไปล่อซื้อให้กระทำผลิตขายน้ำส้มคั้น ย่อมเป็นการเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วย” ถือว่าไปล่อให้เขากระทำผิด ฝรั่งเรียกความผิดของเจ้าหน้าที่เช่นนี้ว่า ‘entrapment’
เป็นการสะท้อนเบื้องลึกของสังคมที่เริ่มเน่าเฟะ ด้วยการที่ข้าราชการเคยชินกับการถืออำนาจบาตรใหญ่ในทางการบริหารและปกครองประเทศ เสียจนมักทำอะไรตามอำเภอใจ ไม่ค่อยคิดหน้าคิดหลัง ดังรัฐบาลไหนๆ ในโลกมักต้องระมัดระวังเป็นที่สุด
(https://ch3plus.com/news/program/245227 และ https://www.facebook.com/themomentumco/photos/a.1636533129971718/2720659528225734)